หญ้าดอกขาว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

หญ้าดอกขาว งานวิจัยและสรรพคุณ 49 ข้อ

ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าละออง, หญ้าหมอน้อย (ภาคกลาง, กรุงเทพฯ), หญ้าสามวัน (ภาคเหนือ, เชียงใหม่), ถั่วแฮะดิน, ฝรั่งโคก (เลย), หนาดหนา (ชัยภูมิ), เสือสามขา (ตราด), ก้านธูป (จันทบุรี), หญ้าหนวดแป้ง, ฉัตรพระอินทร์, หญ้าเนียมช้าง, ม่านสวรรค์ (ทั่วไป), เซียหั่งเช่า (จีนแต้จิ๋ว), ซางห่างฉ่าง (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์
Vernonia cinerea (L.) Less.
ชื่อสามัญ Ash-coloured fleabane, Ash-coloured ironweed, Little ironweed, Purple fleabane
วงศ์ ASTERACEAE - COMPOSITAE

ถิ่นกำเนิดหญ้าดอกขาว

หญ้าดอกขาวจัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิด ในเขตร้อนที่พบได้ทั่วไปในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเขตร้อนต่างๆ ของโลก (แต่มักจะพบมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) หญ้าดอกขาวเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่สามารถเจริญเติบโตได้ตลอดทั้งปี ชอบน้ำ และความชื้นปานกลาง มักพบหญ้าดอกขาว ได้ทั่วไปตามที่รกร้างกลางทุ่งนา ชายป่า หรือ ตามข้างถนน สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ และถือเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งในทางการเกษตร


ประโยชน์และสรรพคุณหญ้าดอกขาว
 

  1. ใช้ลดความดันโลหิต
  2. แก้ดีซ่าน
  3. รักษาหอบหืด
  4. รักษาตับอักเสบ
  5. แก้บิด
  6. แก้หวัด
  7. ใช้ลดไข้
  8. แก้ปวดข้อ
  9. แก้ท้องเสีย
  10. ขับปัสสาวะ
  11. รักษานิ่ว
  12. แก้ไอ
  13. แก้ปวดท้อง
  14. แก้ผื่นคัน
  15. กลากเกลื้อน
  16. ใช้ขับพยาธิ
  17. แก้บวมน้ำ
  18. แก้ซางตะกั่ว
  19. แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  20. แก้นมคัด
  21. ช่วยดูดหนอง
  22. ใช้พอกแผล
  23. ช่วยถอนพิษ
  24. แก้อักเสบ
  25. ช่วยลดบวม
  26. แก้ตาแดง ตาแฉะ ตาฟาง
  27. แก้หืดแก้
  28. รักษาสะเก็ดเงิน
  29. แก้กลากเกลื้อน
  30. รักษาหลอดลมอักเสบ
  31. แก้ไข้
  32. แก้ระดูขาว
  33. รักษามาลาเรีย
  34. รักษาข้ออักเสบ
  35. รักษาโรคหอบ
  36. แก้ไข้รักษาปอดอักเสบดอก
  37. แก้เยื่อบุตาอักเสบ
  38. รักษาโรคข้อรูมาตอยด์
  39. ช่วยบำรุงธาตุ
  40. แก้ปัสสาวะขัด
  41. รักษาโรคผิวหนังด่างขาว
  42. แก้โรคผิวหนังเรื้อรัง
  43. แก้พิษ
  44. รักษาแผลบวมอักเสบ มีหนอง
  45. ช่วยให้สตรีคลอดง่าย
  46. ทำให้ไม่อยากบุหรี่
  47. รักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย
  48. แก้ฝี
  49. แก้ฟกช้ำ

