แกลบหนู ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

แกลบหนู งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แกลบหนู
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระดูกเขียด, กระดูกอึ่ง, ดูกอึ่ง (ภาคอีสาน), อึ่งใหญ่ (ภาคกลาง, ภาคอีสาน), แกลบหูหนู, แปรงหูหนู (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dendolobium lanceolatum (Dunn.) Schibdl
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Desmodium dunnii Merr., Lespedeza lanceolata
วงศ์ Leguminosae-Papilionoideae


ถิ่นกำเนิดแกลบหนู

แกลบหนู จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยพบการกระจายพันธุ์บริเวณภูมิภาคอินโดจีน เช่น เวียดนาม ลาว พม่า ไทย และกัมพูชา รวมถึงทางตอนใต้ของจีนด้วย สำหรับในประเทศสามารถพบได้มากทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน บริเวณป่าเบญจพรรณและชายป่าทั่วไป รวมถึงในที่โล่งทั่วไป ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 100–400 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณแกลบหนู

  • ใช้ดับพิษร้อนถอนพิษไข้
  • แก้โรคทางเดินปัสสาวะพิการ
  • แก้ไตพิการ
  • รักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะมีสีขุ่นเข้มเหลืองหรือแดง
  • แก้อากาณแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้
  • แก้บิด
  • แก้อาการถ่ายเป็นมูกเลือด
  • แก้ใจสั่น
  • แก้ผอมแห้ง
  • แก้เบื่ออาหาร
  • แก้ดีซ่าน
  • แก้คุณไสย
  • แก้ระดูในสตรี  

           มีการนำใบอ่อนและยอดอ่อนของแกลบหนู ซึ่งมีรสมันจืดมารับประทานเป็นผักสดแกล้มกับน้ำพริก แจ่ว หรือลาบ ต่างๆ และส่วนของใบแก่ยังมีการนำมาใช้เป็นอาหารของสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย แพะ อีกด้วย

แกลบหนู

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้พิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้บิดมูกเลือด แก้ปัสสาวะพิการ ไตพิการ แก้ปัสสาวะสีขุ่นแดง แก้ดีซ่าน แน่นท้อง เบื่ออาหาร แก้ผอมแห้ง แก้ระดูขาวในสตรี โดยนำแกลบหนู มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้บิด แก้อาการถ่ายเป็นมูกเลือดโดยนำรากแกลบหนู ผสมกับรากสังวาลพระอินทร์และรากไชหิน ต้มรวมกัน ดื่ม
  • ใช้แก้คุณไสย แล้วอาการผอมแห้ง ใจสั่น มีอาการร้องไห้ในบางเวลา โดยนำรากแกลบหนูผสมกับ รากเกล็ดปลาหมอ รากโมกมัน กาสามปีกใหญ่ และรากหางหมาจอกแล้วนำมาต้มกับน้ำดื่ม

ลักษณะทั่วไปของแกลบหนู

แกลบหนู จัดเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูง 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านมาก เปลือกต้นสีน้ำตาล ผิวเรียบกิ่งก้านค่อนข้างกลม กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลอ่อนหนาแน่น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ โดยจะมีใบย่อยสามใบออกแบบ เรียงสลับ มีก้านใบประกอบยาว 1-2.5 ซม. ซึ่งที่ก้านใบประกอบจะมีขนสีเทาถึงน้ำตาลอ่อน หูใบบาง โปร่งแสง ปลายเรียวแหลม มีขนสั้นๆ กว้าง 1-2 มม. ยาว 0.5-1 ซม. ลักษณะใบย่อยรูปรี รูปไข่ หรือ รูปไข่กลับ ใบย่อยตรงกลางจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้างเล็กน้อย โดยใบย่อยใบกลาง กว้าง 0.8-1.7 เซนติเมตร และจะยาว 1.5-4 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยด้านข้างจะกว้าง 0.5-2 ซม. ยาว 1.5-5 ซม. โคนสอบมน ปลายใบมน แผ่นใบบาง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นๆ สีเทาถึงน้ำตาลอ่อน ปกคลุมเล็กน้อยมีเส้นแขนงใบข้างละ 5-8 เส้น ส่วนก้านใบย่อยกลางยาว 0.5-1.5 ซม. ดอกออกเป็นช่อแบบช่อซี่ร่ม บริเวณซอกใบ ช่อดอกยาว 5-10 มิลลิเมตร โดยใน 1 ช่อดอก จะมี ดอกย่อยประมาณ 10 ดอก ลักษณะของดอกย่อยรูปร่างคล้ายดอกถั่ว มีสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยง สีเขียวแกมเหลือง ขนาด 4 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันตรงโคน ปลายแยกเป็น 4 กลีบ กลีบดอก เหลืองอ่อน กลีบกลาง เป็นรูปไข่กลับขนาด 6-9 และยาว 5-6 มิลลิเมตร กลีบคู่ข้าง เป็นรูปขอบขนานขนาด 5-6 และยาว1.5-2 มิลลิเมตร กลีบคู่ล่าง รูปขอบขนานแกมรูปรีขนาด กว้าง 7-9 และยาว 2.5 มิลลิเมตร มีก้านดอกย่อยยาว 2 มิลลิเมตร มีขนหนาแน่น เกสรเพศผู้มี 10 อัน ขนาด 7-8 มิลลิเมตร เชื่อมกันเป็นสองกลุ่ม เกสรเพศเมีย มีรังไข่รูปไข่ มีขน ก้านชูยาว 7 มิลลิเมตร ผลเป็นฝักลักษณะแบนรี เบี้ยวถึงเกือบกลม กว้างประมาณ 8 มม. ยาว 0.8-1 ซม. ด้านในฝักมีเมล็ด มี 1 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็กแข็ง รูปไต ขนาด 3x2 มิลลิเมตร ผิวมัน

