ทิเรียโคลินิน
ทิเรียโคลินิน
ชื่อสามัญ Tiliacorinine
ประเภทและข้อแตกต่างของสารทิเรียโคลินิน
สารทิเรียโคลินิน (Tiliacorinine) จัดเป็นสารอัลคาลอยด์ (alkaloid) กลุ่มไอโซควิโนไลน์ อัลคาลอยด์ (isoquinoline alkaloids) หรือ กลุ่ม bisbenzylisoquinoline alkaloids ที่มีสูตรทางเคมีคือ C36H36N2O5 มีมวลโมเลกุล 576.7 g/mol ซึ่งสารทิเรียโคลินิน นี้ เป็นสารที่สามารถพบได้ในพืชธรรมชาติ ส่วนประกอบของสารทิเรียโคลินินนั้นจากการศึกษาวิจัยพบว่ามีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น
แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของสารทิเรียโคลินิน
สารทิเรียโคลินิน (tiliacolonine) จัดเป็นสารอีกชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในพืชธรรมชาติโดยสามารถพบได้ในส่วนต่างๆ ของ ย่านาง (tiliacoratriandra (colebr.) Diels) อาทิเช่น ในส่วนใบ ราก และลำต้น นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการสกัดสารทิเรียโคลินินจากใบย่านางมาใช้เป็นส่วนผสมของตำรับยาต่างๆ ที่มีการระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ที่มีประโยชน์มากมายอีกด้วย
ปริมาณที่ควรได้รับจากสารทิเรียโคลินิน
สำหรับขนาดและปริมาณของสารทิเรียโคลินิน (Tiliacorinine) ที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อวันนั้น พบว่าในปัจจุบันยังไม่ได้มีการกำหนดขนาดและปริมาณรวมถึงเกณฑ์การใช้สารดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการนำสารทิเรียโคลินินมาใช้ประโยชน์ในลักษณะเป็นสารเดี่ยวอีกทั้งการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารดังกล่าวยังมีไม่มากและยังขาดการศึกษาทางคลินิกในการใช้สารชนิดนี้อีกด้วยแต่การรับประทานใบย่านางในรูปแบบอาหารหรือใช้ส่วนรากเป็นสมุนไพร ซึ่งจะทำให้ร่างกายได้รับสารทิเรียโคลินินนั้น จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีความปลอดภัยสูงและยังไม่พบอาการข้างเคียงแต่อย่างใด
ประโยชน์และโทษของสารทิเรียโคลินิน
จากการศึกษาวิจัยถึงประโยชน์และสรรพคุณของสารทิเรียโคลินิน พบว่า สารชนิดนี้มีฤทธิ์ลดไข้ แก้เมื่อเมา แก้ปวด ลดความดันโลหิต ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็ง ต้านเชื้อจุลชีพ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum ต้านการแพ้ ลดการหดเกร็งของลำไส้ ยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase และมีฤทธิ์อย่างอ่อนๆ ในการต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้สารทิเรียโคลินิน ที่พบในรากของย่านางยังเป็นสาระสำคัญในตำรับยา 5 ราก (รากย่านาง รากชิงชี่ รากเท้ายายม่อม รากมะเดื่อชุมพร และรากคนทา) ซึ่งมีสรรพคุณบรรเทาอาการไข้ และยังเป็นยาในกลุ่มยาแก้ไข้ตามประกาศในบัญชียาสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิมในบัญชียาหลักแห่งชาติอีกด้วย
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องของสารทิเรียโคลินิน
มีรายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารทิเรียโคลินิน (tiliacorinine) ไม่กี่ฉบับซึ่งการศึกษาดังกล่าวก็ยังเป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
ฤทธิ์ต้านมาลาเรีย สารอัลคาลอยด์ที่ไม่ละลายน้ำที่สกัดได้จากรากย่านาง มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum ได้ เมื่อทำการแยกสารพบว่า สารที่ออกฤทธิ์ประกอบด้วย tiliacorinine, tiliacorine, nor-tiliacorinine A และอัลคาลอยด์ที่ไม่ทราบโครงสร้างอีก 2 ชนิด คือ อัลคาลอยด์ G และ H โดยมีค่า ความเข้มข้นของสารที่ยับยั้งเชื้อได้ร้อยละ 50 (ID50) เท่ากับ 3, 533, 675, 558, 344 และ 916 นาโนกรัม/มล. ตามลำดับ ส่วนสกัดอัลคาลอยด์และสารสกัดเมทานอลจากราก มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อเท่ากับ 2 และ 17 มคก./มล. ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ในการต้านเชื้อมาลาเรีย (Plasmodium falciparum) สายพันธุ์ที่ไวต่อยาคลอโรควิน (chloroquine-sensitive, Pf3D7) และสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยา (chloroquine-resistant, PfW2) ของตำรับยาที่เตรียมจากราก หรือเตรียมจากลำต้น รวมทั้งส่วนรากและลำต้นของสมุนไพรเดี่ยวที่เป็นส่วนประกอบของตำรับ พบว่าตำรับยาเบญจโลกวิเชียร ที่ประกอบด้วยรากหรือลำต้นของต้นชิงชี่ ย่านาง คนทา ไม้เท้ายายหม่อม และมะเดื่อชุมพร ที่เตรียมจากราก และลำต้น และส่วนของรากและลำต้นในสมุนไพรเดี่ยวๆ สามารถต้านเชื้อมาลาเรีย และมีความเป็นพิษต่ำและความจำเพาะต่อฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย โดยมีค่า SI values (selective index = TC50cytotoxicity/IC50 antiplasmodial activity) อยู่ในช่วง 3.55 -19.74 โดยที่สารสกัดจากตำรับยาเบญจโลกวิเชียรสามารถต้านเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ Pf3D7 และ สายพันธ์ PfW2 โดยมีค่า IC50 < 5 และ 6-10 มคก./มล. ตามลำดับ ในขณะที่รากและลำต้นของสมุนไพรเดี่ยวทั้ง 5 ต้น พบว่าย่านางมีประสิทธิภาพสูงสุด IC50 < 5 มคก./มล. และมีความจำเพาะต่อฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย > 10 และสามารถแยกสารหลักที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียคือ tiliacorinine และ yanangcorinine จากสารสกัดลำต้นย่านาง โดยตรวจพบปริมาณสารทั้งสองชนิดในตำรับยาเบญจโลกวิเชียรอยู่ถึง 0.57-7.66% นอกจากนี้เมื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างค่า IC50 และปริมาณสารทั้งสองชนิดในตำรับ พบว่าตำรับยาเบญจโลกวิเชียรมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อมาลาเรียสองสายพันธุ์สูงกว่าสารเดี่ยวๆ แสดงให้เห็นว่าเมื่อนำมาทำเป็นตำรับจะมีการเสริมฤทธิ์กันทำให้มีฤทธิ์ต้านมาลาเรียสูงมากขึ้น และลดความเป็นพิษของสมุนไพรในแต่ละต้นลง
ฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีการศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี ในหลอดทดลอง และในสัตว์ทดลอง โดยศึกษาผลของสาร tiliacorinine ที่พบในย่านาง โดยในการทดสอบ in vivo ทำในหนูถีบจักร เพื่อดูผลลดการเจริญของก้อน เนื้องอกในหนูที่ได้รับเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี และสาร tiliacorinine ผลการทดสอบพบว่า tiliacorinine มีนัยสำคัญในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีในหลอดทดลอง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 4.5-7 µM โดยกลไกการกระตุ้นกระบวนการ apoptosis ซึ่งเป็นขบวนการในการกำจัดเซลล์ผิดปกติ และเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย และการทดสอบในหนูพบว่าสามารถลดการเจริญของก้อนเนื้องอกในหนูได้
ฤทธิ์ลดความดันโลหิต สาร tiliacorinine dihydrochloride ที่แยกได้จากรากขนาด 8 และ 15 มก./กก. มีผลลดความดันโลหิตในหนูแรทที่มีความดันโลหิตสูงและหนูปกติได้ โดยออกฤทธิ์ที่ระบบประสาท แต่สารสกัด 50% เอทานอลจากใบแห้ง ไม่ระบุความเข้มข้น เมื่อฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำสุนัข ไม่มีฤทธิ์ลดความดัน
ฤทธิ์ลดการหดเกร็งของลำไส้ สาร tiliacorinine ที่ได้จากสารสกัด 50% เอทานอลจากใบแห้ง และสารสกัดด้วยน้ำร้อนจากลำต้น ความเข้มข้น 10-4 ก./มล. มีฤทธิ์ลดการหดเกร็งของลำไส้หนูตะเภา
ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อวัณโรค มีการศึกษาวิจัยสาร bisbenzylisoquinoline alkaloids 3 ชนิด ได้แก่ tiliacorinine, 20-nortiliacorinine และ tiliacorine ที่แยกได้จากรากย่านาง และอนุพันธ์สังเคราะห์ 1 ชนิด คือ 13҆-bromo-tiliacorinine พบว่าสารทั้ง 4 ชนิดนี้ ได้นำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรคสายพันธุ์ดื้อยา multidrug-resistant Mycobacterium tuberculosis (MDR-MTB) ผลการทดสอบพบว่า สารทั้ง 4 ชนิด มีค่า MIC อยู่ระหว่าง 0.7-6.2 μg/ml แต่ที่ค่า MIC เท่ากับ 3.1 μg/ml เป็นค่าที่สามารถยับยั้ง MDR-MTB ได้จำนวนมากที่สุด
