ขมิ้นอ้อย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ขมิ้นอ้อย งานวิจัยและสรรพคุณ 28 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ขมิ้นอ้อย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ว่านขมิ้นอ้อย, ขมิ้นเจดีย์ (ทั่วไป), ว่านเหลือง (ภาคกลาง), ขมิ้นชัน (ภาคเหนือ), ขี้มิ้นหัวขึ้น (ภาคอีสาน), ละเมียด (เขมร), สากเบือ (ละว้า)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma zedoaria (Christm.) Roscoe
ชื่อสามัญ Zedoary, Indian arrow root, Long zedoaria, Luya-Luyahan, Shoti
วงศ์ ZINGIBERACEAE

ถิ่นกำเนิดขมิ้นอ้อย

ขมิ้นอ้อยเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียอีกชนิดหนึ่ง โดยเชื่อกันว่าขมิ้นอ้อยมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศต่างๆ ในแถบคาบสมุทรอินโดจีน เช่น ไทย พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเชีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น ต่อมาได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังอินเดีย, เวียดนาม, จีน และไต้หวัน สำหรับในประเทศไทยขมิ้นอ้อย เป็นที่รู้จักดีตั้งแต่ในอดีตแล้วเพราะได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพร และด้านอาหารจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ประโยชน์และสรรพคุณขมิ้นอ้อย 

  1. แก้ไข้ครั่นเนื้อครั่นตัว
  2. แก้เสมหะ
  3. แก้อาเจียน
  4. แก้หนองใน
  5. สมานลำไส้
  6. ช่วยขับลม
  7. ขับปัสสาวะ
  8. แก้ท้องเสีย
  9. ใช้เป็นยาแก้ปวดท้องแก้ริดสีดวงทวาร
  10. แก้หัดหลบใน
  11. แก้ฟกช้ำบวม
  12. แก้เคล็ด อักเสบ
  13. ใช้รักษาแผล
  14. ช่วยรักษาฝี
  15. แก้พิษโลหิต
  16. บรรเทาอาการปวด
  17. รักษาอาการเลือดคั่ง
  18. เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก
  19. รักษาระดูมาไม่ปกติ
  20. แก้ระดูขาว
  21. ขับประจำเดือน
  22. เป็นยากันเล็บถอดช่วยบำรุงผิว
  23. ช่วยกระจายโลหิต
  24. ช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ แก้พิษโลหิต
  25. ใช้ขับน้ำคาวปลาหลังคลอดบุตร
  26. ช่วยแก้อาการหืดหอบหายใจไม่เป็นปกติ
  27. แก้โรคกระเพาะ
  28. แก้ฝีในมดลูกของสตรี
     

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • เหง้าสดประมาณ 2 แว่น นำมาบดผสมกับน้ำปูนใส นำมาใช้ดื่มเป็นยารักษาอาการท้องร่วง เหง้านำมาหั่นเป็นแว่นๆ (เหง้าสด หรือ ตากแห้งก็ได้) นำมาต้มกับน้ำเป็นยาดื่ม
  • แก้โรคกระเพาะ แก้หัดหลบใน โดยใช้เหง้า 5 แว่น และต้นต่อไส้ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำและน้ำปูนใส แล้วนำมาใช้ดื่มเป็นยาก่อนอาหารเช้าและเย็น ครั้งละ 1 ถ้วยชา
  • ใช้รักษาอาการ ปวดบวม แก้บวม ฟกช้ำ แก้ช้ำใน แก้อักเสบ แก้อาการเคล็ดขัดยอก ข้อเคล็ดอักเสบ และบรรเทาอาการปวด ด้วยการใช้เหง้าขมิ้นสดๆ นำมาตำให้ละเอียด แล้วเอามาพอกบริเวณที่มีอาการบวม จะช่วยบรรเทาอาการปวดบวม ฟกช้ำได้
  • ใช้รักษาอาการหวัด ด้วยการใช้หัวขมิ้นอ้อย อบเชยเทศ และพริกหาง นำมาต้มแล้วเติมน้ำผึ้งใช้รับประทานเป็นยาแก้หวัด 
  • ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้เหง้าขมิ้นอ้อย พริกไทยล่อน และเปลือกยางแดง นำมาผสมกันทำเป็นยาผง แล้วนำไปละลายในน้ำยางใส ปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วชี้ ใช้กินเช้าและเย็น
  • ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี ด้วยการใช้เหง้าหนักประมาณ 12 กรัม, ขมิ้นชัน 10 กรัม, ดอกคำฝอย 6 กรัม, ฝางเสน 8 กรัม, เม็ดลูกท้อ 8 กรัม, หง่วงโอ้ว 8 กรัม และโกฐเชียง 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำ หรือ ใช้ดองกับเหง้าเป็นยารับประทาน
  • เหง้านำมาหุงกับน้ำมันมะพร้าว แล้วนำมาใส่แผล จะช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการฟกช้ำบวมได้อีกด้วย
  • ใช้รักษาฝี ฝีหนองบวม ด้วยการใช้เหง้าขมิ้นอ้อยสด, ต้น และเมล็ดของเหงือกปลาหมอ อย่างละเท่ากัน นำมาตำรวมกันจนละเอียดแล้วใช้พอกเช้าเย็น
  • แก้ฝีในมดลูกของสตรี ด้วยการใช้เหง้าขมิ้นอ้อยประมาณ 3 ท่อน, บอระเพ็ด 3 ท่อน, ลูกขี้กาแดง 1 ลูก (นำมาผ่าเป็น 4 ซีก แล้วใช้เพียง 3 ซีก) แล้วนำมาต้มรวมกับสุรา ใช้กินเป็นยาแก้ฝีในมดลูก
  • บำรุงผิว นำขมิ้นอ้อย กระชาย พริกไทย หัวแห้วหมู มาทุบรวมกันแล้วดองด้วยน้ำผึ้ง รับประทานก่อนนอนทุกคืน จะช่วยให้ผิวสวย
  • ส่วนอีกตำราหนึ่งระบุถึงขนาดการใช้ว่า รักษาโรคใช้ภายใน ให้นำเหง้ามาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยา โดยใช้ครั้งละประมาณ 5-10 กรัม หากใช้เป็นยารักษาภายนอก ให้นำมาบดเป็นผง หรือ ทำเป็นยาเม็ดตามตำรายาที่ต้องการ

