มะเกลือ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
มะเกลือ งานวิจัยและสรรพคุณ 10 ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะเกลือ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะเกือ, มะเกีย (ภาคเหนือ), มะเกือ (ภาคอีสาน), เกลือ (ภาคใต้), มักเกลือ, หมักเกลือ (ตราด, เขมร), ผีผา (ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros mollis Griff.
ชื่อสามัญ Ebony tree
วงศ์ Ebenaceae
ถิ่นกำเนิดมะเกลือ
มะเกลือเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เป็นต้น โดยมะเกลือจะพบมากตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งที่มีความสูงตั้งแต่ 5-500 เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป สำหรับในประเทศไทยสามารถพบมะเกลือ ได้ทั่วไปทุกภาคยกเว้นภาคใต้ และมีชุกชุมในภาคกลางบางจังหวัด เช่น ราชบุรี สระบุรี ลพบุรี และภาคอีสานบางจังหวัด เช่น นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น สกลนคร อุดรธานี
ประโยชน์และสรรพคุณมะเกลือ
- ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิลำไส้ พยาธิปากขอ (Hookworm), พยาธิตัวตืด (Tapeworm), พยาธิตัวกลม (Roundworm), พยาธิเส้นด้าย (Threadworm) และพยาธิแส้ม้า (Whipworm)
- ช่วยตานซางในเด็ก
- ช่วยแก้กษัย
- แก้อาเจียน
- แก้ลม
- แก้ริดสีดวงทวาร
- แก้พิษตานซาง
- ขับพยาธิ
- ต้มน้ำอาบรักษาโรคดีซ่าน
- ใช้เป็นยาระบาย
มีการนำส่วนตางๆ ของมะเกลือมาใช้ประโยชน์ ดังนี้ มะเกลือ เป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อไม้มีสีดำทั่วแก่น นิยมใช้ทำเครื่องเรือนตกแต่งบ้าน เครื่องดินตรี หรือ แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ โดยมักทำเป็นชิ้นฝังลงไม้อื่นเพื่อให้เกิดลวดลายที่สวยงามต่างกัน หรือ นำเนื้อไม้ผ่าเป็นซีกเล็กๆ คนโบราณนิยมใช้ใส่ในถังน้ำตาลสด น้ำตาลสดจากมะพร้าวเพื่อป้องกันน้ำตาลบูด ป้องกันกลิ่นบูดเน่า ช่วยรักษาความสดของน้ำตาลได้นานขึ้น เปลือกต้น นำมาย่างไฟอ่อนๆ จนออกเหลือง ก่อนใส่ในถังน้ำตาลสด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการหมักเป็นแอลกอฮอล์ภายใน 1 วัน เรียกว่าน้ำตาลสดชนิดนี้ว่า น้ำตาลเมา เปลือกลำต้น และผลมะเกลือนำมาต้มย้อมผ้า ย้อมแห ซึ่งให้สีดำอมเทา หรือ สีดำอ่อน ส่วนใบนำมาย้อมผ้าได้เช่นกันให้สีเขียวขี้ม้า ผลมะเกลือนำมาตากแห้ง หรือ ใช้ผลสุกบีบผสมกับยาสระผมสำหรับสระผม หรือ ใช้นวดผมโดยตรง ซึ่งช่วยให้ผมดก และมีสีดำขึ้นหรือจะใช้ ผลมะเกลือดิบนำมาบีบให้แตก ก่อนนำมาขัดโลหะ ทำให้โลหะมันเงา
