ชะมดต้น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ชะมดต้น งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ชะมดต้น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ฝ้ายผี, เทียนชะมด (ทั่วไป), จั๊บเจี๊ยว (สงขลา), หวงขุย (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Abelmoschus moschatus Medik.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Abelmoschus moschatus var. betulifolius (Mast.) Hochr., Hibiscus abelmoschus L., Hibiscus chinensis Roxb., Hibiscus abelmoschus var. betulifolius Mast.
ชื่อสามัญ Abelmosk, Tropical jewel hibiscus, Annual hibiscus, Musk mallow
วงศ์ MALVACEAE


ถิ่นกำเนิดชะมดต้น

ชะมดต้น จัดเป็นพัน์ไม้พื้นเมืองของเอเชียเขตร้อน โดยมีการกระจายพันธุ์ในอินเดีย พม่า จีน ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา แต่ในปัจจุบันมีรายงานว่าพบในแอฟริกา และอเมริกาใต้ด้วย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบชะมดต้น ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งจะพบได้บริเวณป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ หรือ ตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-1000 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณชะมดต้น

  • ช่วยบำรุงธาตุ
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • แก้ร้อนใน
  • แก้กระหายน้ำ
  • ช่วยขับลม
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้กระเพาะอาหารอักเสบ
  • แก้ปวดกระเพาะ
  • แก้ปวดศีรษะ
  • แก้กามโรค
  • รักษาหนองใน
  • แก้ผดผื่นคัน
  • แก้หิด
  • ใช้ขับพิษร้อนถอนพิษไข้
  • แก้ไอร้อน ไอเรื้อรัง
  • แก้บิด
  • รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
  • แก้ปวดบวม
  • แก้นิ่ว นิ่วในทางเดินปัสสาวะ 
  • รักษาปวดข้อ
  • ช่วยขับน้ำนมในสตรี
  • แก้น้ำกามเคลื่อนในขณะหลับ
  • แก้ท้องผูก
  • ช่วยขับพยาธิไส้เดือน ใช้ฆ่าพยาธิ
  • รักษากลากเกลื้อน
  • ใช้รักษาฝี และเร่งให้ฝีแตกเร็ว
  • เป็นยาระงับประสาท ช่วยคลายความเครียด ลดอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า
  • แก้ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ คลายกล้ามเนื้อ
  • แก้ไข้

           มีการนำใบชะมดต้น มาใช้รับประทานเป็นผัก ส่วนใยของเปลือกมาใช้ทำเชือก และกระสอบ เมล็ดนำมาทุบให้แตกจะมีกลิ่นเหมือนกับชะมดเช็ดใช้โรยในตู้เสื้อผ้า เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงมากินเสื้อผ้า และทำให้เสื้อผ้ามีกลิ่นหอม ยังใช้ผสมทำบุหงาได้อีกด้วย ส่วนของรากนำมาใช้ทำกาวในการทำกระดาษ เมล็ดนำมาใช้แต่งกลิ่นกาแฟ น้ำมันจากเมล็ดนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องหอม เพื่อใช้ทำน้ำหอม และใช้แต่งกลิ่นอาหาร

           นอกจากนี้ แพทย์โบราณของไทย ยังนำเมล็ดของชะมดต้นมาใช้เป็นส่วนผสมของตำรับยาต่างๆ โดยเรียกว่า “เทียนฉมด” หรือ “เทียนชะมด” อีกด้วย

ชะมดต้น

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับปัสสาวะ ขับลม แก้ปวดกระเพาะอาหารอักเสบ แก้กามโรค หนองใน โดยนำเมล็ดชะมดต้น มาทุบให้แตกต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ชงแบบชาก็ได้ ใช้แก้ไข้ ขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ไอเรื้อรัง แก้บิด กามโรค หนองใน แก้นิ่ว แก้ปวดข้อ ขับน้ำนมในสตรี โดยนำราก 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้ท้องผูก ขับพยาธิไส้เดือน แก้น้ำกามเคลื่อน โดยนำดอกแห้ง 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้คลายเครียด คลายวิตกกังวล ซึมเศร้า ขับลม กระตุ้นกำหนัด โดยนำน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดมาสูดดม ใช้แก้ปวดเกร็ง คลายกล้ามเนื้อ โดยนำน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดมาถูนวดบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของชะมดต้น

