โหระพา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

 โหระพา งานวิจัยและสรรพคุณ 29ข้อ

 

ชื่อสมุนไพร  โหระพา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น โหระพาไทย,โหรพาเทศ(ทั่วไป),กอมก้อ(ภาคเหนือ,ภาคอีสาน),อิ่มคิมขาว(ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน),ห่อวอซุ,ห่อกวยซวย(กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Ocimum basilicum Linn. 
ชื่อสามัญ  Sweet Basil , Common Basil 
วงศ์  Labiatae

 

ถิ่นกำเนิดโหระพา

โหระพามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือแถบประเทศไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ แต่ได้มีการกระจายพันธุ์ไปทั่วโลกหลายพันปีมาแล้ว โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียและยุโรป กล่าวกันในบางตำราว่าอาณาจักรโรมันได้นำโหระพาไปเผยแพร่ทั่วทวีปยุโรป แล้วจึงกระจายไปทั่วโลกในเขตร้อนและอบอุ่นทั่วโลก โหระพาจึงนับเป็นพืชจากแถบโลกเก่าทางตะวันออกที่แพร่หลายที่สุดชนิดหนึ่งจนอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันการปลูกโหระพาในประเทศตะวันตกแถบอบอุ่น มีมากกว่าถิ่นกำเนิดเดิมคือเขตร้อนของเอเชียเสียอีก

           นอกจากนี้ชื่อโหระพาภาษาอังกฤษคำว่า Basil มาจากภาษากรีก basileus แปลว่า "ราชา หรือ ผู้นำของปวงชน" ชื่อนี้เนื่องมาจากกลิ่นดุจเครื่องหอมในราชสำนักของโหระพา และชื่ออื่นของโหระพาในภาษาแถบยุโรปต่างก็มีรากศัพท์มาจากคำว่าราชานี้ทั้งสิ้น ซึ่งเชื่อว่าโหระพาถูกใช้เป็นส่วนประกอบของสมุนไพรที่ราชวงศ์ยุโรปโบราณใช้ใส่ในน้ำอาบ ปัจจุบันโหระพาเป็นพืชที่มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในทวีปเอเชียยุโรป อเมริกาใต้และแอฟริกา สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ รวมถึงสามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศเช่นกัน โดยโหระพาที่ปลูกกันทั่วไปในประเทศไทยส่วนมากเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกต่อๆ กันมา โดยเก็บเมล็ดพันธุ์เอง และต่อมาบางที่เกิดจาการกลายพันธุ์ไปแต่ก็ยังไม่มีการแบ่งแยกเป็นแต่ละพันธุ์อย่างชัดเจน


ประโยชน์และสรรพคุณโหระพา

  • ใช้แต่งกลิ่นอาหาร
  • ใช้แต่งกลิ่นยาสีฟัน ยาที่ใช้กับปากและคอ  ทำโลชั่น ครีม แชมพู สบู่
  • ใช่น้ำมันโหระพายังใช้ไล่แมลง
  • แก้ลมวิงเวียน
  • ช่วยขับลมในลำไส้
  • ช่วยขับผายลม
  • แก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • แก้ปวดท้อง ทำให้เรอ
  • แก้พิษตานซาง
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • แก้หวัด
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • แก้พิษตานซาง
  • แก้เด็กนอนสะดุ้งผวาเพราะโทษน้ำดี
  • แก้บิด ทำให้อุจจาระไม่เกาะลำไส้ ถ่ายสะดวก ยาระบาย
  • ใช้พอกฝีรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  • แก้ปวดหัว
  • แก้ปวดกระเพาะอาหาร  จุกเสียดแน่น ท้องเสีย 
  • แก้ประจำเดือนผิดปกติ
  • แก้ฟกช้ำ
  • แก้ผดผื่นคัน มีน้ำเหลือง
  • ใช้แก้ตาแดง มีขี้ตามาก ต้อตา
  • แก้เด็กเป็นแผล มีหนองเรื้อรัง
  • แก้โรคเกาต์
  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้กลิ่นปากหรือลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
  • ช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดและมะเร็งได้
  • ช่วยปกป้องสารพันธุกรรมจากการเกิดความเสียหายและมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งเต้านมในหลอดทดลอง
  • ช่วยต้านการเกิดภาวะเป็นพิษต่อไขกระดูกและระบบเลือด

 

