งาขี้ม้อน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

งาขี้ม้อน งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร งาขี้ม้อน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น งาม่อน, งาขี้ม่อน (ทั่วไป), งาบุก, งาขี้ม่อน (ภาคเหนือ), งามน (แม่ฮ่องสอน), นอ (กระเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ขี้ม้อน (อีสาน), นอง (กระเหรี่ยงกาญจนบุรี), งาเจียง (ลาว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Perilla frutescens (L.) Britton
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ocimum frutescens Linn
ชื่อสามัญ Perilla
วงศ์ LAMIACEAE

ถิ่นกำเนิดงาขี้ม้อน

งาขี้ม่อน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ไทย ลาว พม่า กัมพูชา ฯลฯ และมีชื่อสามัญแตกต่างกันไปแต่ละประเทศ อาทิเช่น งาขี้ม้อน (ไทย), งาเจียง (ลาว) Tyu ssu, Yeh ssu, Chi ssu (จีน), Bhanjira (อินเดีย), Shiso Egoma (ญี่ปุ่น), Kkaennip Tulkkae (เกาหลี), Bantulsi (เบงกอล), Perilla, Beef steak plant, Chinese basil, Wild sesame (อังกฤษ) และ La tia to (เวียดนาม) เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยในอดีต มีการปลูกกันมากในภาคเหนือตอนบน แต่ในปัจจุบันพบว่ามีการปลูกกันทั่วไป ในเกือบทุกภูมิภาคแล้ว

ประโยชน์และสรรพคุณงาขี้ม้อน

  • เป็นยาชูกำลัง
  • ช่วยลดไขมันในเลือด
  • ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น
  • ช่วยแก้อาการไอ
  • แก้หวัด
  • ช่วยแก้อาการท้องผูก
  • ช่วยในการย่อยอาหาร
  • แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก (น้ำมันหอมระเหยจากใบ)
  • แก้อาการปวดข้อกระดูก (น้ำมันเมล็ด)
  • ใช่เป็นยาประคบแก้อาการข้อพลิก (เมล็ด)
  • แก้ท้องผูก
  • ช่วยลดไขมันในเลือด
  • ช่วยต้านแบคทีเรีย
  • ช่วยต้านเชื้อรา
  • เป็นยาระบาย
  • ช่วยลดบวม
  • แก้หอบหืด
  • ช่วยลดระดับคอเรสเตอรอล
  • ช่วยยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็ง
  • ช่วยปกป้องตับ
  • ช่วยลดไตรกลีเซอไรด์

          งาขี้ม่อน ถูกนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่อดีตแล้ว โดยชาวเอเชียนิยมนำงาขี้ม้อนมาใช้รับประมานในรูปแบบต่างๆ ทั้งในการรับประทานเป็นอาหาร หรือ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ช่วยเสริมแต่งรสชาติ และหน้าตาของเมนูอาหารต่างๆ ให้ดูน่ารับประทาน รวมถึงใช้เป็นน้ำมันหอมระเหย ส่วนทางภาคเหนือ ของไทยนิยมนำไปแปรรูป เช่น ทำเป็นงาขี้ม้อนแผ่น (คล้ายกับถั่วตัด) นำไปคลุกกับข้าวเหนียว หรือทำเป็นข้าวหลามงาขี้ม้อน แล้วก็ยังมีการนำมาทำเป็นชางาขี้ม้อน ส่วนใบของงาขี้ม้อนนั้น ก็สามารถรับประทานเป็นผักสดได้ และยังสามารถสกัดเอาน้ำมันจากใบงาขี้ม้อนสดได้อีกด้วย

           ปัจจุบันมีอาหารจากงาขี้ม้อน และอาหารเสริมจากงาขี้ม้อน มีการจัดจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ตามท้องตลาด ทั้งแบบที่เป็นประเภทอาหาร และไม่ใช่อาหาร  รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมันงาขี้ม้อน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้งาขี้ม้อน

