ถั่วฝักยาว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ถั่วฝักยาว งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ถั่วฝักยาว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ถั่วนา, ถั่วค้าง (ภาคกลาง), ถั่วปี๋ (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vigna unguicalata subsp. Sesquipedalis(L.) Verdc.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Vigna sinesis subsp. Sesquipedalis L. koern., Vigna unguiculata L. Walp., Vigna
ชื่อสามัญ Yard long bean, Snake bean, Asparagus bean, String bean
วงศ์ Fabaceae


ถิ่นกำเนิดถั่วฝักยาว

มีรายงานการบันทึกของถั่วฝักยาวเอาไว้ว่า อยู่ในอินเดีย พม่า และทางตอนใต้ของจีน จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปในพื้นที่ต่างๆ ของทวีปเอเชีย และทวีปแอฟริกา สำหรับในประเทศไทยคาดกันว่าถั่วฝักยาว ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยนานแล้ว เนื่องจากพบว่าเมื่อ พ.ศ.2416 มีบันทึกที่ปรากฎชื่อถั่วฝักยาวในหนังสืออักขราภิธานของหมอปรัดเลแล้ว กล่าวว่าถั่วฝักยาวเป็น ชื่อถั่วอย่างหนึ่ง ฝักมันยาวๆ นั้น และในปัจจุบันถั่วฝักยาวถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศยังเป็นพืชที่ปลูกได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย

ประโยชน์และสรรพคุณถั่วฝักยาว

  • บำรุงกำลัง
  • บำรุงไขมัน
  • บำรุงม้าม
  • บำรุงไต
  • แก้ท้องอืด
  • แก้เรอเปรี้ยว
  • แก้ท้องบิด
  • แก้อาเจียน
  • แก้มีปัสสาวะกระปิดกระปอย
  • แก้อาการกระหายน้ำ
  • แก้ตกขาวในสตรี
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • แก้โรคหนองใน
  • แก้โรคบิด
  • แก้โรคปัสสาวะพิการ
  • แก้พอกฝี
  • แก้อาการขัดปัสสาวะ
  • ช่วยรักษาแผลที่เต้านม
  • แก้อาการบวมน้ำ
  • ช่วยในการระงับอาการปวด
  • แก้อาการปวดเอว

          สำหรับประโยชน์หลักๆ ของถั่วฝักยาว คือ ใช้เป็นอาหารโดยส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์มากที่สุดของถั่วฝักยาว คือ ส่วนที่เป็นฝักอ่อน ซึ่งฝักอ่อนของถั่วฝักยาวมีลักษณะฉ่ำน้ำ ค่อนข้างกรอบ หวานมัน ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว จึงใช้เป็นผักสดได้ดี ใช้กินกับเครื่องจิ้มต่างๆ หรือ อาจเป็นเครื่องเคียงอาหารรสจัด เพราะจะช่วยลดความเข้มข้นของอาหารเหล่านั้นลงได้ นอกจากนี้ถั่วฝักยาวยังนิยมนำไปใช้ในการปรุงอาหารโดยตรงด้วย เช่น อาการจำพวกผัด หรือ แกงต่างๆ หรืออาจจะใช้แทนมะละกอในส้มตำ หั่นซอยตามขวางบางๆ ใส่ในทอดมันปลากราย หรือ กินกับขนมจันน้ำยาก็ได้

ถั่วฝักยาว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ถั่วฝักยาว

ใช้บำรุงไขมัน บำรุงกำลัง บำรุงม้าม บำรุงไต แก้กระหายน้ำ แก้อาเจียน แก้ปัสสาวะกะปิดกะปอย แก้บิด แก้ตกขาวในสตรี โดยใช้ฝักอ่อนมารับประทานสด ใช้แก้ท้องอืดท้องเฟ้อแน่นท้อง เนื่องจากรับประทานมากจนเกินไป โดยใช้ฝักสดมาคั้นเอาน้ำรับประทาน ใช้แก้อาการปัสสาวะขัด แก้โรคบิด แก้อาเจียน บำรุงม้ามและไต แก้กระหายโดยใช้เมล็ดแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้โรคหนองใน และปัสสาวะเป็นหนองโดยใช้ใบสดประมาณ 60-100 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาอาการปวดตามเอว ปวดบวมรักษาแผลที่เต้านม ด้วยการใช้เปลือกฝักประมาณ 100-150 กรัม นำมาต้มกินหรือนำมาตำพอกบริเวณที่ปวดได้ ใช้เป็นยาบำรุงไตโดยใช้ถั่วฝักยาว สด หรือ เมล็ดนำมาต้มกับน้ำผสมเกลือรับประทาน ใช้รักษาฝีเนื้อร้าย หนองในและช่วยทำให้เนื้อเยื่อเจริญเร็วขึ้น โดยใช้รากสดนำไปเผาแล้วนำมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของถั่วฝักยาว

