มะงั่ว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
มะงั่ว งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะงั่ว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ส้มมะงั่ว (ภาคกลาง), ส้มโอมะละกอ, มะโว่ยาว, มะโว้ช้าง, มะนาวยิโปน (ภาคเหนือ), มะนาวควาย, ส้มนาวคลาน, ลีมากูบา (ภาคใต้), หมากเว่อ (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus medica Linn. Var medica
ชื่อสามัญ Citrus medica, Etrog (Citrus medica var. Etrog)
วงศ์ RUTACEAE
ถิ่นกำเนิดมะงั่ว
มะงั่ว จัดเป็นพืชในวงศ์ส้ม (RUTACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศอินเดีย, เนปาล และบังคลาเทศ จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณเขตร้อนต่างๆ เช่น ในอัฟกานิสถาน, อิหร่าน, อิรัก, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และทางตอนใต้ของจีน เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบมะงั่ว ได้ทั่วทุกภาคของประเทศแต่จะพบได้มากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมักจะมีการนำมาปลูกไว้ใช้ประโยชน์บริเวณรอบๆ บ้าน
ประโยชน์และสรรพคุณมะงั่ว
- แก้ผิดสำแดง
- แก้พิษฝีภายใน
- แก้ประดง
- แก้น้ำเหลืองเสีย
- แก้เสมหะเป็นพิษ
- ใช้กระทุ้งพิษ
- ใช้ฟอกโลหิต
- แก้ไอ
- ใช้กัดเสมหะ
- ใช้ขับระดู
- แก้เลือดออกตามไรฟัน
- ใช้กัดเถาดานในท้อง
- ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ
- แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- แก้ลมวิงเวียน
- แก้ลมขึ้นเบื้องสูง
- แก้พิษไข้
- แก้พิษกาฬ
- แก้เสมหะเป็นโทษ
- รักษาอาการผิดปกติของระบบหายใจ
- แก้ปวดหลัง
ในอดีตมีการน้ำของผลมะงั่ว ที่มีรสชาติเปรี้ยว และหอมคล้ายน้ำมะนาว (แต่รสอ่อนกว่ามะนาวเล็กน้อย) ใช้แทนน้ำมะนาวในการประกอบอาหารต่างๆ ส่วนของเปลือกผลทำขนมหวาน เค้ก และยังใช้ทำน้ำหอมได้อีกด้วย ส่วนเนื้อในผลยังสามารถใช้ประสมกับขมิ้น เพื่อย้อมผ้าโดยจะให้สีเหลือสดที่ติดทนนาน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้ฟอกโลหิต แก้ไอ กัดเสมหะ ขับระดู แก้เลือดออกตามไรฟัน โดยนำผลสุกมาคั้นน้ำจิบกินวันละ 3-4 เวลา
- ใช้แก้พิษสำแดง แก้ฝีภายใน แก้เสมหะเป็นพิษ ใช้กระทุ้งพิษ โดยนำรากมะงั่ว มาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ โดยนำผิวผลของมะงั่วมาตากให้แห้งต้ม หรือ ชงแบบชาดื่ม
- ใช้แก้ลมวิงเวียน โดยนำเปลือกผลมะงั่ว ตากแห้งมาเข้ากับตัวยาอื่นทำเป็นยาหอมยาดม
ลักษณะทั่วไปของมะงั่ว
มะงั่ว จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน ขนาดเล็กแตกกิ่งเป็นพุ่มหลายกิ่ง ลำต้นสูงได้ 3-10 เมตร เปลือกต้นมีสีเทาอ่อนหรือสีเทาอมขาว เมื่อต้นยังอ่อนอยู่กิ่งก้านจะเป็นเหลี่ยม และมีหนาม
ใบมะงั่ว เป็นใบประกอบแปบบลดรูปมี 1 ใบ ออกเรียงสลับบริเวณกิ่งก้านลักษณะใบมีทั้งรูปไข่แกมรูปใบหอก และใบที่มี 2 ตอน โคนใบคอด ปลายใบมนรี คล้ายกับใบมะกรูด ขอบใบเรียบ หรือ จักฟันเลื่อยเล็กน้อย แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมันวาว งอขึ้นเล็กน้อย ใบของมะงั่วจะใหญ่กว่าใบมะนาว และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
ดอกมะงั่ว ออกตามซอกใบเป็นช่อสั้นๆ โดยใน 1 ช่อ ดอกจะมีดอกย่อย 3-10 ดอก ลักษณะของดอกย่อยมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ส่วนกลีบดอกก็มี 5 กลีบเช่นกัน โดยด้านนอกของกลีบดอกจะเป็นสีขาว, ชมพูหรือม่วง คล้ายดอกของมะนาว หลุดร่วงได้ง่าย และมีเกสรตัวผู้ 20-40 อัน มีความยาวเสมอกับกลีบดอก รังไข่ 10 ช่อง
ผลมะงั่ว เป็นแบบ ผลสด (คล้ายส้ม) ลักษณะเป็นทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ผิวเปลือกขรุขระ ผลดิบมีสีเขียวแก่ผลสุก มีสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้ม เปลือกหนา เนื้อในเป็นเม็ดใส มีรสเปรี้ยว และจะมีเมล็ดอยู่จำนวนมาก
การขยายพันธุ์มะงั่ว
