กระท้อน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
กระท้อน งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ
ชื่อสมุนไพร กระท้อน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะตื๋น (ภาคเหนือ), มะต้อง (พะเยา, แพร่, น่าน), เตียน, ล่อน (ภาคใต้), สะตู, สะเตียง (นราธิวาส), สะโต (ปัตตานี), บักกะท้อน (อิสาน), สะท้อน (อุบลราชธานี) หมากตื๋น (ไทใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sandoricum koetiape (Burm.f.) Merr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Azedarach edule Noronha, Melia koetjape Burm.f., Sandoricum indicum Cav., Sandoricum maingayi Hiern, Sandoricum nervosum, Sandoricum ternatum Blanco.
ชื่อสามัญ Santol, Sentul, Redsentol, Yellow sentol
วงศ์ MELIACEAE
ถิ่นกำเนิดกระท้อน
กระท้อน มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย โดยมีถิ่นกำเนิดบริเวณ ภาคใต้ของไทยและภาคตะวันตกของประเทศมาเลเซีย จากนั้นจึงมีการกระจายพันธุ์ โดยถูกนำไปปลูกในบริเวณใกล้เคียง อาทิเช่น อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย มอริเชียส และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยนิยมปลูกกันหลายสายพันธุ์ อาทิเช่น พันธุ์พื้นเมือง ปุยฝ้าย อินทรชิต อีล่า นิ่มนวล เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณกระท้อน
- รักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน
- แก้ท้องเสีย
- แก้พิษงู
- ช่วยขับเหงื่อ
- ช่วยลดไข้
- แก้ฝาดสมาน
- ใช้ขับลม
- ช่วยดับพิษร้อน
- ช่วยถอนพิษไข้
- แก้บิดมูกเลือด
- แก้ไข้รากสาด
- แก้พิษกาฬ
- แก้บวม
- แก้ฝี
- ช่วยขับพยาธิ
กระท้อน ถูกใช้รับประทานเป็นผลไม้มาช้านานแล้ว โดยการเลือกกระท้อนมาเพื่อรับประทานเป็นผลไม้จะเลือกผลสุก ที่มีเปลือกสีเหลืองอมส้ม และเมื่อเก็บจากต้น ควรตั้งทิ้งไว้ 2-3 วัน เพื่อทิ้งไว้ให้ลืมต้น แล้วยังต้องทุบเบาๆ พอให้น่วมทั่วผลเสียก่อนเพื่อให้หวาน
นอกจากนี้ยังสามารถใช้กระท้อนทำอาหารคาว อาหารหวานได้อีกหลากชนิด เช่น แกงคั่ว ตำกระท้อน แกงฮังเล ส่วนอาหารหวาน เช่น กระท้อนลอยแก้ว กระท้อนดอง กระท้อนแช่อิ่ม และแยมกระท้อน เป็นต้น อีกทั้งลำต้นยังสามารถใช้ทำเป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เช่น ทำไม้กระดาษ หรือ เครื่องเรือนอื่นๆ เป็นต้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้กระท้อน
ใช้แก้ท้องเสีย แก้บิดมูกเลือด ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ โดยใช้รากกระท้อน สด หรือ รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำรากสดมาตำใส่น้ำผสมกับน้ำส้มสายชูเล็กน้อย แล้วนำไปดื่ม ใช้แก้ไข้ แก้ท้องเสีย โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ขับพยาธิ และแก้บวมโดยใช้เนื้อผลมารับประทานสด ใช้ขับเหงื่อ แก้ไข้ รักษาโรคผิวหนัง โดยใช้ใบ หรือเปลือกต้นมาต้มกับน้ำอาบ
ลักษณะทั่วไปของกระท้อน
กระท้อน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 15-30 ซม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ แตกกิ่งต่ำ ปลายกิ่งลู่ลง ลำต้นเปลาตรง โคนมักเป็นพอน และแตกล่อนเป็นสะเก็ดใหญ่ๆ เป็นปุ่มปม เปลือกสีน้ำตาลอ่อน ด้านในมีสีอมชมพู ค่อนข้างเรียบยางมีสีขาว ใบ เป็นใบประกอบเรียงสลับ ดอกเรียงตัวเป็นเกลียว ใบย่อยแยกเป็น 3 ใบ รูปไข่แกมรูปขอบขนานแกมรี ขอบใบเรียบ กว้าง 6-15 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโค้งมน ใบอ่อนมีขนสีเหลืองอ่อนทั้ง 2 ด้าน