ขมิ้นอ้อย

ขมิ้นอ้อย

ขมิ้นอ้อย

ลักษณะทั่วไปของขมิ้นอ้อย

ขมิ้นอ้อยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุหลายปีมีเหง้าอยู่ใต้ดิน และมีรากเล็กน้อยที่บริเวณเหง้ารากกลมมีเนื้อนุ่มภายใน ทั้งนี้ขมิ้นอ้อยมีลักษณะทั่วไปคล้ายกับขมิ้นชัน แต่มีลำต้นที่สูงกว่ารวมถึงขนาดเหง้า และใบก็ใหญ่กว่า โดยต้นขมิ้นอ้อยจะมีความสูงประมาณ 1-1.2 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกหน่อมาก ส่วนเหง้ามักโผล่ขึ้นมาเหนือดินเล็กน้อย เหมือนเจดีย์ทรงกลมสูงหลายชั้นๆ (จึงเป็นที่มาของชื่อขมิ้นขึ้น หรือ ขมิ้นเจดีย์) ลักษณะของเหง้ามีลักษณะเป็นรูปกลมรี มีความยาวประมาณ 18-24 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-11 เซนติเมตร ผิวด้านนอกเป็นสีขาวแกมเหลือง ส่วนเนื้อในเป็นสีเหลืองอ่อน ใบดอก เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับรอบลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแคบ ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้มและมีเส้นนูนตามลายของเส้นใบ เส้นกลางใบเป็นร่องเล็กน้อยและมีแถบสีน้ำตาล ผิวด้านหน้าเรียบ ส่วนทางด้านท้องใบจะมีขนนิ่มเล็กน้อย ก้านใบเป็นกาบหุ้มกับลำต้น นานเป็นลำต้นเทียมมีความยาวเป็น 1 ใน 3 ของใบ กลางก้านเป็นร่องลึกตลอดความยาว ดอก ออกดอกเป็นช่อ ก้านดอกจะยาวและพุ่งออกมาจากเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ช่อดอกมีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ช่อดอกมีใบประดับ และดอกมักเป็นสีขาว หรือ สีเหลืองอ่อน กลีบดอกมีลักษณะกลมเป็นรูปไข่สีเขียว ตรงปลายของช่อดอกจะเป็นสีชมพู หรือ สีแดงอ่อน ส่วนดอกสีเหลืองจะบานจากล่างขึ้นบน และจะบานครั้งละประมาณ 2-3 ดอกในฤดูฝน ผล มีลักษณะเป็นรูปไข่ เช่นเดียวกับผลของขมิ้นชัน แต่จะมีกลิ่นฉุนน้อยกว่า

            ทั้งนี้ในประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากขมิ้นอ้อย และขมิ้นชันกันมากดังนั้น จึงขอนำเสนอข้อแตกต่างระหว่างขมิ้นอ้อยกับขมิ้นชัน ซึ่งสามารถแยกความแตกต่างที่สำคัญๆ ได้ดังนี้

ข้อแตกต่าง

ขมิ้นชัน

ขมิ้นอ้อย

ขนที่ท้องใบ

ไม่มี

มีนิ่มๆ (บางพันธุ์)

เหง้าจะขึ้นมาเหนือดินเมื่อถึงฤดูแล้ง

ไม่ขึ้นอยู่ใต้ดิน

ลอยขึ้นมาเหนือดิน

ขนาดเหง้า

เล็ก

ใหญ่กว่ามากเป็นรูปทรงกระบอกมีแขนงรูปไข่ ยาวแตกออกด้านข้างทั้ง 2 ด้านของเหง้าใหญ่

สีของเหง้าเมื่อแก่

แก่กว่า(เป็นสีเหลืองจำปา)

อ่อนกว่า(สีเหลือง)

กลิ่นของเหง้าเมื่อแก่

ฉุนกว่า

อ่อนกว่า

การขยายพันธุ์ขมิ้นอ้อย

           การขยายพันธุ์ขมิ้นอ้อย สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เหง้าปลูกโดยมีวิธีการดังนี้

  • การเตรียมดินแปลงปลูก สามารถทำได้ 2 แบบ คือ
  • แปลงปลูกแบบพื้นที่ราบ ควรเป็นพื้นที่ที่มีการระบายน้ำดี มีความลาดเอี้ยง
  • แปลงปลูกแบบยกรอง ในพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่ม หรือ ที่ราบต่ำ ควรยกร่องสูงประมาณ 25 เซนติเมตร ความกว้างประมาณ 100-150 เซนติเมตร ความยาวขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ และระยะระหว่างร่องประมาณ 50 เซนติเมตร
  • การเตรียมพันธุ์ ใช้เหง้าแก่ที่ปลอดจากโรคและแมลง (อายุประมาณ 1 ปี) นำมาตัดราก และล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อยแล้วตัดเป็นท่อนๆ โดยให้มีตาสมบูรณ์ 3-5 ตา และป้ายปูนแดง หรือ ปูนขาวที่รอยตัดป้องกันเชื้อโรคเข้าทำลาย หรือ ชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีเพื่อป้องกันโรค และแมลงที่ติดมากับหัวพันธุ์
  • วิธีการปลูก ใช้เหง้าที่เตรียมไว้ นำมาปลูกในแปลง หรือ อาจจะเพาะให้ตางอกก่อนก็ได้ โดยนำไปไว้ในที่ร่มและให้ความชื้น จนขมิ้นชันแตกหน่อ ก่อนปลูกควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกประมาณ 250 กรัมต่อหลุม
  • ระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถว 30x50 เซนติเมตร จากนั้นกลบดินและคลุมแปลงดัวยฟาง หรือ หญ้าคา เพื่อป้องกันการงอกของวัชพืชรักษาความชื้นในดิน
  • ระยะเวลาปลูก เริ่มปลูกในช่วงฤดูฝน ประมาณ เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม


องค์ประกอบทางเคมี

ในเหง้าของขมิ้นอ้อย พบ สารกลุ่มเคอร์คิวมินนอยด์ (curcuminoids) ประกอบด้วยcurcumin, bisdemethoxycurcumin, demethoxy curcumin, dihydrocurcumin, tetrahydrodemethoxycurcumin, tetrahydrobisdemethoxycurcumin, Curzerene, Furanodiene, Furanodienone, Zederone, Zedoarone

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของขมิ้นอ้อย

โครงสร้างขมิ้นอ้อย   

ที่มา : Wikipedia

           นอกจากนี้ยังพบน้ำมันระเหยง่าย สารหลักคือสารกลุ่ม sesquiterpene ได้แก่ epicurzerenone 46.6%, curdione 13.7% dehydrocurdione, epiprocurcumenol ,1,7-bis(4-hydroxyphenyl)-1,4,6-heptatrien-3-one, procurcumenol 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของขมิ้นอ้อย

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย การศึกษาฤทธิ์ในการต้านจุลชีพที่พบในช่องปากของขมิ้นอ้อย โดยการเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์บ้วนปากในท้องตลาด 5 ชนิด ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้สารสกัดเอทานอล 70% ของเหง้าขมิ้นอ้อย ทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อ Streptococcus mutans, Enterococcus faecalis, Staphylococcus aureus  และ Candida albicans โดยใช้สมการการถดถอยแบบเส้นตรง (linear regression method) ในการวัดการลดลงของเชื้อได้ 99.999% ภายใน 60 วินาที ผลการทดลองพบว่า สารสกัดของขมิ้นอ้อย มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อได้เทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์ ในท้องตลาด ได้แก่ สูตร CP+EO(cetylpyridinium chloride (0.5 mg/mL), chamomile, myrrh tinctures, oils of Salvia melaleuca และ eucalyptus) และสูตร EO (thymol (0.6 mg/mL), eucalyptol (0.92 mg/mL), menthol (0.42 mg/mL) และ methyl salicylate (0.6 mg/mL) มีการศึกษาใช้น้ำมันหอมระเหยทดสอบในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียแกรมบวก โดยเฉพาะ Staphyloccus aureus ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี และแกรมลบ แต่ในการทดสอบกับ S. aureus ใน agar plate พบว่าไม่มีฤทธิ์ เมื่อทดสอบน้ำต้มขมิ้นอ้อยกับ S. aureus โดยมีค่า MIC เท่ากับ 250 มก./มล. พบว่าให้ผลเช่นเดียวกัน เมื่อใช้สารสกัดคลอโรฟอร์มทดสอบกับแบคทีเรีย Staphylococcus, Streptococcus พบว่าไม่มีฤทธิ์ และการนำสารสกัดเอทานอล (95%) ความเข้มข้น 100 มคก./แผ่น ทดสอบกับ S. aureus ใน agar plate พบว่าไม่มีฤทธิ์เช่นกัน

