บัวตอง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

บัวตอง งานวิจัยและสรรพคุณ 6 ข้อ

ชื่อสมุนไพร บัวตอง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ทานตะวันหนู, ดาวเรืองญี่ปุ่น, เบญจมาศน้ำ (ทั่วไป), พอมื่อนื้อ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tithonia diversifolia (hemsl.) A. Gray.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mirasolia diversifolia Hemsl.
ชื่อสามัญ Mexican sunflower
วงศ์ ASTERACEAE


ถิ่นกำเนิดบัวตอง

บัวตอง จัดเป็นไม้พื้นถิ่นทวีปอเมริกากลางบริเวณประเทศแม็กซิโก กัวเตมาลา และทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก ในปัจจุบันบัวตอง ถูกจัดให้เป็นวัชพืชต่างถิ่นรุกรานรุนแรง สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้มากในภาคเหนือ


ประโยชน์และสรรพคุณบัวตอง

  1. ใช้รักษาอาการไข้
  2. แก้ท้องเสีย
  3. แก้ปวดศีรษะ
  4. แก้คัน
  5. ใช้แก้ผื่นคัน
  6. ใช้รักษาแผลสดและแผลเรื้อรัง

           ในปัจจุบันบัวตองถูกนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ กันมากมายแต่อย่างไรก็ตามก็อาจทำให้เกิดภาวะเสี่ยงที่พืชพื้นเมืองที่อยู่ใกล้เคียงสูญพันธุ์เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการสกัดสารประกอบกลุ่ม sesquiterpene lactones จากส่วนรากของบัวตอง รวมถึงน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากส่วนดอกของบัวตองมาใช้ในการควบคุมศัตรูพืช เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้แอฟริกา และมวนแดงฝ้ายอีกด้วย โดยมีการศึกษาพบว่าสารสกัดหยาบจากใบบัวตองด้วยเอทานอลที่ความเข้มข้น 2, 3, 4 และ 5 เปอร์เซ็นต์ มีผลต่อการตายของด้วงถั่วเขียว (Callosobruchus maculatus (F.)) ส่วนเปอร์เซ็นต์ สามารถกำจัดแมลงหวี่ขาว (Bemisia yabaci (Gennadius)) ได้โดยทดลองในระดับโรงเรือน และทดสอบในแปลงมะเขือเทศ อีกทั้งสารสกัดหยาบจากใบบัวตองด้วยเอทานอลเข้มข้น 12.5 เปอร์เซ็นต์ (%v/v) ทำให้ปลวก (Macrotermes bellicosus) ตาย 42-88 เปอร์เซ็นต์ หลังจากฉีดพ่นสารสกัดไปในเวลา 140 นาที

บัวตอง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ไข้ อาการท้องเสีย โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อาการปวดศีรษะโดยนำใบสดนำมาย่างไฟ วางบนศีรษะแล้วใช้ผ้าพันไว้
  • ใช้ใส่แผลสด และแผลเรื้อรังโดยนำดอกมาขยี้ หรือ บดให้ละเอียดพอกบริเวณที่เป็นแผล
  • ใช้แก้อาการคันโดยนำใบบัวตอง กับต้นสาบหมานมาต้มน้ำแล้วนำมาอาบ
  • ใช้แก้ผื่นคันที่ขึ้นตามตัวโดยนำยอดอ่อนนำมาเผาแล้วขยี้ทาบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของบัวตอง

บัวตอง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กอายุหลายปี สูง 1-2 เมตร แต่ก็สามารถสูงได้ถึง 4 เมตร และมีไหลอยู่ใต้ดินลำต้นแข็งมีสีน้ำตาล มีขนสีขาวขึ้นปกคลุม

           ใบบัวตอง ออกเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือ รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 4-25 เซนติเมตร และยาว 7-30 เซนติเมตร ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบแฉก 3-5 แฉก คล้ายรูปมือโคนใบสอบแหลมปลายใบทุกแฉกแหลมใบมีขนาดแผ่นใบบาง แผ่นใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวแกมเทา มีขนสั้นทั้งสองด้าน