ถั่วฝักยาว จัดเป็นพืชเถาเลื้อย ลักษณะเลื้อยพันไม่มีมือเกาะลำตัน หรือ เถามีข้อปล้อง ที่เป็นตายอดที่สามารถพัฒนาเป็นใบ และกิ่งก้านและลำต้นหรือเถาจะม้วนพันยึดเกาะสิ่งต่างๆ ได้โดยมีลักษณะการเกี่ยวพันจะเป็นแบบทวนเข็มนาฬิกา

           ใบ เป็นใบประกอบซึ่งจะเป็นแบบฝ่ามือจะมีอยู่สามใบ เกิดสลับบนต้น หรือ กิ่ง ใบมีขนาดเล็กกลมรี รูปร่างของใบเป็นรูปไข่หรือรูปหอก มีขนาด 6-10 ซม. ใบมีสีเขียวถึงเขียวเข้ม ก้านใบยาว ที่โคนใบมีหูใบ 2 อัน

           ดอก ออกเป็นช่อกระจะแบบสมบูรณ์เพศ ตามซอกใบ หรือ มุมใบโดยในแต่ละช่อ 1-6 ดอก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลา 1-3 ซม. ด้านล่างดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียว ส่วนกลีบดอกมีสีม่วงสีขาวหรือจะมีสีเหลืองอ่อนแล้วแต่สายพันธุ์

          ฝัก มีสีเขียวอ่อนหรือม่วงแดง มีลักษณะทรงกลมเรียวยาว มีความยาวประมาณ 20-80 ซม. ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ผิวขรุขระ มีร่องแบ่งสีเขียวเข้มตรงกลางผล 2 เส้น ตรงข้ามกัน ตลอดแนวความยาวของฝัก ด้านในมีเมล็ดตลอดความยาวเป็นช่องๆ เมล็ดมีรูปคล้ายไต มีหลายสีเช่นสีขาว สีน้ำตาลแดงและสีสลับน้ำตาล-ขาว ดำ-ขาว และแดง-ขาว