           โหระพาเป็นพืชที่มีกลิ่นหอม นิยมนำมาประกอบอาหารหลากชนิดในประเทศไทย ซึ่งช่วยปรุงแต่งกลิ่นรสของอาหารให้น่ากินยิ่งขึ้น ช่วยดับกลิ่นคาวของอาหารหลายชนิดใช้ใบปรุงอาหารเป็นผักโรยชูรสได้หลายชนิด ใบและยอดอ่อนใช้กินเป็นผักสด เป็นเครื่องแนมอาหารคาวหรืออาหารว่างได้เป็นอย่างดี

โหระพา

โหระพา

ลักษณะทั่วไปโหระพา

โหระพาจัดเป็นพืชล้มลุก มีระบบรากแก้ว และรากฝอย ลำต้นมีความสูงประมาณ 40-100ซม. ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม แก่นด้านในเป็นไม้เนื้ออ่อน ผิวลำต้นอ่อนหรือกิ่งอ่อนมีสีม่วงแดง ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่ระดับต่ำของลำต้นจนแลดูเป็นทรงพุ่ม กิ่งแตกออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ใบโหระพาออกเป็นใบเดี่ยว แทงออกบริเวณข้อของกิ่ง ใบมีรูปไข่ คล้ายใบกะเพรา ใบมีสีเขียวเข้มหรือม่วงแดงหรือเขียวอมม่วง กว้างประมาณ 3-4 ซม. ยาวประมาณ 6 ซม. โคนใบมน ใบปลายแหลม แผ่นใบเรียบ และค่อนข้างเป็นมัน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย มีเส้นใบมองเห็นชัดเจน ใบไม่มีขน ใบมีน้ำมันหอมระเหยทำให้มีกลิ่นหอม  ดอกมีสีขาวหรือชมพูอ่อน ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 7-12 เซนติเมตร มีใบประดับสีเขียวอมม่วงซึ่งจะคงอยู่เมื่อเป็นผล กลีบดอกมีโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 2 ส่วน เกสรตัวผู้ 4 อัน  ผล ผลเป็นสีน้ำตาล มีเมล็ด 4 เมล็ด ซึ่งเมล็ดเป็นรูปกลมรียาวประมาณ 2 มม.


การขยายพันธุ์โหระพา 

โหระพาสามารถขยายพันธุ์ได้ 3 วิธี คือ การหว่านเมล็ด การเพาะกล้าย้ายปลูกและการปักชำกิ่ง แต่วิธีที่นิยมจะเป็นการปักชำกิ่ง และการเพาะกล้าย้ายปลูก โดยมีวิธีการดังนี้

          การเพาะกล้าย้ายปลูก โดยการหว่านเมล็ดให้กระจายทั่วแปลงแล้วใช้แกลบสด แกลบเผาหรือฟางหว่านหรือคลุมบางๆ แล้วรดน้ำตามทันที หลังจากนั้น รดน้ำทุกวันเช้าและเย็น จนกระทั่งเมื่ออายุได้ 20-25 วัน จึงทำการย้ายปลูก โดยการถอนกล้าแล้วเด็ดยอดนำไปปลูกในแปลง โดยใช้ระยะปลูก 20x20 เซนติเมตร เมื่อถอนกล้าออกจากแปลงแล้วจะต้องปลูกให้เสร็จภายในวันเดียวกัน หลังจากปลูกเสร็จควรหาฟางหรือหญ้าแห้งมาคลุมเพื่อเก็บความชื้นและรดน้ำตามทันที

           การปักชำ โดยตัดกิ่งที่โตเต็มที่ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แล้วปลิดใบออกให้หมดนำไปปักชำในแปลง โดยใช้ระยะปลูก 20x20 เซนติเมตร ใช้หญ้าแห้งหรือฟางแห้งสะอาดคลุมให้ทั่วแปลง และรดน้ำตามทันที สำหรับการขยายพันธุ์ทั้ง 2 วิธีนี้ ควรทำในตอนเย็นเพราะเป็นช่างที่มีสภาพอากาศเหมาะสม

           ทั้งนี้โหระพาเป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูงและสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงควรมีการรดน้ำให้ทุกวัน แต่ระวังอย่าปล่อยให้มีการท่วมขังของน้ำในแปลง ในระยะแรกควรทำการพรวนดินและกำจัดพืชทุกๆ 1-2 สัปดาห์ โดยการใช้มือถอนจอบหรือเสียมดายหญ้าออกและควรทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้กระทบต่อต้นและราก