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้ถ่ายพยาธิ โดยใช้ผลสดโตเต็มที่และเขียวจัด จำนวนผลเท่าอายุแต่ไม่เกิน 25 ผล (คนไข้อายุ 40 ปี ใช้เพียง 25 ผล) ตำหรือคั้นเอาน้ำใส่กะทิ ช่วยกลบรสเฝื่อนแล้ว รับประทานขณะท้องว่างทันทีห้ามตั้งทิ้งเอาไว้ เพราะจะทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีดำ ซึ่งจะมีพิษ ถ้า 3 ชั่วโมงแล้วยังไม่ถ่ายใช้ยาระบาย เช่น ดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำดื่มตามลงไป ใช้รากฝนกับน้ำซาวข้าว รับประทานแก้อาเจียน แก้ลม หรือนำมาต้มกับน้ำดื่มแก้อาการท้องเสีย รากหรือเปลือก ลำต้นใช้ต้มกับน้ำอาบช่วยรักษาโรคดีซ่าน
ลักษณะทั่วไปของมะเกลือ
มะเกลือจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 8-15 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร ผลัดใบ หรือ ไม่ผลัดใบ มีเปลือกสีดำ แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ตามยาว แก่นมีสีดำสนิท เนื้อละเอียดมันสวยงาม ทุกส่วนของมะเกลือ เมื่อแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ใบอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนนุ่มทั้งสองด้าน ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่ หรือ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 1.5-4 เซนติเมตร ยาว 4-8 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนสอบมน ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 5-10 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขนสีเงิน ใบแก่หนา ผิวเรียบมัน ด้านใต้ใบสีเขียวซีด บางเกลี้ยง เมื่อแห้งสีออกดำเงิน เส้นใบข้าง 10-15 คู่ ก้านใบยาว 0.5-1 เซนติเมตร ดอก สีขาวหรือเหลืองอ่อน แยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้ออกรวมเป็นช่อสั้นๆ ตามซอกใบ ประมาณ 3 ดอก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปเหยือกน้ำปลายแยก 4 กลีบ โค้งไปข้างหลัง หลอดกลีบดอกกลม 6-8 มิลลิเมตร แยกลึกทั้งสองด้าน ½ ของหลอดกลีบ เกสรตัวผู้มี 14-24 อัน เป็นหมัน 8-10 อัน ไม่มีขน ดอกเพศเมีย ออกเป็นดอกเดี่ยวคล้ายดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า มีขนนุ่มปกคลุม สีเหลือง ก้านดอกยาว 1-3 มิลลิเมตร ก้านเกสรตัวเมีย 4 แฉก รังไข่มีขน ผลสด รูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ผิวเรียบเกลี้ยง กลีบจุกผลมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ติดที่ขั้วของผล ผลดิบสีเขียว ผลสุกสีเหลืองอมดำ และสุกจัดเป็นสีดำสนิท ถัดมาด้านในเป็นเนื้อผล โดยเนื้อผลอ่อนมีสีขาว หากบีบ หรือ ผ่าจะมียางสีขาวขุ่นไหลออกมา และเมื่อสุกผลจะมีสำดำ ถัดมาในสุดเป็นเมล็ด 6-8 เมล็ด โดยเมล็ดจะมีเนื้อหุ้มเมล็ดที่มีสีขาวนวล คล้ายเนื้อของลูกชิด เนื้อนี้มีรสหวานอมฝาด แต่นุ่ม สามารถรับประทานได้ ส่วนด้านในเนื้อหุ้มจะเป็นเมล็ดที่มี ทั้งนี้ ผลมะเกลือ 1 ปี จะออกผลครั้งเดียว และผลจะสุกเป็นสีดำในช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน-มกราคม มีน้ำหนักต่อผลประมาณ 4-8 กรัม ซึ่งหากเก็บผลห่ามมาจากต้น ผลจะเปลี่ยนเป็นสีดำภายใน 5-7 วันเมล็ด 2-3 เมล็ด ลักษณะมีสีเหลือง
