ผักแว่น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ผักแว่น งานวิจัยและสรรพคุณ 16ข้อ
ชื่อสมุนไพร ผักแว่น
ชื่ออื่นๆ /ชื่อท้องถิ่น ผักแว่น (ภาคกลาง , ภาคเหนือ) ,ผักลิ้นปี่ (ภาคใต้) , ผักแวน , ผักแว่น (ภาคอีสาน) , หนูเต๊าะ (กะเหรี่ยง) , Chuntul phnom (กัมพูชา) , tapahitik (มาเลเซีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Marsilea crenata C. Presl
ชื่อสามัญ Water clover, Pepperwort, Water fern
วงศ์ MARSILEACEAE
ถิ่นกำเนิดผักแว่น
ผักแว่นเป็นเฟิร์นน้ำชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณเขตอบอุ่นและเขตร้อน ได้แก่ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยสามารถพบได้ตามที่ดินมีความชุ่มชื่นจนถึงน้ำท่วมขัง แหล่งน้ำตื้น ริมตลิ่งชายน้ำ หรือ ห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ ตลอดจนในนาข้าว สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ทั้งนี้ผักแว่นกับส้มกบ (oxalis corniculate Linn) เป็นพืชคนละชนิดกัน เพียงแต่มีลักษณะคล้ายกัน และมีชื่อเรียกเหมือนกันว่า “ผักแว่น) ซึ่งอาจทำให้สับสนได้
ประโยชน์และสรรพคุณผักแว่น
- ช่วยเป็นยาบำรุงธาตุ
- ช่วยเจริญอาหาร
- แก้ฝีในลำคอ
- ช่วยถอนพิษทั่วไป
- ช่วยลดไข้
- แก้หวัดร้อน
- แก้เจ็บคอ คอแห้ง คออักเสบ
- แก้ปวดท้อง ท้องเสีย
- แก้อาเจียนเป็นเลือด
- แก้ดีพิการ
- แก้อุจจาระเป็นเลือด
- ใช้สมานแผลในปาก ลำคอ และกระเพาะอาหาร
- แก้เคล็ดขัดยอก ปวกเมื่อยตามร่างกาย
- แก้อาการร้อนใน ดับกระหาย
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยบำรุงสายตา
ลักษณะทั่วไปผักแว่น
ผักแว่น เป็นพืชในกลุ่มของเฟินน้ำ จัดเป็นไม้น้ำล้มลุก มีลำต้นเป็นเถาเลื้อยไปตามผิวดินหรือผิวน้ำ ซึ่งสามารถแตกเถาย่อยหรือเถาแขนงได้ แต่ละเถามีลักษณะกลม เรียงยาว สีขาว หรือ สีเหลืองอมขาว และเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล โดยเถามีลักษณะเป็นข้อปล้องชัดเจน และฉ่ำน้ำ ขนาดเถาประมาณ 2-4 มิลลิเมตร และมีความยาวของเถาได้กว่า 20-40 เซนติเมตร
ส่วนระบบรากผักแว่นมีเฉพาะรากฝอยที่เกิดด้านล่างของลำต้น โดยรากฝอยนี้พบได้ทั้งในส่วนลำต้นหลัก และบริเวณข้อปล้อง โดยรากฝอยอาจแทงหยั่งลงดินหรือลอยน้ำก็ได้
ใบเป็นใบประกอบแบบน้ำมือ (palmately compound) ประกอบด้วยใบย่อย 4 ใบ ออกจากก้านใบที่จุดเดียวกัน ซึ่งจะรวมกันเป็นลักษณะวงกลม ส่วนใบย่อยรูปพัด หรือ กังหัด มีลักษณะ ขอบใบ หยักมนถี่ หรือเรียบ ฐานใบเป็นรูปลิมหรือสามเหลี่ยมหัวกลับ ปลายใบกว้างกลมมน แผ่นใบเรียบไม่มีขน ใบย่อยกว้าง 3-22 มิลลิเมตร ยาว 2-18 มิลลิเมตร เส้นกลางใบแตกออกเป็นสองแฉก ก้านใบเรียวยาว สีเขียว ยาว 2-20 เซนติเมตร ใบอ่อนม้วนงอ (circinate leaf) ใบมีสปอโรคาร์ปรูปร่างเป็นก้อนเหมือนถั่ว บริเวณโคนก้านใบ ซึ่งสปอโรคาร์ปมีขนาดกว้าง 3.5-4 มิลลิเมตร ยาว 1.5-2 มิลลิเมตรและ มีก้านยาว 3-5 มิลลิเมตร มีขนขึ้นปกคลุม เมื่อเจริญเติบที่แล้วมีสีเขียว หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล โดยจะมี 1-3 สปอโรคาร์ป ต่อหนึ่งก้านใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นหลายดอกแทงออกบริเวณซอกใบหรือข้อปล้อง ก้านดอกขนาดเล็กสีเขียว มีขนปกคลุมเล็กน้อย ยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ตัวดอกมีใบประดับขนาดเล็กรูปหอกสีเขียว ขนาด 2-4 × 1 มิลลิเมตร กลีบดอกลักษณะรูปไข่กลับแกมขอบขนานมีจำนวน 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน แผ่นกลีบดอกมีสีเหลืองสด ขนาดกลีบดอกกว้าง 3-8 มิลลิเมตร ยาว 7-10 มิลลิเมตร โดยจำนวนดอกต่อต้นจะพบจำนวนน้อย ประมาณ 2-3 ดอกเท่านั้น
