หมาก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
หมาก งานวิจัยและสรรพคุณ 16ข้อ
ชื่อสมุนไพร หมาก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หมากเมีย(ทั่วไป),หมากสง(ภาคใต้),เซียด(นครราชสีมา),มะ(ตราด),เค็ด,พลา,สะลา(เขมร),สีซะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน),หมากมู้(ไทยใหญ่),ปีแน(มลายู),ปิงหวาง(จีนกลาง),ปีงน๊อ(จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Areca catechu Linn.
ชื่อสามัญ Betel palm, Betel Nuts, Areca nut , Areca palm,Areca nut palm
วงศ์ ARECACEAE - PALMAE
ถิ่นกำเนิดหมาก
หมากมีถิ่นกำเนิดมาจากที่ใด เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานเด่นชัด แต่มีหลักฐานที่พบจะเชื่อถือได้ว่า มีหนังสือเรื่องหมากเขียนขึ้นในสมัยมาร์โคโปโลและมีผู้ค้นพบหนังสือที่เขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1593(พ.ศ.2136) โดยให้ชื่อต้นหมากป่าที่พบว่า พินลาง (Pinlang) ซึ่งคำนี้เป็นชื่อเรียกต้นหมาก ในแหลมมลายูและสุมาตราในปัจจุบัน
ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า หมากมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย และในปัจจุบันก็ยังสามารถพบได้ในเขตร้อนหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงบางส่วนของทวีปแอฟริกา เช่นประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย
สำหรับประเทศไทย สันนิษฐานกันว่าการปลูกหมากคงจะมีการปลูกนานกว่า 700 ปีมาแล้ว ทั่งนี้เพราะในสมัยกรุงสุโขทัย ได้มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าการปลูกหมากเกิดขึ้นแล้วในสมัยนั้น ซึ่งได้แก่ หลักศิลาจารึก หลักที่ 1
ประโยชน์และสรรพคุณหมาก
- เป็นยาสมานแผล
- เป็นยาขับพยาธิในสัตว์
- แก้ท้องเดิน ท้องเสีย
- ช่วยขับพิษ
- ทาแก้คัน
- ขับปัสสาวะ
- แก้ปากเปื่อย
- ช่วยสมานแผลทำให้เลือดหยุดไหล และแผลหายเร็ว
- ทำให้เหงือกและฟันแข็งแรง
- ยับยั้งการไหลของหนองเวลาเป็นแผล
- แก้ปวดแน่นท้อง
- เป็นยาเบื่อพยาธิตัวตืด ฆ่าพยาธิบาดแผล
- รักษาน้ำกัดเท้า
- ช่วยขับน้ำในกระเพาะลำไส้ และช่วยในการย่อยอาหาร
- ช่วยลดอาการบวมน้ำ
- ช่วยบำรุงธาตุ
ลักษณะทั่วไปหมาก
หมากจัดเป็นไม้ยืนต้นจำพวกปาล์ม มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นตั้งตรง เป็นต้นเดี่ยวไม่แตกกิ่งก้าน ลักษณะของลำต้นเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-15เซนติเมตร เปลือกลำต้นเป็นรอยขวั้นรอบ ๆ ขึ้นไปตลอดลำต้น ในระยะแรกจะเจริญเติบโตด้านกว้างและด้านสูง แต่หลังจากหยุดการเจริญเติบโตจะเจริญเติบโตด้านความสูง ต้นหมากมีตายอดส่วนปลายสุดของลำต้น ถ้ายอดตายหมากจะตาย ตายอดจะเป็นที่เกิดของใบหลังจากใบร่วงหล่นจะทิ้งรอยติดของใบไว้ เรียกว่าข้อ ข้อของต้นหมากสามารถคำนวณหาอายุหมากได้ 1 ปี โดยหมากจะมีใบหรือข้อเพิ่มขึ้น 5 ใบ หรือ 5 ข้อ ต้นหมากจะมีเนื้อเป็นเสี้ยนยาวจับตัวกันแน่นบริเวณเปลือกนอกลึกเข้าไปประมาณ 2 เซนติเมตร แต่ส่วนกลางของลำต้นเป็นเสี้ยนไม่อัดแน่น และมีเนื้อไม้อ่อนนุ่มคล้ายกับฟองน้ำ จึงทำให้ต้นหมากเหนียวและสามารถโยกเอนได้
ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายยอด ก้านใบรวมยาวได้ประมาณ 130-200 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแคบ ใบอ่อนมีรอยแยก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบหนามีกาบใบหุ้มลำต้น
ดอกหมากหรือจั่นหมากจะเกิดที่ซอกโคนก้านใบหรือกาบหมาก ดอกออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ประกอบด้วย แกนกลางหรือโคนจั่นยึดติดอยู่ข้อของลำต้น และก้านช่อดอกเป็นเส้นยาวๆจำนวนมากแตกออกจากแกนกลาง ก้านช่อดอกแต่ละเส้นจะมีดอกหมากติดอยู่ทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย โดยดอกตัวผู้จะอยู่ที่ส่วนปลายและดอกตัวเมียจะอยู่ที่ส่วนโคน เมื่อกาบหุ้มจั่นแตกออก ดอกตัวผู้จะบานจากปลายกิ่งแขนงไปหาโคนแขนงหรืออาจจะบานก่อนกาบหุ้มจั่นแตกออกก็ได้ ดอกตัวผู้จะใช้เวลาประมาณ 21 วันจึงหมด หลังจากนั้นอีกประมาณ 5 วัน ดอกตัวเมียจะเริ่มบานเป็นเวลาประมาณ 3-5 วัน ดอกตัวเมียทีได้รับการผสมละอองเกสรแล้วจะเจริญเติบโตเป็นผลหมากต่อไป
ผลออกเป็นทะลาย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม รูปกลมรี รูปไข่ รูปไข่ปลายแหลม หรือเป็นรูปกระสวยขนาดเล็ก โดยเฉลี่ยแล้วผลที่รวกมันเป็นทะลาย ในหนึ่งทะลายจะมีผลอยู่ประมาณ 10-150 ผล ผิวผลเรียบ มีกลีบเลี้ยงติดเป็นขั้วผล ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ผลดิบหรือผลสดเปลือกผลจะเป็นสีเขียวเข้ม เรียกว่า “หมากดิบ” ผลเมื่อแก่เปลือกผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มทั้งผลหรือสีแดงแกมส้ม เรียกว่า “หมากสุก” หรือ “หมากสง” ผลประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือ เปลือกชั้นนอก , เปลือกชั้นกลาง, เปลือกชั้นใน, และส่วนของเมล็ดหรือเนื้อหมาก เมื่ออ่อนจะนิ่ม เนื้อส่วนผิวจะมีลายเส้นสีเหลืองถึงสีน้ำตาล ส่วนเนื้อจะเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ถึงสีเหลืองเข้มอมแดง ภายในผลมีเมล็ดเดียว
การขยายพันธุ์หมาก
หมากเป็นไม้ยืนต้นที่มีการเจริญเติบโตทางด้านยอดเพียงด้านเดียว จึงไม่มีการแตกกิ่งก้านสาขาเพื่อการขยายพันธุ์ได้ ดังนั้นวิธีการขยายพันธุ์จึงใช้วีการเพาะเมล็ดเพียงวิธีเดียว ผลหมากที่จะนำมาเพาะนั้นควรเป็นผลที่ปล่อยให้แก่หรือสุกบนต้นจนเกือบจะร่วง ซึ่งเป็นผลที่มีอายุ 7-8 เดือนขึ้นไป เปลือกสีเหลือง(ชาวบ้านเรียกว่าหมากสง)
การเพาะเมล็ด ในการเพาะหมาก ต้องเพาะในแปลงเพาะให้งอกเสียก่อน แล้วจึงนำไปชำให้เจริญเติบโตจนได้ขนาดพอเหมาะที่จะนำไปปลูก ลักษณะของแปลงเพาะที่ดีคือ
- ควรเป็นที่โล่งแจ้ง หรือแสงรำไร
- ขุดดินบริเวณที่จะเพาะให้ลึกประมาณ 6 นิ้ว เพราะต้องใช้แปลงนานประมาณ 6 เดือน ซึ่งต้นหมากจะแทงรากลงดินแล้ว ดินที่ใช้เพาะควรเป็นดินร่วนปนทราย ดินทรายหรือดินที่มีส่วนผสมของขี้เถ้าแกลบ
- นำผลหมากลงที่เตรียมไว้มาวางเรียงเป็นแถวให้ผลติดกัน โดยวางผลให้ตั้งตรงให้ขั้วผลอยู่ด้านบน
- ให้น้ำวันเว้นวัน (ทุกๆ 2 วัน) ถ้าวันไหนฝนตกก็ไม่ต้องรดน้ำ
- หลังจากเพาะหมากไปแล้ว 1-2 เดือน ผลหมากจะงอกขึ้นมาเป็นปุ๋มเล็กๆ ทิ้งไว้อีกประมาณ 4-5 เดือน ต้นหมากจะแตกใบออกเป็น 2 แฉก สูงประมาณ 6-8 นิ้ว จึงขุดย้ายไปชำได้ ทั้งนี้การย้ายชำกล้าหมากควรกระทำในฤดูฝนการชำ
- กะระยะชำในแปลง ให้ต้นห้างกันประมาณ 30x30 เซนติเมตร
- ขุดหลุมให้ลึกพอสมควรและการขุดย้ายต้นหมากจากแปลงเพาะต้องระมัดระวัง อย่างให้ผลที่เพาะได้หลุดจากต้นกล้า ควรขุดต้นกล้าให้มีรากติดมากที่สุด ถ้าติดรากน้อยเมื่อนำไปปลูกต้นจะเหี่ยวเฉาและตายได้
- นำต้นหมากที่ขุดย้ายไปวางในหลุมที่ขุดได้ โดยให้ต้นตั้งตรงกลบดินให้แน่นติดผลหมาก เพื่อไม่ให้ต้นโยกคลอนหรือล้มง่าย รดน้ำให้ชุ่มและควรทำร่มพรางแสงให้ในช่วง 2 สัปดาห์แรก ต่อจากนั้นค่อยๆลดการพรางแสดงแดดจนหน่อหมากได้รับแสงเต็มที่
- ถ้าฝนไม่ตก ควรให้น้ำแปลงชำทุก 2 วัน