การขยายพันธุ์มะเกลือ
มะเกลือสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด โดยมีเทคนิคการเพาะเมล็ด คือ การทำให้เกิดแผลที่ปลายเมล็ดแล้วจึงนำไปเพาะตามปกติ โดยเมล็ดจะใช้เวลาประมาณ 15 วัน จึงจะเริ่มออก และหลังจากเพาะเมล็ด ประมาณ 6 เดือน ต้นกล้าจะมีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร จึงสามารถย้ายไปปลูกได ส่วนวิธีการเตรียมหลุม และการปลูกก็ปลูกเช่นเดียวกันกับไม้ยืนต้นประเภทอื่นๆ ทั้งนี้มะเกลือ สามารถขึ้นได้ดีกับดินทุกชนิด และนิยมปลูกกันในฤดูฝน
องค์ประกอบทางเคมี
ในผลมะเกลือ พบสาร diospyrol diglucoside ซึ่งเป็นสารฟีนอลิค ในกลุ่ม naphthalene เนื่องจากโครงสร้างของ diospyrol คล้ายคลึงกับสาร napthol นอกจากนี้ยังพบสาร Tannin Diospyroquinone Sterols
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะเกลือ
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะเกลือ
ฤทธิ์ขับพยาธิผลมะเกลือมีฤทธิ์ขับพยาธิตัวกลม (Toxicara canis) และ พยาธิปากขอ (Ancyclostomacanium) ในสุนัข แต่สารสกัดไม่ให้ผลต่อพยาธิทั้ง 2 และผลมะเกลือสด ในขนาด 1.9 กรัม/กิโลกรัม ไม่ให้ผลไม่สามารถขับพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosoma masoni) และ ตืดแคระ (Hymenolepus nana) ในหนูเม้าส์ แต่ในการทดลองให้น้ำคั้นผลมะเกลือสดแก่สุนัข จำนวน 80 มิลลิลิตร โดยให้ทางท่อสอดถึงกระเพาะอาหาร พบว่าถ้าใช้มะเกลือ ชนิดผลแบนใหญ่สีเขียวนวล สามารถขับพยาธิปากขอได้ร้อยละ 61.9-100 ถ้าใช้มะเกลือชนิดผลกลมเล็กสีเขียว จะขับพยาธิปากขอได้ร้อยละ 58.2-67.5 โดยมีผลขับพยาธิปากขอในสุนัข (Ancylostoma canium) ได้มากกว่าพยาธิปากขอในแมว (A. ceylanicum) และเมื่อศึกษาประสิทธิภาพของมะเกลือ ในการทำลายไข่พยาธิ โดยผสมอุจจาระกับมะเกลือนาน 3, 24 และ 48 ชั่วโมง จะทำให้การเจริญของไข่จนเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อลดลง มีผู้ทดลองนำเอาสารสกัดซึ่งเป็นอนุพันธุ์อะซีเตรตไปทดลองในสุนัข พบว่าได้ผลดีกับพยาธิปากขอในสุนัข (Ancyclostoma canium), ตืดปลา (Diphyllobothrium latum), ตืดสุนัข (Dipyridium canium), พยาธิแซ่ม้าในสุนัข (Trichurisvulpis
การศึกษาทางคลินิกมีรายงานว่า สารสกัดจากมะเกลือ ที่ใช้รักษาคนไข้ สามารถฆ่าพยาธิตัวตืด และพยาธิไส้เดือนได้ดี Sadun และ Vajrasthira ได้รวบรวมรายงานการใช้มะเกลือปี พ.ศ.2477-2478 ซึ่งมีรายงานการรักษาคนไข้โรคพยาธิปากขอ ของโรงพยาบาลศิริราช พบว่าให้ผลดี และยังรายงานผลการรักษาคนไข้ 63 คน โดยใช้น้ำคั้นจากผลสด 4,380 กรัม ผสมกับน้ำมะพร้าว 3,000มิลลิลิตร ซึ่งขนาดที่ใช้ขึ้นกับอายุ ในอัตรา 3 มิลลิตร/อายุ 1 ปี ขนาดที่ใช้สูงสุด คือ 75 มิลลิลิตร พบว่า 6 วัน หลังการให้ยาครั้งแรก พบว่าไข่พยาธิลดลงในคนไข้ 9 คน และพบพยาธิลดลงจากการตรวจด้วยวิธี Willis ในคนไข้ 22 คน นอกจากนี้มีรายงานการรักษาเด็กที่เป็นพยาธิปากขอ ในโรงเรียน 40 แห่ง พบว่าน้ำคั้นผลสดผสมน้ำมะพร้าว สามารถรักษาพยาธิปากขอได้ดีกว่าพยาธิไส้เดือน (Ascaris lumbricodes) และพยาธิแซ่ม้า (Trichuris trichicura) และได้ผลดีกว่ารักษาด้วย hexylresorcinol พบผลข้างเคียงเล็กน้อยกับคนไข้ไม่กี่ราย คือ คลื่นไส้ อาการอาเจียน และท้องเสีย