หญ้าดอกขาว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้หญ้าดอกขาว

รักษาไข้หวัด (มีไข้ ไอ ซึม) ใช้ต้นสด 2 ต้น ต้มกับน้ำ 1 ถ้วย นาน 10-15 นาที กินวันละ 3 เวลาก่อนอาหาร แก้ฝี ใช้ต้นสดตำพอกบริเวณที่เป็น แก้ฟกช้ำ ให้นำหญ้าดอกขาว ทั้ง 5 (ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล) ฝาง ยาหัว บัวบก เถาไม้กระเบื้องต้น (แก้มขาว) ต้มรับประทานน้ำ แก้เหน็บชา แขนขาไม่มีแรง ใช้หญ้าดอกขาวทั้ง 5 กิ่งก้านใบทองพันชั่ง ต้มรับประทานน้ำ แก้ลมอักเสบ ลำคอมีเสมหะมาก ให้ใช้หญ้าดอกขาวทั้ง 5 มาต้มกิน รักษาแผลเบาหวาน แก้ปวดข้อ/ปวดเข่า นำหญ้าดอกขาวทั้งต้น และราก 1-2 กำมือ ต้มกับน้ำ 6-8 แก้ว เมื่อยาเดือด ปล่อยให้เดือดกรุ่นไปสัก 5-10 นาที จะได้น้ำยาสีเหลืองแบบชาใช้ดื่มต่างน้ำ หรือ จะตากแห้งต้ม หรือ ชงกินต่างน้ำก็ได้ ยาแก้ผ้ำ (การติดเชื้อมีหนองในเนื้อเยื่อลึกๆ คล้ายฝีแต่ไม่ใช่ฝี) ใช้หญ้าดอกขาว ต้มเอาไอ รมแผลบริเวณที่เป็น โดยใช้รมวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน หม้อเดิมทั้ง 3 วัน เป็นยาแก้พิษ ด้วยการใช้เมล็ดแห้ง 2-4 กรัม นำมาป่นให้ละเอียด ใช้ชงกับน้ำร้อนกิน ใช้ทั้งต้น 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 4 ถ้วย ใช้ดื่มต่างน้ำชาเป็นยาบำรุงเลือด แก้ตกเลือด ช่วยบำรุงกำลัง เมล็ดนำมาป่นให้ละเอียดใช้ชงกับน้ำร้อนกินเป็นยาแก้ไอ ไอเรื้อรัง (เมล็ด) หรือ จะใช้รากนำมานำมาต้มเอาน้ำกิน ถ้าเป็นรากสดใช้ 30-60 กรัม ถ้าเป็นรากแห้งใช้ 15-30 กรัม ใช้เป็นยาขับพยาธิ และขับปัสสาวะ ด้วยการใช้รากสด 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มเอาน้ำกิน หรือ ใช้เมล็ดแห้งประมาณ 2-4 กรัม นำมาป่นให้ละเอียดใช้ชงกับน้ำร้อนกิน ใช้ลดอาการอยากบุหรี่ ด้วยการใช้หญ้าดอกขาวทั้งต้นประมาณ 2-3 ต้น ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มเดือด 10 นาที ใช้กินบ่อยๆ หรือ จะใช้ยาชงจากผงหญ้าดอกขาวรับประทานครั้งละ 2 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิลิตร หลังอาหาร วันละ 3-4 ครั้ง

หญ้าดอกขาว

หย้าดอกขาว

ลักษณะทั่วไปของหญ้าดอกขาว

หญ้าดอกขาว จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุได้ประมาณ 1-5 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 15-80 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรงแตกกิ่งก้านน้อย กิ่งและก้านเรียว มีลักษณะเป็นร่อง และมีขนสีเทาขึ้นปกคลุม มีลายเส้นนูนขึ้นตามข้อ ใบออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปวงรีแคบ รูปไข่ รูปคล้ายซ้อนแคบ รูปใบหอกหรือรูปแถบ ใบบริเวณโคนต้นขนาดใหญ่กว่าที่ปลายยอด ใบที่โคนต้นกว้าง 1.5-3.5 ซม.ยาว 3-8.5ซม. ใบที่บริเวณปลายยอดกว้าง 3-15 มม.ยาว 1-7 ซม. ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบมน หรือ แหลม ขอบใบจักฟันเลื่อย ดอกออกเป็นช่อกระจุกแน่นบริเวณปลายยอด ช่อหนึ่งมีดอกย่อยประมาณ 20 ดอก ดอกออกรวมกันเป็นช่อแยกแขนง รูปคล้ายช่อเชิงหลั่น กว้างประมาณ 5-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-35 เซนติเมตร มีใบประดับลักษณะเป็นรูปคล้ายระฆัง 4 ชั้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ลักษณะของดอกย่อยเป็นหลอดยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ดอกเป็นสีม่วงอ่อนอมสีแดง สีม่วง หรือ สีชมพู เมื่อดอกบานเต็มที่สีดอกจะจางลง พอกดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีขาว เมื่อดอกร่วงโรยแล้วจะเห็นผลเป็นรูปทรงกระบอก ผลเป็นผลชนิดแห้งมีเมล็ดเดียว รูปทรงกระบอกแคบ สีน้ำตาลเข้มเปลือกแข็งยาว 1.5-2 มม.หนาน้อยกว่า 0.5 มม.