สำหรับรูปแบบและขนาดวิธีใช้ ในการใช้เป็นยาสมุนไพร เพื่อนำมารักษาโรคต่างๆ นั้น ระบุว่าใช้เป็นยาชูกำลัง ลดไขมันในเลือด ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น แก้อาการท้องผูก โดยใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา ชงกับน้ำร้อนดื่ม เช้า-เย็น แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายโดยใช้น้ำมันจากเมล็ดนำมาทอดผสมกับเหง้าไพล แล้วนำมานวดบริเวณที่ปวดเมื่อย แก้อาการปวดข้อกระดูกโดยใช้เมล็ดนำมาบีบเอาน้ำมันใช้เป็นยาทานวด แก้อาการข้อพลิกโดยใช้เมล็ดนำมาตำใช้เป็นยาประคบ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลงานวิจัยระบุว่าการใช้น้ำมันจากเมล็ดงางาขี้ม่อน เพื่อบรรเทาอาการแพ้และหอบหืดในผู้ใหญ่ โดยรับประมาณน้ำมันจากเมล็ดงาขี้ม้อนวันละ 10-20 ก. เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ ช่วยบรรเทาอาการหอบหืดได้

ลักษณะทั่วไปของงาขี้ม้อน

งาขี้ม้อนจัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุก และเป็นพืชฤดูเดียว (annual herb) ลักษณะของต้นจะมีความสูง ประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นตั้งตรงมีสันเหลี่ยมมีร่องตามยาว แตกกิ่งก้านสาขามาก ต้นมีกลิ่นหอม กิ่งอ่อน หรือ ต้นอ่อน จะมีขนยาวละเอียดสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น แต่เมื่อโตเต็มที่ โคนต้นจะแข็งใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่มีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม หรือ แหลมเป็นติ่งยาว โคนใบกลม หรือ ป้าน ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย หน้าใบมีสีเขียวอ่อน ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ แผ่นใบมีสีขาวขนนุ่มทั้งสองด้าน ท้องใบมีต่อมน้ำมัน ดอกออกเป็นช่อกระจะซึ่งจะออกตามง่ามใบ และที่ปลายกิ่งของแต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ริ้วประดับดอกย่อยลักษณะเป็นรูปไข่กว้างประมาณ 2.5-3.2 มิลลิเมตร และ ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร โคนริ้วมีลักษณะกลมกว้าง ขอบเรียบ และมีขน ส่วนปลายเรียวแหลม ส่วนดอกย่อยจะมีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอด ที่ปลายแยกเป็นปากยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร มีขนสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น ดอกของงาขี้ม่อน มีเกสรเพศผู้ 4 อัน เรียงเป็นคู่ๆ โดยคู่บนจะสั้นกว่าคู่ล่างเล็กน้อย ก้านเกสรมีลักษณะเกลี้ยง ส่วนอับเรณูมีพู 2 พู ด้านบนติดกัน ส่วนด้านล่างกางออก จานดอกเห็นได้ชัดเจน มีรังไข่ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร และมีพูกลมๆ 4 พู ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะยาวประมาณ 2.6-3 มิลลิเมตร ผล เป็นแห้ง ไม่แตก มีลักษณะกลมเป็นรูปไข่กลับขนาดเล็ก แข็ง และเป็นสีน้ำตาล หรือ สีเทา และมีลายเป็นรูปตาข่าย ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร

งาขี้ม้อน 

งาขี้ม้อน

การขยายพันธุ์งาขี้ม้อน

งาขี้ม้อน สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดโดยมีวิธีการปลูกอยู่ 2 แบบ คือ การหยอดเมล็ดพันธุ์อยู่ในแปลง และการเพาะเมล็ดให้เป็นต้นกล้าแล้วนำไปปลูก โดยการปลูกงาขี้ม้อนทั่วไปจะปลูกกัน ในพื้นที่ดอนและอาศัยเพียงน้ำฝน เท่านั้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันการปลูกงางาขี้ม่อน ของเกษตรกรยังขาดรูปแบบการปลูกที่เหมาะสม จึงทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่น้อย ซึ่งจากข้อมูลสำรวจผลผลิตในภาคเหนือตอนบน พบว่ามีผลผลิตเฉลี่ย 80 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ดังนั้น ทางสถาบันวิจัย และพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) จึงได้ทำการศึกษาระยะปลูกที่เหมาะสมโดบพบว่า ระยะการปลูก 50*50 เซนติเมตร สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากถึง 2 เท่า จากระยะการปลูกเดิมของเกษตรกร