ใน พ.ศ.2481 นายแพทย์เวก เนตรวิเศษ ได้ทดลองนำผงที่สกัดมาทดลองให้เด็กและผู้ใหญ่ รับประทานในขนาด 2-4 กรัม พบว่าสามารถฆ่าพยาธิปากขอ พยาธิตัวตืด พยาธิเส้นด้าย และพยาธิตัวกลมได้
นายแพทย์มงคล โมกขะสมิต ได้ทำการทดลองรักษาด้วยตะกอนที่เกิดจากการใส่กรดอะซีติกลงในสารสกัดแอลกอฮอล์ ในคนไข้ 50 คน ซึ่งมีพยาธิชนิดต่างๆ ขนาดที่ให้ในผู้ใหญ่ คือ 2-4 กรัม และในเด็ก 0.1 กรัม/อายุ 1 ปี พบว่าหลังการรักษาไม่พบไข่พยาธิปากขอทั้งชนิด Ancylostomaduodenale และ Necator americanus ในอุจจาระคนไข้ และได้ผลอย่างดีในคนไข้ 6 คน ที่เป็นพยาธิไส้เดือน (Ascarislumbricodes), พยาธิเข็มหมุด (Enterobius vermicularis), พยาธิเส้นด้าย (Strongloides steroralis), พยาธิใบไม้ (Fasciolopis buski) รวมทั้งพยาธิตัวแบน 2 ชนิด คือ ตือวัว (Taeniasaginata) และตืดหมู (T.solium)
แพทย์หญิงเจริญศรี และคณะได้ทดลองประสิทธิภาพของสารสกัดจากผลมะเกลือสดด้วยแอลกอฮอล์ ในการรักษาคนไข้โรคพยาธิปากขอ โดยใช้ขนาดรักษา 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หลังอาหารเช้า 10 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับการใช้ tetracholrethylene ในขนาดรักษา 0.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่าสารสกัด สามารถลดจำนวนไข่ได้ร้อยละ 93.9+3.3 ส่วน tetracholrethylene ลดได้ร้อยละ 98.8 +1.2 อัตราการรักษาคิดเป็นร้อยละ 50.0% และ 77.3 ตามลำดับ และพบผลข้างเคียงในกลุ่มคนไข้ที่ทำการรักษา คือ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน และปวดท้อง (8) น้ำคั้นจากผลมะเกลือผสมน้ำปูนใสให้ผลการรักษาที่ดีในคนไข้ที่เป็นพยาธิปากขอ ผลอ่อนให้ผลดีกว่าผลแก่ แต่วิธีการนี้ไม่ควรทำแม้สารสกัดจะมีรสหวานขึ้น เนื่องจากด่างจะทำให้สารสำคัญเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปที่ดูดซึมง่ายอาจทำให้ตาบอดได้
กระทรวงสาธารณสุขมีรายงานการใช้สารสกัดผลมะเกลือด้วยแอลกอฮอล์ในขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม รักษาพยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า โดยเปรียบเทียบกับ mebendazole ขนาด 2.0 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 วัน พบว่าสารสกัดให้ผลดีกับพยาธิปากขอ แต่ให้ผลรักษาไม่ดีนักกับพยาธิไส้เดือน และพยาธิแส้ม้า สารสกัดทำให้ไข่ลดลงร้อยละ 57.3 ถึง 85.4 ส่วนอัตราการรักษาร้อยละ 23.6-29.0 ส่วน mebendazole ทำให้จำนวนไข่ลดร้อยละ 86.6 สำหรับพยาธิปากขอร้อยละ 98.1 สำหรับพยาธิไส้เดือน และร้อยละ 77.4 สำหรับพยาธิแส้ม้า อัตราการรักษาร้อยละ 32.4, 92.0 และ 79.6 ตามลำดับ