           ฤทธิ์แก้ปวดและต้านการอักเสบ การศึกษาสารบริสุทธิ์ curcumenol ที่แยกได้จากสารสกัด dichloromethane จากเหง้าแห้งขมิ้นอ้อย พบว่าออกฤทธิ์แรงในการลดอาการปวดในหนูถีบจักร ในหลายการทดสอบ ได้แก่ Writhing Test, Formalin และ Capsaicin โดยเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน diclofenac, aspirin และ dipyrone ในการทดสอบ Writhing Test ใช้กรดอะซิติกฉีดเข้าช่องท้องของหนู เพื่อให้เกิดอาการเจ็บปวด หลังจากให้สารทดสอบขนาด 1-10 mg/kg เข้าทางช่องท้องแล้ว 30 นาที และนับจำนวนครั้งที่หนูเกิดการหดตัวของช่องท้องตามด้วยการยืดกล้ามเนื้อ ภายในเวลา 20 นาที หลังฉีดกรดอะซิติก ผลการทดสอบพบว่าสาร curcumenol สามารถลดจำนวนการเกร็งของการเกิด writhing ได้ดีกว่าสารมาตรฐานทั้ง 3 ชนิด โดยมีค่า ID50 ของสาร curcumenol, diclofenac, aspirin และ dipyrone เท่ากับ 22, 38, 133 และ 162 ไมโครโมล/กิโลกรัม ตามลำดับ และการทดสอบฤทธิ์ระงับปวดที่สัมพันธ์กับการอักเสบ (Inflammatory analgesia) โดยการฉีด formalin และ capsaicin การทดลอง formalin ทำโดยการฉีดสารทดสอบในขนาด 3-15 mg/kg เข้าทางช่องท้องหนู หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง ฉีด formalin เข้าทางใต้ผิวหนังบริเวณอุ้งเท้าหลังด้านซ้าย แล้วสังเกตพฤติกรรมการยกเท้าขึ้นเลียของหนู ใน 2 ช่วง คือ first phase (0-5 นาที หลังจากฉีด formalin) ซึ่งแสดงถึงอาการปวดแบบเฉียบพลัน (acute pain) อีกช่วงหนึ่งคือ second phase (15-30 นาที หลังจากฉีด formalin) ซึ่งแสดงถึงการอักเสบ (inflammation phase) พบว่าสาร curcumenol สามารถลดการอักเสบระยะ second phase ได้ดีกว่าสารมาตรฐานทั้ง 3 ชนิด โดยมีค่า ID50 ของสาร curcumenol, diclofenac, aspirin และ dipyrone เท่ากับ 29, 34.5, 123 และ 264 ไมโครโมล/กิโลกรัม ตามลำดับ การทดสอบด้วย capsaicin ทำโดยการฉีดสารทดสอบในขนาด 1-10 mg/kg เข้าทางช่องท้องหนู หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง ฉีด capsaicin เข้าทางใต้ผิวหนังบริเวณอุ้งเท้าหลังด้านขวา แล้วสังเกตพฤติกรรมการยกเท้าขึ้นเลียของหนู เป็นเวลา 5 นาที พบว่าสาร curcumenol สามารถลดการปวดเฉียบพลัน ได้ดีกว่ายามาตรฐาน diclofenac โดยมีค่า ID50 ของสาร curcumenol, diclofenac และ dipyrone เท่ากับ 12, 47 และ 208 ไมโครโมล/กิโลกรัม ตามลำดับ กลไกการออกฤทธิ์ลดปวด และลดการอักเสบของสาร curcumenol นี้ไม่ได้ผ่าน opioid system เนื่องจากไม่ให้ผลการทดสอบด้วยวิธี hot plate ศึกษาสาร sesquiterpenoides 2 ชนิด ที่สกัดได้จากเหง้า เมื่อนำไปทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบ ในหลอดทดลอง ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ COX-2 และ nitric oxide synthase (iNOS) (หากเอนไซม์ทั้ง 2 ชนิด ถูกกระตุ้น จะมีการสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบได้แก่ พรอสตาแกลนดิน และไนตริกออกไซด์ ตามลำดับ) โดยทำการทดสอบกับเซลล์แมคโครฟาจ ชนิด raw 264.7 ของหนูถีบจักร ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย lipopolysaccharide (LPS) พบว่า สารทั้ง 2 ชนิด คือ beta-turmerone และ ar-turmerone มีฤทธิ์แรงในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทั้งสองชนิดโดยยับยั้งเอนไซม์COX-2ด้วยค่า IC50  เท่ากับ 1.6 และ 5.2 microg/mL ตามลำดับ และยับยั้ง iNOS โดยมีค่า IC50  เท่ากับ 4.6 และ 3.2 microg/mLตามลำดับ 

           ฤทธิ์ลดอาการมึนเมา ศึกษาฤทธิ์ลดอาการมึนเมาจากสารสกัดของขมิ้นอ้อย โดยทดลองป้อนสารสกัดขมิ้นอ้อย 5 ชนิด ให้แก่หนูเม้าส์ผ่านทางหลอดสวนกระเพาะ ได้แก่ สารสกัด 30% เอทานอล (ขนาด 500 และ 1,000 มก./กก.) ส่วนสกัดของขมิ้นอ้อยที่ละลายในเฮกเซน (n-hexane) (ขนาด 100 และ 300 มก./กก.) ส่วนสกัดของขมิ้นอ้อยที่ละลายใน เมทานอล (ขนาด 150 และ 450 มก./กก.) ส่วนสกัดของขมิ้นอ้อยที่ไม่ละลายในเมทานอล (ขนาด 250 และ 500 มก./กก.) และสารสำคัญ curcumenone ที่สกัดแยกได้จากส่วนสกัดของขมิ้นอ้อยที่ละลายในเฮกเซน โดยวิธี HPLC (ขนาด 3, 10 และ 30 มก./กก.) ป้อนวันละ 2 ครั้ง นานติดต่อกัน 7 วัน ในวันที่ 8 ของการทดลอง งดให้อาหารหนู 4 ชั่วโมง ก่อนป้อนสารสกัดขมิ้นอ้อย จากนั้น 10 นาที ทำการป้อนแอลกอฮอล์ 40% ให้แก่หนูทุกตัว วัดค่าแอลกอฮอล์ในเลือดด้วยชุดเครื่องมือ Ethanol determination F-kit และวัดอาการมึนเมาของหนูด้วยชุดเครื่องมือ slip board machine ที่เวลา 15, 30, 60, 120, 180 และ 240 นาทีหลังป้อนแอลกอฮลล์ 40% ผลการทดลองพบว่า สารสกัด 30% เอทานอลของขมิ้นอ้อยขนาด 1000 มก./กก. มีผลยับยั้งการเกิดอาการมึนเมาหลังป้อนแอลกอฮลล์ 40% ที่เวลา 60 และ 120 นาที คิดเป็น 50 และ 52.1% ตามลำดับเมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้รับสารสกัด (กลุ่มควบคุม) ส่วนสกัดของขมิ้นอ้อยที่ละลายในเฮกเซน ขนาด 300 มก./กก. มีผลยับยั้งการเกิดอาการมึนเมาหลังป้อนแอลกอฮลล์ 40% ที่เวลา 30 และ 60 นาที (35.7 และ 45.6%) เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มควบคุม และสารสกัด curcumenone ทุกขนาด มีผลยับยั้งการเกิดอาการมึนเมาหลังป้องแอลกอฮอล์ที่เวลา 30 60 และ 120 นาที นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัด 30% เอทานอลของขมิ้นอ้อยขนาด 1000 มก./กก. มีผลลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดหนูที่เวลา 60 นาที หลังป้อนแอลกอฮอล์ 40% คิดเป็น 28.4% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนสกัดของขมิ้นอ้อยที่ละลายในเฮกเซน ขนาด 300 มก./กก. มีผลลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดหนูที่เวลา 30 และ 60 นาที หลังป้อนแอลกอฮอล์ 40% (29.7 และ 31.0%) เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มควบคุม และสารสกัด curcumenone ขนาด 3, 10 และ 30 มก./กก. มีผลลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดหนูที่เวลา 60 นาที หลังป้อนแอลกอฮอล์ 40% คิดเป็น 23.8 23.8 และ 33.7% ตามลำดับเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และการป้อนสารสกัด curcumenone ขนาด 10 และ 30 มก./กก. มีผลช่วยเพิ่มระดับเอนไซม์ ADH (Alcoho dehydrogenase) ในตับหลังป้อนแอลกอฮอล์ 40% ที่เวลา 30 และ 60 นาที อีกด้วย ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ขมิ้นอ้อยมีฤทธิ์ยับยั้งอาการมึนเมาที่เป็นผลมาจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้

          ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การศึกษาส่วนประกอบ และฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของน้ำมันระเหยง่าย ที่แยกได้จากเหง้าแห้งของขมิ้นอ้อย โดยใช้วิธีการกลั่นด้วยไอน้ำ และสกัดด้วยตัวทำละลาย และทำการสกัดแยกส่วนสกัดย่อยของน้ำมันระเหยง่าย โดยใช้เทคนิค silica gel column chromatography พบสารประกอบ 36 ชนิด ได้แก่ terpenes 17 ชนิด, alcohols 13 ชนิด และ ketones 6 ชนิด โดยพบว่าองค์ประกอบหลักที่พบ คือ สาร epicurzerenone และ curzerene ปริมาณ 24.1 และ 10.4% ตามลำดับ ผลการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชันด้วยวิธีทางเคมี พบว่าน้ำมันระเหยง่ายขนาด 20 mg/ml ออกฤทธิ์ในระดับปานกลางถึงระดับดีมากในการต้านอนุมูลอิสระ DPPH ออกฤทธิ์ดีในการเป็น reducing power (เป็นการวัดความสามารถในการรีดิวซ์สารประกอบเชิงซ้อนของเหล็กซึ่งเป็นคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระ) และออกฤทธิ์ระดับต่ำในการจับเหล็ก (เนื่องจากเหล็กอิสระที่มีอยู่ทั่วร่างกายสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดอนุมูลอิสระ) และได้ทำการแยกส่วนสกัดย่อยของน้ำมันระเหยง่ายออกมา พบว่าส่วนสกัดย่อยที่ 4 มีองค์ประกอบหลักคือ สารบริสุทธิ์ 5-isopropylidene-3,8-dimethyl-1(5H)-azulenone แสดงฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าน้ำมันระเหยง่าย

          ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลเปื่อย มีการทดลองฉีดสารสกัด (ไม่ระบุชนิดสารสกัด) เข้าใต้ผิวหนังหนูถีบจักร ในขนาด 80 มก./กก. พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลเปื่อย

         ฤทธิ์ทำให้สงบระงับ สารสกัดเหง้าขมิ้นอ้อยที่สกัดด้วย 80% เอทานอล โดยวิธีการหมัก นำมาทดสอบโดยการวัดระยะเวลาการนอนหลับ และพฤติกรรมการเคลื่อนไหว (locomotor activity) ในหนูถีบจักรเพศผู้ พบว่าสารสกัดเหง้าขมิ้นอ้อยขนาด 1 และ 2 กรัม/กิโลกรม ของน้ำหนักหนู โดยการป้อนทางปาก สามารถยืดระยะเวลาการนอนหลับของหนุถีบจักรที่ถูกเหนี่ยวนำให้นอนหลับด้วยยา pentobarbital ขนาด 50 มก./กก. (ฉีดเข้าทางช่องท้อง) นานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดเหง้าขมิ้นอ้อยขนาด 1 ก./กก. เมื่อป้อนทางปากสามารถลดพฤติกรรมการเคลื่อนไหว ในหนูถีบจักรที่กระตุ้นด้วย methamphetamine ขนาด 3 มก./กก. (ฉีดเข้าทางช่องท้อง) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)


