กล้วยเต่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กล้วยเต่า งานวิจัยและสรพรคุณ 13 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร กล้วยเต่า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ไข่เต่า, ตับเต่า, ตับเต่าน้อย (ภาคเหนือ), ก้นครก, รกครก (ภาคอีสาน), กล้วยตับเต่า (ราชบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyalthia debilis Finet & Gagnap.
วงศ์ ANONACEAE
 

ถิ่นกำเนิดกล้วยเต่า

กล้วยเต่า จัดเป็นพืชในวงศ์กระดังงา (ANONACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณตั้งแต่จีนตอนใต้ลงมาผ่านเวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา เป็นต้น โดยส่วนมากมักจะพบในป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง หรือ ตามชายป่าทั่วไป ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100 เมตร จนถึง 350 เมตร สำหรับในประเทศไทยพบได้เฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เท่านั้น

ประโยชน์และสรรพคุณกล้วยเต่า

  • ใช้บำรุงน้ำนมสตรีหลังคลอด
  • แก้ตัวร้อน
  • แก้พิษตานซาง
  • รักษาโรคกระเพาะ
  • แก้วัณโรค
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ท้องเสีย ท้องร่วง
  • แก้ถ่ายกะปริบกะปรอยเป็นมูกเลือด
  • ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
  • ใช้รักษาแผลติดเชื้อ
  • ใช้ดับพิษทั้งปวง
  • รักษาฝี หนอง
  • รักษาแผลเรื้อรัง

           เนื้อผลสุกของกล้วยเต่า ที่เป็นสีเหลือง มีรสหวาน เด็กๆ ในชนบทนิยมนำมารับประทานเล่น เป็นผลไม้ ส่วนผลดิบใช้เป็นอาหารสัตว์ของโค กระบือ เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารที่ทำให้สัตว์โตเร็วและแข็งแรง


รูปแบบและขนาดวิธีใช้กล้วยเต่า

ใช้แก้ตัวร้อน ถอนพิษไข้ แก้พิษตานซาง แก้ปวดท้อง รักษาโรคกระเพาะ ท้องเสีย แก้วัณโรค และใช้เป็นยาถ่ายพยาธิโดยนำรากสด หรือ รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปวดท้องโดยใช้ลำต้นสดไปคั้นเอาน้ำดื่ม หรือ นำไปต้มกับน้ำดื่มก็ได้ ใช้บำรุงน้ำนมสตรีหลังคลอดโดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาแผลเรื้อรัง แผลหนอง โดยใช้ราก และลำต้นสดมาบดแล้วนำไปพอกบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของกล้วยเต่า

กล้วยเต่า จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก อายุหลายปี สูงประมาณ 30-100 เซนติเมตร ลำต้นมีขนาดเล็ก แตกกิ่งตั้งแต่ระดับเหนือดิน ลำต้น และกิ่งสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม แต่จะร่วงเมื่อกิ่งมีอายุมากขึ้น และมักจะพบเป็นกอ โดยหนึ่งกอจะ มี 1-3 ต้น  ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานจนถึงรูปไข่กลับแกมรูปใบหอก โคนใบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย  กว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือมนและมีติ่งแหลม แผ่ใบแคบ หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเกลี้ยงเป็นมัน ท้องใบมีขนขึ้นปกคลุมและมีสีจางกว่า ส่วนเส้นแขนงใบมีข้างละ 7-10 เส้น และมีก้านใบยาว 3 มิลลิเมตร และมีขนสีเหลืองอ่อนขึ้นหนาแน่น ดอก ออกดอกเดี่ยวบริเวณง่ามใบ กลีบดอกออกเรียงสลับกันเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ปลายกลีบมน กลีบด้านนอกมีขนสีเหลืองอ่อนปกคลุม ส่วนภายในประกอบด้วยเกสรตัวผู้จำนวนมาก อัดแน่นในตอนกลางดอก ถัดมาบริเวณแกนกลางดอก ส่วนฐานของดอก เป็นเกสรตัวเมีย 4 อัน มีกลีบเลี้ยงขนาดเล็ก 3 กลีบ ทรงรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขนนุ่มปกคลุม และมีก้านดอกสั้น ผลดอกเป็นผลกลุ่มอยู่บนแกนตุ้มกลม ผลมีรูปทรงกระบอก มีส่วนเว้าส่วนคอดระหว่างเมล็ด กว้าง 1.3 เซนติเมตร ยาว 1-2 เซนติเมตร ปลายผลเรียวแหลม มีขนสั้นอ่อนนุ่ม และมีผลดิบมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง สามารถรับประทานได้  ก้านผลยาวประมาณ 5 มิลลิเมตรภายในผลมีเมล็ดสีดำ 1-2 เมล็ด