ชะมดต้น จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน หรือ ไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุปีเดียว ลำต้นตั้งตรง ต้นอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลมีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร บริเวณลำต้นมีขนสีขาวขึ้นปกคลุมทั้งต้น
           ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับลักษณะของใบชะมดต้น เป็นรูปหัวใจแกมรูปไข่ สีเขียวมีขนาดกว้าง 6-15 เซนติเมตร โคนใบเว้า ปลายใบแหลมทู่ ขอบใบเว้าหยักเป็น 3-5 แฉก โดยใบที่ปลายยอดจะเล็ก มีแฉกลึก และแคบกว่าใบที่อยู่ใกล้โคนต้น ผิวใบสากมีขนรูปดาวทั้งสองด้าน และมีก้านใบยาว ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวบริเวณซอกใบ กลีบดอกเป็นสีเหลืองนวล และมีสีม่วงเข้มตรงกลางทั้งด้านใน และด้านนอก กลีบดอกเป็นรูปไข่ ดอกเมื่อบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-12 เซนติเมตร เส้าเกสรเกลี้ยงยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร รังไข่มีขนขึ้นหนาแน่น ก้านเกสรเพศเมียแยกออกเป็น 5 แฉก มีขนขึ้นหนาแน่น ยอดเกสรเป็นรูปจาน ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูปใบหงาย ยาวได้ประมาณ 2-3 เซนติเมตร แยกจรดโคนด้านเดียว ปลายกลีบมี 5 แฉกตื้นๆ ด้านนอกมีขนส้นนุ่ม ริ้วประดับมี 6-12 อัน ลักษณะเป็นรูปเส้นด้าย หรือ รูปใบหอกยาวประมาณ 8-13 มิลลิเมตร โค้งเข้า และมีก้านดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลออกเป็นฝักมีลักษณะเป็นรูปกลมยาวเป็นเฟือง 5 เฟือง ปลายแหลมกว้าง 2-3.5 เซนติเมตร ยาว 5-6 เซนติเมตร มีขนแข็งคมคายสีเหลืองขึ้นปกคลุมทั้งฝัก เปลือกผลบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียวแก่ เมื่อแก่จะเป็นสีดำ และจะแตกออก ภายในฝักมีช่อง 5 ช่อง จะมีเมล็ดสีน้ำตาลจำนวนมาก ซึ่งลักษณะของเมล็ดจะเป็นรูปไต มีปุ่มเล็กๆ มีกลิ่นฉุนแรง

ชะมดต้น 

ชะมดต้น

 ชะมดต้น

การขยายพันธุ์ชะมดต้น

ชะมดต้นสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยม ในปัจจุบัน คือ การปักชำกิ่ง สำหรับวิธีการปักชำกิ่ง และวิธีการปลูกชะมดต้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปักชำ และการปลูกไม้ล้มลุกอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ชะมดต้น เป็นพืชที่ทนแล้วได้ดี และชอบแสงแดด ชอบดินร่วนซุย และยังเป็นพันธุ์ไม้ที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายอีกด้วย


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของชะมดต้นระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ในผลและเมล็ดพบสาร Myricetin, a-Cephalin, Methionine sulfoxide และ Linoleic acid เมล็ดและต้นพบสาร Phosphatidylserine, Plasmalogen ส่วนดอกและเมล็ดพบสารที่ให้กลิ่นหอม ได้แก่ Ambrettolid ในส่วนของน้ำมันหอมระเหยพบสาร dodecyl acetate, ambrettolide, ambrdttolic acid, farnesol,decyl acetate, alpha-macrocyclic lactone, 5-dodecnyl acetate, 5-tetradecenyl acetate ส่วนอีกรายงานหนึ่งระบุว่าส่วนเหนือดินของชะมดต้น พบสาร myricetin, ambrettolide, palmitic acid, furfural, β-sitosterol, cyanidin-3-glucoside และ cannabiscitrin เป็นต้น