มะงั่ว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง แต่ในปัจจุบันนิยมขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งมากกว่า โดยมีวิธีการเริ่มจากเลือกกิ่งกระโดงไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป จากนั้นทำการควั่นกิ่งแล้วขูดเมือกออกแล้วทายาเร่งราก หุ้มด้วยดินเหนียว และกาบมะพร้าวประมาณ 30-45 วัน จะออกราก และเมื่อรากแก่ให้ตัดกิ่งไปชำประมาณ 60 วัน จึงสามารถนำลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ส่วนวิธีการปลูกเริ่มจากการขุดหลุม กว้างxยาวxลึก 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก หรือ ปุ๋ยคอกคลุกเคล้ากับดินก้นหลุม จึงนำกิ่งตอนที่รากพร้อมแล้วลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ กลมดินปักไม้ผูกเชือกพยุงต้น กลบโคนต้นด้วยฟาง หรือ หญ้าแห้ง รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ และควรปลูกห่างกัน 4-5 เมตร
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของมะงั่ว ระบุว่าผิวของเปลือกผล, น้ำมันหอมระเหย จากผิวผลและใบ พบสารสำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ผิวผลพบสาร coumarin, scoparone, scopoletin, umbelliferone และ limettin เป็นต้น ส่วนน้ำมันหอมระเหยของผิวผล และใบของมะงั่ว พบสาร Erucylamide, Limonene, Methoprene, Geranyl methyl ether, 13-Heptadecyn-1-ol, Mehp, 2-Oxocycloheptyl acetate, Limonene, Isolimonene, Terpinyl acetate, β-Terpinyl acetate, Caryophyllene, Neoisolongifolane, hydroxy-, α-Pinene, Decanal, Tetradecanal, β-Myrcene, Linalool, Nonanal, citral, Undecanal และ Germacrene D เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะงั่ว
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดมะงั่ว จากส่วนต่างๆ ของมะงั่วระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญดังนี้
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่ามะงั่ว มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาล ลดระดับไขมัน แก้ปวด ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเทอเรสด้านมะเร็ง ต้านเชื้อจุลินทรีย์ ฆ่าพยาธิ และมีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยาของมะงั่ว
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
เนื่องจากมะงั่ว เป็นพืชตระกูลส้ม (citrus) ดังนั้นผู้ที่แพ้พืชในตระกูลนี้ไม่ควรใช้มะงั่วทั้งในรูปแบบอาหาร และการใช้เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ นอกจากนี้สตรีมีครรภ์ก็ไม่ควรใช้มะงั่ว เป็นอาหาร และยาสมุนไพรเช่นกัน เนื่องจากมีสรรพคุณ ขับระดู ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้
เอกสารอ้างอิง มะงั่ว
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร และวิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 1 น้ำกระสายยา. พิมพ์ครั้งที่ 3.กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2556. หน้า 71-73
- มะงั่ว. คู่มือการกำหนดพื้นที่การปลูกสมุนไพร เพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทยเล่ม 1. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. กันยายน 2558. หน้า 130-131
- พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2: ไม้ผลและไม้ผลเคี้ยวมัน. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 177
- ชนิษฐา เลิกชัยภูมิ, รัชฎา ตั้งวงค์ไชย, เกษม นันทชัย และธนกร โรจนกร 2545. การสกัดเพคคตินจากส้มมะงั่ว. การนำเสนอภาคโปสเตอร์. การประชุมวิชาการอุตสาหกรรมเกษตรครั้งที่ 4 Thaifex&Thamex2002; อาหารไทยเพื่อพัฒนาประเทศ และการส่งออก 31 พ.ค.-1 มิ.ย. 2545. ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพฯ
- รัชฏา ตั้งวงค์ไชย และคณะ. การสกัดเพคตินจากเปลือกส้มมะงั่ว และการใช้ประโยชน์ในระบบอาหาร. วารสารสงขลานครินทร์ วทท.ปีที่ 28 ฉบับที่ 6. พฤศจิกายน-ธันวาคม 2549. หน้า 1351-1363.
- E. Protopapadakis, J. Amer. Soc. Hort. 62, 413 (1987)
- Kertesz, Z.I. 1951.The pectic substances. New York. Interscience Publishers. Inc.
- S. Gurdip, I. P. S. Kapoor, and P. S. Om, J Essential Oil-Bearing Plants. 2 (3), 119 (1999).
- J. A. Attaway, A. P. Pieringerand, L. J. Barabas, Phytochemistry 6, 25 (1967).