บวบขม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
บวบขม งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ
ชื่อสมุนไพร บวบขม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะนอยจา (ภาคเหนือ), นมพิจิตร (ภาคกลาง), กะตอรอ (ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Trichosanthes cucumerina Linn.
วงศ์ CUCURBITACEAE
ถิ่นกำเนิดบวบขม
บวบขม เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย บริเวณเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงหมู่เกาะต่างๆ ของบริเวณดังกล่าว โดยมีการแพร่กระจายพันธุ์ในประเทศ ไทย ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา เนปาล และบังคลาเทศ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศซึ่งจะพบมากตามที่รกร้างทั่วไป บริเวณริมน้ำ หรือ ตามชายป่าทั่วไป โดยจะเป็นเถาพาดพันไม้ ยืนต้นอื่นๆ
ประโยชน์และสรรพคุณบวบขม
- บำรุงร่างกาย
- บำรุงหัวใจ
- ช่วยลดไข้
- แก้ร้อนใน
- แก้กระหายน้ำ
- แก้หนอง
- ช่วยฟอกเลือด
- ช่วยขับระดู
- แก้ท่อน้ำดีอักเสบ
- แก้ปวดศีรษะ
- แก้อักเสบ
- เป็นยาระบาย
- แก้ทำให้อาเจียน
- แก้ริดสีดวงจมูก
- ช่วยย่อย
- ช่วยขับพยาธิ
- แก้ท่อน้ำดีอุดตัน
- แก้รังแค
- แก้เหา
- แก้คัน
- ขับประจำเดือน
- แก้ธาตุพิการ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้บวบขม
ใช้แก้ปวดศีรษะ เป็นยาระบาย ยาถ่าย แก้ไข้ แก้หลดลมอักเสบ โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม แก้ริดสีดวงจมูกโดยใช้รังหรือใบบวบขม แบบแห้ง นำมาหั่นให้เป็นฝอยผสมกับเส้นยาสูบเล็กน้อยมวนเป็นบุหรี่สูบฆ่าเชื้อ แก้อาการอักเสบ ฟอกเลือด ทำให้อาเจียน แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ แก้หนอง ขับประจำเดือน แก้ท่อน้ำดีอักเสบ โดยใช้เถาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้เป็นยาระบายโดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ทำให้อาเจียนโดยใช้ใบเถาสดมาคั้นเอาน้ำดื่ม ใช้เป็นยาพอกศีรษะ แก้คัน แก้รังแค แก้เหา โดยนำผลสดมาขยี้ฟอกศีรษะเส้นผมหลังสระผม หมักทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที แล้วค่อยล้างน้ำออก
นอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้ประโยชน์จากบวบขม เป็นสมุนไพรในรูปน้ำคั้นซึ่งจัดเป็นการใช้แบบแผนโบราณ โดยมีวิธีการเตรียมน้ำคั้นจากผลบวบขมโดยสามารถเตรียมได้โดยคั้นน้ำจากผลสด 10-11 ก. ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ต่อวัน จะได้น้ำคั้นประมาณ 1 มล. ซึ่งจะมีปริมาณสารคิวเคอร์บิตาซิน บี 0.12 มก. ให้ดื่มน้ำคันหลังอาหารเช้า หรือ เย็น การเตรียมน้ำคั้นสามารถเตรียมให้พอใช้ได้ 2-3 วัน โดยเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น ได้อีกด้วย
ลักษณะทั่วไปของบวบขม
บวบขม จัดเป็นไม้ล้มลุก หรือ ไม้เถาเลื้อยพันไม้ยืนต้นอื่นๆ หรือ ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน เถา หรือ ลำต้นมีลักษณะเป็นร่อง และมีขนปกคลุม มีขนาดยาวประมาณ 2-5 เมตร มีมือเกาะจับต้นไม้อื่นตลอดเถา กิ่งก้าน และใบก็มีขนขึ้นประปรายเช่นเดียวกับลำต้นหรือเถา
ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปโล่ห้าเหลี่ยม หรือ รูปไต, รูปไข่กว้าง ปลายใบแหลม หรือ กลม โคนใบเว้า เป็นรูปหัวใจ ขอบใบจักเป็นซี่ฟัน และมีรอยเว้าลึกห้าแฉกมีเส้นใบเป็นร่องลึกเห็นได้ชัดโดยเส้นใบจะออกจากจุดเดียวกันที่โคนใบ 5 เส้น แผ่นใบมีขนาดกว้าง 8-12 เซนติเมตร และยาว 7-10 เซนติเมตร ผิวใบสากมือมีขนทั้งสองด้านและมีก้านใบยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร
ดอก ออกเป็นแบบแยกเพศต่างต้นโดยดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อยาวประมาณ 6-16 เซนติเมตร โดยจะออกเป็นกระจุกติดกันมีก้านดอกเล็ก และมีขนเล็กน้อย มีกลีบรองโคนดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ยาวประมาณ 1.5-1.6 เซนติเมตร กลีบดอกลักษณะเป็นรูปไข่แกมสามเหลี่ยมมีห้ากลีบ ยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร อยู่ชิดกันมีเกสรเพศผู้ 3 อัน เป็นรูปทรงกระบอก กว้าง 1.5 มิลลิเมตร และยาว 3 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมียจะออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบโดยดอกจะเป็นสีเหลืองมีก้านดอกยาวประมาณ 3-12 มิลลิเมตร และมีฐานรองดอกอวบสีเขียวเข้ม
ผล ลักษณะรูปกลมรี หัวท้ายแหลม กว้าง 4-6 ซม. ยาว 8-12 ซม. ผิวสีเข้มขรุขระเล็กน้อย มีสีเขียวเข้มตามความยาวของผล และมีจุดประสีขาวทั่วผล เนื้อผลมีรสขมด้านในผลมีเมล็ดอ่อน แบนรูปหยดน้ำกว้าง 0.4-0.5 เซนติเมตร ยาว 0.8 เซนติเมตร สีขาวจำนวนมากอัดแน่นเป็นแถว เมื่อเมล็ดแก่จะมีสีดำ
การขยายพันธุ์บวบขม
บวบขม สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะไม่นิยมปลูกกันมาก เหมือนบวบเหลี่ยมเนื่องจากผลมีรสขม ส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกตามสวนสมุนไพรเพื่อเอาไว้ใช้ทำยาเท่านั้น สำหรับวิธีการปลูกบวบขมนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปลูกบวบเหลี่ยมซึ่งได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ ในบทความ “บวบเหลี่ยม”
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของบวบขม ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ อาทิเช่น cucurbitacin B, dihydrocucerbitacin B, elaterin และ bryonolic acid เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของบวบขม
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของบวบขมระบุถึงฤทธิ์ต่างๆ ไว้ดังนี้
ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง มีการศึกษาวิจัยบวบขม พบว่าน้ำคั้นจากผลบวบขม ดิบ (immature) มีสารผสมคิวเคอร์บิตาซินซึ่งตกผลึกจากอีเทอร์ (0.53 มก./มล.น้ำคั้น) หลังจากเขย่าน้ำคั้นจากอีเทอร์ ซึ่งจากการตรวจคุณสมบัติความเป็นพิษต่อเซลล์ด้วยวิธี MTT colorimetric assay พบว่าสารผสมคิวเคอร์บิตาซินดังกล่าวแสดงคุณสมบัติยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านม (breast camcer cell line, SK-BR-3) ด้วยขนาดที่ทำให้เซลล์มะเร็งตาย 50% 0.48 มคก./มล. โดยสารสำคัญจากน้ำคั้นบวบขมที่ทำให้น้ำคั้นมีคุณสมบัติต้านมะเร็งและแสดงความเป็นพิษ คือ คิวเคอร์บิตาซิน บี และไดไฮโดรคิวเคอร์บิตาซิน บี ซึ่งคิวเคอร์บิตาซินทั้งสองแสดงคุณสมบัติยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านม ด้วยขนาดที่ทำให้เซลล์มะเร็งตาย 50% 0.05 มคก/มล. และ 0.40 มคก/มล. ตามลำดับ ทั้งนี้มีงานวิจัยเกี่ยวกับกลไกการยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านมของคิวเคอร์บิตาซิน บี พบว่าคิวเคอร์บิตาซินบี ยับยั้งเอนไซม์เทโลเมอเรส ทำให้เกิด cell cycle arrest ที่ G2/M phase ลด prooncogenic gene ขัดขวาง Wnt signaling pathway ซึ่งทำให้เกิด apoptosis
ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย มีการศึกษาวิจัยคุณสมบัติทางชีวภาพของน้ำคั้นผลบวบขม และสารสกัดจากรากบวบขม พบว่าน้ำคั้นแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียด้วยค่า Ic50 0.089 มคก/มล. ซึ่งน้อยกว่า สารสกัดจากรากและคิวเคอร์บิตาซิน บี
