แพงพวยน้ำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
แพงพวยน้ำ
ชื่อสมุนไพร แพงพวยน้ำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น พังพวย,ผักแพงพวย(ทั่วไป),ผักปอดน้ำ(ภาคเหนือ),ปี่แปฉ่าย,จุ่ยเล่ง,สุ่ยหลง,นั่งจั้ว,กั้วกัวเสอ(จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Jussiaea repens Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Jussiaea adscendens Linn, Ludwigia adscendens (L.) H.Hara
ชื่อสามัญ Sunrose willow, Creeping water primrose, Water primrose
วงศ์ ONAGRACEAE
ถิ่นกำเนิดแพงพวยน้ำ
แพงพวยน้ำเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณเขตร้อนของโลก ในทวีปแอฟริการและเอเชีย โดยในทวีปเอเชียมีเขตการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้าง ซึ่งจะพบเห็นได้ตั้งแต่ จีน อินเดีย บังคลาเทศ พม่า เวียดนาม ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย รวมไปถึงในออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบเห็นได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยถูกจัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งในนาข้าว ซึ่งมักจะพบได้ตามทุ่งนา ตามห้วยหนองคลองบึง หรือตามข้างทางที่มีน้ำขังนานๆ
ประโยชน์และสรรพคุณแพงพวยน้ำ
มีการนำแพงพวยน้ำมาใช้รับประทานเป็นอาหาร โดยนำยอดอ่อน ใบอ่อน และส่วนของต้นอ่อน นำมาลวกกินเป็นเครื่องเคียงน้ำพริกต่างๆ หรือใช้ใส่ในแกงส้มแทนผักอื่นๆก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำแพงพวยน้ำไปปลูกประดับในอ่างเลี้ยงปลา หรือปลูกในบ่อดินที่ใช้เลี้ยงปลากินพืชเพื่อให้ปลากินก็จะช่วยลดต้นทุนอาหารปลาได้อีกทางหนึ่ง สำหรับสรรพคุณทางยาของแพงพวยน้ำนั้น ตามตำรายาไทยระบุไว้ว่า ทั้งต้นมีรสจืด เย็นจัด ใช้ดับร้อน แก้บวม ขับปัสสาวะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษ แก้ดีซ่านอันเกิดจากพิษสุรา แก้ไอแห้งๆ แก้ลดแก้ตัวร้อนแก้โรคหนองใน หัด แผลอักเสบ และผื่นคัน
ลักษณะทั่วไปแพงพวยน้ำ
แพงพวยน้ำจัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยหรือไม้ล้มลุกที่มีลำต้นทอดยาวไปตามผิวน้ำหรือบนดินที่ชื้นแฉะลำต้นเป็นรูปกลม อวบน้ำ ผิวตามลำต้นจะไม่มีขนปกคลุม ลำต้นเรียบเป็นสีเขียวอมสีแดง เป็นข้อปุ่มและตามข้อของลำต้นจะมีรากฝอยและมีปุ่มที่ช่วยในการพยุงตัว ให้สามารถลอยน้ำได้ โดยมีความสูงของต้นประมาณ 30-60 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับจากลำต้นแบบเวียนรอบต้น ใบรูปแบบไข่กลับปลายใบกลมมน ส่วนฐานใบเรียวสอบเข้าหาก้านใบ ขอบใบเรียบแผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ต้นล่างสีอ่อนกว่า มีขนขึ้นปกคลุมทั้งสองด้านของแผนใบ ใบมีขนาดกว้าง 0.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-5 เซนติเมตร ก้านใบยาว 0.3-1 เซนติเมตร ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว ตรงข้างใบหรือซอกใบ ก้านดอกยาว 2-3 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ลักษณะแหลมยาวประมาณ 7 ม.ม. ด้านนอกมีขนอ่อนๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ มีสีขาว โคนกลีบเป็นสีเหลืองอ่อน โดยดอกจะยาวประมาณ 12 ม.ม. มีเกสรตัวผู้ 10 อัน มีรังไข่ 5 อัน มีก้านเกสรตัวเมีย 1 อัน ปลายเป็นตุ่มมีรอยแยกตื้น 5 รอย ทั้งนี้ดอกแพงพวยน้ำจะหลุดร่วงได้ง่าย ผล เป็นฝักทรงกระบอกตรง ยาว 2-3 ซ.ม. มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 ม.ม. มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเรียบเป็นมันสีดำหรือน้ำตาลดำ
การขยายพันธุ์แพงพวยน้ำ