โครงสร้างชะมดต้น

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของชะมดต้น

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดชะมดต้น จากส่วนต่างๆ ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์เพิ่มความไวต่ออินซูลิน มีการศึกษาวิจัยในหนูอ้วนที่มีภาวะไขมัน ระดับน้ำตาล และอินซูลินในเลือดสูง โดยเมื่อให้สาร myricetin จากส่วนเหนือดินของชะมดต้น ขนาด 0.3, 0.5 และ 1 มก./กก. โดยการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ พบว่า myricetin ขนาด 1 มก./กก. มีผลลดระดับน้ำตาล และเพิ่มอินซูลินในเลือดได้ และเมื่อฉีด myricetin ขนาด 1 มก./กก. วันละ 3 ครั้ง แก่หนู เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับการป้อนยา metformin ซึ่งเป็น insulin sensitizer (320 มก./กก. วันละ 3 ครั้ง) พบว่า myricetin มีผลลดน้ำตาลในเลือดได้เช่นเดียวกับยา นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ค่า glucose-insulin index ซึ่งเป็นตัวชี้วัดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) ลดลง เพิ่มการแสดงออกของ glucose transporter subtype 4 (GLUT4) เพิ่มโปรตีน และขบวนการ phosphorelation ของ insulin receptor substrate-1 (IRS-1) ในเซลล์กล้ามเนื้อหนู เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ phosphatidylinositol 3-kinase (PI3-kinase) และกระตุ้นการทำงานของ Akt (serine/threonine kinase protein B) ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้การทำงานของอินซูลินดีขึ้น

           ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลกลูโคส และกระตุ้น beta-endorphin มีรายงานการศึกษาพบว่า Myricetin ซึ่งเป็น flavanol ซึ่งพบได้ในชะมดต้น (Abelmoschus moschatus) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidative) ป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง (cytoprotective) โดยมีรายงานการศึกษาระบุว่าสาร myricetin สามารถลดพลาสมากลูโคส ในหนูที่เป็นเบาหวานชนิด I (insulin-dependent) และเบาหวานชนิด II (non-insulin dependent) โดยทำให้มีการใช้กลูโคสเพิ่มขึ้นและเพิ่มระดับพลาสมา beta-endorphin like immunoreactivity (BER) นอกจากนี้ยังพบว่า myricetin สามารถทำให้ BER หลั่งจาก isolated adrenal medulla โดยทดลองในหนูขาวที่ทำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin (STZ) ขนาด 60 มก./กก. หนูถีบจักรปกติและหนูถีบจักร opioid mu-reptor knockout ที่ทำให้เป็นเบาหวานด้วย STZ ขนาด 50 มก./กก. หนูขาว และหนูถีบจักรต้องมีระดับกลูโคสเท่ากับ หรือ มากกว่า 20 มิลลิโมล/ลิตร เมื่อฉีด myricetin ขนาด 0.3-1.3 มก./กก. เข้าหลอดเลือดดำหนูขาว พบว่า myricetin สามารถลดระดับน้ำตาลกลูโคส และเพิ่มระดับ BER โดยขึ้นกับขนาดของ myricetin และให้ผลสูงสุดที่ขนาด 1.0 มก./กก. myricetin ยังสามารถเพิ่มระดับ BER ในเนื้อเยื่อ adrenal medulla นอกร่างของหนูขาวซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม เมื่อฉีด myricetin ขนาด 1 มก./กก. เข้าหลอดเลือดหนูขาวกลุ่มที่ตัด adrenal gland (adrenalectomized) และไม่ได้ตัด (sham-operated) พบว่า myricetin ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลลดลง และ BER ไม่เพิ่มขึ้น ใน adrenalectomized ซึ่งแตกต่างจาก sham-operated ที่ระดับน้ำตาลลดลงและ BER เพิ่มขึ้น ฤทธิ์ลดน้ำตาลของ myricetin ในหนูเบาหวานนี้ถูกยับยั้งได้ด้วย naloxone หรือ naloxonazine ขนาด 5,10 มคก./กก. แต่ระดับ BER ยังคงเพิ่มขึ้น ในทำนองเดียวกันพบว่า myricetin สามารถลดระดับน้ำตาลในหนูถีบจักรปกติที่เป็นเบาหวาน แต่ไม่สามารถลดระดับน้ำตาลในหนูถีบจักรเบาหวานที่ไม่มี opioid mu-receptor ส่วนระดับ BER เพิ่มขึ้นในหนูถีบจักรทั้งสองกลุ่ม แสดงว่าฤทธิ์ลดน้ำตาลของ myricetin มีกลไกการออกฤทธิ์โดยกระตุ้น opioid mu-receptor ทั้งในหนูขาวและหนูถีบจักร