การขยายพันธุ์ผักแว่น
ผักแว่นสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้สปอร์จากใบแก่ หรือใช้เถาหรือไหล ปลูกให้ได้ต้นใหม่ แต่ในปัจจุบัน ผักแว่นยังไม่เป็นที่นิยมปลูกเพื่อการค้า เพราะยังสามารถหาได้ทั่วไปตามห้วย หนอง คลอง บึง ต่าง ๆ หรืออาจจะมีการเก็บมาจำหน่ายตามตลาดท้องถิ่นทั่วไปเพียงเล็กน้อย ซึ่งก็มักเก็บได้จากธรรมชาติในท้องถิ่น ซึ่งการขยายพันธุ์ของผักแว่นนั้น ส่วนมากก็จะเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ แต่หากต้องการปลูกผักแว่นก็สามารถทำได้โดยนำเถาผักแว่นมาตัดแยกเป็นส่วนๆ ก่อนนำลงปักชำตามริมขอบสระหรือแหล่งดินที่ชื่นแฉะ หรือในกระถางที่มีน้ำได้เช่นกัน เพราะผักแว่นเป็นพืชที่ขึ้นได้ง่ายหากมีความชั้นเพียงพอ
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาถึงองค์ประกอบเคมีขอบใบและเถาของผักแว่น ปรากฏว่าพบสารสำคัญหลายชนิด เช่น tartaric acid ,dyclonine , citric acid , pederin , potassium oxalate , lintopride , madecassic acid , dibutyl phthalate , carotene , Asiatic acid
นอกจากนี้ในการนำผักแว่นมาทำเป็นอาหารรับประทานเป็นอาหารยังให้คุณค่าทางโภชนาการดังนี้
- พลังงาน 18 แคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 0.7 กรัมภาพผักแว่น
- โปรตีน 1.0 กรัม
- ไขมัน 1.2 กรัม
- ใยอาหาร 3.3 กรัม
- น้ำ 94 กรัม
- วิตามินเอ 12,166 หน่วยสากล
- วิตามินบี 1 0.10 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.27 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 3.4 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 3 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 48 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 25.2 มิลลิกรัม
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
แก้ไข้ ตัวร้อน อาการท้องเสีย ขับปัสสาวะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เจ็บคอ และช่วยสมานแผลในปากและลำคอ แก้อาการปากเปื่อย โดยนำใบและลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
แก้ไข้ แก้ผิดสำแดง โดยการใช้ลำต้นผสมกับใบธูปฤาษี ทุดบพอแตก ใช้แช่น้ำที่มีหอยขม ประมาณ 2-3 นาทีแล้วนำมาดื่ม
ช่วยบำรุงสายตา ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ลดไข้ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ดีพิการ โดยนำยอดและใบมารับประทานสดๆหรือรับประทานสดเป็นอาหารหรือจะนำไปประกอบอาหารก็ได้เช่นกัน
ใช้รักษาแผลเปื่อย แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยนำใบสด 1 กำมือ เมื่อนำไปล้างให้สะอาดแล้วตำให้ละเอียดแล้วนำน้ำที่ได้ไปทาและนำกากประคบบริเวณที่เป็นแผล
ใช้แก้อาการปวดฝีในบริเวณต่าง ๆ แก้อาการปวด และฟกช้ำ โดยการนำทุกส่วนมาโขลกแล้วผสมกับสุรา ใช้ทาหรือประคบ