องค์ประกอบทางเคมี

           มีผลการศึกษาวิจัยพบว่า ในเมล็ดงาขี้ม้อนยังมีวิตามินอี ในรูปของแกมมา-โทโคฟีรอลสูง ส่วนในรูปแอลฟา-โทโคฟีรอล มีปริมาณน้อย และยังพบสารสำคัญในกลุ่มโพลีฟีนอลที่สำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะกรดโรสมารินิก (rosmarinic acid) และสารลูทีโอลีน (luteolin) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ที่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ และเมื่อนำมาสกัดน้ำมันก็จะอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายชนิดได้แก่ กรดไลโนเลอิก (โอเมก้า 3) 55-60% กรดไลโนเลอิก (โอเมก้า 6) 18-22% และกรดไลโนเลอิก (โอเมก้า 9) 0.08-0.17% ต่อมาได้มีการศึกษาปริมาณกรดไขมันจากงาขี้ม้อนที่ปลูกทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยพบว่ามีกรดไลโนเลนิกประมาณ 54-59% มีกรดไลโนเลอิกอีกประมาณ 18-22% และมีกรดโอเลอิกประมาณ 11-12% โดยปริมาณกรดไขมันโอเมก้า 3 ในน้ำมันจากเมล็ดงาขี้ม่อน นั้นสูงกว่าน้ำมันปลาประมาณ 2 เท่า

       โดยพบสารสำคัญหลายชนิดโดยรวมดังนี้ Linolenic acid (omega 3), Linolenic acid (omega 6), Bergamotene, Pulegone, Caryophyllene, Aromadendrene, Glucoside, Rosmarinic acid, Limonenem Linalool, Odimene, Anthocyanins, Perillene, Dillapiole, Pinene, Sabinene, Sitosterol, Stigmasterol, Campesterol, Terpinolene เป็นต้น ส่วนในใบพบสาระสำคัญได้แก่ Caffeic acid และ Rosmarinic acid เป็นต้น