           มีการศึกษาวิจัยสารสกัดเมธานอลจากเมล็ดของชะมดต้นในหนูทดลอง ที่ขนาด 50 และ 100 มก./กก. (น้ำหนักตัว) พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณปัสสาวะในลักษณะที่ขึ้นอยู่กับขนาดยา โดยเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของปริมาณปัสสาวะ เท่ากับ 22 และ 44% ในขนาดยา 50 และ 100 มก./กก. ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มขึ้นของการขับโซเดียม ออกอย่างมีนัยสำคัญ ในปริมาณที่สูงอีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและการกำจัดอนุมูลอิสระของสารสกัดจากเมล็ดและใบของชะมดต้น โดยวิธีการ DPPH พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด 21.52 mgAAE/dw (มิลลิกรัมของกรดแอสคอร์บิกเทียบเท่าต่อกรับของน้ำหนักแห้ง)

           มีการศึกษาวิจัยระบุว่าสารสกัดจากใบของชะมดต้นด้วยเฮกเน เอทิลอะซีเตด เมทานอล และน้ำ ได้รับการประเมินว่ามีฤทธิ์ต้านจุลชีพ โดยใช้การแพร่กระจายของแผ่นดิสก์ พบว่ามีฤทธิ์ต้านจุลชีพกับเชื้อ Staphylococcus aureus, Bacillus megaterium, Shigella flexneri, Proteus mirabilis, Proteus vulgaris และ Corynebacuerium diphtheriae ส่วนเฮกเซนที่มีน้ำมันหอมระเหยความเข้มข้นสูง ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียต่อ C. diphtheriae ส่วนสารสกัดน้ำจากเมล็ดของชะมดต้น มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ Bacillus subtilis, S.aureus, Escherichia coli, Pseudomonas aeruginosa, P. vulgaris และ Salmonella enterica paratyphi. และสารสกัดไฮโดรแอลกอฮอล์จากใบ ยังแสดงฤทธิ์ต้านจุลชีพต่อเชื้อ Candida albicans อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของชะมดต้น

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ชะมดต้น ในรูปแบบของสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ชะมดต้น
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ชะมดต้น”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 248-249.
  2. ชยันต์ พิเชียรสุนทร และวิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 3 เครื่องยาสัตววัตถุ. พิมพ์ครั้งที่ 2.กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.2556. หน้า 245-246
  3. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ชะมดต้น”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 196.
  4. ผลเพิ่มความไวต่ออินซูลินในหนูอ้วนของสาร myricetin จากชะมดต้น. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. ดร.จงกชพร พินิจอักษร, ภญ.วัจนา สุจีรพงศ์สิน. “ชะมดต้น ”. ตำราวิชาการ สุคนธบำบัด. หน้า 128.
  6. Myricetin มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลกลูโคสในหนูเบาหวาน โดยกระตุ้น beta-endorphin. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพรสำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลับมหิดล.
  7. Maheshwari P, Kumar A. Antimicrobial activity of Abelmoschus moschatus leaf extracts. Curr Trends Biotechnol Pharm 2009;3:260-6
  8. Khare CP. Encyclopedia of Indian Medicinal Plants: Rational Western Therapy, Ayurvedic and Other Traditional Usage, Botany. 1st ed. Berlin Heidelberg (NY): Springer-Verlag Publisher; 2004. p. 247-8.
  9. Mantena KR, Soni D. Diuretic activity of extract of Abelmoschus moschatus L. Asian Pac J Trop Biomed 2012;1:1-3
  10. Rao YR, Jena KS, Sahoo D, Rout PK, Ali S. Safety evaluation of ambrette (Abelmoschus moschatus Linn) seed oil. J Am Oil Chem Soc 2005;82:749-52
  11. Gul MZ, Bhakshu LM, Ahmad F, Kondapi AK, Qureshi IA, Ghazi IA, et al. Evaluation of Abelmoschus moschatus extracts for antioxidant, free radical scavenging, antimicrobial and antiproliferative activities using in vitro assays. BMC Complement Altern Med 2011;11:64.