แก้ว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

แก้ว งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แก้ว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ต้นแก้ว, แก้วขาว (ภาคกลาง), แก้วพริก, ตะไหลแก้ว, จ๊าพริก (ภาคเหนือ), กะมูพิง (ภาคใต้, มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Murraya paniculata (L.) Jack
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Murraya exotica L., Chalcas exotica (L.) Millsp
ชื่อสามัญ Amdaman satinwood, Cosmetic barktree, Chinese box tree
วงศ์ RUTACEAE

ถิ่นกำเนิดต้นแก้ว

ต้นแก้ว เป็นพรรณไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่น อินเดีย มังคลาเทศ ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และยังมีการกระจายพันธุ์ไปถึงจีน ออสเตรเลีย รวมถึงคาบสมุทรเกาหลีอีกด้วย อีกทั้งในปัจจุบันยังมีรายงานว่า สามารถพบต้นแก้ว ได้ในภูมิภาคเขตร้อนต่างๆ เกือบทังโลกแล้วเนื่องจากต้นแก้ว สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศบริเวณนั้นได้ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ในป่าทั่วไปจากที่ราบสูงจนถึงที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร

ประโยชน์และสรรพคุณต้นแก้ว

  1. ใช้เป็นยาชาระงับแก้ปวด
  2. แก้ปวดฟัน
  3. ช่วยบำรุงธาตุ
  4. แก้วิงเวียน
  5. ช่วยขับลม
  6. แก้บิด
  7. แก้ท้องเสีย
  8. ขับพยาธิ
  9. แก้ผิวหนังผดผื่นคันที่เกิดจากความชื้น
  10. แก้แผลเจ็บปวดที่เกิดจากการกระทบกระแทก
  11. ใช้แก้ปวดเอว
  12. ใช้เป็นยาขับประจำเดือนในสตรี
  13. แก้ฝีในมดลูก
  14. แก้ฝีฝักบัว
  15. ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี
  16. แก้ผดผื่นที่เกิดจากแมลงกัดต่อย
  17. ช่วยย่อยอาหาร
  18. แก้ไขข้ออักเสบ
  19. แก้ไอ
  20. เวียนศีรษะ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

บำรุงธาตุโดยใช้ใบสดหนัก 10-15 กรัม ต้มน้ำ หรือ แช่เหล้ากิน ใช้แก้ปวดเอว แก้ฝีฝักบัว ช่วยให้เลือดลมไหลเวียน แก้ฟกช้ำโดยใช้ รากแห้งหนัก 10-15 กรัม หากเป็นรากสดใช้หนัก 30-60 กรัม ต้มน้ำกิน แก้วิงเวียน ขับลม แก้บิด แก้ท้องเสีย ขับพยาธิ แก้ไอ โดยใช้ใบสด 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาแก้ขับประจำเดือน แก้ฝีในมดลูก โดยใช้รากแห้ง 10-15 กรัม (สด 30-60 กรัม) ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร เช้า-เย็น แก้ปวดฟันโดยใช้ใบสด 15 ใบย่อย หรือน้ำหนัก 1 กรัม ตำพอแหลกใส่ในเหล้าโรงประมาณ 2 ช้อนชา หรือ 8 มิลลิลิตร ทิ้งไว้ 3-5 นาที นำน้ำยาทาบริเสณที่ฟันปวด แก้ปวดกระเพาะโดยใช้ใบแก้ว แห้ง เปลือกอบเชย กานพลู และเจตพังคี นำมาบดเป็นผงใช้ชงกับน้ำร้อนดื่มครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง แก้ฟกช้ำ โดยใช้ใบแก้วสดไพล ขมิ้น และขิง นำมาตำให้ละเอียด และผสมกับเหล้า แล้วนำไปคั่วให้ร้อนแล้วห่อด้วยผ้าสะอาด ใช้เป็นยาประคบบริเวณที่มีการฟกช้ำประมาณ 20-30 นาที โดยให้ทำวันละ 2-3 ครั้ง แก้แมลงสัตว์กัดต่อย โดยใช้ราก และใบสดนำมาต้มใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปต้นแก้ว

แก้ว จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นเนื้อแข็งขนาดเล็กถึงขนาดกลางความสูงประมาณ 5-8 เมตร เปลือกลำต้นสีขาวปนเทาแตกเป็นสะเก็ดเป็นร่องตามยาวส่วนการแตกกิ่งก้านของทรงพุ่ม จะไม่ค่อยเป็นระเบียบ

           ใบ เป็นใบประกอบบอกสลับกันเรียงตัวแบบขนนกมีใบย่อย 3-9 ใบ ส่วนปลายมีใบย่อยใบเดียว มีใบดกเขียวตลอดปีโดยใบย่อยจะยาวประมาณ 2-7 ซม. กว้างประมาณ 1-3 ซม. ปลายใบแหลมเล็กน้อย ฐานใบเรียวลงมาจนถึงก้านใบหลังใบสีเขียงเข้มส่วนท้องใบสีอ่อนกว่า และมีกลิ่นฉุนคล้ายใบส้ม

           ดอก ออกเป็นแบบช่อสั้นๆ ตามซอกใบโดยมีดอกย่อยสีขาวมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ส่วนกลีบดอกก็มี 5 กลีบ มีกลิ่นหอมมากช่วงพลบค่ำถึงเช้ามืด กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปกลมรี ยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 7-10 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน และมีเกสรเพศเมีย 1 ก้าน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี

           ผล เป็นแบบผลสดเหมือนผลส้ม รูปรี หรือ ทรงหลมกว้าง 5-8 มม. ยาว 1 ซม. ปลายสอบเล็กน้อย ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีแดงอมส้มโดยมีต่อมน้ำมันเห็นได้ชัดภายในผลมีเมล็ด 1-2 เมล็ด

           เมล็ด เป็นรูปไข่ปลายสอบสีขาวขุ่นมีขนสั้นๆ อยู่ รอบเมล็ดกว้าง 4-6 มม. ยาว 6-9 มม.