 ถั่วฝักยาว

ถั่วฝักยาว

การขยายพันธุ์ถั่วฝักยาว

ถั่วฝักยาว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดโดยมีวิธีการดังนี้ ก่อนอื่นต้องทำการเตรียมเมล็ดพันธุ์โดยจะต้องคัดแยกเมล็ดด้วยการนำเมล็ดไปแช่น้ำ คัดเมล็ดที่ลอยน้ำทิ้ง ส่วนเมล็ดที่จมน้ำให้แช่กับน้ำที่ผสมยาฆ่าเชื้อรานาน 60 นาที ก่อนลงหยอดในแปลงปลูก การเตรียมดินขั้นตอนแรกให้ไถพรวน ความลึกประมาณ 6-8 นิ้ว ตากดินทิ้งไว้ 5-7 วัน เพื่อทำลายไข่แมลงและศัตรูพืชบางชนิด จากนั้นเก็บเศษวัชพืชออกจากแปลงให้หมด แล้วจึงไถคราด แล้วใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น ส่วนการยกร่องสำหรับถั่วฝักยาวนั้น ปกติจะยกร่องกว้างประมาณ 1-1.2 เมตร โดยให้ความยาวเหมาะสมกับสภาพแปลง และเตรียมร่องระหว่างแปลงสำหรับเข้าไปปฏิบัติงาน กว้างประมาณ 0.5-0.8 เมตร ส่วนการเตรียมหลุมปลูกให้ใช้จอบขุดหลุมระยะระหว่างแถวห่างกัน 0.8 เมตร ระยะระหว่างหลุม 0.5 เมตร โดยให้หลุมลึกประมาณ 4-6 นิ้ว ใช้ปุ๋ยเคมีสูตรที่เหมาะสมกับถั่วฝักยาว เช่น 15-15-15, 13-13-21, 12-24-12 ใส่หลุมละ ½ ช้อนแกง (10-15 กรัม) คลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นจึงทำการปลูกโดยหยอดเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้ หลุมละ 4 เมล็ด แล้วกลบดินให้ลึกประมาณ 5 เซนติเมตร แล้วรดน้ำทันที สำหรับการให้น้ำระยะ 1-7 วัน ควรให้น้ำทุกวันๆ ละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ให้พิจารณาสภาพภูมิอากาศ และสภาพดินด้วย หลังจากหยอดเมล็ดแล้ว 5-7 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก เมื่อมีใบจริงประมาณ 4 ใบ ให้ถอนแยกเหลือต้นแข็งแรงไว้ 2 ตนต่อหลุม ขณะที่ถอนแยกให้พรวนดินและกำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้วัชพืชมาแย่งน้ำ และอาหารจากถั่วฝักยาวด้วย สำหรับการทำค้างนั้น จะเริ่มใช้ไม้ไผ่ หรือ ไม้อื่นๆ ที่หาไดง่ายตามท้องถิ่น โดยความยาวของไม้มีประมาณ 2.5-3 เมตร หรือ อาจจะสร้างโครงเสาแล้วใช้ลวดขึงด้านบน แล้วใช้เชือกห้อยลงมายังลำต้นถั่วฝักยาวให้เลื้อยขึ้น ซึ่งเวลาการใส่ค้างถั่วฝักยาวนั้นจะเริ่มหลังจากงอกแล้ว 15-20 วัน โดยจับต้นถั่วฝักยาว ให้พันเลื้อยขึ้น ค้างในลักษณะทวนเข็มนาฬิกา สำหรับการเก็บเกี่ยวถั่วฝักยาวสามารถเก็บเกี่ยวได้หลังจากปลูกประมาณ 55-75 วัน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการวิจัยจากต่างประเทศระบุถึงองค์ประกอบของเปลือกหุ้มเมล็ดของฝักถั่วฝักยาวพันธุ์สีม่วง ระบุว่าพบสารนกลุ่มแอนโธไซยานินดังนี้ ในฝักมีสีม่วงพบสารกลุ่ม แอนโธไซยานิน 5 ชนิด ได้แก่ delphinidin-3-o-glucoside, cyaniding-3-O-sambioside, cyaniding-3-o-glucoside, pelargonidin-3-O-glucoside,peonidin-3-O-glucoside ส่วนเปลือกหุ้มเมล็ดพบสารแอนโธไซยานิน 7 ชนิด รวมทั้งเดลฟินิดิน-3-o-กาแลคโตไซด์, พิทูนิดิน-3-o-glucoside, cyaniding-3-0-galactoside, petunidin-3-o-glucoside, delphinidin-3-o-galactoside,malvidin-3-o-glucoside, cyaniding-3-o-sambioside, cyaniding-3-o-glucoside, peonidin-3-o-glucoside นอกจากนี้ยังพบกรดอะมิโนต่างๆ อีกมากมายอาทิเช่น Tryptophan, Threonine, Tyrosine,Methionine, Histidine, Leucine, Arginine เป็นต้น อีกทั้งฝักถั่วฝักยาว ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของถั่วฝักยาว (100กรัม)

พลังงาน 47 กิโลแคลอรี่
คาร์โบไฮเดรต 8.35 กรัม
ไขมัน 0.4 กรัม
โปรตีน 2.8 กรัม
แคลเซียม 50 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 0.47 มิลลิกรัม
แมกนีเซียม 44 มิลลิกรัม
แมงกานีส 0.205 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 59 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 240 มิลลิกรัม
สังกะสี 0.37 มิลลิกรัม
วิตามิน เอ 43 ไมโคกรัม
วิตามิน บี1 0.107 มิลลิกรัม
วิตามิน บี2 0.11 มิลลิกรัม
วิตามิน บี3 0.41 มิลลิกรัม
วิตามืน บี5 0.55 มิลลิกรัม
วิตามิน บี6 0.024 มิลลิกรัม
วิตามิน บี9 62 ไมโครกรัม
วิตามินซี 18.8 มิลลิกรัม

 

ถั่วฝักยาว

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของถั่วฝักยาว

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของถั่วฝักยาว ในต่างประเทศระบุว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ต้านไวรัส และแบคทีเรีย ต้านมะเร็ง บำรุงสายตา ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของถั่วฝักยาว

