ไฟเดือนห้า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ไฟเดือนห้า งานวิจัยและสรรพคุณ 17ข้อ
ชื่อสมุนไพร ไฟเดือนห้า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เทียนแดง (ภาคกลาง) , เทียนใต้ (ภาคอีสาน) ,บ้าสะแดง , เทียนทำ , พริกนก (เชียงใหม่) , เต็งจ้อน (ลำปาง) , ไม้จีน (ประจวบคีรีขันธ์) , ไม้เมืองจีน , ดอกไม้เมืองจีน (สุราษฏร์ธานี) , นางแย้ม (โคราช) , พอดอซู, พอสู่เหนาะ (กะเหรี่ยง) ,คำแค่ (ไทยใหญ่) , จิงเฟีงฮวา , เหลียนเซิงกุ้ยจื่อฮวา (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Asclepias curassavica Linn.
ชื่อสามัญ Blood Flower, Bastard ipecacuanha, Tropical milkweed, Silkweed, Mexican butterfly weed, Butterfly Weed, Milkweed, Silkweed
วงศ์ APOCYNACEAE - ASCLEPIADACEAE
ถิ่นกำเนิดไฟเดือนห้า
ไฟเดือนห้าจัดเป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศ ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเขตร้อนบริเวณเมกซิโกลงมา สำหรับในประเทศไทยถูกนำเข้ามาเป็นไม้ประดับเป็นเวลานานแล้ว และได้กระจายพันธุ์ไปยังหลายภูมิภาค จึงมีชื่อพื้นเมืองที่หลากหลาย จนในปัจจุบันอาจจัดอยู่ในวัชพืชชนิดหนึ่งของไทย โดยสามารถพบได้บริเวณชายป่าทั่วไป ตามข้างทางหรือที่รกร้างต่างๆ รวมถึงตามเรือกสานไร่นาของเกษตรกร เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณไฟเดือนห้า
- ใช้เป็นยาบำรุงให้ร่างกายอบอุ่น
- แก้อักเสบ
- แก้ฝี
- เป็นยาบำรุงธาตุไฟ
- แก้บิด
- ใช้เป็นยาแก้ไข้ตัวเย็นหมดสติ
- รักษากลาก เกลื้อน
- ใช้เป็นยาขับพิษเลือดในเดือนอยู่ไฟ
- แก้เลือดทำพิษในเรือนไฟ (การติดเชื้อที่มดลูกหลังการคลอดบุตร)
- ขับประจำเดือน
- ใช้ฆ่าเชื้อโรคเรื้อน
- ใช้ขับพยาธิไส้เดือน
- แก้หนองใน
- ใช้เป็นยาถ่าย
- ช่วยขับเสมหะ
- รักษาอาการฟกช้ำจากการหกล้ม
- ใช้เป็นยากัดหูดตาปลา
ลักษณะทั่วไปไฟเดือนห้า
ไฟเดือนห้า จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ที่มีอายุหลายปี ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 40-100เซนติเมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้นขึ้นมา กิ่งและก้านมียางสีขาวคล้ายน้ำนมอยู่ภายใน ส่วนกิ่งอ่อนและก้านดอกมีขน ใบดอกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปไข่หอก กว้างประมาณ 1 - 4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6 - 15 เซนติเมตร ปลายแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบสั้น ดอกออกเป็นช่อกระจุกคล้ายช่อซีร่มบริเวณง่ามใบและปลายกิ่ง โดยใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 7-20 ดอก ดอกย่อยมีสีแดง ยาวเกือบ 1 เซนติเมตร กลีบดอกจะมีกลีบดอก 5 กลีบเรียงเวียนคล้ายกงล้อ หรือมีลักษณะพับงอ และมีรยางค์รูปมงกุฎสีเหลืองหรือส้มยื่นออกมา มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ส่วนก้านช่อดอกมีขนนุ่มสั้นๆขึ้นปกคลุม ยาวประมาณ 3.5-6 เซนติเมตร ผล เป็นแบบผลแห้งรูปทรงยาวคล้ายรูปกระสวย ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกออก ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่แบนสีน้ำตาลเข้ม ยาว 6-7 มิลลิเมตร เป็นกระจุกยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร
การขยายพันธุ์ไฟเดือนห้า
ไฟเดือนห้าสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด โดยจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ มากกว่าการนำมาปลูก เพราะไฟเดือนห้าจัดเป็นวัชพืชในแปลงเกษตรของไทย ดังนั้นจึงไม่มีการนิยมนำมาปลูกแต่อย่างใด สำหรับการขยายพันธุ์ในธรรมชาติของไฟเดือนห้านั้น จะเป็นการขยายพันธุ์โดยเมล็ดจากฝักที่แห้ง แตกออกแล้วเมล็ดหล่นลงพื้นดิน จากนั้นได้รับน้ำฝนจากธรรมชาติ แล้วจึงงอกออกมาเป็นต้นใหม่ในแต่ละปี