- เมื่อหน่อหมากมีอายุได้ประมาณ 6-8 เดือน หรือมีหางใบ 4-6 ใบ ก็ขุดไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ได้ ส่วนการปลูกก็เหมือนการปลูกพืชชนิดอื่นๆ
องค์ประกอบทางเคมี
ในเมล็ดแก่พบอัลคาลอยด์ arecoline, arecolidine, arecaine (arecaidine), guvacine, guavacoline, isoguavacine และสารกลุ่ม tannin, catechin, epicatechin, leucocyanidin
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของหมาก
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้เป็นยาแก้โรคเบาหวาน ด้วยการใช้หมากที่กินกับพลูแบบสด 1 ลูก นำมาผ่าเป็น 4 ซีก ต้มกับน้ำ 1 ลิตร จนเดือดหรือประมาณ 10 นาที ใช้ดื่มก่อนอาหารครั้งละครึ่งแก้วเช้า กลางวัน และเย็น เมื่อนำตาลในเลือดลดลงก็ให้นำมาต้มดื่มแบบวันเว้นวันได้
แก้พิษผิดสำแดงโดยใช้ รากหมากใช้ผสมกับรากมะพร้าว รากมะกอก รากมะปรางเปรี้ยว รากมะปรางหวาน ลูกกระจับน้ำ ลูกบัวหลวง เกสรบัวหลวง และหัวแห้วต้มกิน
รากหมากนำมาต้มกับน้ำเป็นยาแก้พิษร้อนภายใน แก้พิษไข้ร้อน หรือจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำกินและอาบเป็นยาแก้ไข้ แก้หวัดก็ได้
ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ ด้วยการใช้เนื้อในผลหมาก นำมาบดให้เป็นผง โดยใช้ประมาณ 50-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินในขณะท้องว่าง
เมล็ดเป็นยาสมานทั้งภายนอกและภายใน ช่วยสมานแผลทำให้เลือดหยุดไหล และแผลหายเร็ว ด้วยการใช้เมล็ดหรือเนื้อหมากสดนำมาปิดบริเวณบาดแผล
เมล็ดใช้ฝนทารักษาแผลเน่าเปื่อย แผลเป็น ช่วยฆ่าพยาธิบาดแผล ขจัดรอยแผลเป็น
ใช้รักษาหูด ด้วยการใช้ผลดิบ 1 ผล (ผลหมากที่สุกแก่แต่ยับดิบอยู่) นำมาฝานเอาเนื้อในออกมาเป็นชิ้น ๆ เหมือนการเตรียมหมากเพื่อกิน หลังจากนั้นนำไปย่างไฟให้ร้อน แล้วรีบนำมาพอกทับปิดที่หัวหูดทันที จะช่วยทำให้หัวหูดหลุดลอกออกมาได้ ช่วยรักษาโรคน้ำกัดเท้า ด้วยการนำผลหมากมาผ่าเป็น 4 ซัก แล้วใช้ทั้งเปลือกและเนื้อในถูทาบริเวณที่ถูกน้ำกัดเท้าจนเกิดแผลบ่อย ๆ ทุกวัน
นอกจากนี้ในตำรายาโบราณได้กล่าวไว้ว่า หากนำเอาเนื้อของผลหมากและเมล็ดฟักทองมาต้มรวมกับน้ำตาลทราย ดื่มพร้อมกับน้ำจะช่วยในการขับพยาธิชนิดต่างๆ เช่น พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ และพยาธิตัวกลมได้เป็นอย่างดี หรือหากนำผลหมากสุกมาต้มกินกับน้ำแล้ว จะช่วยป้องกันอาการของโรคต้อหินหรือความดันภายในลูกตาเพื่อไม่ให้สูงผิดปกติได้ นอกจากนี้ยังสามารถ ช่วยขับปัสสาวะได้อีกด้วย
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของตัวรับบนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลของเมล็ดหมากแก่ จากรายงานการวิจัยที่ระบุว่า พฤติกรรมการเคี้ยวหมากทำให้เกิดโรคภายในช่องปากได้มากขึ้น และสารสกัดของเมล็ดหมาก (Areca catechu L.) มีฤทธิ์ยับยั้งกลไกการป้องกันตัวของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ได้แก่ กระบวนการฟาโกไซโทซีส (phagocytosis) ของเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล (neutrophils) จึงมีการนำสารสกัดน้ำจากเมล็ดหมากแก่แห้ง (Areca Nut Extract; ANE) มาศึกษาถึงกลไกการออกฤทธิ์และผลต่อตัวรับคอมพลีเมนต์ (complement receptors) และตัวรับเอฟซี (Fc receptors) ที่อยู่บนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล ซึ่งตัวรับทั้งสองชนิดมีหน้าที่เกี่ยวกับการกระตุ้นระบบภูมิคุมกันของร่างกาย รวมทั้งศึกษาผลของสารสกัดต่อ F-actin ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของเซลล์เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย จากผลการทดลองพบว่า สารสกัด ANE มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างตัวรับคอมพลีเมนต์ (CR1, CR3 และ CR4) และตัวรับเอฟซี (FcγRII และ FcγRIII) โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ และ ANE ยังทำให้กระบวนการฟาโกไซโทซีสลดลง รวมทั้งยับยั้งการแสดงออกของ F-actin ด้วย ทำให้สามารถสรุปได้ว่า ANE มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในช่องปาก
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการศึกษาทางเภสัชวิทยาระบุว่าสารสกัดในเมล็ดหมาก สามารถยับยั้งเชื้อที่ทำให้เกิดโรคฟันผุ และยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในการเจริญของเชื้อโรคเอดส์ในหลอดทดลองได้
การศึกษาทางพิษวิทยา มีรายงานความเป็นพิษของเมล็ดทำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์ เนื้องอกและมะเร็ง โดยพบว่าคนที่กินหมากมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งในช่องปากมากกว่าคนปกติ
และยังมีรายงานว่าการเคี้ยวหมากอาจทำให้เกิดอาการลิ้นและเหงือกเป็นฝ้าขาว เกิดเส้นใยใต้เยื่อเมือกและการเกิดมะเร็งในช่องปาก ในที่สุดซึ่งน่าจะมาจากสาร Cytotoxic และ Teratogenic N- nitrosamines
ซึ่งในปัจจุบันแพทย์ได้พบหลักฐานว่า การกินหมากมากเป็นประจำจะทำให้คนกินเป็นโรคมะเร็งปาก เพราะหมากมีสารก่อมะเร็งที่เหมือนกับบุหรี่หลายตัว และจากการสำรวจยังพบว่า การกินหมากจะเพิ่มโอกาสการเป็นโรคหัวใจ โรคหืด และโรคเบาหวานได้อีกด้วย โดยเฉพาะ 90% ของคนที่กินหมากมักจะเป็นมะเร็งช่องปาก เนื่องจากพิษหมากไปทำให้เยื่อเมือกในเซลล์ปากเปลี่ยนแปลง จนในที่สุดแก้มจะแข็ง ทำให้ผู้ป่วยอ้าปากไม่ได้
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- การเคี้ยวหมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี อาจก่อให้เกิดมะเร็งในช่องปากได้
- สาร Arecoline ที่พบในเมล็ดหมาก มีคุณสมบัติกระตุ้นการทำงานของหัวใจ แรงดันโลหิต ปริมาณของน้ำตาลกลูโคสในสมองดังนั้น จึงควรระมัดระวังในการใช้
- ในการใช้หมากเพื่อต้องการสรรพคุณทางยานั้นควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น ถ้าเป็นเนื้อในผล ยาแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 5-10 กรัม ส่วนเปลือกผล ยาแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 6-20 กรัม ถ้าใช้เป็นยาขับถ่ายพยาธิ ให้ใช้เนื้อผลได้ถึง 50-80 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินตอนท้องว่างหรือบดเป็นผงกิน และไม่ควรใช้เกินขนาดที่ระบุ รวมถึงใช้เป็นระยะเวลานานจนเกินไป
เอกสารอ้างอิง
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “หมาก”. หน้า 612.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.
- การปลูกหมากเพื่อการค้า.เอกสารวิชาการ.กลุ่มไม้ยืนต้นอุตสาหกรรมกองส่งเสริมพืชสวน.กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.55 หน้า
- ฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของตัวรับบนเมล็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลของเมล็ดหมากแก่.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “หมาก (Mak)”. หน้า 328.หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.
- หมาก.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=143