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ถั่วฝักยาว จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายหลายด้านแต่ทั้งนี้ก็มีข้อควรระวังในการรับประทานถั่วฝักยาวดังนี้ สำหรับผู้มีอาการท้องผูกไม่ควรนำเมล็ดของถั่วฝักยาวมารับประทานเนื่องจากอาจทำให้อาการท้องผูกแย่ลงกว่าเดิม นอกจากนี้สิ่งที่ต้องระวังให้มากนั่นก็คือสารพิษตกค้างจากการปลูกถั่วฝักยาวซึ่งส่วนมากจะมาจากยาฆ่าแมลงที่ตกค้างโดยก่อนนำมารับประทานหรือประกอบอาหารควรที่จะนำถั่วฝักยาวมาล้างให้สะอาดหลายๆ ครั้ง เพื่อขจัดสารพิษ หรือ ลดปริมาณยาฆ่าแมลงที่ตกค้างให้เจือจางลงให้มากที่สุด
 

เอกสารอ้างอิง ถั่วฝักยาว
  1.  เดชา ศิริภัทร. ถั่วฝักยาว ผักผลไม้พื้นบ้านยาวที่สุดในสงศ์ตระกูล. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 224. ธันวาคม 2540.
  2. เฉลิมเกียรติโภคาวัฒนาและภัสรา ชวประดิษฐ์. 2536. ถั่วฝักยาว (พิมพ์ครั้งที่ 1) กองส่งเสริม พืชสวน, กรมส่งเสริมการเกษตร.
  3. การปลูกถั่วฝักยาว. เอกสารคำแนะนำที่ 167 กรมการส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตร และสหกรณ์. 10 หน้า.
  4. กรมส่งเสริมการเกษตร. 2528. รายงานผลการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องการปลูกถั่วฝักยาว ระยอง : สํานักงานส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันตก.
  5. กรมส่งเสริมการเกษตร. 2535. โครงการพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ฝัก รุ่นที่ 5 วันที่ 28-30 กรกฏาคม 2535, กองขยายพันธุ์พืช.
  6. ถั่วฝักยาวและการปลูกถั่วฝักยาว. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  7. Rongda Chen, Yurui Shi, Guiming Liu, Yanzhou Tao, Yangyang Fan, Xiaolin Wang, Li Li. Spectroscopic studies and molecular docking on the interaction of delphinidin-3-0-galactoside with tyrosines. Biotechnology and Applied Biochemistry 2022, 69 (4), 1327-1338.
  8. Joseph M. Awika, Kwaku G. Duodu. Bioactive polyphenols and peptides in cowpea (Vigna unguiculala) and their health promoting properties: A review. Journal of Functional Foods 2017, 38, 686-697.
  9. Yan Li, Qiyan Chen, Xiaodong Xie, Yu Cai, Jiangfeng Li, Yiling Feng, Yanjie Zhang. Integrated Metabolomics and Transcriptomics Analyses Reveal the Molecular Mechanisms Underlying the Accumulation of Anthocyanins and Other Flavonoids in Cowpea Pod (Vigna unguiculata L.). Journal of Agricultural and Food Chemistry 2020, 68 (34), 9260-9275.
  10. Tae Joung Ha, Jae Eun Park, kwang-Sik Lee, Woo Duck Seo, Seok-Bo Song, Myoung-Hee Lee, Sungup Kim, Jung-In Kim, Eunyoung On, Suk-Bok Pae, Do-Yeon Kwak, Jin Hwan Lee. Identification of anthocyanin compositions in black seed coated Korean adzuki bean (Vigna angulars) by NMR and UPLC-Q-Orbitrap-MS/MS and screening for their antioxidant properties using different solvent systems. Food Chemistry 2021, 346,128882.
  11. Alejandro Villasante, Madison S. Powell, Katerina Moutou, Gordon K. Murdoch, Ken Overturt, Jury wacyk, Ronald W. Hardy. Effects of anthocyanidins on myogenic differentiation and antioxidant defense in primary myogenic cells isolated from rainbow trout (Oncorhynchus mykiss). Aquaculture 2016, 454, 81-89.
  12. Mayya P. Razgonova, Marina O. Burlyaeva, Yulia N. Zinchenko, Ekaterina. A. Krylova, Olga A. Chunikhina, Natalla M. Ivanova, Alexander M. Zakharenko, Kirill S. Golokhvast. Identification and Spatial Distribution of Bioactive Compounds in Seeds Vigna unguiculata (L.) Walp. by Laser Microscopy and Tandem Mass Spectrometry. Plants 2022, 17 (16), 2147.