หญ้าไฟตะกาด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หญ้าไฟตะกาด งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ


ชื่อสมุนไพร หญ้าไฟตะกาด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หยอดน้ำค้าง, ปัดน้ำ (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Drosera peltate Thunb.
ชื่อสามัญ Shield sundew
วงศ์ Droseraceae


ถิ่นกำเนิดหญ้าไฟตะกาด

หญ้าไฟตะกาดจัดเป็นพืชกินแมลงชนิดหนึ่งในสกุล Drosera ซึ่งมีรายงานว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของหญ้าไฟตะกาด อยู่ในออสเตรเลีย จากนั้นจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น แล้วจึงแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยมักจะพบตามที่ชื้นแฉะ ที่โล่ง โดยเฉพาะตามป่าสนเขา สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้บนภูเขาสูงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งพบได้บนภูเขาที่มีความสูงตั้งแต่ 700-2,100 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และบริเวณในบริเวณป่าที่มีดินทราย และหญ้าบนเขาสูง


ประโยชน์และสรรพคุณหญ้าไฟตะกาด

  • ใช้แก้ท้องมาน
  • แก้ตับอักเสบ
  • ช่วยบำรุงธาตุ
  • ใช้บำรุงหัวใจ
  • แก้ตับอักเสบ
  • ช่วยขับระดู
  • ช่วยขับพยาธิ
  • แก้กลากเกลื้อน
  • บำรุงกำลัง
  • แก้ซิฟิลิส
  • ช่วยฆ่าเชื้อ
  • แก้ตุ่มพอง
  • แก้ปวดศีรษะ
  • ผื่นคัน
  • กำจัดแมลงวัน

           สำหรับการใช้ประโยชน์จากหญ้าไฟตะกาด นั้น พบว่าเนื่องจากหญ้าไฟตะกาดซึ่งเป็นพืชกินแมลงที่มีความแปลก และสวยงามโดยเฉพาะใบที่เป็นที่กับดักแมลง ซึ่งมีลักษณะเป็นขนมีเมือกเหนียวคล้ายหยดน้ำเกาะ และจะเป็นประกายเมื่อโดนแสง จึงทำให้มีผู้นิยมเลี้ยงเป็นไม้ประดับสวยงาม และยังมีการทำเป็นเชิงพาณิชย์กันมากในต่างประเทศ


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงธาตุ แก้ตับอักเสบ แก้ท้องมาน โดยใช้ต้นแห้งทั้งต้น ต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ดองกับเหล้าดื่ม
  • ใช้บำรุงหัวใจ ขับระดู แก้ตับอักเสบ ขับพยาธิ โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม 
  • ใช้แก้กลากเกลื้อน โดยใช้ต้นสดทั้งต้นมาขยี้ หรือ ตำให้ละเอียด ทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้ปวดศีรษะโดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม (จีน)  
  • ใช้บำรุงกำลัง ฆ่าเชื้อ แก้ซิฟิลิส โดยนำต้นแห้งมาต้ม หรือ ชงกับน้ำร้อนดื่ม  (อินเดีย)
  • ใช้แก้ตุ่มพุพอง ผื่นคัน โดยใช้ใบขยี้ให้แหลกผสมเกลือทาบริเวณที่เป็น (อินเดีย)