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากผักแว่น กระแตไต่ไม้ และกีบม้าลม พบว่า การใช้สารเอทิลอะซิเตทในการสกัดพืชทั้ง 3 ชนิดจะมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระได้สูงกว่าสารสกัดชนิดอื่น และเมื่อเทียบความสามารถของเฟิร์นทั้ง 3 ชนิด พบว่า ผักแว่นมีความสามารถต้านอนุมูลอิสระได้สูงสุด โดยมีค่า DPPH ที่ 107.77 มิลลิกรัม/Trolox/กรัมแห้ง และมีค่า ABTS ที่ 153.75 มิลลิกรัม/Trolox/กรัมแห้ง นอกจากนั้น ยังพบว่า ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระยังมีความสัมพันธ์กับปริมาณเบต้าแคโรทีนที่พบในเฟิร์นทั้ง 3 ชนิด (ตรวจพบปริมาณเบต้าแคโรทีนในผักแว่นสูงที่สุดที่ 2,291.06 มิลลิกรัม/ 100 กรัม ผักแว่นแห้ง)
ฤทธิ์ต้านเบาหวาน มีการศึกษาสารสกัดจากพืชตระกูลเฟิร์น(ผักแว่น , กระแตไต่ไม้, ผักกูด) ที่มีต่อการยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดส ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน พบว่า สารสกัดจากผักแว่นมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดสได้สูงสุดที่ร้อยละ 98.57 เมื่อเทียบกับพืชอีก 2 ชนิด (กระแตไต่ไม้ และผักกูด) และเมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐานในการยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดส พบว่า สามารถที่จะยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าวได้กว่าร้อยละ 97.14
การศึกษาทางพิษวิทยา
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ผักแว่นเป็นพืชผักที่อุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญๆหลายชนิด จึงเหมาะแก่การนำไปรับประทานเป็นอาหารอย่างยิ่ง แต่ในการนำไปใช้เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่าง ๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับ เด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้ผักแว่นเป็นสมุนไพรบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "ผักแว่น". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th. [29 พ.ย. 2013].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. "ผักแว่น". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25. [29 พ.ย. 2013].
- ผักแว่น.ผักพื้นบ้านต้านโรค เล่ม 1.กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข.หน้า72-73
- ผักแว่น ชนิด ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกผักแว่น .พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.puechkadet.com
- Pancho, J. V. 1978. Aquatic Weeds of Southeast Asia. National Publishing Cooperative, Quezon City. 130 p.
- Hoshizaki. B. J. and Moran, R. C. 2001. Fern Grower, Manual. Timber Press., Inc., Portland. 256 p.
- Waterhouse, D. F. 1994. Biological Control of Weeds : Souteast Asian Prospects. Brown Prior Anderson Pty. Ltd. Canberra. 302 p.
- Soerjani, M., Kostermans, A. J. G. H. and Tjitrosoepomo, G. 1986. Weed of rice in Indonesia. Seameo – Biotrop, Bogor. 145 p.
- Smitinand, T. and Larsen, K. 1989. Floral of Thailand Volume three part four. Chutima Press, Bangkok. 254 p.
- Tryon, R. M. and A. F. Tryon. 1982. Ferns and Allied Plants. Halliday Lithograph. West. MA. 857 p.