ใบแก่สีเขียวเข้มแต่ใบแก่เมื่อแห้งมีสีส้มแดง ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว 4-16 ซม. มีขนสีเหลือง ดอกมีจำนวนมากขนาดเล็ก สีเขียวอมเหลือง กลิ่นหอมอ่อน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนติดกันคล้ายรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบ ดอก 5 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 4-5 มม. แยกกัน เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 3 มม. มี 10 อัน ติดกันเป็นหลอด อับเรณูติดอยู่ภายในหลอด ผลใหญ่ กลมแป็น ฉ่ำน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-10 ซม. เปลือกมีขนนุ่ม เนื้อหนานุ่ม มียางสีขาว ผลเป็นแบบผลเนื้อลักษณะกลมแป้น ขนาด 5-8 ซม. หรือ มีขนาดใหญ่ได้ถึง 20 เซนติเมตร ผิวเป็นกำมะหยี่สีเหลืองอมส้ม ภายในแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เนื้อแข็งด้านนอก และด้านในเนื้อนุ่มเป็นปุยสีขาวที่หุ้มเมล็ดไว้ เปลือกหนา มียางสีขาวเล็กน้อย ผลสุกสีเหลืองนวล หรือ สีแดงส้ม ผิวเริ่มย่น ด้านในผลมีเมล็ด 3-5 เมล็ด เนื้อหุ้มเมล็ดเป็นปุยสีขาวมีรสเปรี้ยวหรือหวาน
การขยายพันธุ์กระท้อน
กระท้อนสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น การเพาะเมล็ด การทาบกิ่ง การเสียบยอด และการติดตา แต่เดิมนิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด เนื่องจากทำได้ง่ายแต่มักจะกลายพันธุ์ ดังนั้นในปัจจุบันจึงไม่นิยมปลูกต้นที่เพาะจากเมล็ดแต่จะทำการเพาะเมล็ด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการทำต้นตอในการทาบกิ่งหรือติดตาเท่านั้น ส่วนการตอนก็ไม่นิยมเช่นกันเพราะปัญหาเรื่องการออกรากยาก โดยในปัจจุบันนิยมใช้วิธีการทาบกิ่ง และการเสียบยอดซึ่งสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการทาบกิ่งและเสียบยอดไม้ยืนต้นทั่วไป
สำหรับวิธีการปลูกให้ขุดหลุมให้มีขนาดไม่ต่ำกว่า 50x50x50 เมตร (กว้างxยาวxลึก) หลุมถ้ามีขนาดใหญ่ยิ่งดีจะช่วยให้ต้นกระท้อน โตเร็วมากยิ่งขึ้น ผสมดินที่ขุดขึ้นมากับปุ๋ยคอกเก่าๆ (ประมาณ 10 กก. ต่อหลุม) รองก้นหลุม ด้วยปุ๋ยหินฟอสเฟต ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อหลุม กลบดินผสมลงในหลุมให้พูนขึ้นกว่าระดับปากหลุมเล็กน้อย วางต้นกระท้อนที่เตรียมไว้ (เอาถุงที่ชำออกก่อน) ปลูกลงกลางหลุมกดดินให้แน่น ใช้ไม่หลักป้ายยึดลำต้นกันลมพันโยก รดน้ำให้ชุ่ม ถ้ามีแดดจัดควรมีการพลางแดดให้ด้วยจะทำให้ต้นกระท้อนตั้งตัวเร็วขึ้น
สำหรับการให้น้ำ กระท้อนทดสภาพความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดีแต่ในช่วงที่กระท้อนยังเล็กอยู่จะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นการให้น้ำก็จะมีช่วงห่างขึ้น อย่างไรก็ดีในช่วงที่ต้นกระท้อนเริ่มออกช่อดอก และติดผลจะต้องให้น้ำอย่างต่อเนื่องซึ่งจะช่วยให้ช่อดอกมีความสมบูรณ์ การติดผลดี ผลที่ติดแล้วมีการเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ สวนที่มีการให้น้ำดีจะทำให้ผลมีขนาดโต กว่าสวนที่ขาดแคลนน้ำ ลดปัญหาเรื่องผลแตกได้
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของกระท้อน พบว่ามีสารสำคัญหลายชนิด อาทิเช่น koetjapic acid, katonic acid, bryonolic acid, sanjecumins A และ B, sandoripins A และ B, sentulic acid ส่วนในลำต้น พบสารกลุ่ม triterpene ได้แก่ koetjapic acid, katonic acid, 3-oxo-12-oleanen-29-oic acid
นอกจากนี้ผงของกระท้อน ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของกระท้อนสุกต่อ (100 กรัม)
โปรตีน 0.118 กรัม
ไขมัน 0.1 กรัม
ใยอาหาร 0.1 กรัม