           หลังจากปลูกประมาณ 30-35 วัน สามารถทำการเก็บเกี่ยวได้ โดยใช้มีดคมๆ ตัดต้นหรือกิ่ง ห่างจากยอดลงมาประมาณ 10-15 เซนติเมตร ซึ่งการเก็บเกี่ยวสามารถกระทำได้ทุกๆ 15-20 วัน ไปจนถึงอายุ 7-8 เดือน


องค์ประกอบทางเคมี

            ใบโหระพามีน้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณร้อยละ 0.1-1.5 เมื่อทำการวิเคราะห์ด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างจาก headspace และตรวจสอบด้วย gas chromatography พบว่าในน้ำมันหอมระเหยประกอบด้วยสารเมทิลชาวิคอล (methylchavicol) เป็นสารหลัก (ร้อยละ 93) และสารกลุ่มเทอร์พีน ได้แก่ลินาโลออล (linalool) และซินีออล(1,8-cineol) 
            นอกจากนี้ ยังมีสารยูจีนอล (eugenol) กรดกาเฟอิก (caffeic acid) และกรดโรสมารินิก (rosmarinic acid)Ocimine, alpha-pinene, eucalyptol , geraniol,limonene, eugenol methyl ether.methyl cinnaminate, 3- hexen -1- ol, estragole

            นอกจากนี้โหระพายังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของโหระพา (ใบสด 100 กรัม)

-          พลังงาน 251 กิโลแคลอรี่

-          โปรตีน 14.4 กรัม

-          ไขมัน 4 กรัม

-          ใยอาหาร  17.8  กรัม

-          คาร์โบไฮเดรต 61 กรัม

-          แคลเซียม 2,113 มิลลิกรัม

-          ฟอสฟอรัส 46 มิลลิกรัม

-          เหล็ก 42 มิลลิกรัม

-          แมงกานีส 42.2 มิลลิกรัม

-          ฟอสฟอรัส 490 มิลลิกรัม

-          โพแทสเซียม 3,433 มิลลิกรัม

-          โซเดียม 34.0 มิลลิกรัม

-          สังกะสี 6.0 มิลลิกรัม

-          วิตามิน A 9375 IU

-          วิตามิน B1 0.1 มิลลิกรัม

-          วิตามิน B2 0.2 มิลลิกรัม

-          วิตามิน C 22 มิลลิกรัม

-          เบต้า แคโรทีน 452.16 ไมโครกรัม

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของโหระพา
 
 
โครงสร้างโหระพา
 

ที่มา : Wikipedia

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

แก้ไข้ ปวดศีรษะ ขับเหงื่อ ขับลม ขับเสมหะ ขับพยาธิ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย ช่วยเจริญอาหาร และการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยใช้ยอดอ่อนต้มกับน้ำ  รับประทานเป็นชา หรือรับประทานเป็นผักสดก็ได้

           รักษาอาการเหงือกอักเสบ เป็นหนอง โดยบดใบโหระพาแห้งให้เป็นผงทาบริเวณที่เป็น

           บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน โดยคั้นน้ำจากใบโหระพาสด ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอ้อย 2 ช้อน รับประทานวันละ 2 ครั้ง พร้อมกับน้ำอุ่น

           แก้สะอึก โดยใช้ใบโหระพาสดหรือแห้ง พร้อมขิงสดแช่ในน้ำเดือด รับประทานในขณะที่น้ำยังร้อน

           ต้านมะเร็ง แก้สิว แก้ไข้ แก้หวัด แก้ไอ  แก้พิษฝี ช่วยย่อยและเจริญอาหาร และช่วยกระตุ้น-สร้างภูมิต้านทานต่อโรคภัยไข้เจ็บได้  นำใบแห้งมาต้มประมาณ 2-3 ช้อนชา กับน้ำเดือด 1 ถ้วย  ดื่มวันละ 3 ถ้วย

           เด็กปวดท้องให้ใช้ใบโหระพา 20 ใบ ชงน้ำร้อนและนำมาให้เด็กดื่มหรือนำมาชงนมให้เด็กดื่ม ปลอดภัยกว่ายาขับลมที่ผสมแอลกอฮอล์ 

           เมล็ดของโหระพาเมื่อแช่น้ำจะพองตัวเป็นเมือก ใช้กินแก้บิด ช่วยหล่อลื่นลำไส้เป็นยาระบาย เนื่องจากไปเพิ่มจำนวนกากอาหาร (bulk laxative)