           ดอกบัวตอง ออกเป็นช่อกระจุกบริเวณปลายกิ่งมีริ้วประดับ 3-4 ชั้นเรียงกันเป็นรูประฆังเมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นศูนย์กลาง 6-14 เซนติเมตร กลีบดอกมี 12-15 กลีบ เป็นสีเหลืองสด ดอกวงนอกเป็นรูปช้อน หรือ รูปรางน้ำขอบขนาน ปลายจักร ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร เป็นหมัน ส่วนดอกวงในเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศมีขนาดเล็กตรง จำนวนมาก โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกแหลม กลีบดอกเป็นหลอดยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 5 อัน

           ผลบัวตอง เป็นผลแห้ง รูปขอบขนาน โคนและปลายผลสอบเล็กด้านในมีเมล็ดล่อนยาว 0.5-1 เซนติเมตร เมล็ดไม่แตก และผนังผลแยกออกจากกัน

บัวตอง

บัวตอง

การขยายพันธุ์บัวตอง

บัวตองสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และการใช้ไหลใต้ดิน ในอดีตมีการนิยมนำบัวตองมาปลูกเพื่อความสวยงามตามสถานที่ต่างๆ แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีการนำมาปลูกกันแล้ว เนื่องจากบัวตองถูกจัดให้เป็นวัชพืชถิ่นรุกรานรุนแรงซึ่งเป็นพืชที่สามารถขึ้นเองตามธรรมชาติ ทนต่อความร้อน และความแห้งแล้ง ยังสามารถขยายทังพุ่มให้เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งส่วนรากของบัวตองยังสามารถปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษต่อพืชชนิดอื่นๆ (phytotoxic) ทำให้พืชอื่นไม่สามารถเจริญเติบโตในพื้นที่เดียวกับบัวตอง (allelopathy) และบัวตองยังเป็นพืชที่เมื่อเจริญเติบโตขึ้นที่ใด จะค่อยๆ ขยายอาณาเขตเข้าครอบครองพื้นที่นั้นทีละน้อยจนเต็มถาวรในที่สุด ดังนั้นในปัจจุบันการขยายพันธุ์ของบัวตองจึงเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ และมักจะถูกจำกัดพื้นที่เพื่อลดปัญหาพืชอื่นถูกรุกราน


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของบัวตอง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น deversifolin, diversifolin methyl ether, tagitinine A,C และ hispidulin ส่วน น้ำมันระเหยจากดอก และใบของบัวตองพบว่า มีองค์ประกอบหลักเป็น α-pinene (60.9-75.7%), β-pinene (7.2-11.0%) และ limonene (0.9-4.3%) อีกด้วย

โครงสร้างบัวตอง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของบัวตอง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากบัวตอง ส่วนใบและส่วนต้น ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้ มีการศึกษาวิจัยสารสกัด 70% เอทานอลจากต้นบัวตองขนาด 500 มก./กก. พบว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดโดยช่วยลดน้ำตาลในหมูเม้าส์ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 (KK-Ay-mice) ได้ภายใน 7 ชม. หลังจากป้อนเพียงครั้งเดียว และเมื่อป้อนในขนาดเดียวกัน ติดต่อกันนาน 3 สัปดาห์ ยังช่วยลดปริมาณอินซูลิน รวมทั้งปรับปรุงความทนต่ออินซูลิน (insulin tolerance) ในหนูเม้าส์ที่เป็นเบาหวานได้ แต่ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในหนูปกติ(6) การศึกษาต่อมาพบว่าสาร sesquiterpene ที่แยกได้จากสารสกัด 70% เอทานอลจากดอกบัวตอง มีผลเพิ่มการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ (glucose uptake) ในเซลล์ 3T3-L1 adipocytes(7) รวมทั้งสามารถออกฤทธิ์เพิ่มการทำงานของ peroxisome proliferatior-activaterd receptors (PPARs) และการแสดงออกของยีน hydrosteroid sulfotransferase (SULT2A1) ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมกระบวนการเมทาบอลิสมน้ำตาล และคาร์โบไฮเดรตในร่างกาย มีรายงานวิจัยฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของบัวตอง อีกฉบับหนึ่งระบุว่าสารสกัดเมทานอล จากเมล็ด ไม่ระบุขนาด สารสกัด 80% เอทานอล และสารสกัดน้ำ ไม่ระบุส่วนที่ใช้ ขนาด 500 และ 1,500 มก./กก. ตามลำดับ มีผลลดน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานได้ ส่วนสารซาโปนินจากใบของบัวตอง พบว่าสามารถลดระดับไขมันในสัตว์ทดลองที่มีระดับไขมันปกติ โดยลดทั้งคอเลสเตอรอลรวม คอลเลสเตอรอล ชนิด LDL และไตรกลีเซอร์ไรด์ รวมถึงเพิ่มระดับคอเลสเตอรอล ชนิด HDL และยังมีผลป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ ปกป้องการเปลี่ยนแปลงเซลล์ต้นกำเนิดชนิด มีเซนไคม์ (mesenchymal stem cell) ให้เป็นเซลล์ไขมัน adipocyte สะสมในร่างกายอีกด้วย