ธาตุแคลเซียม 4.3 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 17.4 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 0.42 มิลลิกรัม
แคโรทีน 0.003 มิลลิกรัม
วิตามินบี 1 0.045 มิลลิกรัม
วิตามินบี 3 0.741 มิลลิกรัม
วิตามินซี 86.0 มิลลิกรัม
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระท้อน
มีรายงานผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระท้อนระบุไว้ดังนี้
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดจากลำต้นกระท้อน โดยใช้หนูถีบจักรเพศเมีย ที่เหนี่ยวนำการอักเสบที่ใบหูด้วยการทาสาร 12-O-tetradecanoylphorbol-13-acetate (TPA) ขนาด 20 ไมโครลิตร ที่หูด้านใน (0.5 ไมโครกรัมต่อหูแต่ละข้าง) และทาสารสกัดจากลำต้นกระท้อนที่หูด้านขวา (ปริมาณสารสกัดที่ทา คือ กรณีสารสกัดหยาบ หรือส่วนสกัดย่อยทา 5 มิลลิกรัม, สารบริสุทธิ์ ทา 0.5 มิลลิกรัม) หลังจากนั้น 6 ชั่วโมง ตัดใบหูหนูเพื่อนำมาชั่งน้ำหนัก ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดหยาบ methanol, ส่วนสกัดย่อยที่ได้จากการทำ partition สารสกัด methanol ได้แก่ ส่วนสกัด hexane, dichloromethane, ethyl acetate, methanol และน้ำ มีค่ายับยั้งการบวมที่ใบหูหนูได้เท่ากับ 94±7, 90±11, 100±5, 64±10, 77±8 และ 14±8 % ตามลำดับ สารบริสุทธิ์ 3 ชนิด ที่แยกได้จากสารสกัดไดคลอโรมีเทน ได้แก่ koetjapic acid, katonic acid และ 3-oxo-12-oleanen-29-oic acid และสารมาตรฐาน indomethacin มีค่ายับยั้งการบวมที่ใบหูหนูได้เท่ากับ 13±12, 81±12, 94±8 และ 97±3 % ตามลำดับ โดยสาร 3-oxo-12-oleanen-29-oic acid มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการอักเสบได้ใกล้เคียงกับยามาตรฐาน indomethacin
ฤทธิ์ป้องกันมะเร็ง มีการนำสารสกัดเปลือกกระท้อน มาสกัดด้วยน้ำผสมอะซิโตน และมาแยกส่วนเป็นสารสกัดเฮกเซน เอทิลอะซิเตท และน้ำ จนได้สารออกฤทธิ์ คือ koetjapic acid และ 3-oxo-olean-12-en-29-oic acid และเมื่อนำสารทั้ง 2 นี้ และ สาร kotonic acid ไปตรวจสอบฤทธิ์ต้านการเกิดมะเร็ง พบว่า Koetjapic acid มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดมะเร็งผิวหนังที่เหนี่ยวนำด้วย TPA
นอกจากนี้ยังพบว่าสารสำคัญและสารสกัดจากส่วนของเปลือกผลมีใยอาหารช่วยขับถ่าย ส่วนผลและเมล็ดมีฤทธิ์ฆ่าหอย แต่ทั้งหมดยังเป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองเท่านั้น
การศึกษาทางพิษวิทยาของกระท้อน
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
กระท้อน เป็นผลไม้ที่มีธาตุโพแทสเซียมสูง ซึ่งไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคไต เพราะผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีภาวะโพแทสเซียมสูงอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรเว้นการรับประทานกระท้อน และอาหารอื่นๆ ที่มีโพแทสเซียมสูงนอกจากนี้กระท้อนบางสายพันธุ์มีรสชาติหวานมาก ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังการรับประทานในปริมาณมาก เพราะอาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้ อีกทั้งเมล็ดกระท้อน มีความลื่น ค่อนข้างแข็ง และมีปลายแหลม หากเผลอกลืนลงไป หรือ เมล็ดขนาดใหญ่ลื่นไหลเข้าไปในคอ อาจติดหลอดลม หรือ เป็นอันตรายต่อลำไส้ได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานกระท้อนด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ
เอกสารอ้างอิง กระท้อน
⦁ อุไร จิรมงคลการ. 2547. ผลไม้ในสวน. Fruits. พิมพ์ครั้งแรก. สำนักพิมพ์บ้าน และสวน. กรุงเทพมหานคร.
