แก้วมังกร ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

แก้วมังกร งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แก้วมังกร
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น dragon fruit (เอเชีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์
            Hylocereus undatus (Haw). Britton&Rose - พันธุ์เนื้อขาวเปลือกแดง
            Hylocereus (Weber) Britt.&Rose - พันธุ์เนื้อแดงเปลือกแดง
            Hylocereus megalanthus (Schum.ex vaup.) Moran – พันธุ์เนื้อขาวเปลือกเหลือง
ชื่อสามัญ pitaya, Red pitaya
วงศ์ CACTACEAE


ถิ่นกำเนิดแก้วมังกร

แก้วมังกรจัดเป็นพืชในวงศ์กระบองเพชรมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก บริเวณชายฝั่งแปซิฟิกของประเทศกัวเตมาลา คอสตาริกา และเอลซัลวาดอร์  ส่วนในทวีปเอเชียเริ่มจากมีชาวฝรั่งเศสได้นำพันธุ์แก้วมังกร มายังประเทศเวียดนาม เมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่ผ่านมา สำหรับในประเทศไทย ดร.สุรพงษ์ โกสิยาจินดา ได้พบผลไม้จากเวียดนามชื่อ “ธานฮ์หลอง” (thanh long) ที่ฮ่องกง เมื่อปี พ.ศ.2534 จึงได้นำมาทดลองปลูกเป็นครั้งแรก ต่อมาเกษตรกรชาวสวนไทยเริ่มปลูกพืชชนิดนี้เป็นอาชีพเมื่อ พ.ศ.2540 ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จนในปัจจุบันมีการปลูกแก้วมังกรอย่างกว้างขวาง โดยแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญอยู่ที่จังหวัด ชลบุรี กาญจนบุรี สระบุรี จันทบุรี และสมุทรสงคราม

ประโยชน์และสรรพคุณแก้วมังกร

  • ช่วยเสริมสร้างสุขภาพลำไส้ใหญ่
  • ช่วยเพิ่มแบคทีเรียชนิดดี
  • ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ช่วยบรรเทาและป้องกันอาการท้องผูก
  • ช่วยบรรเทาอาการลำไส้ระคายเคือง
  • ช่วยลดไขมัน ไตรกลีเซอไรด์และคอลเลสเตอรอล โดยเน้นลดสารไลโปโปรตีนคอลเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นน้อยในเลือด
  • ช่วยป้องกันโรคหัวใจ
  • ช่วยโรคเส้นเลือดหัวใจ
  • ช่วยบรรเทาอาการ โรคเบาหวานประเภท 2
  • ช่วยขับพิษโลหะหนักออกจากร่างกาย
  • ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง สดใส ชุ่มชื่นดับร้อน
  • ช่วยดับกระหาย
  • ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ
  • ช่วยบรรเทาอาการของโรคความดันโลหิต
  • ช่วยป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • บรรเทาอาการของโรคโลหิตจาง
  • ช่วยควบคุมน้ำหนัก
  • ช่วยในการชะลอวัย
  • ช่วยลดริ้วรอยต่างๆ
  • กระตุ้นการขับน้ำนมในสตรี

           แก้วมังกร จัดเป็นผลไม้ที่เป็นนิยมในปัจจุบันโดยนิยมรับประทานเป็นผลไม้สด เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูงโดยส่วนของเนื้อนอกจากรับประทานสดแล้วยังสามารถแปรรูปเป็นน้ำผลไม้  และผลไม้กวนได้อีกด้วย โดยแก้วมังกรเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่า (ประมาณ 50– 60 กิโลแคลอรี่/100 ก.) น้ำตาลที่พบส่วนใหญ่เป็นน้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ส่วนในเนื้อของแก้วมังกรมีวิตามินซี ใยอาหาร และโพแทสเซียมสูง ซึ่งวิตามินซี มีส่วนช่วยในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ใยอาหารช่วยให้รู้สึกอิ่มนาน และทำให้การขับถ่ายดีขึ้น นอกจากนี้ยังพบสารในกลุ่มโอลิโกแซคคาไรด์ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก ที่จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของโปรไบโอติกในลำไส้ ซึ่งจะช่วยในเรื่องการขับถ่าย และในเมล็ดของแก้วมังกรยังอุดมไปด้วยกรดไขมันจำเป็นซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย และในส่วนเปลือกในเนื้อผลที่มีสีแดง หรือ แดงม่วง ในทางอุตสาหกรรมนิยมนำสารกลุ่มดังกล่าวมาทำเป็นสีผสมอาหารเนื่องจากมีความปลอดภัยสูง

