เครือปลาสงแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
เครือปลาสงแดง งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ
ชื่อสมุนไพร เครือปลาสงแดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เครืออีโม้, เครืออีม้อ (ภาคกลาง), เครือเจ็น (เชียงใหม่), เต่าไห้ (ตราด), เถายอดแดง (อ่างทอง), เถาวัลย์แดง (ชลบุรี), เครือชุด, เครือซุดแดง (เลย), เถาโก (ประจวบคีรีขันธ์), ปอต่อไห้ (จันทบุรี), หุนน้ำ (สระบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ichnocarpus frutescens (L.) W.T.Aiton
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Aganosma affinis (Roem. & Schult.) G.Don, Apocynum crassifolium Salisb., A. frutescens L., Ichnocarpus affinis (Roem. & Schult.) K.Schum.
ชื่อสามัญ Black creeper
วงศ์ APOCYNA CEAE
ถิ่นกำเนิดเครือปลาสงแดง
เครือปลาสงแดง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย และมีการกระจายพันธุ์ในบริเวณ จีนตอนใต้ อินเดีย ปากีสถาน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงทางตอนบนของออสเตรเลีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ตามบริเวณป่าทั่วไปทุกสภาพ หรือ ตามบริเวณที่รกร้างทั่วไป ที่มีความสูงไม่เกิน 850 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ประโยชน์และสรรพคุณเครือปลาสงแดง
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้เบาหวาน
- แก้ไข้
- แก้อาหารไม่ย่อย
- ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- แก้โรคผิวหนัง (ใบ)
- แก้ปวดศีรษะ
- แก้บาดแผล
- ป้องกันฟันผุ
- แก้หิด
- แก้อาการชัก
- แก้ไอ
- แก้อาการเพ้อคลั่ง
- แก้วัณโรค
- แก้บิด
- แก้ม้ามโต
- แก้ลิ้นอักเสบ
- แก้หัด
- แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
- แก้ตาบอดกลางคืน
- แก้อาการเลือดออกที่เหงือก
- บรรเทาปวดจากแมลงกัด
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้บิด แก้ไข้ แก้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะเป็นเลือด ช่วยขับปัสสาวะ โดยใช้ทั้งต้นเครือปลาสงแดง มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แก้อาหารไม่ย่อย ช่วยขับปัสสาวะโดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยใช้รากเครือปลาสงแดง ผสมรากตะโกน รากมะเฟือง เปรี้ยว และรากตีนนก ต้มกันน้ำดื่ม ใช้แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้บาดแผลอักเสบ โดยใช้ใบสดมาตำให้แหลกแล้วประคบบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของเครือปลาสงแดง
เครือปลาสงแดง จัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง ยาว 2-8 เมตร เลื้อยฟาดพันต้นไม้อื่น เถามีสีน้ำตาลแดง ส่วนเถาอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม และจะแตกกิ่งก้านมาก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน รูปรี หรือ รูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-12.5 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียวเรียบหนา ขอบใบเรียบหลังใบเรียบท้องใบมีขนขึ้นประปรายตามเส้นใบมีก้านใบยาว 0.4-3 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง โดยจะดอกจะออกบริเวณซอกใบและที่ปลายกิ่ง โดยใน 1 ช่อจะมีดอกย่อย ประมาณ 10-80 ดอก โดยดอกย่อยจะมีขนาดเล็ก เป็นสีขาว หรือ สีเหลืองนวล มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกเรียงบิดเวียนขวา ปลายกลีบดอกบิด โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น เป็นรูปถ้วย กว้างประมาณ 1-2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนปลายกลีบปลายแยกเป็นแฉกมน มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร โดยด้านข้างของส่วนปลายกลีบจะยื่นยาวคล้ายหาง ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนขอบเป็นคลื่น มีขนอุยบริเวณโคนแฉกด้านใน และมีขนสั้นนุ่มตามขอบ ส่วนด้านนอกเรียบเกลี้ยง ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร มีขนสั้นหนานุ่ม ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 0.3-4.2 เซนติเมตร และมีขนสั้นหนานุ่ม ผลออกเป็นฝักคู่ รูปทรงกระบอก ปลายแหลม กว้าง 1.6-5 มิลลิเมตร ยาว 3-15 เซนติเมตร เมื่อฝักแห้งแตกออกเพียงตะเข็บเดี่ยว เมล็ดมีสีน้ำตาล และมีกระจุกขนสีขาวคล้ายเส้นไหมติดอยู่ที่ปลายเมล็ด เพื่อใช้ช่วยปลิวลมในการแพร่พันธุ์
การขยายพันธุ์เครือปลาสงแดง
เครือปลาสงแดง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการปักชำ แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการขยายพันธุ์โดยมนุษย์ ซึ่งในธรรมชาติก็อาศัยลมที่พัดเอาเมล็ดที่มีขนกระจุกติดอยู่ให้ลอยไปตามกระแสลมแล้วไปตกในบริเวณต่างๆ จากนั้นจึงเจริญเติบโตเป็นต้นต่อไป
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของเครือปลาสงแดง พบสารสำคัญดังนี้ รากพบ beta-sitosterol ลำต้นพบสาร friedelin, lupeol, epi-friedelinol, amyrin, beta-sitosterol ดอกพบ quercetin, quercetin-3-O-beta-D-glucopyranoside ใบพบสาร apigenin, kaemferol, luteolin, syringic acid, vitexin, vanillic acid, isovitexin, proanthocyanidin, ursolic acid, phenolic acids, synapic acid, protocatechuic acid, acetate, kaemferol-3-galactoside (trifolin) เป็นต้น
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเครือปลาสงแดง
มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของเครือปลาสงแดง ในต่างประเทศพบว่า มีฤทธิ์สมานแผล ฤทธิ์ยับยั้งการเกิดเนื้องอก, ฤทธิ์ปกป้องตับ ฤทธิ์ลดไขมัน และน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยาของเครือปลาสงแดง
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
เครือปลาสงแดง เป็นพืชที่พบในไทยมานานแล้ว จึงมีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรกันตั้งแต่อดีต ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่ามีฤทธิ์ต่างๆ แต่ก็เป็นเพียงการศึกษาในสัตว์ทดลองยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์ ดังนั้นในการใช้เครือปลาสงแดงเป็นสมุนไพรนั้น จึงควรระมัดระวังในการใช้โดยการใช้ในขนาดที่พบดีที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื่อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้เครือปลาสงแดงเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง เครือปลาสงแดง
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. หนังสือสมุนไพร ในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “เครือปลาสงแดง ”. หน้า 103.
- เครือปลาสงแดง. พรรณไม้หอมในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. สถาบันความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และอาเซียน มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย. หน้า 24-25
- เครือปลาสงแดง,ลีลาวดี.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=185
- Dash, DK และอื่นๆ (2007) การประเมินฤทธิ์ต้านตับ และสารต้านอนุมูลอิสระของ Ichnocarpus frutescens (Linn.) R.Br. ต่อความเป็นพิษต่อตับจากพาราเซตามอลในหนู วารสารการวิจัยทางเภสัชกรรมเขตร้อน 6: 3 755-65
- Kumarappan CT, Mandal SC (มิถุนายน 2550) "กิจกรรมต้านของสารสกัดจากโพลีฟีของ Ichnocarpus frutescens" ประสบการณ์ ออนคอล 29 (2): 94–101 PMID 17704739 ที่เก็บถาวรจากเดิมเมื่อวันที่ 2010-12-15 ที่ดึง 2011/09/26