โลดทะนงแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

โลดทะนงแดง งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร โลดทะนงแดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หนาดคำ (ภาคเหนือ), นางแซง, รักทะนง, ทะนง (ภาคอีสาน), ข้าวเย็นเนิน (ภาคกลาง), ดู่เบี้ย, ดู่เตี้ย, ทะนงแดง (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Trigonostemon reidioides (Kurz.)Craib
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Baliospermum reidioides Kurz.
วงศ์ EUPHORBIACEAE


ถิ่นกำเนิดโลดทะนงแดง

โลดทะนงแดง จัดเป็นพันธุ์พืชอีกชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง เช่น พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ต่อมาจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ ในภูมิภาคเอเชียใต้ และในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมถึงทางตอนใต้ของจีน สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้ทุกภาคของประเทศ บริเวณป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง แต่จะพบมากในป่าเต็งรังของภาคอีสานโดยเฉพาะ


ประโยชน์และสรรพคุณโลดทะนงแดง

  • ใช้ในการขัดผิว
  • แก้สิว
  • แก้ฝ้า
  • ช่วยลดรอยหมองคล้ำ
  • ช่วยลดรอยด่างดำ
  • ช่วยให้ผิวขาว
  • ทำให้อาเจียน
  • ช่วยถอนพิษคนกินยาเบื่อ
  • แก้เมาพิษเห็ดและหอย
  • แก้เสมหะเป็นพิษ (เสมหะหรืออุจาระเป็นมูกเลือด)
  • แก้พิษงู
  • แก้หืด
  • แก้วัณโรค
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • ใช้เกลื่อนฝี
  • แก้ปวดฝี หรือ ดูดหนองถ้าฝีแตก
  • แก้ฟกช้ำ
  • แก้เคล็ดบวม
  • ใช้คุมกำเนิด
  • ช่วยให้เลิกดื่มเหล้า
  • แก้พิษงู
  • แก้ผิดสำแดง
  • แก้พิษแมงมุม

           สำหรับการใช้ประโยชน์จากโลดทะนงแดง ส่วนที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด คือ เหง้า หรือ ราก โดยในอดีตจะใช้ช่วยให้เลิกเหล้า แต่ในปัจจุบันนิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางหลายชนิด อาทิ สบู่ โลชั่น ครีมทาหน้า และครีมบำรุงผิว เป็นต้น


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ทำให้อาเจียน ถอนพิษยาเบื่อเมาพิษเห็ด และพิษหอย ใช้แก้พิษงู แก้เสมหะเป็นพิษ (เสมหะ หรือ อุจจาระเป็นมูกเลือด) คุมกำเนิด แก้หืด แก้วัณโรค ใช้เป็นยาระบาย โดยนำรากโลดทะนงแดง มาฝนกินกับน้ำ
  • เกลื่อนฝี ดูดหนองฝีแตก แก้ฟกช้ำ เคล็ดบวม แก้ปวดฝี โดยนำรากมาฝนทาบริเวณที่เป็น ใช้แก้พิษงู แก้พิษแมงมุม ถอนพิษสุรา โดยนำรากมาฝนกับน้ำมะนาว หรือ สุรารับประทาน 
  • ใช้ถอนพิษคนกินยาเบื่อยาเมา โดยนำรากมาต้มน้ำดื่ม หรือ ฝนกับน้ำกินโดยจะทำให้อาเจียนอย่างหนัก
  • ใช้ถอนเมาเหล้า โดยนำรากผสมกับพญาไฟ และปลาไหลเผือก ฝนน้ำดื่ม
  • แก้พิษงูโดยนำรากผสมกับเมล็ดหมาก ฝนน้ำกิน และผสมกับน้ำมะนาว ทาแผลแก้พิษงู
  • ใช้แก้สิวฝ้า และฟกช้ำเคล็ดบวม โดยนำเหง้ามาฝนทาบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของโลดทะนงแดง

โลดทะนงแดง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงได้ถึง 1 เมตร มักจะขึ้นเป็นกอ มีรากเก็บสะสมอาหารเป็นแท่งกลม 1-5 เซนติเมตร ลักษณะพองโต ผิวสีแดงอมม่วง เนื้อสีขาว หรือ เหลือง มีกลิ่นหอม และมีลำต้นเรียวเล็ก มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นทุกส่วนของต้นมีขน ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ตามความสูงของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน หรือ เป็นรูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 2-4 เซนติเมตร และยาว 6-10 เซนติเมตร โคนใบมนปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนา มีขนนุ่มขึ้นหนาแน่นบนผิวใบทั้งสองด้าน สามารถเห็นเส้นใบย่อยได้ชัดเจน ส่วนก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ บริเวณซอกใบและกิ่งก้าน โดยช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน โดยดอกตัวผู้จะออกเป็นบริเวณโคนของช่อ มีลักษณะตูมกลม ก้านดอกมีขน มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบและมีกลีบดอก 5 กลีบ สีขาว สีชมพู สีม่วงเข้ม หรือ เกือบดำ มีเกสรตัวผู้จำนวน 6 ก้าน ส่วนดอกตัวเมียมีลักษณะตูมเป็นรูปไข่ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอกเป็นสีขาว มีขนที่จานฐานดอกล้อมรอบฐานของรังไข่ มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลเป็นผลแห้งกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นพู 3 พูมีขนขึ้นปกคลุม ผลสดมีสีเขียวอ่อน ผลสุกมีสีชมพูอมแดง เมื่อผลแก่ หรือ แห้งมีสีดำ โดยในแต่ละพูจะมีขนาดเมล็ด 1 เมล็ด เมื่อผลแห้งเต็มที่ผลจะปริแตกออก

โลดทะนงแดง

โลดทะนงแดง

การขยายพันธุ์โลดทะนงแดง

โลดทะนงแดง สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี ได้แก่ เริ่มจากการคัดเลือกเมล็ดที่แก่จัดที่ไม่ลีบ หรือ ฝ่อ ซึ่งจะทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกสูง จากนั้นจัดเตรียมกระบะเพาะ และจัดเตรียมวัสดุเพาะ ได้แก่ ทราย, ดิน, ขุยมะพร้าว, ขี้เถ้าแกลบ และดินผสมตามสูตรต่างๆ ที่เหมาะสม หรือ วัสดุในท้องถิ่นที่หาได้ แล้วจึงนำดิน หรือ วัสดุเพาะ ตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วนำวัสดุเพาะใส่กระบะเพาะประมาณ 2/3 ส่วน นำเมล็ดที่เตรียมไว้ โรยไปให้ทั่ว โดยไม่ให้ซ้อนทับกัน แล้นำทราย หรือ วัสดุเพาะกลมบนเมล็ดไม่หนาเกินไป รดน้ำเช้า-เย็น ถ้าความชื้นมากให้รดน้ำวันละครั้ง หรือ ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ เมื่อครบ 7-10 วัน เมล็ดเริ่มงอกแตกใบราก เมื่อต้นกล้าแตกใบเลี้ยง ย้ายลงถุงเพาะชำรดน้ำเช้า-เย็น แล้วนำไปปลูกต่อไป 

           ส่วนอีกวิธีหนึ่ง คือ การปักชำเหง้า เริ่มจากเตรียมถุงชำโดยผสมดิน กับวัสดุเพาะชำที่ประกอบด้วย ดินผสม แกลบดิบ หรือ ขี้เถ้าแกลบ กับดินผสมอย่างอื่นๆ ที่เหมาะสม และหาได้ในท้องถิ่น ในขนาดอัตราส่วน 2/1 จากนั้นกรอกลงถุงเพาะชำขนาด 2x6 หรือ ใหญ่กว่าตามความเหมาะสมของเหง้าวางเรียงเป็นแถวเพื่อสะดวกในการดูแลรักษา แล้วจึงทำการตัดแต่งส่วนโคนของเหง้าโลดทะนงแดง โดยตัดส่วนปลายออกให้มีความยาว จากส่วนโคนถึงส่วนปลายประมาณ 15-20 เซนติเมตร ปักชำเหง้าลงถุงชำ โดยส่วนที่เป็นเหง้าชำลึกลงในถุงชำประมาณ 1/3 ของถุงชำ แล้วจึงกางตาข่ายพรางแสงป้องกันแสงแดดร้อนจัดจนเกินไป แต่หากเพาะชำที่น้อยอาจวางใต้โคนต้นไม้ หรือ ที่บังแสงรำไรอื่นๆ ได้ แล้วรดน้ำเช้า-เย็น ประมาณ 15-20 วัน แตกรากและยอดอ่อนก็สามารถนำไปปลูกได้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจังถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดโลดทะนงแดง จากรากระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น RediocideA , RediocideB, RediocideC, RediocideD, RediocideE, Afzelechin, Lotthanongine, Syringaresinol, Scopoletin, Trigonostemone และ Phenantherenone เป็นต้น

 โครงสร้างโลดทะนงแดง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของโลดทะนงแดง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของโลดทะนงแดง ระบุที่ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ในการใช้เพื่อรักษาพิษแมลงกัดต่อย คาดว่าอาจเกิดจากฤทธิ์ต้านอักเสบจากสารกลุ่มไดเทอร์ปีนอยด์ที่สกัดได้จากส่วนรากของโลดทะนงแดง พบว่าสารสกัดแอลกอฮอล์ (เอทานอล) จากส่วนลำต้นของต้นโลดทะนงแดงที่ทดสอบในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ต้านอักเสบได้