แก้วมังกร

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับรูปแบบการใช้ประโยชน์แก้วมังกร ในด้านการส่งเสริมสุขภาพนั้น โดยส่วนมากจะเป็นการใช้รับประทานแบบสดๆ หรือ นำไปทำเป็นน้ำผลไม้ หรือ ผลไม้ปั่น เป็นต้น

ลักษณะทั่วไปของแก้วมังกร

แก้วมังกร เป็นไม้เลื้อย ลำต้นสีเขียว มีลักษณะอวบน้ำเป็นแฉกสามแฉก คล้ายกับต้นโบตั๋น มีหนามกระจุกอยู่ที่ข้างตาเป็นช่วงๆ แผ่ก้านออกไปรอบๆ ส่วนของใบนั้น แก้วมังกรจะไม่มีใบ แต่จะมีกิ่งขนาดใหญ่ อวบอ้วน ยาวมากกว่า 50-80 เซนติเมตร และอาศัยเปลือกสีเขียวของกิ่ง หรือ ก้านทำหน้าที่สังเคราะห์แสงแทนใบ ทำให้การออกดอกได้ดีกว่าและจะมีกิ่งแขนงที่แตกแขนงออกจากกิ่งหลัก แต่มักไม่ค่อยออกดอกติดผล หรือ ออกดอกติดผลได้น้อย และตามกิ่งจะมีตาข้าง โดยจะมีหนาม เป็นกระจุกอยู่ที่ตา 4-5 หนามส่วนมากตาดอกจะอยู่ที่ข้อใต้หนาม ดอกเป็นดอกขนาดใหญ่ดอกจะเกิดบริเวณปลายกิ่ง เป็นรูปทรงกรวยขนาดใหญ่ หรือ รูปปากแตรมีกลีบยาวเรียวทับซ้อนกัน โคนดอกจะเป็นรูปกลมรี หรือ รูปไข่ มีขนาดยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ดอกมีสีขาวอมเหลืองบานในเวลากลางคืน จึงมีชื่อเรียกว่า moonflower หรือ lady of the night หรือ queen of the night เมื่อดอกบานเต็มที่ จะเหี่ยวและร่วงหล่น ส่วนผลแก้วมังกร รูปทรงรี มีเส้นผ่าศูนย์กลางผลกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ตามเปลือกผล เมื่อดิบ ผิวเปลือกเป็นสีเขียว เมื่อสุกผิวเปลือกเป็นสีแดงอมชมพู หรือ สีเหลือง (แล้วแต่พันธุ์) เนื้อผลภายในมีทั้งสีขาว สีชมพู และสีแดง แทรกไปด้วยเมล็ดสีดำ อยู่ในเนื้อผล มีขนาดใหญ่กว่าเมล็ดงาเล็กน้อย เนื้อผลมีรสชาติหวานฉ่ำน้ำ

แก้วมังกร

แก้วมังกร

การขยายพันธุ์แก้วมังกร

แก้วมังกรเป็นพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการใช้กิ่งพันธุ์ปลูก โดยสามารถปลูกได้แทบทุกสภาพดิน แต่สำหรับดินเหนียวและดินลูกรัง จะต้องมีการปรับหน้าดินด้วยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และแกลบดำ แต่เนื่องจากแก้วมังกรเป็นพืชที่มีลำต้นอ่อนมีลักษณะเป็นไม้เลื้อย ดังนั้นวิธีการปลูกแก้วมังกร จึงต้องสร้างหลักให้ลำต้นของต้นแก้วมังกรเกาะยึด โดยในหลักแต่ละหลักให้เตรียมหลุม 4 หลุมสำหรับปลูกกิ่งพันธุ์แก้วมังกรหลุมละ 1 ต้น โดยขุดหลุมลึก 30x30x30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยหมักเก่ารองก้นหลุมประมาณหลุมละ 1 บุ้งกี๋ แล้วนำกิ่งพันธุ์แก้วมังกรลงปลูกรดน้ำให้ชุ่มแล้วผูก หรือ มัดให้แนบกับหลัก และทำบังแดดให้กุ่งพันธุ์แก้วมังกรประมาณ 1-2 สัปดาห์ จึงสามารถนำออกได้ ทั้งนี้ลำต้นแก้วมังกร จะเป็นทรงสามเหลี่ยม แต่จะมีอยู่ด้านหนึ่งที่เป็นด้านแบน ดังนั้นเวลาผูก หรือ มัดต้นแก้วมังกร ให้จับด้านแบนของต้นเข้ากับหลัก เพราะว่าด้านแบนเป็นด้านที่จะออกราก 


