ทานาคา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ทานาคา งานวิจัยและสรรพคุณ 24ข้อ
ชื่อสมุนไพร ทานาคา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระแจะ , กระแจะจันทร์ พญายา (ภาคกลาง),ขะแจะ (ภาคเหนือ) , ตุมตัง (ภาคอีสาน) ,ตะนาว (มอญ) ,พินิยา (เขมร) , กาซาน่า (พม่า)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hesperethusa crenulata (Roxb.) Roem.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson , Limonia crenulata Roxb.
วงศ์ RUTACEAE
ถิ่นกำเนิดทานาคา
ทานาคาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย เช่นใน ประเทศพม่าและไทย แล้วต่อมาจึงกระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา ลาว และในมณฑลยูนนานของจีนเป็นต้น
สำหรับในประเทศไทยพบมากทางภาคเหนือรวมถึงภาคตะวันตกที่มีชายแดนติดกับประเทศพม่า โดยจะพบมากตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ที่มี ความสูงจากระดับน้ำทะเล100 - 400 ม.
ประโยชน์และสรรพคุณทานาคา
- แก้ลมบ้าหมู
- แก้โรคลำไส้
- แก้ปวดท้องบริเวณลำไส้ใหญ่
- ใช้เป็นยาถ่าย
- ช่วยขับเหงื่อ
- แก้สิวฝ้า
- เป็นยาบำรุงกำลัง
- แก้ไข้
- แก้พิษ
- แก้อาหารไม่ย่อย
- แก้ท้องอืดเฟ้อ
- เป็นยาสมานแผล
- ช่วยเจริญอาหาร
- ช่วยดับพิษร้อน
- แก้กษัย
- ช่วยบำรุงเลือด
- แก้กระษัย
- แก้โลหิตพิการ
- แก้ผอมแห้ง
- บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น
- ช่วยขับผายลม
- ใช้แก้ปวดตามข้อ ปวดเมื่อย เส้นตึง
- แก้ร้อนใน
- แก้โรคประดงใช้ผสมกับกับสมุนไพรตัวอื่นๆเช่น เถาวัลย์เปรียง เถาเอ็นอ่อน
ลักษณะทั่วไปทานาคา
ทานาคาจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น หรือไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม้ผลัดใบ สูง 5-10 เมตร ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งในระดับและมักจะต่ำ กิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น แต่เนื้อไม้สีขาว ส่วนเปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวขรุขระ ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็ง และยาวตรง หนามออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร แต่กิ่งอ่อนและยอดอ่อนเกลี้ยง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 4-13 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรีแกมรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร โคนและปลายใบมีลักษณะสอบแคบ ส่วนขอบใบเป็นซี่ฟันเลื่อยแบบตื้น ๆ เนื้อใบบางคล้ายกระดาษจนถึงหนาคล้ายกับแผ่นหนัง ผิวใบเนียน เกลี้ยง เมื่อส่องดูจะเห็นต่อมน้ำมันเป็นจุดใส ๆ กระจายอยู่ทั่วไป และมีเส้นแขนงของใบมีอยู่ประมาณข้างละ 3-5 เส้น ส่วนก้านใบแผ่เป็นปีก มีลักษณะเป็นครีบออกทั้งสองข้างและเป็นช่วง ๆ ระหว่างคู่ของใบย่อย และก้านช่อใบสามารถยาวได้ถึง 3 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ โดยจะออกเป็นกระจุกตามกิ่งเล็กๆหรือตามบริเวณซอกใบ ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง กลีบดอกมี 4 กลีบ เมื่อบานจะแผ่ออกหรือลู่ไปทางก้านเล็กน้อย กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ รูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้าง และยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลายแหลม ผิวด้านนอกมีขนละเอียด และมีต่อมน้ำมันด้านใน สำหรับลักษณะกลีบดอกเป็นรูปไข่แกมรูปรี กว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ยาว 7 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมันประปราย เกสรตัวผู้มี 8 อัน ยาว 4-6 มิลลิเมตร ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมันใต้ยอดเกสรเพศเมีย จานฐานดอกเกลี้ยง ส่วนก้านช่อดอกยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร และก้านดอกย่อยยาว 8-10 มิลลิเมตร เกลี้ยง หรือมีขน ผลเป็นแบบผลสด รูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ ในผลมีเมล็ดรูปทรงกลมสีน้ำตาลอมส้มอยู่ประมาณ 1-4 เมล็ด โดยเมล็ดจะมีความกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนก้านผลยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร
การขยายพันธุ์ทานาคา
ทานาคาสามารถขยายพันธุ์ได้โดย การใช้เมล็ดและการปักชำ โดยในประเทศพม่าจะมีการนิยมนำมาปลูกและขยายพันธุ์ในเชิงพาณิชย์กันมาก ส่วนในประเทศไทยนั้นยังไม่นิยมนำมาปลูก เพราะเป็นพืชที่ต้องใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวนาน ในการนำมาใช้ประโยชน์นั้นจะเป็นการนำเนื้อไม้มาใช้ประโยชน์มากกว่าส่วนอื่นๆ ซึ่งเนื้อไม้ที่มีคุณภาพดีนั้นจะต้องมีอายุ 35 ปีขึ้นไป ถึงจะสามารถนำมาใช้ได้ สำหรับวิธีการขยายพันธุ์ทานาคานั้นก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปักชำไม้ยื่นต้นอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้าที่
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของเนื้อไม้และเปลือกรากทานาคาพบว่า ทานาคามีสารประกอบทางเคมีจำนวนมาก เช่น 2-Hydroxyquinoline, N-acetyl-Nmethyltryptamine, 2-Quinolone, Tanakine tanakamine, 4-Methoxy-1-methyl-2-quinolone, 7-Methoxy-6-(2, 3-epoxy-6-methylbutyl),Sitosterol, Suberosin, Arbutin, Suberenol,Coumarin, และ Marmesin
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้โรคเกี่ยวกับลำไส้ แก้ปวดท้อง ปวดลิ้นปี่ ขับเหงื่อ โดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาหารไม่ย่อย แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงเลือด ช่วยเจริญอาหาร แก้โลหิตพิการ แก้กษัย โดยใช้ผลแห้มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้ขับผายลม โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปวดตามข้อ แก้เส้นตึง แก้ร้อนใน แก้ประดง โดยใช้เนื้อไม้และเปลือกลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ ครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ใช้แก้สิวฝ้า แก้เส้นตึง แก้ผดผื่นคัน โดยใช้เนื้อไม้มาฝนให้แห้งเป็นผง แล้วผสมกับน้ำสะอาดแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ปกป้องผิวจากแสงอัลตราไวโอเลต มีผลจากการศึกษาวิจัยพบว่าสารสำคัญที่ชื่อ marmesin ที่พบในเนื้อไม้และเปลือกรากของทานาคา เป็นสารกรองแสงอัลตร้าไวโอเลตได้ โดยแสงอัลตร้าไวโอเลตจะก่อให้เกิดการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังโดยกระตุ้นการสังเคราะห์ เอนไซม์แมทริกซ์-เมทัลโลโปรตีเนส-1(matrix-metalloproteinase-1, MMP-1) ซึ่งจะไปตัดเส้นใยโปรตีนคอลลาเจนที่ช่วยคงความแข็งแรงและยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อผิวหนังและลดการสังเคราะห์โปร-คอลลาเจนพบว่าสารสกัดลำต้นทานาคาสามารถยับยั้งMMP-1และเพิ่มการสร้างโปร-คอลลาเจน จึงพิสูจน์ภูมิปัญญาที่ชาวเมียนมาร์ใช้ได้ดี
ฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน มีผลการศึกษาวิจัยพบว่า สาร arbutin มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานินได้ ซึ่งเม็ดสีเมลานินเป็นเหตุของฝ้า กระ และรอยหมองคล้ำด่างดำของผิว โดยฤทธิ์ในการยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ tyrosinase ที่มีบทบาทในการสังเคราะป็เม็ดสีผิวหรือเมลานิน โดยการเปลี่ยนสารตั้งต้นไทโรซินให้เป็นเมลานินได้
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจับพบว่าผงทานาคา และสารสกัดน้ำของทานาคายังแสดงฤทธิ์ต้านการออกซิเดชั่น ลดการเสื่อมของเซลล์ และต้านการอักเสบ ส่วนสาร suberosin ที่พบในทานาคายังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และช่วยป้องกันรักษาสิวได้อีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยา
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ผงทานาคาที่มีคุณภาพดี และมีสารสำคัญครบถ้วนนั้นต้องเป็นผงทานาคาที่ได้จากเนื้อไม้ทานาคาที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังมี หลักการพิสูจน์ผงทานาคาแท้แบบง่ายๆ โดยให้เอามะนาวบีบลงบนผงทานาคา หากเกิดฟองฟู่แสดงว่าผงทานาคานั้นจะถูกผสมด้วยดินสอพอง ส่วนอีกวิธีหนึ่งสามารถพิสูจน์ได้ด้วยการสัมผัส โดยห่างหยิบเอาผงทานาคาใส่นิ้วมือแล้วลองบี้ดูหากเนียนเหมือนแป้งฝุ่น ก็แสดงว่ามีการผสมดินสอพองมา ซึ่งทานาคาของแท้จะต้องหยาบนิดหน่อย เหมือนเม็ดข้าวสารคั่ว และสำหรับการใช้ส่วนต่างๆของทานาคาเพื่อเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคตามตำรับตำรายานั้นๆ ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำยายานั้นๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ส่วนเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนใจใช้ทานาคาในการบำบัดรักษาโรคต่างๆนั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง
- พร้อมจิต ศรลัมพ์ วงศ์สถิต ฉั่วกุล และสมภพ ประธานธุรารักษ์.(2535).สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ กรุงเทพฯ,บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด.
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “กระแจะ”. หน้า 83.
- สุบัณฑิต นิ่มรัตน์ , ตรีรัตน์ สุขสวัสดิ์ , วีรพงศ์ วุฒิพันธุ์ชัย .การประเมินการปนเปื้อนแบคทีเรียในผลิตภัณฑ์ทานาคาที่จำหน่ายในสาธารณรัฐแห่งสหภาคเมียนม่าร์.วารสารวิทยาศาสตร์ มข.ปีที่42.ฉบับที่4 ตุลาคม-ธันวาคม 2557. หน้า 781-791
- รศ.พร้อมจิต คอลัมน์.หน้าสวยด้วย”ทานาคาของเมียนม่าร์หรือกระแจะของไทย”.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- กระแจะ.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.phargorder.com/main.php?action=viewpage&pid=6
- Lindsay, S.W., Ewald, J.A., Samung, Y., Apiwathaasorn, C. and Nosten, F. (1998). Thanaka and deetmixture as a mosquito repellent for use by Karen women. Med Vet Entomol. 12: 295-301
- Kanlayavattanakul M, Phrutivorapongkul A, Lourith N, Ruangrungsi N. Pharmacognostic specification of Naringi crenulata stem wood.J Health Res 2009;23(2):65-9.
- Amornnopparattanakul P, Khorana N, Viyoch J. Effects of Hesperethusa crenulata’s bark extract on production of pro-collagen type I and inhibition of MMP-1 in fibroblasts irradiated UVB. International Conference on Biological, Biomedical and Pharmaceutical Sciences (ICCEPS' 2012), Pattaya, 28-29 July, 2012.
- Nayar, M.N.S., Sutar, C.V. and Bhan, M.K. (1971) Alkaloids of the stem bark of Hesperethusa crenulata. Phytochemistry. 10: 2843–2844
- Wangthong S, Palaga T, Rengpipat S, Wanichwecharungruang SP, Chanchaisak, P. and Heinrich, M. Biological activities and safety of Thanaka (Hesperethusa crenulata) stem bark. J Ethnopharmacol 2010;132(2):466-72.
- Figueroa, M., Rivero-Cruz, I., Rivero-Cruz, B., Bye, R., Navarrete, A. and Mata, R. (2007). Constituents, biological activities and quality control parameters of the crude extract and essential oil from Arracacia tolucensis var. multifida. J Ethnopharmacology. 113: 125–131.
- Joo SH, Lee SC,Kim SK. UV absorbent, marmesin, from the bark of Thanakha, Hesperethusa crenulata L.J Plant Biol2004;47(2):163-5.
- Abu Zarga, M.H. (1986). Three new simple indole alkaloids from Limonia acidissima. J Nat Product. 49: 901–904