ลักษณะทั่วไปของหญ้าไฟตะกาด

หญ้าไฟตะกาด จัดเป็นพืชล้มลุกกินแมลง สูงได้ถึง 35 ซม. มีหัวใต้ดิน ลำต้นตั้งตรงขึ้น และจะแตกแขนงไม่เป็นระเบียบ ใบเป็นใบเดี่ยวแบบก้นปิด ลักษณะรูปสามเหลี่ยมกว้างเกือบกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-8 มม. บางส่วนอาจรูปคล้ายรูปแถบขนาดเล็ก ยาวไม่เกิน 2 มม. มีสีเหลืองอมเขียว ก้านใบยาว 2-8 มม. ส่วนใบที่โคนเรียงเป็นกระจุกรอบข้อ จะมีขนาดใหญ่กว่าใบบน ลำต้นที่เรียงเวียนที่ผิวใบ มีขนต่อมเหนียว เพื่อใช้ดักจับแมลง ช่อดอกเป็นแบบวงแถวเดี่ยว ออกตั้งตรงบริเวณปลายกิ่ง ไม่แตกแขนง ดอกมีความยาว 2-6 ซม. มีใบประดับขนาดเล็ก รูปลิ่มแคบ และมีกลีบเลี้ยง ลักษณะเกลี้ยงมีต่อมเหนียว ติดทน 5-7 กลีบ รูปไข่ ยาว 2-4 มม. กลีบดอก มี 5-7 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 4-6 มม. ก้านดอกยาว 0.6-2 ซม. สีขาว ชมพู หรือ แดง มีเกสรเพศผู้ติดระหว่างกลีบเลี้ยง ยาว 3-4 มม. และมีเกสรเพศเมีย 3 อัน ผลเป็นผลแห้งรูปขอบขนานแกมทรงกลม เมื่อผลแก่จะแตกเป็น 3 ซีก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 มม. ภายในมีเมล็ดเล็กๆ หลายเมล็ด

การขยายพันธุ์หญ้าไฟตะกาด

หญ้าไฟตะกาดสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด การปักชำใบ รวมถึงการแยกหน่อแต่ทั้งนี้หญ้าไฟตะกาด เป็นพืชที่มีการติดเมล็ดน้อย และการปักชำใบก็เจริญเติบโตช้า ดังนั้นจึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมในการนำมาปลูก ซึ่งการขยายพันธุ์ของหญ้าไฟตะกาดส่วนใหญ่จะเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ โดยอาศัยเมล็ดในผลร่วงลงพื้น และการแตกหน่อจากรากเป็นต้น


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนรากของหญ้าไฟตะกาด ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น สารสกัดจากรากพบสาร droserone และ plumbagin สารสกัดจากลำต้นพบสาร plumbagin สารสกัดจากใบพบสาร droserone, gossypetin, iso-gossypetin, plumbagin, 3,8-dibydroxy plumbagin และ quercetin สารสกัดจากทั้งต้นนพบสาร peltalone A, juglone และ plumbagin สารสกัดจากส่วนเหนือดินพบสาร plumbagin, plumbagol และเอนไซม์ proteases อีกด้วย

โครงสร้างหญ้าไฟตะกาด

การศึกษาวิทยาทางเภสัชวิทยาของหญ้าไฟตะกาด

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาสารสกัดหญ้าไฟตะกาด จากส่วนเหนือดิน ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ เช่น สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์จากส่วนเหนือดิน มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียชนิด Streptococcus sobrinus, S. mutans, Prevotella intermedia และ S.cricetus โดยมีความเข้มข้นต่ำสุดที่ต้านเชื้อได้ (MIC) คือ 15.6, 31.25, 62.5 และ 62.5 มก./มล. ตามลำดับ และมีรายงานว่าสาร plumbagin ที่พบในทุกส่วนของหญ้าไฟตะกาด มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง โดยเมื่อฉีดสารสกัดไม่ระบุขนาดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักรและหนูขาว พบว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง และเมื่อให้สาร plumbagin ขนาด 2 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักรพบว่าสามารถต้านมะเร็งชนิด lymphoma-Dalton’s และที่ขนาด 5 มก./กก. เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูถีบจักร สามารถต้านมะเร็งชนิด B-16-F10 ได้

           ส่วนสาร plumbagin ที่พบในหญ้าไฟตะกาด ในขนาด 4 มก./กก. เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องหนูถีบจักร และหนูขาว พบว่าสามารถต้านมะเร็งชนิด Leuk-P388 แต่ไม่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งชนิด Leuk-L1210  นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ระบุว่าสารสกัดจากส่วนเหนือดินของหญ้าไฟตะกาดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และบรรเทาอาการหดเกร็งของกกล้ามเนื้อเรียบอีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหญ้าไฟตะกาด