โครงสร้างงาขี้ม่อน

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของงาขี้ม้อน

ผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของงาขี้ม้อนที่ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้
           ฤทธิ์ต้านการอักเสบของโรคหอบหืด มีการรายงานว่าน้ำมันจากเมล็ดงาขี้ม้อน มีส่วนประกอบของ n-3 fatty acid alpha-linolenic acid ในระดับสูงที่จัดเป็น flavonoid aglycones ที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ จึงมีการศึกษาในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นโรคหอบหืดด้วยสาร OVA โดยให้หนูทดลองได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีน้ำมันจากเมล็ดงาขี้ม้อนเป็นส่วนประกอบ 5% เป็นเวลา 5 สัปดาห์ หรือ ได้รับการฉีดสารสกัดจากเมล็ดงาขี้ม้อน เข้าใต้ผิวหนัง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด eosinophils, T-lympho cytes และ Th-2 ลดลง ระดับสารก่อการอักเสบได้แก่ TNF-alpha, IL-4, IL-5, IL-6 และ IL-13 ลดลง และระดับ lgE ลดลง มีระดับ lgG1 ที่จำเพาะต่อสาร OVA และระดับ igA ลดลง ซึ่งทำให้การทำงานของเซลล์ Th-2 ลดลง และมีการแพ้ลดลงตามมา นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยโรคหอบหืด ที่มีความรุนแรงน้อยจำนวน 26 คน โดยให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีน้ำมันจากเมล็ดงาขี้ม้อน ขนาด 10-20 ก. ต่อวัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์พบว่า สามารถยับยั้งการสร้างสาร L TB4 และ LTC4 ซึ่งเป็นสารก่อการอักเสบที่มีการซึมผ่านของเซลล์อักเสบออกนอกหลอดเลือดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้สรรถภาพปอดดีขึ้น โดยค่า FEV1, FVC, PEFR เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ด้วยวิธีการศึกษา DPPH radical scavenging activity ในเมล็ดงาขี้ม้อน จำนวน 12 สายพันธุ์ จากผลการวิจัยพบว่า ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระมีความแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ โดยงาขี้ม้อนมีความสามารถในการต้อนอนุมูลอิสระโดยเฉลี่ย 24.51 ไมโครโมลาร์ Trolox/กรัมไขมัน โดยสายพันธุ์ที่มีวิตามินอีสูง จะมีความสามารถการต้านอนุมูลอิสระได้ดี
            ฤทธิ์ปกป้องตับ มีการทดสอบฤทธิ์ปกป้องตับของสาร Caffeic acid และ rosmarinic acid ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่อยู่ในสารสกัดน้ำจากใบงาขี้ม้อน (Perilla frutescens (L.) Britton) ในเซลล์มะเร็งตับของมนุษย์ HepG2 และในหนูแรท พบว่า CA มีฤทธิ์ต้านการถูกทำลายจากกระบวนการ oxidative ได้ดีกว่า RA และการป้อนสาร CA ขนาด 1.32 มก./กก. น้ำหนักตัว หรือ RA ขนาด 26.84 มก./กก. น้ำหนักตัว ในหนูซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้ตับถูกทำลายด้วยฉีดสาร tert-butyl hydroperoxide ขนาด 0.5 มิลลิโมล/กก. น้ำหนักตัว เข้าทางช่องท้อง สามารถทำให้ระดับของเอนไซม์ aspartate aminotransferase, alanine aminotransferase, oxidized glutathione และการเกิด lipid peroxidation ในตับหนูที่สูงขึ้น จากการฉีดสาร สาร tert-butyl hydroperoxide ลดลง โดยมีความสัมพันธุ์กับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และพบว่าการให้ CA และ RA ร่วมกัน จะช่วยเพิ่มเอนไซม์ ที่เกี่ยวข้องกับฤทธิ์ ดังกล่าว เช่น catalase, glutathione peroxidase และ Superoxide dismutase รวมทั้ง Glutathione (GHS) ด้วย จากผลการทดลองข้างต้นแสดงให้เห็นว่าสาร CA และ RA จากใบงาขี้ม้อน สามารถเพิ่ม GSH ให้กับตับ และช่วยต้านการถูกทำลายจากกระบวนการ Oxidative ด้วยกลไกในการต้านอนุมูลอิสระ
            ฤทธิ์ยับยั้งการลุกลามของการเคลื่อนที่ของเซลล์มะเร็งเต้านม มีการศึกษาผลของสารสกัด 70% เอทานอลจากใบงาขี้ม่อน (PERILLA FRUTESCENS) ในการยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเต้านม ชนิด MDA-MB-231 โดยทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการลุกลาม (Cell invasion) และการเคลื่อนที่ของเซลล์มะเร็ง พบว่าสารสกัดความเข้มข้น 12.5-50 มคก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งการลุกลาม และการเคลื่อนที่ของเซลล์มะเร็งได้ โดยมีค่าความเข้มข้นของสารสกัดที่มีฤทธิ์ยับยั้งได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 24.0 +- 1.2 และมากกว่า 100 มคก./มล. ตามลำดับ สารสกัดที่ความเข้มข้น 100-400 มคก./มล. มีผลลดการหลั่งของเอนไซม์ matrix metalloproteinase-9 (MMP-9) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ 21-55% และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ MMP-9 โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 191+- 20.9 มคก./มล. โดยฤทธิ์ดังกล่าว ของสารสกัดอาจเป็นผลมาจากกรดโรสมารินิก (rosmarinic acid) ซึ่งเป็นองค์ ประกอบหลักในสารสกัด 70% เอทานอลจากใบงาขี้ม้อน นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของงาขี้ม้อน อีกหลายด้าน เช่น ลดการอักเสบ ลดไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ต้านแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของงาขี้ม้อน