           แก้ไอและหลอดลมอักเสบใช้ใบคั้นเอาน้ำ 2-4 กรัม ผสมน้ำผึ้ง

           แก้ปวดฟันใช้สำลีก้อนเล็กๆ ชุบน้ำคั้นจากใบอุดโพรงฟันที่ปวด

           ลดอาการอักเสบของแผลทำให้แผลหายเร็ว โดยนำใบสดประมาณ 5-10 ใบมาบีบขยำ แล้วนำมาประคบแผล
           ลดอาการปวด และบวม เนื่องจากแมลงสัตว์กัดต่อย โดยนำใบมาขยำ แล้วใช้มาหรือประคบบริเวณแมลงกัดต่อยจะช่วยให้


การศึกษาทางเภสัชวิทยา

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเมื่อสกัดน้ำมันหอมระเหยจากใบโหระพาด้วยเมทานอล พบว่ากรดโรสมารินิกในใบโหระพามีประสิทธิภาพต้านอนุมูลอิสระเมื่อทดสอบโดยวิธี DPPH scavenging activity

           นอกจากนี้ การทดสอบน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดด้วยน้ำจากใบโหระพาต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่ถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระในห้องทดลอง พบว่าสารสกัดน้ำและน้ำมันหอมระเหยจากโหระพามีฤทธิ์ป้องกันความเสียหายจากการทำลายของอนุมูลอิสระได้

           ฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลและแผ่นคราบ (พลัค) ในกระแสเลือดงานวิจัยการใช้ใบโหระพาเป็นยาลดคอเลสเตอรอล ในเลือดของสัตว์ทดลองที่ประเทศโมร็อกโกพบว่า สารสกัดโหระพามีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในเลือดของหนูทดลองที่ถูกทำให้มีปริมาณไขมันสูง เนื่องจากการสะสมไขมันของแม็กโครฟาจที่เหนี่ยวนำโดยแอลดีแอล-คอเลสเตอรอล (LDL-C) หรือไขมันไม่ดี มีบทบาทสำคัญในการเกิดแผ่นคราบ (พลัค) ของโรคหลอดเลือดอุดตัน

           คณะทำงานที่ประเทศอิตาลีจึงทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดกับการต้านออกซิเดชันของไขมันไม่ดี งานวิจัยพบว่าสารสกัดเอทานอลของโหระพามีฤทธิ์ต้านไขมันไม่ดี ออกซิเดชันจากการเหนี่ยวนำของ Cu (2+)

           นอกจากนี้ สารสกัดโหระพาลดการรวมตัวสะสมของหยดไขมันแม็กโครฟาจที่เกิดจากไขมันไม่ดีที่เปลี่ยนไป สารสกัดโหระพาไม่มีผลต่อการเกิดปฏิกิริยาเอสเทอร์ ของคอเลสเตอรอลและการสังเคราะห์ไตรกลีเซอรอลในเซลล์แต่อย่างใด แม็กโครฟาจที่ได้รับสารสกัดโหระพาลดการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลในสภาพที่ไม่ใช่เอสเทอร์ และลดอัตราการทำงานของ surface scavenger receptor

           ฤทธิ์ต้านจุลชีพ

  • ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย : สารสกัดจากโหระพามีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ก่อโรค เช่น Staphylococcus, Enter-ococcus และ Pseudomonas น้ำมันหอมระเหยจากโหระพาที่สกัดด้วยวิธี hydrodistillation มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียแกรมบวก แกรมลบ
  • ฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อสิว : นอกจากนี้ งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวรพบว่า สารสกัดเอทานอลของใบโหระพามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของการเกิดสิว Propionibacterium acnes ได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับสารสกัดจากพืชร่วมตระกูลโหระพาอื่นๆ เช่น กะเพรา
  • ฤทธิ์ต้านเชื้อรา : น้ำมันโหระพามีสารสำคัญคือ linalool และ eugenol ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้ง Sclerolinia sclero-tiorum, Rhizopus stolonifer and Mucos spp. น้ำมันโหระพาในขนาด 1.5 ml/l มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของไมซีเลียมเชื้อรา 22 ชนิด รวมถึงสายพันธุ์ที่สร้างไมโคท็อกซินของ Aspergillus flavus และ Aspergillus parasiticus ด้วย
  • ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส : โหระพามีการใช้งานมานานในการแพทย์แผนจีน การศึกษาฤทธิ์สารสกัดโหระพาและสารสำคัญในการต้านไวรัสพบว่าสารสกัดน้ำและเอทานอลของโหระพา และสารสำคัญคือเอพิจีนิน