การขยายพันธุ์หญ้าดอกขาว

หญ้าดอกขาวสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งในธรรมชาติหญ้าดอกขาว อาศัยลมเป็นตัวช่วยการช่วยพัดเมล็ดแก่ที่มีพู่อยู่ด้านบนให้ปลิวไปตก และเจริญเติบโตในพื้นที่ต่างๆ ในอดีตประเทศไทยไม่มีการเพาะขยายพันธุ์หญ้าดอกขาว เพราะจัดเป็นวัชพืชทางการเกษตร จึงพบเห็นในธรรมชาติทั่วๆ ไปเท่านั้น แต่ในปัจจุบันหลังจากได้มีการศึกษาวิจัยพบว่าหญ้าดอกขาว สามารถช่วยทำให้เลิกบุหรี่ได้ จึงเริ่มมีการเพาะขยายพันธุ์ในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น


องค์ประกอบทางเคมี

หญ้าดอกขาว ประกอบด้วยสารเคมีสําคัญหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นสารในกลุ่ม sterols, triyerpenoid, flavonoids และ saponin เช่น องค์ประกอบทางเคมี liiteolin-7-mono- ß-d- glucopyranoside, quercetrin, luteolin และ kaempferol, ß-amyrin, lupeol, ß-sitosterol, stigma sterol, α-spinasterol, resin, potassium chloride, Potassium nitrate, Succinic acid, Lupeol palmitate, Lupeol acetate, Taraxer, Diosmetin, α-amyrin, Chlorogenic acid, Hirsutidin, Quinic acid, Campesterol, Gallic acid, Lutin, Cafeic acid, Ferulic acid

 รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของหญ้าดอกขาว

 โครงสร้างหย้าดอกขาว

ที่มา : Wikipedie

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหญ้าดอกขาว

พบว่ามีการรายงานการศึกษาถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของหญ้าดอกขาวออกมาหลายการศึกษา โดยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่มีการศึกษาส่วนใหญ่เป็นการทดลองในสัตว์ทดลองทั้งหมดได้แก่ ฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรีย ต้านการเชื้อรา ต้านเชื้อไวรัส ลดปริมาณออกซาเลตในปัสสาวะ แก้ปวด กดประสาทส่วนกลาง ลดความดันโลหิต แก้ปวดท้อง ลดไข้ และลดการอักเสบ ตัวอย่างเช่น

           ฤทธิ์ลดไข้ ซึ่งมีงานวิจัยศึกษาคุณสมบัติของหญ้าดอกขาว ในด้านนี้ โดยทดลองฉีดสารที่ทำให้หนูมีไข้แล้วให้กินสารสกัดจากหญ้าดอกขาว 250 และ 500 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ผลปรากฏว่าอุณหภูมิในร่างกายของหนูลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น ยังพบว่าสารสกัดจากหญ้าดอกขาวปริมาณ 500 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม มีฤทธิ์ลดไข้คล้ายกับยาพาราเซตามอล

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีงานวิจัย ที่ทดลองฉีดสารเข้าชั้นผิวหนังบริเวณอุ้งเท้าเพื่อทำให้หนูเกิดอาการข้ออักเสบ จากนั้นให้หนูกินสารสกัดจากดอกของหญ้าดอกขาว 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่าสารสกัดดังกล่าวช่วยลดอาการบวมที่อุ้งเท้า และบรรเทาอาการอักเสบได้ เช่นเดียวกับอีกหนึ่งงานวิจัยที่นำหนูที่มีอาการบวมบริเวณอุ้งเท้ามาศึกษาโดยให้กินสารสกัดจากหญ้าดอกขาว 250 หรือ 500 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ผลปรากฏว่าการอักเสบก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

           ฤทธิ์รักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะ มีงานวิจัยหนึ่งศึกษาคุณสมบัติของหญ้าดอกขาวด้านการรักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะ โดยให้หนูที่เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะกินสารสกัดจากหญ้าดอกขาว 400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีส่วนช่วยขับปัสสาวะ และลดระดับความเข้มข้นของสารที่เป็นส่วนประกอบของนิ่วอย่างแคลเซียม ออกซาเลต และฟอสเฟต