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเนื้อผลและสารสกัดจากเปลือกผลระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น betacyanin, betaxanthin, betanin, anthocyanin ส่วนสารสกัดจากเปลือกผลพบสาร β-Amyrin, Docosane, β-Sitosterol, Stigmastero, Squalene, Eicosane, Octacosane, Octadecane, 1-Tetracosanol, Campesterol,  Phthalic acid, 1-Nonadecene นอกจากนี้เนื้อผลของแก้วมังกร ยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของแก้วมังกร (100 กรัม) พลังงาน (กิโลแคลอรี) 67.70 กรัม, โปรตีนรวม 1.10 กรัม, ไขมัน 0.57 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 11.20 กรัม, ใยอาหาร 1.34 กรัม, วิตามินA 1.01 กรัม, วิตามินB3 2.8 กรัม, วิตามินC  3.0 กรัม, แคลเซียม 10.2 กรัม, ธาตุเหล็ก 3.37 กรัม, แมกนีเซียม 38.9 กรัม, ฟอสฟอรัส 27.5 กรัม, โพแทสเซียม 272.0 กรัม, โซเดียม 8.9 กรัม, สังกะสี 0.35 กรัม

โครงสร้างแก้วมังกร

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของแก้วมังกร

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดแก้วมังกร จากเนื้อผลและเปลือกผลระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

           มีการศึกษาการวิจัยผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน และการส่งเสริมจุลินทรีย์ลำไส้ที่มีประโยชน์ของสารสกัดแก้วมังกร โดยใช้หนูขาวใหญ่สารพันธ์ Wister เพศผู้ อายุ 3 เดือน โดยได้แบ่งเป็น 6 ตัวต่อกลุ่มให้ได้รับน้ำกลั่น สารพรีไบโอติกทางการค้า (อินนูลิน) ขนาด 4.0 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว และสารสกัดแก้วมังกรขนาด 1.0,2.0 และ 4.0 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว นาน 28 วัน เลือดถูกเก็บเพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงปริมาณสารบ่งชี้ระบบภูมิคุ้มกัน ด้วยเทคนิค ELISA และมูลหนูถูกเก็บเพื่อประเมินการส่งเสริมการจุลินทรีย์ลำไส้ที่มีประโยชน์ด้วยเทคนิค FISH พบว่า ค่าปริมาณสารบ่งชี้ระบบภูมิคุ้มกัน (lgA และ lgG) ในพลาสมาของหนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดแก้วมังกรที่ขนาดต่างๆ มีปริมาณ lgA เพิ่มขึ้นประมาณ 2-7 เท่า และที่ขนาด 2.0 และ 4.0 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวมีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) ในวันที่ 10 และสูงสุดในวันที่ 14 เมื่อเทียบกับหนูในกลุ่มชุดควบคุมทั้ง 2 กลุ่ม ส่วนปริมาณ lgG เพิ่มขึ้นประมาณ 5-16 เท่า โดยในหนูขาวใหญ่กลุ่มที่ได้รับสารสกัดแก้วมังกรที่ขนาดต่างๆ จะมีปริมาณของ lgG เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงสุดในวันที่ 14 เมื่อเปรียบเทียบกับหนูในกลุ่มชุดควบคุมทั้ง 2 กลุ่ม นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้สารสกัดแก้วมังกรที่ขนาด 4.0 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว สามารถรักษาระดับการกระตุ้นปริมาณ lgA และ lgG ในระดับที่ใกล้เคียงกันและมากกว่ากลุ่มอื่นๆ จนถึงระยะเวลา 21 วัน หลังจากนั้นมีปริมาณลดลงจนสิ้นสุดการทดลองที่ระยะเวลา 28 วัน ส่วนการเปลี่ยนแปลงปริมาณของจุลินทรีย์ลำไส้ พบว่าในหนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดแก้วมังกรที่ขนาดต่างๆ มีปริมาณการเจริญเติบโตมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) ของจุลินทรีย์กลุ่มโปรไบโอติก ได้แก่ bifidobacterial (27.43-46.89%) และ lactobacillus (33.95-52.83%) และมีปริมาณการเจริญเติบโตน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) ของจุลินทรีย์กลุ่มที่ให้โทษ ได้แก่ clostridium (27.65-29.07%) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับน้ำกลั่น