การศึกษาทางพิษวิทยาของมะเกลือ
การทดสอบความเป็นพิษ นายแพทย์มนัสวีร์ อุณหนันท์ และคณะ ได้ทดลองศึกษาพิษของมะเกลือ โดยการทดลองในหนูแรท หนูเม้าส์ และกระต่าย พบว่าเมื่อให้สัตว์ทดลองกินมะเกลือ ในขนาด 16 เท่า ของขนาดที่ได้ผลในคน คิดเป็นน้ำหนักผงมะเกลือที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือ น้ำหนักผลมะเกลือสด 40 กรัม /กิโลกรัม ไม่พบพิษเฉียบพลัน ในสัตว์ทดลองทุกชนิดที่ศึกษา การศึกษาขนาดสารสกัดต่างๆ ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) พบว่าสารสกัดด้วยน้ำใหม่ๆ มี LD50 น้อยที่สุด คือ 64 เท่าของขนาดในคนในขณะที่สารสกัดซึ่งเปลี่ยนสีไปเป็นสีเหลืองเทาหรือดำจะมีพิษน้อยกว่า ผู้วิจัยกลุ่มนี้ยังได้ทำการทดลองความเป็นพิษกึ่งเรื้อรัง (subchronic toxicity) โดยทดลองในกระต่าย 128 ตัว พบว่าขนาดต่างๆไม่ทำให้สัตว์ทดลองตาย แต่ในขนาดสูงมากๆ อาจตายได้ และพวกที่กรอกด้วยมะเกลือผสมกะทิสัตว์ทดลองตายมากที่สุด
การศึกษาทางพยาธิวิทยา เมื่อให้มะเกลือ 20 เท่า ของขนาดที่ใช้ในคน ไม่พบอาการผิดปกติของอวัยวะใด โดยเฉพาะที่ตา และสมอง การตรวจนี้ทำหลังจากให้มะเกลือแล้ว 14 วัน ผู้วิจัยกลุ่มเดียวกันนี้ได้ทำการทดลองต่อไปถึงพิษของน้ำคั้นมะเกลือผสมกะทิ พบว่าเมื่อให้ในขนาด 5 และ 10 เท่าของขนาดที่ใช้ในคน พบว่าสัตว์ทดลองตาย แต่ยาเตรียมแบบอื่นปลอดภัย ไม่พบอันตรายอื่น นอกจากท้องเสีย น้ำหนักลด และปัสสาวะขุ่น การศึกษาต่อไปเพื่อเปรียบเทียบน้ำคั้นมะเกลือกับกะทิ และน้ำคั้นมะเกลือกับน้ำ พบว่าทำให้กระต่ายท้องเสียอยู่ประมาณ 1-3 วัน ผลการตรวจเลือดพบว่า ระดับยูเรีย ไนโตรเจน (BUN) และ โคเลสเตอรอล สูงขึ้น ส่วนระดับครีเอตินิน แอลบูมิน กลอบบิวลิน แอลบูมิน ฟอสฟาเตส และ แทรนซามิเนส เปลี่ยนแปลง การตรวจพยาธิสภาพ พบว่าผนังท่อไต มีสีน้ำตาลติดอยู่ ส่วนตา และประสาทตา ไม่พบอาการผิดปกติ ในช่วงเวลาหลังให้มะเกลือ 3 วัน และ 7 วัน น้ำกะทิ ไม่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์แต่อย่างใด
การศึกษาพิษของมะเกลือในหนูแรท โดยใช้น้ำคั้นมะเกลือที่เตรียมโดยวิธีต่างๆ เช่น คั้นสดๆ และต้มจนเกิดการอ๊อกซิไดซ์ ใช้มะเกลือที่ถูกอ๊อกซิไดซ์แล้ว พบว่าไม่เกิดพิษต่อประสาทตาในหนูขาว อาการข้างเคียงที่พบ คือ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว อาการซึม ได้มีผู้ศึกษาผลของยาเตรียม 3 ชนิด คือ น้ำคั้นกับน้ำปูนใส น้ำคั้นผลสด และน้ำคั้นผลที่เปลี่ยนเป็นสีดำแล้ว เมื่อให้ในหนูถีบจักรกินในขนาด 1, 10, 25 และ 30 เท่าของขนาดที่คนใช้ พบว่า LD50 = 22-22.5 เท่าของขนาดที่คนใช้ ค่า BUN และ Glutamate oxaloacetate transminase (GOT) ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่พบพิษต่อตับ ไต และตา และพบว่ามีคราบสีน้ำตาลในท่อไต