การศึกษาทางพิษวิทยาของขมิ้นอ้อย

           การทดสอบความเป็นพิษมีการศึกษานำแป้งที่เตรียมจากขมิ้นอ้อยซึ่งมีระดับของโปรตีนสูง ไปทดลองให้เป็นอาหารกับหนูขาวเป็นเวลา 6 วัน โดยให้ในขนาด 320 ก./กก. พบว่ามีผลทำให้หนูทดลองตายทั้งหมด นอกจากนี้การใช้เหง้าสดมาสับให้ละเอียดแล้วทำให้แห้ง นำไปให้เป็นอาหารกับหนูขาว ผลการทดลองพบว่า หนูทดลองทั้งหมดมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว และ 2/5 ของหนูทดลอง ตายภายใน 4 วัน  แต่เมื่อทดลองให้กับไก่ ขนาด 100 และ 200 ก./กก. เป็นเวลา 20 วัน  พบว่าไก่ทั้งหมดรอดชีวิต แต่มีน้ำหนัก ปริมาณการกินอาหารและประสิทธิภาพการย่อยอาหารลดลง มีการการทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเหง้าด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,250 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ ทดลองฉีดสารสกัดเอทานอล (50%) ทางหลอดเลือดดำให้กับสุนัข โดยให้ในขนาดต่างๆ กัน พบว่าไม่มีพิษต่อหัวใจ และเมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูถีบจักร ในขนาด 10 ก./กก. พบว่าไม่มีพิษเช่นเดียวกัน นอกจากนี้การให้สารสกัดดังกล่าวทางกระเพาะอาหารหนูถีบจักรในขนาดเท่าเดิม พบว่าไม่มีพิษ ทดลองใช้น้ำต้ม ฉีดเข้าทางช่องท้องหนูถีบจักรและลิงที่กำลังตั้งท้อง พบว่าไม่มีผลเปลี่ยนแปลงโครโมโซม (clastogenic effect) แต่การให้สารสกัดดังกล่าวทางปากของผู้ใหญ่ทั้ง 2 เพศ ในขนาด 4.6 ก./คน พบว่ามีพิษต่อ neuromuscular มีการตรวจสอบพิษเฉียบพลัน โดยใช้สารสกัดเอทานอล (50%) กรอกเข้าทางปากหนูถีบจักรและการทดลองฉีดสารสกัดนี้เข้าใต้ผิวหนัง พบว่าไม่มีพิษทั้ง 2 แบบ ใช้สารสกัดด้วยน้ำเกลือหรือน้ำต้ม ความเข้มข้น 100 มล./แผ่น ทดสอบด้วย lymphocytes ของมนุษย์ พบว่าสารสกัดด้วยน้ำเกลือมีผลเปลี่ยนแปลงการแบ่งตัวของเซลล์ ในขณะที่น้ำต้มไม่มีผลดังกล่าว และเมื่อนำสารสกัดทั้ง 2 ชนิด มาทดสอบกับ lymphocytes ของหนูถีบจักร พบว่าให้ผลในทางกลับกัน 

          ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ มีการทดสอบน้ำต้มกับ Salmonella typhimurium TA100 ในจานเพาะเชื้อ โดยใช้ความเข้มข้น 40 มก./จานเพาะเชื้อ 100 มก./มล. และ 50 มก./แผ่น พบว่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ เมื่อนำสารสกัดดังกล่าวทดสอบกับ Bacillus subtitis H-17 (Rec+), M-45 (Rec-) ในจานเพาะเชื้อ โดยใช้ความเข้มข้น 0.5 มล./แผ่น พบว่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ สารสกัดเมทานอลทดสอบด้วย Bacillus subtitis H-17 (Rec+) ในจานเพาะเชื้อ โดยใช้ความเข้มข้น 100 มก./มล. พบว่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ และเมื่อทดสอบกับ S. typhimurium TA100 และ TA98 โดยใช้ความเข้มข้น 50 มก./แผ่น พบว่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์เช่นกัน ทดสอบน้ำต้มกับ B. subtitis H-17 (Rec+) และ M-45 (Rec-) ในจานเพาะเชื้อ โดยใช้ความเข้มข้น 0.5 มล./แผ่น พบว่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ นอกจากนี้การใช้เหง้าทดสอบกับเชื้อดังกล่าวโดยใช้ความเข้มข้นเท่าเดิม พบว่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์เช่นกัน 

          ใช้สารสีเหลืองที่สกัดจากเหง้า ทดสอบด้วย Salmonella typhimurium TA100 และ TA98 พบว่าสารดังกล่าวไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ และไม่มีผลเปลี่ยนแปลง chromosome เมื่อทำการทดสอบกับ lymphocytes นอกจากนี้มีการใช้สารสกัดจากเอทานอลมาทดสอบกับ เชื้อดังกล่าว พบว่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ และเมื่อนำสารสกัดนี้มาทำปฏิกิริยากับเกลือ ไนไตรท์ในภาวะเป็นกรด แล้วทดสอบอีกครั้ง พบว่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์เช่นเดียวกัน 

          พิษต่อเซลล์ สารสกัดด้วยน้ำ นำไปทดสอบกับเซลล์ CA-JTC-26 โดยใช้ความเข้มข้น 120 มคก./มล. และขนาด 500 มคก./มล. พบว่าไม่มีพิษ นอกจากนี้มีการทดสอบกับเซลล์ CA-mammary-microalveolar โดยใช้ความเข้มข้น 500 มคก./มล. พบว่าไม่มีพิษ ส่วนการทดสอบกับเซลล์ Hela ที่ความเข้มข้น 0.1 มก./มล. และ 100% พบว่าไม่มีพิษเช่นกัน

          ทดสอบสารสกัดเมทานอลกับเซลล์ Human-SNU-1 และ SNU-C-4 โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 150 และ 196.7 มคก./มล. ตามลำดับ พบว่าไม่มีพิษ และเมื่อนำไปทดสอบกับเซลล์ Leuk (shay) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 251.8 มคก./มล. พบว่าไม่มีพิษเช่นกัน เมื่อทดสอบด้วย Hela-S3-cells มีค่า IC50 เท่ากับ 21 มคก./มล. พบว่ามีฤทธิ์อ่อนๆ แต่เมื่อทดสอบกับเซลล์ Hela โดยใช้ความเข้มข้น 0.1 มก./มล. พบว่าไม่มีพิษ การทดสอบด้วยเซลล์ Leuk-L1210 โดยมีค่า ED50 เท่ากับ 20 มคก./มล.