การขยายพันธุ์กล้วยเต่า

กล้วยเต่า จัดเป็นไม้พุ่มที่สามารถขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด ซึ่งการขยายพันธุ์ส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูกหรือขยายพันธุ์โดยมนุษย์ เนื่องจากเป็นพืชป่าที่ยังไม่เป็นที่นิยมในการนำมาเพาะขยายพันธุ์ สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดกล้วยเต่า เพื่อนำมาปลูกนั้น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดไม้พุ่มทั่วไปตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ โดยใช้เมล็ดผลสุกที่มีสีเหลืองมาปอกเปลือกออก และตากให้แห้งนาน 5-7 วัน ก่อนลงเพาะในถุงเพาะชำ รดน้ำใช้ชุ่ม จากนั้นรอให้เมล็ดงอกเป็นต้นกล้าสูง 20-30 เซนติเมตร จึงนำไปปลูกต่อไป

องค์ประกอบทางเคมี

 มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนรากของกล้วยเต่า ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้ 3-o-acetyl aleuritolic acid, suberosol,
 stigmasterol,β-sitosterol, 1-methyl-4-azafluoren-9-one (onychine) , 7-methoxy-1-methyl-4,azafluoren-9-one, bis-7, 7’-dehydroanomane, 7-dehydroano naine-7’-dehydro-8’-methoxynoraine,bis-7, 7’-dehydro-8,8’-dimethoxynonaine และ bis-7, 7’-dehydro-10,10’-dimethoxynonaine เป็นต้น

โครงสร้างกล้วยเต่า  

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกล้วยเต่า

มีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนรากของกล้วยเต่า ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญดังนี้ ได้ทำการสกัดสารจากรากของต้นกล้วยเต่าโดยใช้ตัวทำละลายเฮกเซน คลอโรฟอร์ม เอทิลแอซิเตต และเมทานอล จากนั้นจึงได้ศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพเบื้องต้นพบว่าสารสกัดเฮกเซน มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ จึงทำการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเฮกเซน และสารสกัดเมทานอล พบสารประกอบ 4 ชนิดได้แก่ 3-O-acetylaleuritolic acid suberosol stigmasterol และ β-sitosterol

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยการออกฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดไดคลอโรมีเทนจากส่วนรากของต้นกล้วยเต่า (Polyalthia debilis) พบว่ามีฤทธิ์ ในการต่อต้านเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum โดยมีค่า IC50 เป็น 1.35 µg/mL และยังพบว่าสารประกอบ bis-7, 7/ - dehydro-8,8/ -dimethoxyanonaine และ bis-7, 7/ -dehydro-10,10/ -dimethoxyanonaine ซึ่งแยกได้จากส่วนรากของต้นกล้วยเต่า (Polyalthia debilis) ยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อมาลาเรียโดยมีค่า IC50 ที่ 5.4 และ 4.1 µg/mL ตามลำดับอีกด้วย

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกล้วยเต่า

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้กล้วยเต่า เป็นสมุนไพรนั้นควรระมัดระวัง เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาที่นานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้กล้วยเต่าเป็นยาสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนให้เสมอ

เอกสารอ้างอิง กล้วยเต่า

1. มาลี บรรจบ, และคณะ. (2543). สมุนไพรพื้นบ้านภาคอีสาน เล่ม 1. กรุงเทพฯ : ธนสินเจริญการพิมพ์.

2. ชวลิต นิยมธรรม. (2538). อนุกรมวิธานพืช อักษร ก ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : เพื่อนพิมพ์.

3. มาลี บรรจบ, (2543). สมุนไพรพื้นบ้านภาคอีสาน เล่ม 3. กรุงเทพฯ : เอส อาร์ พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์ จํากัด.

4. เต็ม สมิตินันท์. (2544). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). กรุงเทพฯ : สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้.

5. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). ร่วมอนุรักษ์มรดกไทย สารานุกรมสมุนไพรรวมหลักเภสัชกรรมไทย.กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

6. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “กล้วยเต่า”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 64.

7. พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ, เอมอร โสมนะพันธุ์และ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล. (2534). “การวิเคราะห์หาอัลคาลอยด์ในสมุนไพรไทย ภาค 1.” วารสารเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. 8(4) : 110

8. ปทุมพร มานาม,การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดคลอโรฟอร์มและเอติลเอธิเดตจากรากกล้วยเต่า, ปริญญานิพนธ์หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมี มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ.พฤษภาคม 2549.109 หน้า

9. เกศแก้ว บุตรวงศ์. (2545). การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเฮกเซนและเมทานอลจากรากกล้วยเต่า (Polyalthia debilis (Pierre) PINET& GAGNEP). ปริญญานิพนธ์วท.ม. (เคมีชีวภาพ). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร.

10. กล้วยเต่า/ก้นครก และสรรพคุณ,พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย, (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com

11. Hamonniere, M., Leboeuf, M. & Cave, A. (1974). “Oliveridine and oliverine. New aporphine alkaloids of Polyalthai oliveri,” C.R. Acad. Sci, Ser. C. 278(13) : 921-924.

12.Kanokmedhakul, S., Yodbuddee, D. et al. (2003). “New antimalarial bis-dehydroaporphine alkaloids from Polyalthia debilis,” J. Nat.Prod. 66(5) : 616-619