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆของไฟเดือนห้าพบสารสำคัญหลายชนิด เช่น Ascurogenin, Curassvicin Asclepin, Curassicin,Calotropin ส่วนในรากพบสาร glycoside และ asclepiadin อีกด้วย
นอกจากนี้ในน้ำยางยังพบสารประกอบอีกหลายชนิด เช่น quercetin , sterols , acidic mucilage , caffeic acid และ cardenolide ในต้นพบสาร β-sitosteol เป็นต้น
ที่มา : Wikipedai
รูปแบบและขนาดวิธีการใช้
ใช้บำรุงธาตุไฟทำให้ร่างกายอบอุ่น ขับพิษเลือด ในเดือนอยู่ไฟ แก้เหงื่ออกมาก แก้เต้านมอักเสบในสตรี ใช้ขับประจำเดือน รักษาฝีหนอง โดยใช้เมล็ดแห้ง 6-10 กรัม มาต้มกับน้ำดื่มหากใช้รากให้ใช้ 15-30 กรัม ใช้ฆ่าเชื้อโรคเรื้อน ขับพยาธิไส้เดือน โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาถ่าย ช่วยทำให้อาเจียน โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้กัดหูดตาปลา รวมถึงรักษาอาการคันจากโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน โดยใช้น้ำยางหรือน้ำคั้นจากต้นมาทาบริเวณที่เป็น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของไฟเดือนห้าในต่างประเทศ ระบุว่าในยางของไฟเดือนห้ามีเอนไซม์ย่อยโปรตีนที่ชื่อ ซีสเตอีน โปรทีเอส (cysteine proteases) ทำให้เลือดหยุดและแผลเปื่อยหายเร็วขึ้น และยังพบว่าสามารถต้านการเจริญของเชื้อรา เช่น เชื้อกลากเกลื้อน และแคนดิดา (Candida albicans) ได้
นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยระบุว่า สาร cardenolides ที่พบในน้ำยางของไฟเดือนห้ามีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งในหลายทดลองได้
การศึกษาทางพิษวิทยา
มีผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาระบุว่า ทุกส่วนของต้นไฟเดือนห้าจะมียางสีขาว ซึ่งเป็นพิษ สารพิษในยางขาวมีหลายชนิด เช่น คาร์ดิโนลายด์ (cardenolides) ซึ่งเป็นสเตียรอยด์ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ ซึ่งทำให้หัวใจสัตว์ทดลองเต้นแรงขึ้น และหากบริโภคยอดอ่อน ใบ ลำต้น ราก และดอกของไฟเดือนห้าในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เกิดพิษขึ้นได้โดยอาการพิษจะมีอาการปวดท้อง มีไข้ หายใจลำบาก ม่านตาขยาย และกล้ามเนื้อเกร็ง อาจทำให้ตายได้
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ไฟเดือนห้าเป็นพืชที่มีพิษ หากรับประทานเข้าไปเป็นจำนวนมากจะส่งผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้ ดังนั้นวิธีการใช้ตามตำรายาต่างๆ ผู้ที่เตรียมยาต้องเป็นหมดที่ชำนาญ รู้จักการสะตุเพื่อลดพิษก่อนนำมาปรุงยา
- สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานสมุนไพรไฟเดือนห้า เพราะมีฤทธิ์ขับประจำเดือน
- ในการใช้น้ำยางของไฟเดือนห้ามากัดหูด ตาปลา หรือการรักษาผดผื่นคันโรคผิวหนังชนิดต่างๆ อาจทำให้เกิดแผลเป็นใหญ่ที่แพ้ได้
เอกสารอ้างอิง
- ไฟเดือนห้า.สารานุกรมพืช.กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าและพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “ไฟเดือนห้า”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 414.
- ไฟเดือนห้า.คอลัมน์โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง.นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3-9 พฤษภาคม 2563
- ไฟเดือนห้า.อุทยานธรรมชาติวิทยาศิรีรุกขชาติ.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/index.php?page=search_detail&medicinal_id=137