           การศึกษาวิจัยประสิทธิผลของหญ้าดอกขาวในการเลิกบุหรี่จากการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของหญ้าดอกขาวกับยาหลอกในการลดการสูบบุหรี่พบว่าหญ้าดอกขาวสามารถช่วยลดการสูบบุหรี่ลงได้มากกว่ากลุ่มควบคุม และพบว่าสมุนไพรหญ้าดอกขาวในรูปแบบการนำไปเคี่ยว คือ กำนำหญ้าดอกขาวแห้ง 20 กรัม ผสมกับน้ำ 3 แก้ว ต้มเคี่ยวจนเหลือเพียง 1 แก้ว นำมาอมไว้ในปากประมาณ 1-2 นาที แล้วกลืนจากนั้นจึงสูบบุหรี่พบว่ารสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่ในที่สุด และลำจำนวนของมวนบุหรี่ที่ใช้สูบต่อวันได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 - 2 สัปดาห์ ไม่ว่าจะสูบเบา หรือ สูบหนักมาก่อนก็ตาม และจากการวิจัยพบว่าหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน จะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ถึง60 % และหากออกกำลังกายร่วมด้วยก็จะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้ 62 % และที่สำคัญยังช่วยทำให้คนเลิกบุหรี่ได้สูงถึง 60-70 % หากออกกำลังกายร่วมด้วย 12 จากการศึกษาการใช้สมุนไพรหญ้าดอกขาวในผู้สูบบุหรี่ 50 ราย ร่วมกับการออกกำลังกายเป็นเวลา 2 เดือน พบว่าสามารถลดจำนวนการสูบบุหรี่ลงได้มากถึงร้อยละ 62.7 และหากใช้สมุนไพรหญ้าดอกขาวติดต่อ 6 เดือน จะช่วยลดการสูบบุหรี่ได้ถึงร้อยละ 73.3 โดยสารในหญ้าดอกขาวทำให้ประสาทรับรสบริเวณลิ้นเกิดอาการชาไม่รู้สึกอยากบุหรี่รู้สึกเหม็นกลิ่นบุหรี่ เมื่อสูบบุหรี่แล้วรู้สึกอยากอาเจียนแต่ก็มีผลข้างเคียงเช่นอาการคอแห้งปากแห้งขณะเดียวกันทีมวิจัยได้ทดสอบหญ้าดอกขาวในรูปแบบสกัดเป็นลูกอมเพื่อให้ง่ายต่อการใช้โดยนำไปเปรียบเทียบกับการรับประทานแบบชาสมุนไพรผลการศึกษาพบว่า การใช้สมุนไพรหญ้าดอกขาว ในรูปแบบเม็ดจากสารสกัดแห้งสามารถช่วยทำให้กลุ่มคนสูบบุหรี่เลิกบุหรี่ได้เร็วกว่าสมุนไพรแบบชงชาทั่วไป โดยกลุ่มที่ใช้ลูกอมสมุนไพรสามารถลดปริมาณการสูบบุหรี่ลงร้อยละ 50 ภายใน 3-11 วัน ส่วนกลุ่มที่ใช้ชาสมุนไพรใช้เวลา 8-14 วัน


การศึกษาทางพิษวิทยาของหญ้าดอกขาว

ส่วนการศึกษาด้านความปลอดภัย พบว่าสมุนไพรชนิดนี้มีความปลอดภัยสูง ซึ่งจากการศึกษาด้านพิษวิทยาพบว่าสารสกัดในเมทานอลไม่ทำให้เกิดพิษเฉียบพลันในหนูเมื่อให้ทางปาก โดยมีค่า LD50 สูงกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และเมื่อให้สารสกัดทั้งต้นด้วย 50% เอธานอลฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร โดยใช้ขนาดยาเริ่มต้น 400-500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปรับขนาดยาตามอาการทนได้ของสัตว์ทดลอง พบว่าขนาดยาสูงสุดที่ยังไม่เกิดอาการพิษของหญ้าดอกขาว คือ 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งต่อมามีการศึกษา โดยใช้สารสกัดทั้งต้นด้วยเมทานอลในขนาดสูง 2000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ใส่ในหนูถีบจักร สังเกตอาการถึง 14 วัน ไม่พบความผิดปกติของอาการใดๆ และนำมาตรวจชันสูตรซากก็ไม่พบความผิดปกติของตับ ปอด ม้าม และไต

           ส่วนสารสกัดอัลกอฮอล์ : น้ำ (1:1) จากทั้งต้น ขนาด 20 มคก./มล. ไม่เป็นพิษต่อเซลล์เพาะเลี้ยง CA-9KB (1)  สารสกัดจากทั้งต้น ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตาย 50% เท่ากับ 1.874 ก./กก.