           และยังมีรายงานเกี่ยวกับฤทธิ์แก้พิษงูของสารสกัดจากรากโลดทะนงแดง ระบุว่ามีรายงานการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า การป้อนน้ำยาสมุนไพรโลดทะนงแดงที่ความเข้มข้น 50 กรัมต่อลิตร หลังจากหนูได้รับพิษงูเห่า(โดยการฉีดพิษ)เป็นเวลา 5 นาที สามารถยืดอายุการตายของหนูได้

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัย โดยนําสาระสำคัญจากรากต้นโลดทะนงแดงที่มีรายงานการค้นพบ คือ RediocideA, RediocideB, RediocideC, RediocideD, RidiocideE, Lotthanongine และ afzelechin มา docking กับพิษงูเห่าในส่วนที่เป็น neurotoxin 3 ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท พบว่าพลังงานในการจับกันของสารเคมีกับ neurontoxin3 อยู่ที่ -8.17 ถึง -10.5 และตำแหน่งกรดอะมิโนของ neurotoxin3 ที่ไปจับกับสารสำคัญจากรากต้นโลดทะนงแดง คือ TYR21, THR24, LYS23, TRP25 และ LYS35 ทำให้สามารถอธิบายกลไกการแก้พิษงูของสมุนไพรโลดทะนงในระดับโมเลกุลได้ว่า สารเคมีในรากต้นโลดทะนงแดงไปจับกับ neurotoxin3 ในบริเวณ bindind site จับกับ actyleholine receptor ทำให้ neurotoxin3 ที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถไปจับกับ acetylcholine receptor ได้ ผลก็คือสารจากรากต้นโลดทะนงแดงสามารถไปยับยั้งประสิทธิภาพการทำงานของพิษงูเห่าได้


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของโลดทะนงแดง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้โลดทะนงแดงเป็นยาสมุนไพร นั้น สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้เนื่องจากเหง้าและรากโลดทะนงแดงมีสรรพคุณคุมกำเนิด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ สำหรับผู้ที่มีสุขภาพดีทั่วไป ก็ควรระมัดระวังในการใช้โลดทะนงแดง เป็นสมุนไพรเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ เช่นกัน โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง โลดทะนงแดง
  1. สายสนม กิตติขจร. ตําราสรรพคุณ สมุนไพรยาไทยแผนโบราณ. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2526. หน้า 226.
  2. เต็ม สมิตินันทน์. 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. สำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้
  3. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. ตํารายาทั้งมวลของพ่อจารย์เคน ลาวงศ์. กรุงเทพมหานคร : ชุมนุมสหกรณ์ การเกษตรแห่งประเทศไทย; 2537. หน้า 41
  4. จินดาพร คงเดช. 2551. การผลิตสารยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส และสารต้านอนุมูลอิสระจากพืชเพื่อใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  5. วุฒิวุฒิธรรมเวช. เภสัชกรรมไทยรวมสมุนไพร. กรุงเทพมหานคร : โอเอส พรินติ้งเฮาส์ ; 2540.
  6. สมบัติ ประภาวิชา. ผลของความเข้มข้นและช่วงเวลาได้รับน้ำยาสมุนไพรโลดทะนงแดง ต่อการยืดอายุการตายของหนูที่ได้รับพิษงูเห่า. รวมบทคัดย่องานวิจัยการแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต สถาบันการแพทย์แผนไทย 2543
  7. โลดทะนงแดง. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์), เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=108
  8. โลดทะนง, กระดาน ถาม-ตอบ สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก  http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5357
  9. โลดทะนงแดง ทานอาเจียน เด่นช่วยผิวขาวขัดเซลล์ผิว ลดรอยหมองคล้ำ. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  10. Shin et al. Regulatory effects and molecular mechanism of Trigonostemon reidioides on lipopolysaccharide‑induced inflammatory responses in RAW264.7 cells. Molecular Medicine Reports 16 (2017) 5137-5142.
  11. TempeamA, Thasana N, Thavornkitcharat A, et al. ln vitro cytotoxicity of some thai medicinal plants and daphnane diterpenoid from Trigonostemon redioides. Mahidol University Journal of Pharmaceutical Science 2002;29(3-4) : 25-31.
  12. Utaipan et. Al. Diterpenoid trigonoreidon B isolated from Trigonostemon reidioides alleviates inflammation in models of LPS-stimulated murine macrophages and inflammatory liver injury in mice. Biomedicine & Pharmacotherapy 101 (2018) 961–971
  13. Jarasuriya H,Zink DL, Borris RP, Nanakorn W, et al. Rediocides B-E ,Potent lnsecticides from Trigonostemon redioides. J Nat Prod 2004;67:228 - 231.