ฤทธิ์ลดไข้ มีการศึกษาตำรับยาเบญจโลกวิเชียร (ซึ่งมีสาร tiliacorinine จากรากย่านางเป็นส่วนประกอบ) ขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก. และสารสกัดรากย่านางขนาด 40 มก./กก. มีผลลดอุณหภูมิกายของหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วยยีสต์ได้ โดยยาที่ขนาด 200 มก./กก. จะให้ผลในการลดไข้ได้ดีที่สุด ในขณะที่สารสกัด 50% เอทานอลจากใบแห้ง และสารสกัดด้วยน้ำร้อนจากลำต้น ขนาด 2 ก./กก. ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ในกระต่าย และหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วยยีสต์
ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ
ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารทิเรียโคลินิน ที่ระบุว่ามีประโยชน์มากมายหลายประการ ในปัจจุบันก็ยังไม่มีการใช้สารทิเรียโคลินิน (tiliacorinine) เป็นสารเดี่ยวแต่อย่างไร เพราะยังขาดผลการศึกษาทางคลินิก แต่ทั้งนี้ก็ยังมีการนำสารดังกล่าวมาใช้เป็นส่วนผสมของตำรับยาอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการบริโภคส่วนต่างๆ ของย่านางซึ่งเป็นแหล่งของสารทิเรียโคลินิน ในรูปแบบของยาและสมุนไพร ซึ่งหากต้องการบริโภคเพื่อหวังผลในสรรพคุณและประโยชน์ ของสารดังกล่าว ก็ควรบริโภคในขนาดที่พอเหมาะ ไม่ควรบริโภคมากจนเกินไปหรือบริโภคต่อเนื่องกันนานเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ทิเรียคอรินิน
- อรัญญา ศรีบุศราคัม. ย่านาง. จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 28. ฉบับที่ 2 มกราคม 2554. หน้า 3-6
- ดาลัด พรศิริประเสริฐ วิบูลย์ ฤทธิ์ทิศ ฉวีวรรณ จั่นสกุล และคณะ. สารเคมีจากต้นย่านางและฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตในหนู. การประชุมวิชาการเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ ครั้งที่ 8, 1982:371-2.
- ฤทธิ์ต้านมาลาเรียของตำรับยาเบญจโลกวิเชียร. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ทวีผล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา, วุฒิชัย นุตกุล และคณะ. การศึกษาฤทธิ์ของสมุนไพรต่อเชื้อมาลาเรียฟัลซิปารัมในหลอดทดลอง. การสัมมนาเรื่อสมุนไพรกับมาลาเรีย วันที่ 10 พฤศจิกายน 2532:หน้า 1-12.
- Mokkhasmit M, Ngarmwathana W, Sawasdimomgkol K, Permphiphat U. Pharmacological evaluation of Thai medicinal plants. (continued). J Med Ass Thailand 1971;54(7) :490-504.
- Sureram S, Senadeera S, Hongmanee P, Mahidol C, Ruchirawat S, Kittakoop P. Antimycobacterial activity of bisbenzylisoquinoline alkaloids from Tiliacora triandra against multidrug-resistant isolates of Mycobacterium tuberculosis. Bioorganic & Medicinal Chemistry Letters. 2012;22:2902-2905.
- Chalerm,s., Sutthatip, M. 2008. “Isolation of anti-malaria active compound from Yanang (Tiliacora triandra Diels).” Kasetsart J Nat Sci 2003;37 : 47-51.
- Ayudthaya TD, Nukakul W, Khunanek U, et al. Study on the vitro antimalarial activity of some medicinal plants against Plasmodium falciparum. Bull Dept Med Sci 1987; 29:22-38.
- Lkegami F, Duangteraprecha S, Kurimura N et al. Chemical and biological studies on some Thai medicinal plants. J sci Soc Thailand 1990:16:25-31.
- Janeklang S, Nakaew A, Vaeteewoottacharn K, Seubwai W, Boonsiri P, Kismali G, et al. In vitro and in vivo antitumor activity of tiliacorinine in human cholangiocarcinoma. Asian Pac J Cancer Prev.2014;15(17): 7473-7478.
- Pavanand K, Webster HK, Yongvanitchit K, Dechatiwongse T. Antimalarial activity of Tiliacora triandra Diels agiainst Plasmodium falciparum in vitro. Phytother Res 1989; 3(5) : 215-7.
- Dechatiwongse T, Chavarittumrong P, Nutakul W. Isolation of the in vitro antimalarial principles from Tiliacora triandra Diels. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 1987;29(1) :33-8.