           ฤทธิ์ต้านภาวะลำไส้อักเสบมีการทดสอบฤทธิ์ต้านภาวะลำไส้อักเสบของสารสกัดเอทานอลจากเนื้อผลของแก้วมังกรพันธุ์เนื้อแดง (Hylocereus polyrhizus ) ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสาร 2,4,6-trinitrobenzenesulphonic (TNBS) โดยให้สารสกัดเอทานอลในขนาด 1 ก./กก. เข้าทางช่องท้องหลังการเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบเป็นเวลา 6 ชั่วโมง 30 นาที พบว่าสารสกัดแก้วมังกร สามารถป้องกันการลดลงของน้ำหนักตัว ทำให้การถูกทำลายของลำไส้รวมทั้งการทำงานของเอนไซม์ myeloperoxidase (MPO) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบลดลง นอกจากนี้ยังทำให้ระดับโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ เช่น proinflammatory molecules (qPCR), NF-κB และ I-κβ-α ลดลง การวิเคราะห์ทางเคมีระบุว่าสารออกฤทธิ์ที่แยกได้จากสารสกัดเอทานอลเป็นสารในกลุ่มโพลีฟีนอลและกรดไขมัน โดยจากการทดลองทำให้สามารถสรุปได้ว่า สกัดเอทานอลจากเนื้อผลของแก้วมังกรพันธุ์เนื้อแดงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และสามารถป้องกันภาวะลำไส้อักเสบในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสาร TNBS ได้

           ฤทธิ์ต่อการทำงานของหลอดเลือด มีการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครวัยรุ่นทั้งเพศชาย และหญิง สุขภาพดีและไม่สูบบุหรี่ จำนวน 19 คน อายุ 18-40 ปี แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ให้รับประทานผงจากผลแก้วมังกรชนิดเนื้อสีแดงเปลือกสีแดง (Hylocereus polyrhizus) วันละ 24 ก. (ประกอบด้วยสารกลุ่ม betalains 33 มก.) เป็นระยะเวลา 14 วัน และกลุ่มยาหลอก อาสาสมัครมีระยะพักอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้สลับการทดสอบ ประเมินผลการทดสอบด้วยการวัดการทำงานของหลอดเลือด การขยายตัวของหลอดเลือดหลังถูกปิดกั้นการไหลเวียน (flow mediated dilation; FMD) ภาวะหลอดเลือดแข็ง (arterial stiffness) และความดันโลหิต ในช่วง 0, 1, 2, 3 และ 4 ชม. หลังจากทำการทดสอบในแต่ละวัน มีอาสาสมัครจำนวน 18 คน ที่ผ่านการทดสอบเสร็จสมบูรณ์ พบว่าการรับประทานแก้วมังกรมีผลต่อการปรับปรุงค่า FMD เฉียบพลันที่ 2 ชม. (+0.8 ± 0.3%, P = 0.01), 3 ชม. (+1.0 ± 0.3%, P = 0.001) และ 4 ชม. (+1.3 ± 0.4%, P < 0.001) หลังจากทำการทดสอบ เปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก จนถึงวันที่ 14 ของการทดสอบ (+1.3 ± 0.2%, P < 0.001) ความเร็วคลื่นความดันเลือดแดง (pulse wave velocity; PWV) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่ 3 ชม. (–0.5 ± 0.2 ม./นาที, P = 0.003) ดัชนีการเพิ่มสูงขึ้นของคลื่นความดันเลือดแดง (augmentation index; AIx) ปรับปรุงดีขึ้นในวันที่ 14 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก ไม่มีความแตกต่างกันของความดันโลหิตส่วนปลาย และค่าความดันโลหิตส่วนกลางในช่วงเวลาการทดสอบต่างๆ

           ฤทธิ์ต้านภาวะอ้วน และภาวะดื้อต่ออินซูลิน มีรายงานการทดสอบฤทธิ์ต้านภาวะอ้วน และภาวะดื้อต่ออินซูลินของสาร betacyanins ซึ่งแยกได้จากเปลือกของแก้วมังกร พันธุ์เนื้อขาว (Hylocereus undatus ) ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะดังกล่าวด้วยการได้รับอาหารไขมันสูง โดยให้หนูกินอาหารไขมันสูงร่วมกับการได้รับสาร betacyanins ขนาด 50, 100 หรือ 200 มก./กก. เป็นเวลา 14 วัน พบว่าสาร betacyanins สามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว การขยายตัวของเซลล์ไขมัน ภาวะไขมันพอกตับ ภาวะที่ไม่สามารถทนต่อการเพิ่มขึ้นของกลูโคส (glucose intolerance) และภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ นอกจากนี้ยังพบว่าสาร betacyanins ยังเพิ่มการแสดงออกของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญไขมันและน้ำตาลกลูโคส โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสาร betacyanins ออกฤทธิ์ต้านภาวะอ้วน และภาวะดื้อต่ออินซูลินผ่านการเหนี่ยวนำให้เกิดกระบวนการออกซิเดชั่นของกรดไขมัน (fatty acid oxidation) ลดการสร้างกรดไขมัน และยับยั้งภาวะดื้อต่อการทำงานของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญไขมัน และน้ำตาลกลูโคส