           ลินาโลออล และกรดเออเซลิกมีฤทธิ์ต้านไวรัสแบบ broad sprectrum ครอบคลุมดีเอ็นเอไวรัส (herpes viruses (HSV), adenoviruses (ADV) hepatitis B virus) และ RNA ไวรัส (coxsackievirus B1 (CVB1) and enterovirus 71 (EV71)

  • ฤทธิ์ต้านปรสิต : น้ำมันโหระพามีฤทธิ์ต้านปรสิต Giardia lamblia สารออกฤทธิ์ต้าน G. lamblia คือ ลินาโลออล

           ฤทธิ์ต้านสารก่อมะเร็งน้ำมันโหระพาสามารถเพิ่มฤทธิ์ของเอนไซม์ glutathione-S-transferase มากกว่าร้อยละ 78 ในกระเพาะ ตับ และหลอดอาหารของหนูทดลองและสามารถต้านการก่อมะเร็งของหนูได้ โดยมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิด squamous cell carcinoma ในกระเพาะอาหารของหนูทดลอง และพบว่าน้ำมันโหระพามีพิษต่อเซลล์มะเร็งเมื่อทดสอบด้วยวิธี MTT ในเซลล์มะเร็ง murine leukemia และ human mouth epidermal carcinoma

           ฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์น้ำมันสกัดจากใบโหระพามีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ของ Samonella typhimurium มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ได้ดีใกล้เคียงกับฤทธิ์ของวิตามินอี ฤทธิ์ดังกล่าวเกิดจากฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของน้ำมันโหระพา

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ  สารสกัดจากใบโหระพามีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ cyclooxygenase และ lipoxygenase ซึ่งไปเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบในเมตาบอลิกของกรดอาราชิโดนิก (arachidonic acid) พบว่าสารกลุ่มเทอร์พีนที่แยกได้จากรากและลำต้นของโหระพามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

           การศึกษาฤทธิ์ต้านอักเสบของทิงเจอร์โหระพา พบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยออกฤทธิ์ที่ไขกระดูกอย่างเฉียบพลัน การศึกษาผลของทิงเจอร์โหระพา (1:10) ในการลดการอักเสบที่เกิดจากเทอร์เพนไทน์ของหนู เทียบกับการใช้ไดโคลฟีแนก (30 มก./100 ก.) โดยการวัดเม็ดเลือดขาวโดยรวมและแยกชนิด ทดสอบฟาโกไซซิสในหลอดทดลอง และการวัดการสังเคราะห์ไนตริกออกไซด์ พบว่าทิงเจอร์โหระพาลดปริมาณเม็ดเลือดขาวสุทธิปริมาณโมโนไซต์ ลดการกระตุ้นฟาโกไซต์ แต่ลดการสร้างไนตริกออกไซด์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทิงเจอร์โหระพาให้ผลน้อยกว่าการใช้ไดโคลฟีแนกเล็กน้อย

           ฤทธิ์รักษาแผลกระเพาะอาหารน้ำมันโหระพามีฤทธิ์ยับยั้งฤทธิ์ของแอสไพริน ที่เหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร โดยยับยั้งเอนไซม์ lipoxygenase และต้านฮิสทามีนที่ทำให้เกิดการอักเสบและเกิดแผล