และผนังลำไส้ และเซลล์ตับบางเซลล์ เมื่อนำสาร diospyros ที่ได้จากสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากผลมะเกลือสด และสาร mamegakinone ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการนำ diospyrol มาทำปฏิกิริยาออกซิเดชันด้วยสารละลายเกลือ (Fremy’s salt solution) ไปทดสอบพิษต่อลูกตากระต่าย ไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพในเรตินาและประสาทอ๊อบติค (เส้นประสาทที่เกี่ยวกับการรับภาพ)
นอกจากนี้มีรายงานว่ามี คนไข้รับประทานน้ำคั้นจากผลมะเกลือประมาณ 17 ชม. จะมีอาการทางตาให้เห็น คือ รูม่านตาขยายทั้งสองข้าง ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นการฝ่อของประสาทอ็อฟติค ทำให้เกิด retrobulbarneuritis และตาบอดทั้งสองข้าง อีกทั้งกองวิจัยทางแพทย์ ได้ทำการศึกษาเรื่องพิษเฉียบพลัน และพยาธิสภาพของตาแล้วพบว่าไม่มีพิษ ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่พยาธิสภาพของตา และประสาทตา แต่เห็นควรให้แจ้งเตือนผู้ใช้มะเกลือ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้มะเกลือเพื่อเป็นยาถ่ายพยาธินั้น ควรคำนึงถึงข้อแนะนำ และข้อควรระวังดังนี้
- ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำว่า 10 ขวบ หญิงตั้งครรภ์ หรือ หลังคลอดใหม่ๆ และผู้ป่วยในโรคต่างๆ
- ระวังอย่าใช้เกินขนาด
- ควรรับประทานทันทีเมื่อปรุงเสร็จ
- ควรเลือกใช้ลูกมะเกลือสดผลสีเขียวเท่านั้น ไม่ควรรับประทานผลมะเกลือสุก หรือ ผลมะเกลือสีดำในการถ่ายพยาธิโดยเด็ดขาด เพราะมีพิษอันตรายมาก อาจทำให้ตาบอดได้
- ห้ามปั่นกับน้ำปูนใสเพราะจะทำให้สารสำคัญสลายได้สารกลุ่ม phenolic ซึ่งดูดซึมได้ดีอาจทำให้ตาบอดได้
- ผลข้างเคียงอื่นๆ จากการรับประทานผลมะเกลือ คือ ทำให้เกิดอาการปวดศรีษะ ท้องเดิน คลื่นไส้ และอาเจียน
- สำหรับบางรายการอาจเกิดอาการแพ้ ทำให้เกิดอาการท้องเดินบ่อยๆ มีอาการใจสั่น แน่นหน้าอก มีอาการวิงเวียนศีรษะและอาเจียน มีอาการตามัว หากรุนแรงมากอาจถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
- ในปัจจุบันไม่มีการแนะนำให้ใช้ผลมะเกลือในการถ่ายพยาธิแล้ว เนื่องจากมีความเสี่ยง เพราะยังไม่มีการศึกษาวิจัยอย่างแน่นอนว่ามันจะแปรสภาพไปเป็นสารที่ทำให้ตาบอดได้มากน้อยเพียงใด และที่สำคัญโรคพยาธิต่างๆ ในปัจจุบันก็ลดน้อยลงอย่างมากหากเปรียบเทียบกับสมัยก่อน แถมกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่แนะนำให้นำมาใช้เป็นยาถ่ายอีกด้วย และก็ไม่มีการนำมาใช้ในการถ่ายพยาธินานมากนับสิบปีแล้ว
เอกสารอ้างอิง มะเกลือ
- โครงการสมุนไพรกับการสาธารณสุขมูลฐาน "สมุนไพร เพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน (ข้อมูลสรุป)" ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร กองวิจัยทางแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2528 หน้า 21-22.