แพงพวยน้ำสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดและการแยกต้นปลูก ในอดีตนั้นแพงพวยน้ำมักจะขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากมากกว่าการถูกนำมาขยายพันธุ์โดยมนุษย์ เพราะแพงพวยน้ำถูกจัดเป็นวัชพืชที่รุกรานนาข้าว รวมถึงในแปลงปลูกพืชผักที่เป็นพืชน้ำ หรืออยู่ในที่ชื้นแฉะต่างๆ แต่ในปัจจุบันเมื่อมีการค้นคว้าวิจัยพบว่าแพงพวยน้ำสามารถใช้รับประทานได้และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงรวมถึงยังมีการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรที่สามารถรักษาโรคได้หลายโรค จึงเริ่มมีการเพาะปลูกกันมากขึ้น โดยวิธีการที่นิยมคือการใช้เมล็ดมาเพาะเป็นต้นกล้าแล้วนำไปปลูกต่อไป
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีของแพงพวยน้ำ พบว่าส่วนต่างๆของแพงพวยน้ำพบสารสำคัญๆ หลายชนิด เช่น Flavonoid , glycoside , Glucoline , Phenols และ Amino acid ต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ส่วนที่กินได้ของแพงพวยน้ำ (ลำต้น ยอดอ่อน ใบอ่อน) ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการจากส่วนที่กินได้ของแพงพวยน้ำ (100 กรัม)
- พลังงาน 36 กิโลแคลอรี่
- โปรตีน 3.3 กรัม
- ไขมัน 0.4 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 4.8 กรัม
- ใยอาหาร 3.3 กรัม
- แคลเซียม 57 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 300 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 1.3 มิลลิกรัม
- วิตามิน A 9878 หน่วยสากล
- วิตามิน B2 0.01 มิลลิกรัม
- วิตามิน B3 2.8 มิลลิกรัม
- วิตามิน C 3 มิลลิกรัม
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- แก้หนองใน ปัสสาวะเป็นหนอง โดยใช้ต้นสดทั้งต้น 30 กรัม น้ำตาลกรวด 15 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม หลังอาหารวันละ 2 ครั้ง
- แก้อาการบวมน้ำ โดยใช้แพงพวยน้ำ ชะเอมเทศ หกเหล็ง จุยเจ่า จุยฮ่วยเฮีย กับ อย่างละ 15 กรัม ต้มกับน้ำกิน
- แก้หวัด ตัวร้อน ไอแห้งๆ ใช้ทุกส่วนของต้นที่แห้งแล้ว หนัก 15-30 กรัม ต้มน้ำกิน
- แก้ดีซ่านเกิดจากพิษสุรา ใช้พืชนี้ขณะที่ยังสด 1 กำมือ คั้นเอาน้ำผสมน้ำผึ้งกิน
- แก้ผดผื่นคัน หัด หลังจากหัดออกแล้วไข้ไม่ลด ใช้ต้นสดทั้งต้น หนัก 30-60 กรัม คั้นเอาน้ำแล้วนำไปต้มกิน
- แก้ปวดฟัน ใช้ต้นแห้งทั้งต้น 60 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม
- แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ท้องผูก ใช้ต้นสดทั้งต้น ตำคั้นเอาน้ำ 60-120 กรัม ผสมน้ำผึ้งแล้วนำไปตั้งไฟให้อุ่นแล้วกิน
- แก้แผลหกล้ม แผลเน่าเปื่อย ใช้ต้นสดตำพอก
- แก้เด็กเป็นฝี มีหัวกลัดหนอง ยังไม่แตก ใช้ทั้งต้นต้มเอาน้ำล้างและเอาต้นสดๆ ตำพอกบริเวรที่เป็นอีกทีหนึ่ง
- แก้กลากน้ำนม ใช้ต้นสดทั้งต้นตำพอกบริเวณที่เป็น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
มีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของแพงพวยน้ำทั่วในไทยและต่างประเทศหลายฉบับระบุถึงแพงพวยน้ำ มีฤทธิ์ต่างๆ เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือดรวมถึง ยับยั้งการอักเสบได้ เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยา
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้แพงพวยน้ำเป็นยาสมุนไพรควรคำนึงถึงความปลอดภัย และความระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้แพงพวยน้ำเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง
- เต็ม สมิตินันท์.2523.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย(ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง).กรมป่าไม้ 379 หน้า.
- ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ.พังพวย.คอลัมน์ สมุนไพรน่ารู้.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่6.ตุลาคม2521
- วัชรี ประชาศรัยสรเดช.2542.ผักพื้นเมือง เหนือ อีสาน ได้ .81 หน้า.
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “แพงพวยน้ํา”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 402.
- "The Plant List: A Working List of All Plant Species". สืบค้นเมื่อ 15 July 2015.
- กองโภชนาการ กรมอนามัย.2530.ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม.48หน้า.