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากส่วนเหนือดินของหญ้าไฟตะกาด ที่มีสาร plumbagin ในขนา 2-3 มก./กก. โดยทำการฉีดเข้าใต้ผิวหนังกระต่าย พบว่าไม่พบความเป็นพิษแต่ทำให้น้ำหนักตัวลดลงเล็กน้อย และเมื่อให้หนูขาวที่ถูกเหนี่ยวน้ำให้เป็นมะเร็งกินในขนาด 5 มก./กก. ก็พบว่าไม่เป็นพิษเช่นกัน และค่าอวัยวะภายใน เช่น ปอด หัวใจ ตับ ม้าม และไต ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

           นอกจากนี้ยังทำการฉีดสารสกัดดังกล่าวเข้าช่องท้อง และฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำของหนูถีบจักรพบว่าค่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตายร้อยละ 50(LD50) เท่ากับ 15 และ 15 มก./กก. ตามลำดับอีกทั้งยังมีรายงานการศึกษาวิจัยว่าเมื่อให้หนูขาวที่ตั้งท้องกินสารสกัดดังกล่าวที่มีขนาดของสาร plumbagin ในขนาด 20 และ 50 มก./กก. พบว่ามีฤทธิ์ทำให้แท้งได้ 


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้หญ้าไฟตะกาดเป็นสมุนไพร เนื่องจากมีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดจากส่วนเหนือดินของหญ้าไฟตะกาด มีสาร plumbagin ที่มีฤทธิ์ทำให้แท้งบุตรได้ สำหรับบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง หากจะใช้หญ้าไฟตะกาดเป็นสมุนไพร ก็ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ โดยไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง หญ้าไฟตะกาด
  1. วงศ์สถิต ฉั่วกุล สมภพ ประธานธุรารักษ์ นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ และคณะสมุนไพรพื้นบ้านอีสาน ใน : วงศ์สถิต ฉั่วกุล,บรรณาธิการวิชาการ. สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน. กรุงเทพมหานคร อมรินทร์พริ้นติ้งแอนท์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) 2543 : 272 หน้า
  2. ภัทรา แสงดานุชและวีระ โดแวนเว. 2551. พืชกินแมลง. สำนักพิมพ์บ้านและสวน. กรุงเทพฯ
  3. สำนักงานหอพรรณไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. กรุงเทพมหานคร : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2549
  4. วงศ์สถิต ฉั่วกุล.หมอกย่อวาย. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 23. ฉบับที่ 1 เมษายน 2549. หน้า 11-16
  5. เพชรรัตน์ จันทรทิณ และเสริมศิริ จันทร์เปรม. 2552. การรวบรวมพันธุ์และขยายพันธุ์พืชกินแมลงสกุลหยาดน้ำค้างในสภาพเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ. [บทคัดย่อ]. ในการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติครั้งที่ 8. 6-9 พฤษภาคม 2552. หน้า 248           
  6. Didry N, Dubreuil L, Trotin F, Pinkas M. Antimicrobial activity of aerial parts of Drosera peltate Smith on oral bacteria. J Ethnopharmacol 1998;60(1):91-6.
  7. Premakumari P, Rathinam K, Santhakumari G. Antifertility activity of plumbagin Indian J Med Res 1977;65:829-38.
  8. Larsen, K. (1987). Droseraceae. In Flora of Thailand Vol. 5(1): 67–69.
  9. Ramachandran Nair AG, Shanmugasumdaram P, Madhusudhanan KP, Naphthaquinones and flavonols from leaves of Drosera peltate.Fitoterapia 1990;61(1):85-6.
  10. Krishnaswamy M, Purushothaman KK. Plumbagin: a study of its anticancer. Antibacterial and antifungal properties, Indian J Exp Biol 1980;18:876-7.
  11. Duke JA, Ayensu ES. Medicinal plants of  China. Michigan:Alconac, Reference Publications Inc., 1985;1(4):52-361.
  12. Lu, L. and K. Kondo. (2001). Droseraceae. In Flora of China Vol. 8: 201.
  13. Kavimani S, llango R, Madheswaran M, Jayakar B, Gupta M, Majumdar UK, Antitumour activity of plumbagin against Daltnst’s ascitic lymphoma. Indian J Pharm Sci 1996;58(5):194-6.
  14. Asano M, Hase J, Hydroxyquinones.X.pigment of Drosera peltata. Yakugaku Zasshi 1943;63:410-1.