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในการใช้หญ้าดอกขาวไม่ควรนำต้นสดมารับประทานเพราะจะมีรสเฝื่อนมาก ควรนำมาตากแดดให้แห้งและทำเป็นชาชงน้ำดื่มเพราะการตากแห้งจะทำให้หญ้าดอกขาวมีกลิ่นหอม รสชาติน่ารับประทานและไม่เฝื่อนมากเกินไป
  2. หญิงมีครรภ์ไม่ควรใช้หญ้าดอกขาว เพราะจะทำให้แท้ง หรือ คลอดบุตรก่อนกำหนดได้
  3. ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไต และ เนื่องจากยาหญ้าดอกขาวมีโพแทสเซียม สูง จะมีผลทำให้ electrolite ในร่างกายผิดปกติ
  4. ในการใช้หญ้าดอกขาวเพื่อลดความอยากบุหรี่อาจทำให้มีอาการที่ไม่พึงประสงค์ คือ ปากแห้ง คอแห้ง คลื่นไส้ ชาลิ้น รับประทานอาหารไม่อร่อย

เอกสารอ้างอิง หญ้าดอกขาว
  1. พญาวันดี ไตรภพสกุล. รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์. รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาเรื่องการศึกษาประสิทธิผลของสมุนไพรหญ้าดอกขาวชนิดแคปซูลในการเลิกบุหรี่ : มิถุนายน 2554.89 หน้า
  2. ศรินทิพย์ หมื่นแสน. สมุนไพรหญ้าดอกขาว ทางเลือกสำหรับลดความอยากบุหรี่. วารสารเพื่อการวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม.ปีที่ 24 ฉบับที่ 3. กรกฎาคม-กันยายน 2560. หน้า 16-20
  3. อรลักษณา แพรัตกุล. องค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์ทางชีวภาพของหมอน้อย และแนวทางการพัฒนาตำรับเพื่อใช้ช่วยเลิกบุหรี่. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2553; 8(1).
  4. ดวงรัตน์ เชี่ยวชาญวิทย์. สมุนไพรหญ้าดอกขาว ตัวช่วยสิงห์อมควัน บอกลาบุหรี่. นิตยสารชีวจิต. 2557; 16(372): 54-55
  5. หญ้าละออง (หญ้าดอกขาว). สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยเอดส์.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. นริศรา แย้มทรัพย์. หญ้าดอกขาว อีกทางเลือกหนึ่งของผู้ต้องการเลิกบุหรี่. จุลสารบุหรี่และ สุขภาพ.2541;8(1):15-16.
  7. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เสือสามขา”. หน้า 223.
  8. ภาควิชาเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, บรรณาธิการ.สมุนไพรพื้นบ้าน (5).กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จํากัด. 2543.หน้า 72-74.
  9. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. บัญชียาหลักแห่งชาติ. 2559; (2): 277
  10. หญ้าดอกขาว สมุนไพรพื้นบ้านกับคุณสมบัติต้านโรค.พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  11. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร ไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หญ้าหมอน้อย”. หน้า 604.
  12. Iwalewa EO, Iwalewa OJ, Adeboye JO. Analgesic, antipyretic, anti-inflammatory effects of methanol, chloroform and ether extracts of Vernonia cinerea less leaf. Journal of Ethnopharmacology 2003;86(2-3):229-34.
  13. Chea A, Hout S, Long C, Marcourt L, Faure R, Azas N, et al. Antimalarial activity of sesquiterpene lactones from Vernonia cinerea. Chemical and Pharmaceutical Bulletin 2006;54(10):1437-9.
  14. Lin K. Ethnobotanical study of medicine plants used by the Jah Hut people in Malasia. Indian J med Sci2005;59:156-61.
  15. Shukla,Y.N.,Mamta,T.Some chemical constituents from Vernonia cinerea. Indian drugs 1995;32(3):132-3.
  16. L.Yoga Latha, I.Darah ,K.Jain. Toxicity study of Vernonia cinerea. Pharmaceutical Biology 2010;48(1):101-104.
  17. Husian, A., Virmani,O.P..Popli,S.P.,Misra,L.N.,Gupta,M.M.,Abraham,Z. and Singh,A.K.Dictionary of Indian Medical Plants.Lucknow,1992:486.
  18. Iwalewa,E.O., Iwalewa,O.J.,Adeboye,J.O. Analgesic,pyretic,anti-inflammatory effects of methanol,choloform and ether extract of Vernonia cinerea less leaf. J of Ethnopharmacology 2003;86:229-34.
  19. Jeffrey,B., Harborne,F.R. Photochemical dictionary.2nd ed.UK.Taylor&Francis Ltd, 1999.
  20. Iwalewa EO, Iwalewa OJ, Adeboye JO. Analgesic, antipyretic, anti-inflammatory effects of methanol, chloroform and ether extracts of Vernonia cinerea less leaf. Journal of Ethnopharmacology 2003;86(2-3):229-34.
  21. Dhar,M.L.,Dhar,M.M.,Dhawan,B.N.,Mehrotra,B.N.,Ray,C. Screening of Indian plants for biological activity: Part I.Indian J Exp Biol 1968;6:232-47.