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่าใบบัวตอง มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยสาร sesquiterpene ได้แก่ diversifolin, diversifolin methyl ether และ tirotundin ที่พบในส่วนใบมีฤทธิ์อย่างแรงในการยับยั้งการทำงานของ nuclear factor kappa-beta ซึ่งเป็นไซโตคายน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบส่วนสารสกัดเมทานอลจากใบบัวตอง ขนาด 50-200 มก. สามารถต้านการอักเสบในหนูแรทที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าด้วยการฉีดสารคาราจีแนน และการต้านอักเสบแบบเรื้อรังจากการเหนี่ยวนำด้วยวิธี cotton pellet-induced granuloma รวมทั้งบรรเทาอาการปวดในหนูแรทเมื่อทดสอบด้วยวิธีให้ยืนบนแท่นร้อน และยังมีการศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ของสารสกัดน้ำจากใบบัวตอง เมื่อทดสอบโดยการทาสารสกัดบริเวณหูของหนูแรทที่เหนี่ยวนำให้เกิดการบวมด้วยน้ำมันสลอด พบว่าสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบได้ใกล้เคียงกับการใช้ยา indomethacin และยังสามารถยับยั้ง neutrophil migration ซึ่งกลไกนี้ไม่พบในกลุ่มที่ใช้ยา indomethacin


การศึกษาทางพิษวิทยาของบัวตอง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากต้นระบุว่ามีการศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลันในหนูแรท โดยป้อนสารสกัด 70% เอทานอลจากต้นบัวตอง ขนาด 400-1,600 มก./กก. น้ำหนักตัว ซึ่งมากกว่าขนาดที่ให้ผลในการออกฤทธิ์ลดน้ำตาลถึง 3 เท่า ระบุว่าไม่พบอาการความเป็นพิษในสัตว์ทดลองแต่อย่างใด


