ว่านธรณีสาร ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ว่านธรณีสาร งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ว่านธรณีสาร
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เสนียด (ภาคกลาง), มะขามป้อมดิน (ภาคเหนือ), คดทราย (สงขลา), ดอกใต้ใบ (นครศรีธรรมราช), ก้างปลาแดง (สุราษฎร์ธานี), กระทีบยอด (ชุมพร), ตรึงมาดล (ประจวบคีรีขันธ์), ก้างปลา (นราธิวาส), สุรี (สตูล)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus pulcher Wall.ex Mull.Arg
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Phyllanthus asteranthos Croizat, P. lacerilobus Croizat, Diasperus pallidifolius Kuntze, D. pulcher (Wall. ex Müll.Arg.) Kuntze, Epistylium glaucescens Baill., E. phyllanthoides Baill., E. pulchrum Baill., Reidia glaucescens.
วงศ์ EUPHORBIACEAE

ถิ่นกำเนิดว่านธรณีสาร

ว่านธรณีสาร เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ในแถบประเทศพม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ อินเดีย เนปาล และศรีลังกา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบขึ้นกระจายอยู่ตามป่าผลัดใบที่ความสูงระดับน้ำทะเลไปถึงระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 400 เมตร

ประโยชน์และสพรรคุณว่านธรณีสาร

  1. รักษาแผลในปากของเด็ก
  2. แก้ปวดฟัน
  3. ช่วยขับลม
  4. แก้ปวดกระเพาะอาหาร
  5. เป็นยาบรรเทาอาการปวดบวม
  6. แก้คัน 
  7. แก้ฝีอักเสบ
  8. แก้ไข้
  9. แก้ปวดท้อง
  10. ใช้เป็นยาล้างตา
  11. แก้ไข้ตัวร้อน
  12. แก้พิษตานซางเด็ก
  13. ขับลมในลำไส้
  14. แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  15. แก้โรคเหงือก
  16. แก้ไข้สูง
  17. แก้นิ่วที่ไต
  18. แก้ปวดแผลจากอาการไหม้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

ใช้ลดไข้ ขับลม รักษาแผงในปากของเด็ก โดยใช้ใบว่านธรณีสาร แห้งบดเป็นผงแทรก (ผสม) กับพิมเสน แล้วใช้กวาดคอเด็ก ใช้แก้ไข้ตัวร้อน แก้พิษตานซาง แก้ท้องอืดท้องเพ้อ ขับลม แก้ฝี และคันตามร่างกาย โดยใช้ใบสดมาต้มแล้วนำไปพวกบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปว่านธรณีสาร

ว่านธรณีสาร จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้น มีลักษณะลำต้นตั้งตรง ขนาดเล็ก สูง 1-1.5 เมตร แผ่กิ่งก้านที่บริเวณใกล้ปลายยอด เปลือกต้นสีน้ำตาล ลำต้นกลมเรียบ มีรอยแผลใบตามลำต้น ที่กิ่งอ่อนและใบประดับมีขนนุ่ม ใบออกเป็นใบเดี่ยวบริเวณปลายยอด โดยออกแบบเรียงสลับหนาแน่นในระนาบเดียวกัน ซึ่งในแต่ละกิ่งจะมีใบย่อยประมาณ 15-30 คู่ ลักษณะเป็นรูปขอบขนานเบี้ยว หรือ เป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ โคนใบมนเบี้ยว ปลายใบสดมีติ่งแหลมขนาดเล็ก ขอบใบเรียบแผ่นใบบางสีเขียว มีก้านใบสีแดงยาว 1-1.5 มิลลิเมตร มีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.52.5 เซนติเมตร ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยว แบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน มีสีแดงเข้ม ใบประดับมีขนนุ่มที่ฐาน โดยดอกตัวผู้จะออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ กลีบดอกมี 4 กลีบ โคนสีแดง เกสรเพศผู้มี 2 อัน ก้านชูสั้น เชื่อมติดกัน อับเรณูแตกตามยาว ก้านดอกบาง ยาว 5-10 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ขนาด 2-3 × 1-2 มิลลิเมตร สีแดงเข้ม ของแหว่ง มีต่อม จานฐานดอกเป็นต่อม 4 อัน รูปเหลี่ยม หรือ รูปไต แบนบาง กว้าง  0.5-0.7  มิลลิเมตร ส่วนดอกตัวเมียออกตามซอกใบที่ปลายกิ่ง ดอกห้อยลง เรียงกันอยู่หนาแน่นตามใต้ท้องใบ กลีบดอกมี 6 กลีบ รูปไข่ ก้านดอก ยาว 15-23 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกติดกัน มีขนตามขอบกลีบ โคนกลีบดอกสีม่วงแดง สำหรับปลายกลีบดอกสีเขียว กลีบเลี้ยงมี 6 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ขนาด 3.5-4 × ca. 1.5 มิลลิเมตร ขอบแหว่ง รังไข่รูปกึ่งกลม เกลี้ยง ส่วนปลายมี 6 พู ภายในรังไข่มี 3 ห้อง มีก้านชู 3 อัน ผลเป็นรูปทรงกลม ขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร ผิวผลเกลี้ยงออกเรียงเป็นแนว ดูเป็นระเบียบอยู่ใต้ใบ เป็นสีน้ำตาลอ่อน มีกลีบเลี้ยงติดอยู่และมีก้านผลยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร

ว่านธรณีสาร

ว่านธรณีสาร

การขยายพันธุ์ว่านธรณีสาร

ว่านธรณีสารสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดแล้วนำต้นกล้าไปปลูก ซึ่งวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปลูกก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้ยืนต้นอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความต่างๆ ก่อนหน้านี้ แต่ทั้งนี้การปลูกว่านธรณีสาร ควรปลูกในดินร่วน หรือ ดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี และควรปลูกในบริเวณที่มีแสงด้วยปานกลาง

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของว่านธรณีสาร ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ ดังนี้ ลำต้นและส่วนเหนือดินพบสาร glochidone, glochidonol, 2-methylanthraquinone, lupenyl acetate และ β-sitosterol เป็นต้น

ที่มา : PubChem

 โครงสร้างว่านธรณีสาร

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของว่านธรณีสาร

มีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของว่านธรณีสาร ระบุไว้ว่า จากการศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งของส่วนลำต้นว่านธรณีสารในหลอดทดอลงพบว่าสาร glochidonol มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งต่างๆ เช่น เซลล์มะเร็งท่อน้ำดี เซลล์มะเร็งเยื่อบุช่องปาก เซลล์มะเร็งปากมดลูก เซลล์มะเร็งเต้านมชนิด Hormone-independent และ Hormone-dependent เซลล์มะเร็งปอด โดยมีค่า IC50 อยู่ในช่วง 0.0003 to 28.0 mg/ml ในขณะที่สาร 2-methylanthraquinone มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งบางชนิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยมีค่า IC50 อยู่ในช่วง 10.0 ถึง 39 mg/ml นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศระบุว่า ส่วนเหนือดินของว่านธรณีสารมีฤทธิ์ต้านเนื้องอก และมีฤทธิ์ต้าน HIV-RT อีกด้วย

การศึกษาทางวิจัยทางพิษวิทยาของว่านธรณีสาร

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยา และความปลอดภัยในการใช้ว่านธรณีสาร ดังนั้นเด็ก และสตรีมีครรภ์ จึงยังมีควรใช้ว่านธรณีสารเป็นสมุนไพร ส่วนผู้ใหญ่ที่มีร่างกายแข็งแรงปกติ หากใช้ว่านธรณีสารเป็นสมุนไพรควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากเกินไป หรือ ใช้ต่อเนืองกันนานจนเกินไป เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำหากต้องการใช้ว่านธรณีสาร เป็นสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง ว่านธรณีสาร

⦁ หนังสือสมุนไพร สวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ว่านธรณีสาร”. หน้า 162.
⦁ เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ว่าน. กทม. เศรษฐศิลป์. 2553. หน้า 42
⦁ หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ว่านธรณีสาร (Wan Thorani San)”. หน้า 274.
⦁ ว่านธรณีสาร.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phorgarden.com/main.php?action=viewpage&pid=190
⦁ ว่านธรณีสาร.กลุ่มยาแก้ไข้ลดความร้อน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษาพันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็กพระเทพรัตนาราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้  http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_09_3.htm
⦁ Eldeena I.M.S.,E.M. Seowan R. Abdullaha & S.F. Sulaiman (2010). In vitro antibacterial, antioxidant, total phenolic contants and anti-HIV-1 reverse transcnitase activities of extracts of seven Phyllanthus sp. South African Joumal of Botany.
⦁ Bagalkotkar G. T.S. Chuan S.I. Khallvulla , A.S. Hamzah, K. Shaari ,N.H. Lajis M.S. Saad & J.Stanslas(2011). Isolation and cytotoxicity of Triterpenes from the roots of Phyllanthus pulcher Wall. Ex Mull Arg.(Euphorbiaceae). African Joumal of Pharmacy and Pharmacology Vol 5, (2) Pg 183-188.