มีผลการศึกษาทางพิษวิทยาของงาขี้ม่อน ระบุว่า ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) ด้วยสารสกัดทั้งต้นด้วย 50% เอทานอล ที่ใช้ฉีดเข้าช่องท้องของหนูขาวมีค่าเท่ากับ 1 กรัม/กิโลกรัม

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าจะมีรายงานการศึกษาทางพิษวิทยาระบุว่า งาขี้ม้อนมีความเป็นพิษต่ำ แต่ทั้งนี้ก็มีข้อควรระวัง คือ ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้งาขี้ม้อน หรือผู้ที่แพ้พืชวงศ์ กะเพรา (LAMIACEAE) รวมถึงห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร เพราะยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัย

เอกสารอ้างอิง งาขี้ม้อน

⦁ งาขี้ม้อน. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ หาวิทยาลัยมหิดล. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. หน้า 163.
⦁ กัษมาพร ปัญต๊ะบุตร. งาขี้ม้อนและประโยชน์ต่อสุขภาพ. วารสารปีที่ 49. ฉบับที่ 3 กรกฎาคม- กันยายน 2562. หน้า 11-16.
⦁ ฤทธิ์ยับยั้งการลุกลามและการเคลื่อนที่ของเซลล์มะเร็งเต้านมของสารสกัดจากใบงางาขี้ม่อน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ หาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ คณะเภสัชศาสตร์ หาวิทยาลัยมหิดล.2539. สมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: 4. คณะเภสัชศาสตร์ หาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ ณัฏฐณิชชา มห่วงษ์. สมุนไพรกับโรคหอบหืด. จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 29 ฉบับที่ 3 เมษายน 2555. หน้า 2-15.
⦁ ศิริวรรณ สุทธจิตต์. 2550. ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อสุขภาพ. (พิมพ์ครั้งที่ 2 ). กรุงเทพฯ: The knowledge Center สำนักงานส่งเสริม และจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร. 2558. งาขี้ม้อน.
⦁ ฤทธิ์ปกป้องตับของสาระสำคัญจากใบงาขี้ม้อน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ หาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ ธิดารักษ์ แสงอรุณ ดำเนิน กาละดี และกนกวรรณ ศรีงาม. 2555. ปริมาณของวิตามินอีในข้าวเหนียวก่ำและงาขี้ม้อน. วิทยานิพนธ์. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
⦁ Yim YK, Lee H, Hong KE, Kim Yl, Ko SK, Kim JE, et al. Anti-infkammatory and lmmune-regulatory Effects of Subcutaneous perillae Fructus Extract injections on OVA- induced Asthma in mice. Evid bassed complement Alternat Med 2010;7 :79-86.
⦁ Okamoto m, mitsunobu F, Ashida k, mifune T, Hosaki Y, Tsugeno H, et al. Effects of Perilla seed oil suplementtation on leukotriene generation by leucocytes in patiens with asthma associated with lipometabolism. Int Arch allergy lmmunol 2000; 122:137-42.
⦁ Siriamornpun S, Li D, Yang L, Suttajit S and Suttajit m. 2006. Variation of lipid and fatty acid composition in Thai perilla seeds grown at difference location. Songklanakharin J. Sci Technol. 28 : 17-21.
⦁ Okamoto M, Mitsunobu F, Ashida k, Mifune T, Hosaki T, Tsugeno H, et al. Effects of dietary supplementation with n-3 fatty acids compared with n-6 fatty acid on bronchial asthma. In tern Med 2000; 39:107-11.
⦁ Chang HH, Chen CS, lin jy, Dietary perilla oil inhibits proinflammatory cytokine production in the bronchoalveolar lavage fluid of ovalbumin-chalenged mice. Lipids 2008;43:499-506.
⦁ Chang HH, Chen CS, lin jy, Dietary perilla oil lower’s serum lipids and ovalbumin-specific lgG1, but increases total lgE levels in ovalbumin-challenged mice. Food Chem Toxical 2009; 47:848-54.