⦁ ภญ.กฤติยา ไชยนอก.อากาศร้อนๆ มากินกระท้อนกันเถอะ.บอกกล่าวเล่าเรื่องสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
⦁ คณะกรรมการวิชาการดำเนินงานส่วนสวนสมุนไพรพืชสวนโลก. 2549. สวนสมุนไพรในงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549. Herbal Garden in Royal Flora Expo 2006. บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพฯ) จำกัด. กรุงเทพมหานคร.
⦁ นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพร:ไม้พื้นบ้าน (1). กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชนจำกัด; 2539.
⦁ ทวีศักดิ์ ด้วงทอง, 2518 ชนิด และพันธุ์ไม้ผลเมืองไทย เอกสารวิชาการที่ 47 กรมส่งเสริมการเกษตรจตุจักร กทม.
⦁ พิษต่อปลา และฤทธิ์ป้องกันมะเร็งของเปลือกต้นกระท้อน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ วราพงษ์ ฤาชา.สถาพร ศรีพลพรรค.2522 รายงานการศึกษาเรื่องสภาพการปลูกกระท้อนในจังหวัดนนทบุรี งานพืชสวนฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสำนักงานส่งเสริมการเกษตร ภาคกลาง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท
⦁ กระท้อน .ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก ⦁ http://www.phargerden.com/mainphp?action=viewpage⦁ &⦁ pid=306
⦁ Jafaria SF, Khadeer Ahameda MB, Iqbalb MA, Al Suedea FSR, Khalidc SH, Haqueb RA และอื่นๆ ความสามารถในการละลายน้ำที่เพิ่มขึ้น และกิจกรรม proapoptotic ของโพแทสเซียม koetjapate ต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักของมนุษย์ เจ Pharm Pharmacol 2014;66(10):1394-409.
⦁ Tanaka T, Koyano T, Kowithayaakorn T, Fujimoto H, Okuyama E, Hayashi M, และคณะ กรดไตรเทอร์พีนอยด์ชนิดมัลติฟลอเรนชนิดใหม่จากSandoricum indicum เจ แนท โปรด 2001;64(9):1243-5.
⦁ แทกกิลิง NK, แทกกิลิง MLG สารฆ่าแมลงอินทรีย์ที่มีผงผลไม้แซนโดริคัม ใช้รุ่น Appl 2014, PH 2201200451 Z 20141027.
⦁ Rasadah MA, Khozirah S, Aznie AA, Nik MM. Anti-inflammatory agents from Sandoricum koetjape Merr. Phytomedicine. 2004; 11(2-3):261-3.
⦁ Ismail IS, Ito H, Mukainaka T, Higashihara H, Enjo F, Tokuda H และอื่นๆ พิษต่อ Ichthyotoxic และฤทธิ์ต้านมะเร็งของ triterpenoids จากเปลือก Sandoricum koetjape จิตเวช Pharm Bull 2003;26(9):1351-3.
⦁ Wanlapa S, Wachirasiri K, Sithisam-ang D, Suwannatup T. ศักยภาพของเปลือกผลไม้เมืองร้อนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเส้นใยอาหารในอาหารเพื่อสุขภาพ Int J อาหารผลิตภัณฑ์ 2015;18(6):1306-16.
⦁ Nassar ZD, Aisha AFA, Al Suede FSR, Majid ASA, Abdul Majid AMS และคณะ ฤทธิ์ต้านการออกฤทธิ์ของกรดโคเอตจาปิกในหลอดทดลองต่อเซลล์มะเร็งเต้านม จิตเวช Pharm กระทิง 2012;35(4):503-8.
⦁ แทกกิลิง NK, แทกกิลิง MLG กรรมวิธีการผลิตยาฆ่าแมลงอินทรีย์จากผลแซ นโดริคัม Philipp Util รุ่น Appl 2014, PH 2201200450 Z 20141205