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้บัวตอง เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคนั้นควรระมัดระวังในการใช่เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง บัวตอง
  1. “ทานตะวันหนู”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 214.
  2. สุธรรม อารีกุล. องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของประเทศไทย เล่ม 3. เชียงใหม่: มูลนิธิโครงการหลวง; 2552.
  3. กนกพร อะทะวงษา.บัวตอง...ดอกไม้บนยอดดอย. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลับมหิดล.
  4. พญ.เพ็ญนภา ทรัพเจริญ. บัวตอง. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 130.
  5. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, อุทัย โสนะพันธุ์, ประไพ วงศ์สินมั่นคง. 2554. ทีแอลซี:วิธีอย่างง่ายในการ วิเคราะห์คุณภาพเครื่องยาไทย. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 458 หน้า.
  6. ธนิตา ค่ำอำนวยและคณะ. โครงการวิจัยสารสำคัญและการใช้สารสกัดจากบัวตอง (Tithonia diversifolia (Hemsl).) A.Gray) เพื่อควบคุมหนอนศัตรูผักในพืชตระกูลกะหล่ำและเพลี้ยไฟในพริก. รายงานผลวิจัยเต็มเรื่อง. กันยายน 2565. 59 หน้า.
  7. Suzuki M, Iwasaki A, Suenaga K, Kato-Noguchi H. Phytotoxic property of the invasive plant Tithonia diversifolia and a phytotoxic substance. Acta Biol Hung. 2017;68(2):187-95.
  8. Miura T, Nosaka K, Ishii H, Ishida T. Antidiabetic effect of Nitobegiku, the herb Tithonia diversifolia, in KK-Ay diabetic mice. Biol Pharm Bull 2005;28(11):2152-4.
  9. Gu, J.Q., J.J. Gills, E..J. Park, G.E. Mata, M.E. Hawthorne, F. Axelrod, P.I. Charez, H.H. Fong, R.G. Methta, J.M. Pezzuto and J. Kinghor. 2002. Sesquiterpenes from Tithonia diversifolia with potential cancer chemopreventive activity. Journal of Natural Products 65: 533-536.
  10. Di Giacomo C, Vanella L, Sorrenti V, Santangelo R, Barbagallo I, Calabrese G, et al. Effects of Tithonia diversifolia (Hemsl.) A. Gray extract on adipocyte differentiation of human mesenchymal stem cells. PLoS One. 2015;7;10(4):e0122320.
  11. Rüngeler P, Lyss G, Castro V, Mora G, Pahl HL, Merfort I. Study of three sesquiterpene lactones from Tithonia diversifolia on their anti-inflammatory activity using the transcription factor NF-kappa β and enzymes of the arachidonic acid pathway as targets. Planta Med 1998;64(7):588-93.
  12. Adedire, C.O. and Akinneye, J.O. 2004. Biological activity of tree marigold, Tithonia diversifolia, on cowpea seed bruchid, Callosobruchus maculatus (Coleoptera: Bruchidae), Ann. appl. Biol. 144: 185-189.
  13. Lin HR. Sesquiterpene lactones from Tithonia diversifolia act as peroxisome proliferator-activated receptor agonists. Bioorg Med Chem Lett 2012;22(8):2954-8.
  14. Elufioye TO, Alatise OI, Fakoya FA, Agbedahunsi JM, Houghton PJ. Toxicity studies of Tithonia diversifolia A. Gray (Asteraceae) in rats. J Ethnopharmacol 2009;122(2):410-5
  15. Guijun, Z., L. Xia, C. Wansheng, X. Zhongxin and S. Lianna. 2012. Three new sesquiterpenes from Tithonia diversifolia and their anti-hyperglycemic activity, Fitoterapia 83: 1590-1597.
  16. Chagas-Paula DA, Oliveira RB, da Silva VC, et al. Chlorogenic acids from Tithonia diversifolia demonstrate better anti-inflammatory effect than indomethacin and its sesquiterpene lactones. J Ethnopharmacol 2011;136(2):355-62
  17. Zhao G, Li X, Chen W, Xi Z, Sun L. Three new sesquiterpenes from Tithonia diversifolia and their anti-hyperglycemic activity. Fitoterapia 2012;83(8):1590-7
  18. Oyedokun, A.V., J.C. Anikwe, F.A. Okelana, I.U. Mokwunye and O.M. Azeez. 2011. Pesticidal efficacy of three tropical herbal plants’ leaf extracts against Macrotermes bellicosus, an emerging pest of cocoa, Theobroma cacao L. Journal of Biopesticides 4(2): 131-137.
  19. Owoyele VB, Wuraola CO, Soladoye AO, Olaleye SB. Studies on the anti-inflammatory and analgesic properties of Tithonia diversifolia leaf extract. J Ethnopharmacol 2004;90(2-3):317-21.
  20. Ejelonu OC, Elekofehinti OO, Adanlawo IG. Tithonia diversifolia saponin-blood lipid interaction and its influence on immune system of normal wistar rats. Biomed Pharmacother. 2017;87:589-595.