           ส่วนการศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์ในหลอดทดลองของสารสกัดเอทานอลจากเหง้าขมิ้นอ้อย นำมาทดสอบความปลอดภัยต่อเซลล์เยื่อบุผนังในช่องปาก โดยทำการทดลองกับ LMF cell line ที่ได้จากเยื่อบุผนังช่องปาก (oral mucosa) โดยใช้เทคนิค Trypan blue dye exclusion assay โดยทำการฉีดสารสกัดเข้าไปในเซลล์ และวัดความมีชีวิตรอดของเซลล์ (Cell viability) ทั้งแบบระยะสั้น (short-term assay) ที่เวลา 0, 6, 12 และ 24 ชั่วโมง หลังได้รับสารสกัด และวัดการเจริญเติบโตของเซลล์ (Cell growth) ระยะยาว (long-term assay) ที่ 1, 3, 5 และ 7 วัน ผลการทดลองพบว่า การทดสอบที่ระยะสั้น เซลล์ยังคงมีชีวิตอยู่ และในระยะยาว พบว่าเซลล์ยังคงเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า สารสกัดของขมิ้นอ้อยมีความเป็นพิษต่อเซลล์ต่ำ และมีการทดสอบนำสารสีเหลืองที่สกัดจากเหง้ามาทดสอบกับ Salmonella typhimurium TA98, TA100 พบว่ามีพิษต่อเซลล์ปานกลาง และการทดสอบสาร curcumin, demethoxycurcumin และ bis-demethoxycurcumin ที่สกัดได้จากขมิ้นอ้อยทดสอบกับเซลล์ Ovcar-3 พบว่ามีพิษ โดยมีค่า CD50 เท่ากับ 4.5, 3.8 และ 3.1 มคก./มล. ตามลำดับ 

           พิษต่อตัวอ่อน มีการทดสอบให้ผู้ที่ตั้งครรภ์กินขมิ้นอ้อย (ไม่ได้ระบุชนิดสารสกัด) พบว่ามีผลทำให้แท้งได้ แต่เมื่อใช้สารสกัดด้วยน้ำ พบว่าไม่มีพิษ เมื่อให้สารสกัดเอทิลอะซีเตท ทางมดลูก (intrauterine) กับหนูถีบจักรที่ท้อง โดยใช้ความเข้มข้น 5 มก./ตัว เป็นเวลา 2 วัน พบว่ามีผลทำให้แท้งได้ ในขณะที่การให้สารสกัดเอทานอล (70%) ทางกระเพาะอาหาร (gastric intubation) แก่หนูถีบจักรที่ท้อง โดยให้ในขนาด 975 มก./กก. พบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อน และทำให้เกิดการแท้งได้ เมื่อให้ผงขมิ้นอ้อย ขนาด 50 มก./กก. ทางกระเพาะอาหาร (gastric intubation) แก่หนูขาวที่ท้อง พบว่าไม่มีพิษ แต่ในขนาด 500 มก./กก. พบว่ามีผลยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อน และเมื่อเปลี่ยนมาให้ทั้งต้นของขมิ้นอ้อย โดยให้ในขนาด 500 มก./กก. พบว่ามีผลยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนเช่นกัน


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานขมิ้นอ้อย
  2. ไม่ควรรับประทานขมิ้นอ้อย ในปริมาณที่มากจนเกินไปเพราะอาจส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
  3. สำหรับผู้ที่แพ้ขมิ้น หรือ พืชในวงศ์ ไม่ควรรับประทานขมิ้นอ้อย เพราะอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ เช่น ท้องเสีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หรือคลื่นไส้ได้

 