ดอกแก้ว

ดอกแก้ว

การขยายพันธุ์ต้นแก้ว

แก้ว เป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่วิธีที่นิยมในการขยายพันธุ์แก้วในปัจจุบัน คือ การตอนกิ่ง เพราะเป็นพรรณไม้หอมที่ออกรากได้ง่ายใช้เวลาในการตอนประมาณ 21-35 วัน ซึ่งวิธีการตอนกิ่งต้นแก้วนั้นก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการตอนกิ่งไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ทั้งนี้ต้นแก้วจะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีการระบายน้ำได้ดี และเป็นพรรณไม้ที่ชอบแสงแดดเต็มวัน-รำไร และมีสภาพความชื้นปานกลาง นอกจากนี้ยังมีข้อดีของต้นแก้วในการขยายพันธุ์ คือ เป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถปลูกในดินที่มีคุณสมบัติไม่ค่อยเหมาะกับการปลูกพืชทั่วไป เช่น ดินเค็ม หรือ ดินที่มีธาตุอาหารในดินน้อย และยังเป็นพืชที่สามารถออกดอกได้ตลอดปีโดยสามารถควบคุมการออกดอกในช่วงเวลาที่เราต้องการได้ด้วยวิธีการควบคุมน้ำและปุ๋ย

องค์ประกอบทางเคมีต้นแก้ว

มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของต้นแก้วระบุว่า น้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบประกอบไปด้วยสาร Citronello Carene Eugenol Methyl Anthranilate l-candinenem Paniculatin Bisabolene Phebalosin Scopoletin Geraniol และ Scopolin เป็นต้น นอกจากนี้ในใบยังสามารถพบสารอื่นๆ ได้อีกเช่น Coumarin isomeranzin steroid triterpenoids และอนุพันธุ์ของ 7-methoxycumarin ฯลฯ ส่วนในกิ่ง และเปลือกก้าน ของต้นแก้ว พบสาร Hibiscetin Mexoticin และ Heptamethyleeher เป็นต้น

โครงสร้างต้นแก้ว 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของต้นแก้ว

มีการศึกษาทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของต้นแก้ว ระบุว่า ในก้าน และใบของต้นแก้ว มีสารกลุ่มน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เช่น Stephylococcus aureus Klebsiella pneumonia Essherichia coli Bacilus subtilis Salmonella typhi Pseudomonas aeruginosa Proteus mirabilis และ Enterobacter aerogenes Shigella flexineri เป็นต้น และมีการศึกษาสารสกัดจาก Petroleum ether ของต้นแก้ว โดยนำมาทดลองกับลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็กของหนูขาว พบว่ามีประสิทธิภาพทำให้การเกร็งตึงที่กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้มีการหย่อนคลาย และเมื่อนำสารดังกล่าวมาทดลองกับหัวใจ ของกบพบว่ามีฤทธิ์ในการยับยั้งการเต้นของหัวใจด้วย ส่วนอีกการศึกษาวิจัยหนึ่งมีการนำใบแก้ว โดยการใช้น้ำคั้นจากใบสด น้ำมันหอมระเหยจากใบ และยาชงจากใบ มาทดสอบในการเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายของกระต่าย และหนูตะเภา พบว่าทำให้อุณหภูมิของร่างกายสัตว์ทดลองเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

การศึกษาทางพิษวิทยาของต้นแก้ว 

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ส่วนต่างๆ ของต้นแก้ว เป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้านการศึกษาความเป็นพิษ หรือ ขนาด และปริมาณการใช้ที่แน่ชัด ดังนั้นในการใช้ต้นแก้ว ตามตำรับตำรายาต่างๆ นั้นก็ควรใช้ในขนาด และปริมาณ ที่กำหนดไว้ในตำรับตำรายานั้นๆ โดยไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันมากจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ส่วนต่างๆ ของต้นแก้วเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง แก้ว
  1. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “แก้ว (Kaew)”. หนังสือสมุนไพรไทยเล่ม 1 .หน้า 55.
  2. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทร. แก้ว. คอลัมบ์สมุนไพรน่ารู้. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 5. กันยายน 2522.
  3. พญ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “แก้ว”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 95.
  4. ปิยะ เฉลิมกลิ่น และคณะ. 2546. หอมกลิ่นดอกไม้เมืองไทย. จัดพิมพ์โดยโครงการ BRT บริษัท จิรวัฒน์ เอ็กเพรส จำกัด กรุงเทพฯลฯ. 336 หน้า.
  5. วิทยา บุญวรพัฒน์. “แก้ว”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 92.
  6. แก้ว. กลุ่มยาขับประจำเดือน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯลฯ สยามบนมราชกุมารีฯ (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_26_1.htm.
  7. ต้นแก้ว.กระดานถาม-ตอบสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?.id=6355
  8. Tem Samitinand. Thai plant names. Revised Edition 2001. 810 p.