ฤทธิ์ต้านไวรัส มีการศึกษาวิจัยพบว่ากรดบรัยโอโนลิก ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่มากในรากบวบขม แสดงคุณสมบัติต้านไวรัส papilloma ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งบริเวณหลอดลม ด้วยค่า ED50 1.5 ng/mL ทั้งนี้กรดบรัยโอโนลิกเป็นสารที่แสดงฤทธิ์ต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและฤทธิ์ต้านมะเร็ง
ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาวิจัยสมุนไพรพื้นบ้านของประเทศอินเดีย 30 ชนิด ที่มีการใช้เพื่อลดน้ำตาลในเลือด โดยใช้สารสกัดเอทานอล 95% ทำให้แห้งแล้วจึงนำมาศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำทำให้เกิดโรคเบาหวานด้วย alloxan เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยใช้สารสกัดขนาด 250 มก./กก. 1 ครั้ง 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้งต่อวันจนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลงจนถึงระดับปกติเมื่อสัตว์ทดลองอดอาหาร พบว่าสมุนไพร 24 ชนิด ที่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดเรียงลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ ตำลึง Tragia involinvolucrateema ประดู่ ลูกซัด Fenugreek มะรุม Horse Radish Tree หว้า Jambolan plum ชิงช้าชาลี Swertia chirayita มะระขี้นก Bitter cucumbe มะเดื่อชุมพร Ficus benghalensis พังพวยฝรั่ง Premna integrifolia หมามุ่ย Cowitch สมอพิเภก Sesbenia aegyptiaca สะเดา Dendrocalamua hamiltonii ขิง Zingiber มะตูม Cinnamomum tamala บวบขม และ กะเพรา
ฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ของ cucurbitacin B ซึ่งเป็นสารที่สกัดได้จากบวบขมต่อ human lymphocyte โดยศึกษาจากเลือดอาสาสมัครปกติจำนวน 15 ราย นำมาปั่นแยกให้ได้ mononuclear cell ทำไปเพาะเลี้ยงในอาหารที่มี cucerbitacin B 0.5 μg/ml นาน 4-72 ชั่วโมง เทียบกับ negative control ซึ่งไม่มีสารกระตุ้นและ positive control PMA 25 mg/ml ร่วมกับ lonomycin 1 μg/ml หรือ PHA 45 μg/ml แล้วจึงตรวจวิเคราะห์ cytotoxic lymphocyte (CTL) function พบว่า cucurbitacin B ทำให้ total cytotoxic activity ลดลงเมื่อเทียบกับ normal control หรือ PHA (ทั้ง 24,48 และ 72 ชั่วโมง) ที่ 48 ชั่วโมง พบค่า total cytotoxic activity ของ cucurbitacin B เทียบกับ normal control หรือ PHA มีค่าเท่ากับ 11.89+-2.20 VS 45.43+-7.65, P=0.0015 หรือ 11.89+-2.21 VS 80.73+-6.08, P<0.000 ตามลำดับ ตรวจวิเคราะห์ lymphocyte surface macker พบค่า CD8+ มีปริมาณต่ำกว่า control และ PHA (26.21+-2.22 VS 30.86 +- 2.65, P=0.0175 และ 26.21+- 2.22 VS 31.98 +- 2.89, P=0.0084 ตามลำดับ) และ CD69+ มีค่าสูงกว่า normal control อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (27.89+-3.60 VS 13.80+-1.75, P=0.0005) แต่ค่า CD3+CD69+ ไม่มีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ไม่พบความแตกต่างของการสร้าง intracellular cytokine เมื่อกระตุ้นด้วย cucurbitacin B แต่พบว่าเมื่อพบปริมาณ Cucurbitacin B ในอาหารที่มี PHA จะทำให้การหลั่งของ TNF-α ลดลง โดยสรุปพบว่าสาร cucurbitacin B เป็นสารที่สกัดจากบวบขม Trichosanthes cucurmerima L., ซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติ มีฤทธิ์ยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะการทำงานของ NK cell ซึ่งอาจมีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของบวบขม
มีการศึกษาความเป็นพิษจากน้ำคั้นของบวบขม โดยแดน้ำคั้นที่ผนังหน้าของหนูทดลอง swiss albino mice (intraperitoneal injection, i.p.) พบว่าขนาดที่ทำให้หนูทดลองตาย 50% เท่ากับ 13 มก./กก. นน.ตัว หรือ เทียบเท่าน้ำหนักผล 0.62 ก./กก. นน. ตัว ตาม Casarett และ Doull อาการพิษที่ปรากฏ ได้แก่ การเคลื่อนไหวเชื่องช้า ซึมเศร้า การหายใจช้าลง ชักเขียว (cyanosis) และตาย อาการพิษเริ่มปรากฏรวดเร็ว และสัตว์ทดลองตายหลังจากฉีดน้ำคั้น 3-4 ชม. จากอาการพิษแสดงให้เห็นว่าบวบขมออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง และระบบทางเดินหายใจ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
จากข้อมูลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาจะเห็นได้ว่า บวบขม มีความเป็นพิษโดยออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง และระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นในการใช้บวบขมเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค จึงควรระมัดระวังในการใช้โดยการใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีที่กำลังให้นมบุตร ไม่ควรใช้บวบขมเป็นสมุนไพรในรูปแบบการรับประทาน เนื่องจากยังไม่มีรายงานความปลอดภัยรองรับ
เอกสารอ้างอิง บวบขม
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “บวบขม” (Buap Khom) หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 160.
- รศ.ดร.วีณา จิรัจฉริยากูล. บวบขม. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- “บวบขม” หนังสือสมุนไพร พื้นบ้านล้านนา. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 217.
- วีณา จิรัจฉริยากูล, มลาวิภา วงษ์สกุล การวิจัยและพัฒนาสมุนไพรที่มีคุณสมบัติต้านมะเร็ง และต้านอักเสบ : บวบขมและหญ้าปักกิ่ง. รายงานวิจัยสำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. 2556. 211 หน้า.
- ธนวรรณ กุมมาลือ. ผลของสารสกัดจากบวบขม cucurbitacin B ต่อเซลล์ human lymphocyte. ภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.
- เปรียบเทียบสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่เป็นเบาหวานจาก alloxan. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Duangmano S, Dakeng S, Jiratchariyakul W, Suksamrarn A, Smith DR and Patmasiriwat P. Antiproliferative Effects of Cucurbitacin B in Breast Cancer Cells: Down-regulate c Pathway and Obstruct the Cell Cycle. Int. J. Mol. Sci. 2010; Myc / hTERT / Telomerase 11 (12): 5323-38.
- Jiratchariyakul W, Frahm AW. Cucurbitacin B and Dihydrocucurbitacin B from Trichosanthes cucumerina L. Mahidol Univ J Pharm Sci. 1992; 19: 5-12.
- Dakeng S, Duangmano S, Jiratchariyakul W, U-Pratya Y, Bögler O, Patmasiriwat P. Inhibition of Wnt signaling by cucurbitacin B in breast cancer cells: reduction of Wnt associated proteins and reduced translocation of galectin-3-mediated B-catenin to the nucleus. Cell Biochem. 2012 Jan; 113 (1): 49-60.
- Tiangda C, Silapaarcha W, Wiwat C, Picha P. Chemical Compositions, Acute Toxicity and Pharmacological screening of Trichosanthes cucumerina L. Enhancing Pharmacy Profession Through Education. Proceeding of the 11th Asian Congress of Pharmaceutical Sciences. Bangkok. Thailand. 1986: 320-4.