เอกสารอ้างอิง ขมิ้นอ้อย
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ขมิ้นอ้อย”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 90-91.
  2. มาลัย วรจิตร. แบคทีเรียก่อโรคในผู้ติดเชื้อเอชไอวี. ใน: พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ, บรรณาธิการ. เอชไอวีและจุลชีพฉวยโอกาส. กรุงเทพฯ:อักษรสมัย, 2541:12.1-12.6.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “ขมิ้นอ้อย Zedoary”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 95.
  4. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
  5. ฤทธิ์ลดอาการมึนเมาของขมิ้นอ้อย. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร ไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ขมิ้นอ้อย”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 118.
  7. พัฒนชัย  เสถียรโชควิศาล, สัจจา ศุภรพันธ์. ฤทธิ์สงบระงับของสมุนไพรไทยขมิ้นอ้อย [ปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต]. กรุงเทพฯ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2541.
  8. ขมิ้นอ้อย. ฐานข้อมูลสมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. แก้ว กังสดาลอำไร วรรณี โรจนโพธิ์. การประเมินฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสมุนไพรในรูปของยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขและสมุนไพรบางชนิดโดยวิธีเอมส์เทสต์. สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2543:14-5.     
  10. ขมิ้นอ้อย .ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicruedrug.com/main.php?action=vyewpage&pid=151
  11. Rao BGV, Narasimha, Nigam SS. In vitro antimicrobial efficiency essential oils. Indian J Med Res 1970;58(5): 627-33.  
  12.   Tachibana Y, Kawanishi K. Mitogenic activities in the protein fractions of crude drugs. Planta Med 1992;58(3):250-4.     
  13.  Li FK. Problems concerning artificial abortion through oral administration of traditional drugs. Ha-Erh-Pin Chung-I 1965;1:11-4.
  14. Bugno A, Nicoletti MA, Almodóvar AAB, Pereira TC, Auricchio MT. Antimicrobial efficacy of Curcuma zedoaria extract as assessed by linear regression compared with commercial mouthrinses. Brazilian Journal of Microbiology. 2007;38:440-445.
  15. Yin XJ, Liu DX, Wang H, Zhou Y. A study on the mutagenicity of 102 raw pharmaceuticals used in Chinese traditional medicine. Mutat Res 1991;260(1):73-82.
  16. Yoshioka T, Fujii E, Endo M, et al.  Antiinflammatory potency of dehydrocurdione, a zedoary-derived sesquiterpene. Inflamm Res 1998;47(12):476-81.
  17.  Mau J-L, Lai EYC, Wang N-P, Chen C-C, Chang C-H, Chyau C-C. Composition and antioxidant activity of the essential oil from Curcuma zedoaria. Food Chemistry. 2003;82(4):583-591.
  18.  Futagami Y, Yana S, Hons S, et al. Antiallergic activity of Curcuma longa. (III). Effects of curcuminoids. Wakan Iyakugaku Zasshi 1966;13(4):430-1.
  19. Seshadri C, Pillai SR, Venkataraghav AN. Antifertility activity of a compound ayurvedic preparation. J Sci Res Pl Med 1981;2(1/2):3.    
  20. Jang MK, Sohn DH, Ryu JH. A curcuminoid and sesquiterpenes as inhibitors of macrophage TNF-alpha release from Curcuma zedoaria.  Phanta Med 2001; 67(6): 550-2.
  21. Fernandes JP, Mello-Moura AC, Marques MM, Nicoletti MA.. Cytotoxicity evaluation of Curcuma zedoaria (Christm.) Roscoe fluid extract used in oral hygiene products. Acta Odontol Scan. 2012;70(6):610-614.
  22. Park JG, Hyun JW, Lim KH, et al. Antineoplastic effect of extracts from traditional medicinal plants. Korean J Pharmacog 1993;24(3):223-30.     
  23.  Mokkhasmit M, Ngarmwathana W, Sawasdimongkol K, Permphiphat U. A pharmacological evaluation of Thai medicinal plants. (continued). J Med Ass Thailand 1971;54(7):490-504.   
  24. Navarro DF, Souza MM, Neto RA, Golin V, Niero R, Yunes RA, et al. Phytochemical analysis and analgesic properties of Curcuma zedoaria grown in Brazil. Phytomedicine. 2002;9(5):427-32.
  25.  Banerjee A, Kaul VK, Nigam SS. Antimicrobial efficacy of essential oils of Curcuma zedoaria (Rosc.) Roxb. Indian Perfum 1978;22(3):214-7.  
  26. Ungsurungsie M, Suthienkul O, Paovalo C. Mutagenicity screening of popular Thai spices. Food Chem Toxicol 1982;20:527-30.       
  27.  Lee SK, Hong CH, Huh SK, Kim SS, Oh OJ, Min HY, et al. Suppressive effect of natural sesquiterpenoids on inducible cyclooxygenase (COX-2) and nitric oxide synthase (iNOS) activity in mouse macrophage cells. J Environ Pathol Toxicol Oncol 2002;21(2):141-8.
  28. Latif MA, Morris TR, Miah AH, Hewitt D, Ford JE. Toxicity of shoti (Indian arrowroot: Curcuma zedoaria) for rats and chicks.  Brit J Nutr 1979;41:57-63.
  29.  Chen ZZ. Preliminary result of clinical anti-early pregnancy by Curcuma zedoaria. Unpublished Data (Cited In Chung Ts'ao Yao 1981;12(3):26-9.
  30.   Begum J, Yusuf M, Chowdhury U, Wahab MA. Studies on essential oils for their anti-bacterial and antifungal properties. Part I. Preliminary screening of 35 essential oils. Bangladesh J Sci Ind Res 1993;28(4):25-34. 
  31. Nam SH, Yang MS. Isolation of cytotoxic substances from Chrysanthemum boreale M. Han'guk Nonghwa Hakhoe Chi 1995;38(3):273-7. 
  32. Avirutnant W, Pongpan A. The antimicrobial activity of some Thai flowers and plants. Mahidol Univ J Pharm Sci 1983;10(3):81-6. 
  33. Chen ZZ, Hu RB, Wang Y, Cao MY.  Actions of eshu (Curcuma zedoaria) on the ovary, endometrium and embryo of mice. Chung Ts'ao Yao 1981;12(3):26-9.         
  34.  Liu DX, Yin XJ, Wang HC, Zhou Y, Zhang YH. Antimutagenicity screening of water extracts from 102 kinds of Chinese medicinal herbs. Chung-Kuo Chung Yao Tsa Chi Li 1990;15(10):617-22.  
  35. Wongseri V, Siripong P. Antibacterial activity of curcuminoid compounds from Curcuma zedoaria Roscoe rhizomes. Thai Cancer J 1995;21(1):17-24.     
  36. Syu W-J, Shen C-C, Don M-J, Lee G-H, Sun C-H. Cytotoxicity of curcuminoids and some novel compounds from Curcuma zedoaria. J Nat Prod 1998;61(12):1531-4.
  37.  Chaniphun L. Effect of a food preservative nitrite on mutagenicity of Thai medicinal plants using the Ames test. Annual Thesis Abstract, 1989;627-8.
  38. Yamamoto H, Mizutani T, Nomura H. Studies on the mutagenicity of crude drug extracts. I. Yakugaku Zasshi 1982;102:596-601.    
  39. Chen ZZ, Hu YB, Xiao MY. Comparison of activity of termination of early pregnancy and toxicity between eshu (Curcuma zedoaria) and compound eshu formulation. Chung Ts'ao Yao 1982;13(5):32-3.
  40.   Chen CP, Lin CC, Namba T. Development of natural crude drug resources from Taiwan. (VI).  In vitro studies of the inhibitory effect on 12 microorganisms. Shoyakugaku Zasshi 1987;41(3):215-25.       
  41. Siddiqui NA, Hasan MZ. Therapeutic response of Arab medicines in cases of laquwa. Bull Islamic Med 1981;1:366-74.        
  42.  Sato A.  Cancer chemotherapy with oriental medicine. I. Antitumor activity of crude drugs with human tissue cultures in vitro screening. Int J Orient Med 1990;15(4): 171-83.  
  43.  Seshadri C, Pillai SR. Antifertility activity of a compound ayurvedic preparation. J Sci Res Pl Med 1981;2(1):1-3.