           ฤทธิ์ปกป้องสมองจากภาวะเส้นเลือดสมองอุดตัน การศึกษาผลของสารสกัดจากใบโหระพาในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงคาโรติดทั้งสองข้าง โดยการผูกด้วยด้ายเป็นเวลา 15 นาทีแล้วแก้ออก หนูเม้าส์จะได้รับการป้อนสารสกัดจากใบโหระพา ซึ่งสกัดด้วย ethyl acetate ขนาด 100, 200 มก./กก. หรือ ตัวทำละลายยา (กลุ่มควบคุม) หรือสารสกัดจากใบแปะก๊วย EGb761 ขนาด 80 มก./กก. (กลุ่มควบคุมเชิงบวก: positive control) ก่อนทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดง 60 นาที ผลการศึกษาพบว่า หนูเม้าส์ที่เกิดการอุดตันของหลอดเลือด จะมีการทำลายของเนื้อเยื่อสมอง เกิดปฏิกิริยาลิปิดเปอร์ออกซิเดชั่น ระดับกลูตาไธโอนลดลง ประสิทธิภาพในการจดจำระยะสั้นและความสามารถในการเคลื่อนไหวน้อยลง ในขณะที่หนูเม้าส์ที่ได้รับสารสกัดจากใบโหระพา (100 และ 200 มก./กก.) มีบริเวณเนื้อเยื่อสมองตายลดลง การเกิดปฏิกิริยาลิปิดเปอร์ออกซิเดชั่นลดลง ระดับกลูตาไธโอนเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพในการจดจำระยะสั้นเพิ่มขึ้น และความสามารถในการเคลื่อนไหวดีขึ้น ซึ่งมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับสารสกัดจากใบแปะก๊วย โดยสารสำคัญในใบโหระพาที่สกัดด้วย ethyl acetate คือ โพลีฟีนอล ฟลาโวนอยด์ และแทนนิน ดังนั้น สารสกัดจากใบโหระพามีฤทธิ์ในการป้องกันสมองหนูเม้าส์ที่ถูกทำลายจากภาวะขาดเลือดได้


การศึกษาทางพิษวิทยา

จาการรวบรวมผลการศึกษาวิจัยหลายๆ ชิ้นสรุปได้ว่า  สำหรับการนำโหระพามาปรุงอาหารหรือรับประทานสดนั้นค่อนข้างปลอดภัย ส่วนการรับประทานเพื่อสรรพคุณทางยาหรือในรูปแบบอาหารเสริมเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก็ปลอดภัยเช่นกัน แต่ควรระมัดระวังในด้านขนาดการใช้ เพราะบางรายอาจมีระดับน้ำตาลลดต่ำลงหลังจากการรับประทานโหระพามากเกินไป อีกทั้งไม่ควรรับประทานน้ำมันสกัดจากโหระพาหรือส่วนลำต้นของโหระพาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากประกอบด้วยสารเอสตราโกล (Estragole) ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งตับได้


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่กำลังให้นมบุตรสามารถรับประทานโหระพาในปริมาณปกติที่พบได้จากอาหารทั่วไปได้อย่างปลอดภัย แต่การใช้ในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
  2. สำหรับสตรีมีครรภ์และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี รวมถึงผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงน้ำมันหอมระเหยจากโหระพาเพราะทำให้เกิดอาการแพ้ง่าย
  3. ผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติอาจเสี่ยงมีเลือดออกมากยิ่งขึ้นเมื่อรับประทานน้ำมันโหระพาหรือสารสกัดจากโหระพา เนื่องจากมีฤทธิ์ชะลอการแข็งตัวของเลือด
  4. เมื่อดื่มน้ำโหระพาคั้น อาจจะมีอาการข้างเคียง คือ จะทำให้มึนงงและระคายเคืองคอเล็กน้อย
  5. โหระพาอาจมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต เพื่อความปลอดภัย ผู้มีความดันโลหิตต่ำควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพราะอาจส่งผลให้มีความดันลดต่ำเกินไปจนเป็นอันตรายได้
  6. ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดควรหยุดใช้โหระพาหรืออาหารเสริมโหระพาในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้มีเลือดออกมากในระหว่างการผ่าตัด

 

เอกสารอ้างอิง

  1. รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.โหระพา คุณค่าที่มากกว่าความอร่อย.คอลัมน์ บทความพิเศษ.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 356.ธันวาคม 2551.
  2. โหระพาปกป้องสมองจากภาวะเส้นเลือดสมองอุดตัน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง,(2550).กรุงเทพฯ:บริษัท ฟ้าอภัย จำกัด.
  4. เดชา ศิริภัทร.โหระพา ผักใบที่มีกลิ่นหอมหวานและหลากสายพันธุ์.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 216.พฤษภาคม.2540.
  5. โหระพา สรรพคุณและการปลูกโหระพา.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.puechkaset.com
  6. โหระพา.กลุ่มยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/
  7. โหระพาผักพื้นบ้านสรรพคุณทางการรักษา.พบแพทย์ดอทคอม(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  8. Kundan S.,Shruti A.,Richa S.,Role of.Ocimum basillicum L.in prevention of ischemia and reperfusion_induced cerebral damage,and motor dysfunetions in mice brain. J Elhnopharcology 2011;137(3):1360-5