แกลบหนู

แกลบหนู

การขยายพันธุ์แกลบหนู

แกลบหนูจัดเป็นไม้พุ่มที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งในปัจจุบันการขยายพันธุ์ส่วนใหญ่จะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ เนื่องจากไม่ค่อยเป็นที่นิยมในการนำมาปลูก จึงพบได้ตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังเป็นส่วนมาก แต่หากต้องการจะนำแกลบหนูมาปลูกนั้นก็สามารถทำได้ โดยการนำเมล็ดแก่มาเพาะเมล็ดให้เป็นต้นกล้าแล้ว จึงนำไปปลูกต่อไป โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกแกลบหนู นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนใบ ดอก และสารสกัดแกลบหนู จากราก พบสารออกฤทธิ์สำคัญ เช่น ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้ จากการแยกส่วนสกัดหยาบได้คลอโรมีเทน ของรากแกลบหนู hordenine ,3,8,9-trimethoxy-5H-dibenzo[ a,c]cycloheptene-2,10-diol, β−sitosterol และ 4’- hydroxy-7,8-(2”,2”-dimethylpyran)flavan เป็นต้น ส่วนการศึกษาวิจัยพฤกษเคมีในส่วนใบ และดอกของแกลบหนูระบุว่าพบสารต่างๆ เช่น β-sitosterol, stigmasterol, Campesterol, trigonelline, Kaempferol 3-o-β-glucoside เป็นต้น

โครงสร้างแกลบหนู

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของแกลบหนู

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของแกลบหนู ระบุเอาไว้ดังนี้ มีรายงานว่าสารสกัดจากส่วนใบของแกลบหนูมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli และ Shigella spp. ได้ส่วนสาร 4-hydroxy-7,8-(2,2-dimethylpyran)flavan และ 3,8,9-trimethoxy-5H-dibenzo [a ,c] cyclaheptene-2,10,diol ซึ่งสกัดได้จากส่วนรากของแกลบหนูมีฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรค โดยมีค่า MIC เท่ากับ 25 และ 50 µg/ml ตามลำดับ


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของแกลบหนู

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้แกลบหนู เป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ 


เอกสารอ้างอิง แกลบหนู
  1. วงศ์สถิต ฉั่วกุลและพร้อมจิต สรลัมพ์.(2541) สมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี 2 วารสารสมุนไพร5(1):21-51.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
  3. สมภพ ประธานธุราลักษณ์. (2539) อนุกรมวิธานพืชสมุนไพร กรุงเทพฯ:โอ.เอส.พรินติง เฮาส์.
  4. ศรัญญา จุฬารี และคณะ.สมุนไพร และการนำไปใช้:กรณีศึกษาพื้นที่รอบเขื่อนน้ำพุง จังหวัดสกลนคร. รายงานผลการศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, 2557.หน้า 21
  5. ระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์.การสกัดแยกและศึกษาสูตรโครงสร้างทางเคมีของสาร flavonoids ในสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี วงศ์ Leguminosae.รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลับอุบลราชธานี. มีนาคม 2551. 67 หน้า
  6. แกลบหนู.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=204
  7. Chuakul, W., Saralamp, P., Paonil, W., Temsiririrkkul, R. & Clayton, T. (Editors), 1997. Medicinal plants of Thailand. Vol. II. Department of Pharmaceutical Botany, Faculty of Pharmacy, Mahidol University, Bangkok, Thailand. pp. 95-96.
  8.  Kanokmedhakul S., Kanokmedhakul K., Nambuddee K., Kongsaeree P. New bioactive prenylflavonoids and dibenzocycloheptene derivative from roots of Dendrolobium lanceolatum. Journal of Natural Products. 2004;67(6):968–972.