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของแก้วมังกร

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการรับประทานแก้วมังกร เป็นผลไม้สดนั้นมีความปลอดภัยสูง แต่อาจต้องระมัดระวังในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ หรือ ผู้ที่ต้องควบคุมระดับโพแทสเซียมในเลือด เนื่องจากผลไม้ชนิดนี้มีโพแทสเซียมสูงนอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติการแพ้พืชในตะกูลกระบองเพชร และกีวี ก็ควรระมัดระวังในการบริโภคเพราะอาจทำให้เกิดการแพ้ได้


เอกสารอ้างอิง แก้วมังกร
  1. สุรพงษ์ โกสิยะจินดา, แก้วมังกร : พืชเศรษฐกิจ ผลไม้สุขภาพ. กรุงเทพฯ  :สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย. 2545.
  2. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. แก้วมังกร ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 37-39
  3. ฤทธิ์ต้านภาวะลำไส้อักเสบจากผลแก้วมังกร. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. กรวรรณ ชากรีและคณะ. ผลของผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกจากแก้วมังกรพันธุ์เนื้อสีขาว ต่อระบบภูมิคุ้มกันของหนูขาวใหญ่. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 2556. 35 หน้า
  5. สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตร และอาหารแห่งชาติกระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2558). แก้วมังกร DRAGON FRUIT. 17 หน้า.
  6. การศึกษาทางคลินิกผลการรับประทานแก้วมังกรต่อการทำงานของหลอดเลือด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. ภชมน พิชญาจิตติพงษ์. (2556). การผลิตและสมบัติทางชีวภาพของสีผสมอาหารจากเปลือกแก้วมังกรพันธุ์เนื้อผลสีแดง (Hylocercus polyrhizus). วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. 127 หน้า
  8. ชุติมา ถนอมสิทธิ์, ธิพรพงษ์ เจริญยิ่ง, จักรพันธ์ นาน่วม, เบตาแลน : สารสกัดจากเปลือกแก้วมังกรเพื่อการพัฒนาสีผิวของสัตว์น้ำ, วารสกัดวิทยาศาสตร์สชสาส์นปีที่ 40. ฉบับที่ 2 กรกฎ -ธันวาคม 2561. หน้า 1-10
  9. ฤทธิ์ต้านภาวะอ้วน และภาวะดื้อต่ออินซูลินของสาระสำคัญจากเปลือกแก้วมังกร. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร, สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  10. แก้วมังกร. คำแนะนำการปลูกแก้วมังกร. กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 30 หน้า
  11. กฤติยา ไชยนอก.มาขอพร...กับแก้วมังกรกันเถอะ. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  12. Esquivel P, Stintzing FC, Carle R: Phenolic compound profiles and their corresponding antioxidant capacity of purple pitaya (Hylocereus sp.) genotypes. Z Naturforsch C 2007, 62:636–644
  13. Barrangou, Rodolphe, and Jennifer A Doudna, 2016. “Applications of CRISPR Technologies in Research and beyond.” Nature Biotechnology 34(9):933-41.
  14. Herbacha KM, Stintzinga FC, Elssb S, Prestonb C, Schreierb P, Carlea R: Isotope ratio mass spectrometrical analysis of betanin and isobetanin isolates for authenticity evaluation of purple pitaya-based products. Food Chem 2006, 99:204–209.
  15. Lander, Eric S. 2016. “The Heroes of CRISPR.” Cell 1641(1-2): 18-28.
  16. Nurliyana R, Syed Zahir I, Mustapha Suleiman K, Aisyah MR, Kamarul Rahim K: Antioxidant study of pulps and peels of dragon fruits: a comparative study. Int Food Res J 2010, 17:367–375.
  17. Wu. L., H-W. Hsu. Y-C Chen, C-C Chiu. Y- Lin and J.A. Ho. “Antioxidants and antiproliferative activities of red pitaya.” Food Chem 95. 2 (2006): 319-327.