- นพ.ประเสริฐ ตู้จินดา.มะเกลือ ทำให้ตาบอดและวิธีป้องกัน.คอลัมน์อื่นๆ. นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 7.พฤศจิกายน.2522.
- เรณู ทองเต็ม. การศึกษาประสิทธิภาพของมะเกลือที่มีต่อพยาธิปากขอในสุนัข. ข่าวสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2522;20(208):7-8.
- เสาวณี สุริยาภณานนท์ "พืชพิษ" ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หน้า 23.
- บวร เอี่ยมสมบูรณ์. ดงไม้. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2518.
- มะเกลือ. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://.www.phargarden.com/main.php?action=viewpaye&pid=90
- มะเกลือประโยชน์และสรรพคุณของมะเกลือ. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- มะเกลือ.กลุ่มยาถ่ายพยาธิ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants.data/herbs./herbs_04_2.htm.
- Pattanapanyasat K, Panyathanya R, Pairojkul C. A preliminary study on toxicity of diospyrol and oxidized diospyrol from Diospyros mollis Griff. (Maklua) in rabbits eyes. J Med Assoc Thai 1985;68(2):60-5.
- Mokkhasmit M. Study on the anthelmintic activity of Maklua. Bull Dep Med Sci 1960;2(3):153-79.
- Srinophakun S, Jayaniyayothin T, Kijwunnee S, Utsaha B. Report on the treatment of hookworm with Maklua juice. Ministry of Public Health, Thailand, 1974.
- Unhanand M, Ngamwat W, Permpipat U, et al. II. Study on the toxicity of Ma-klue berry juice mixed with coconut milk. Bull Dep Med Sci 1982;24(4):237-52.
- Sadun EH, Vajrasthira S. The effect of Maklua (Diospyros mollis) in the treatment of human hookworm. Parasitology 1954;40:49.
- Sen HG, Toshi BS, Parthasarathy PC, Kamat VN. Anthelmintic efficacy of diospyrol and its derivatives. Arzeneim-Forsch 1974;24:2003.
- Unhanand M, Srinophankul S, Sidalarusamee T, Jeeradista C, Nilapunthu S, Sathitayathai A. Clinical trial on the efficacy of Maklua for treatement of Ascaris, hookworm and Trichuris. Commun Dis J 1978;4(3):216-8.
- Chotibure S, Rasmidatta S, Lawtiantong T, Kanchanaranya C. Toxic effect of Maklua (Diospyros mollis), a local Thai antithelmintic. J Med Assoc Thai 1981;64(11):574-9.
- Migasena S, Suntharasamai P, Inkatanuvat S, Chindanond D, Harinasuta T. The clinical trial of Makluea (Diospyros mollis) extract in human hookworm infection. Report of the Faculty of tropical Medicine, Mahidol University, Bangkok, Thailand, 1967.
- Unhanand M, Ngamwat W, Permpipat U, et al. I. Study on the toxicity of Ma-klua (Diospyros mollis Griff) used as a traditional anthelmintic in Thailand. Bull Dep Med Sci 1982;24(4):227-36.
- Luttermoser GW, Bond HW. Anthelmintic activity of the fruits of Diospyros mollis and tests for activity of other persimmons. Proc Helminthol Soc 1957;24:121.
- Srisajjalerdvaja L. Study on pathological changes induced by various from and dosages of Maklua (Diospyros mollis) in experimental mice. M. Sc. Thesis, Faculty of Public Health, Bangkok: Mahidol University, 1980.
- Daengswang S, Mangalasmaya M. A record of some cases of human infestation with Fasciolopsis buskii occurring in Thailand. Ann Trop Med Parasit 1941;35:43-4.