ขึ้นฉ่าย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ขึ้นฉ่าย งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร ขึ้นฉ่าย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น คื่นช่าย, คื่นฉ่าย, คื่นไช่ (ทั่วไป), ผักกันปืน, ผักปืน, ผักปืม, ผักขาวปืน (ภาคเหนือ), ขึ่งฉ่าย, ฮั่งขึ่ง (จีนแต้จิ๋ว), ฉินช่าน, ฮั่นฉิน (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Apium graveolens Linn. 
ชื่อสามัญ Cerely, Garden Cerely, Smallage, Root Celery, Turnip-Rooted Celery
วงศ์ Umbelliferae

ถิ่นกำเนิดขึ้นฉ่าย

ขึ้นฉ่ายเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือ เช่น ประเทศสวีเดน, แอลจีเรีย และประเทศอียิปต์ แต่อีกข้อมูลหนึ่งเชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของขึ้นฉ่ายอยู่ในทวีปเอเชีย ได้แก่ ในประเทศจีน และเขตอบอุ่นในแถบเอเชียตะวันออก สำหรับในประเทศไทยปัจจุบันที่นิยมปลูกขึ้นฉ่าย มีอยู่กันสองชนิด คือ ชนิดต้นเล็ก ซึ่งปลูกกันมาดั้งเดิมเป็นพันธุ์พื้นเมืองซึ่งนำเข้ามาจากประเทศจีนเรียกว่า คึ่นฉ่ายจีน ส่วนอีกชนิดหนึ่งมีขนาดของต้นสูงใหญ่กว่า ก้านใบยาวแข็ง เรียกว่าคึ่นฉ่ายเทศ หรือ คึ่นฉ่ายฝรั่ง คาดว่าเพิ่งนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้

ขึ้นฉ่าย

ประโยชน์และสรรพคุณขึ้นฉ่าย

  • ช่วยลดความดันโลหิต
  • แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
  • แก้ฝีฝักบัว
  • ช่วยดับร้อน
  • แก้อาการร้อนใน
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • แก้อาเจียน
  • ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
  • บำรุงตับไต
  • ช่วยลดอาการบวมน้ำ
  • รักษาการปวดข้อ
  • ช่วยขับลม
  • บำรุงประสาท
  • ช่วยทำให้หลับ
  • เป็นยากระตุ้น
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ลมพิษ
  • แก้ผดผื่นต่างๆ
  • แก้โรคไข้ข้อรูห์มาติค
  • แก้โรคเก๊าท์
  • เป็นยาบำรุง
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • รักษานิ่ว

           ประโยชน์ของขึ้นฉ่ายที่นิยมกันในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน คือ นำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เมนูขึ้นฉ่ายเป็นที่นิยมทำอาหารต่างๆ หรือ อาจจะนำมาใช้รับประทานเป็นผักสด หรือใช้โรยหน้าอาหารประเภทยำต่างๆ ก็ได้ และนอกจากใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารแล้ว ยังสามารถนำผักขึ้นฉ่าย มาคั้นเป็นน้ำดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพได้ นอกจากนี้น้ำมันขึ้นฉ่าย สามารถนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง ยาทาผิว ครีม และสบู่

ขึ้นฉ่าย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ลดความดัน ใช้ทั้งต้นสด 1 กำมือ นำมาตำ คั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะรับประทาน หรือ อาจจะใช้รับประทานสดเป็นผักสลัด หรือ ใช้ผัดรับประทานก็ได้หรือจะใช้ต้นสด 1-2 กำ นำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำ กรองเอากากออก ใช้รับประทานก่อนอาหารครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ

           ขับปัสสาวะ ใช้ทั้งต้นสด 1 กำมือ ต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ผัด และทำสลัดรับประทานก็ได้

           แก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี ทั้งก่อน และหลังการมีประจำเดือน ด้วยการใช้ขึ้นฉ่าย สด 1 ขีด / รากบัวสด 1 ขีด / ขิง สด 1 ขีด / พุทราแดงจีนแบบแห้ง 1/2 ขีด นำมาต้มรวมกันในหม้อโดยกะน้ำพอท่วมยามากหน่อย ต้มจนเดือนแล้วนำมาดื่มก่อน หรือ หลังมีประจำเดือน ถ้าหากช่วงไหนปวดช่วงไหนก็ให้ดื่มบ่อยๆ หรือ จิบกินเรื่อยๆ แบบน้ำชา จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ 

           รักษาโรครูมาติกและโรคเกาต์ ด้วยการใช้ผักขึ้นฉ่ายประมาณ 3-4 ต้น นำมาต้มกับน้ำ 1 ลิตร ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง

           ส่วนในตำรับยาไทยระบุถึง รูปแบบ และขนาดวิธีใช้ตามสรรพคุณตามตำรายาไทยว่า หากใช้รักษาภายใน ให้ใช้ต้นสด 30-60 กรัม คั้นเอาน้ำ หรือ ต้นแห้ง 10-15 กรัม ต้มน้ำดื่ม หรือ อาจจะบดเป็นผง ทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนกินก็ได้ส่วนควรใช้เป็นยาภายนอก ให้ตำละเอียดแล้วพอก

 

ลักษณะทั่วไปของขึ้นฉ่าย

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าขึ้นฉ่าย มีอยู่ 2 สายพันธุ์ (แต่ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน) สายพันธุ์แรกก็ คือ ขึ้นฉ่ายฝรั่ง ลักษณะต้นจะอวบใหญ่มาก ลำต้นมีความสูงประมาณ 40-60 เซนติเมตร ลำต้นขาวใบเหลืองอมเขียว และอีกสายพันธุ์คือ ขึ้นฉ่ายจีน  ซึ่งจะมีขนาดของลำต้นที่เล็กกว่า มีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร และใบค่อนข้างแก่ ส่วนลักษณะส่วนอื่นๆ จะค่อนข้างเหมือนกัน ดังนี้

           ขึ้นฉ่าย จัดเป็นพืชล้มลุกอายุ 1-2 ปี มีกลิ่นหอมฉุน ลำต้นกลวงกลม ต้นสูง 30-60 ซม. (ตามสายพันธุ์) ใบเป็นรวม มีใบย่อย 2-3 คู่ ก้านใบรวมอาจยาวได้ถึง 36-45 ซม. ใบย่อยที่อยู่ชั้นล่างมีก้านใบยาวกว่าใบย่อยที่อยู่บนสุด ใบย่อยกว้าง 5 ซม. ขอบใบแยกเป็นแฉกลึก แต่ละแฉกเป็นรูปสามเหลี่ยม ดอกมีขนาดเล็กสีขาวช่อดอกคล้ายซี่ร่ม ยอดดอกแผ่เป็นรัศมี ดอกเล็กเป็นแบบสมบูรณ์เพศ ผลมีลักษณะกลมยาวประมาณ 1.5 มม.มีสีน้ำตาล มีกลิ่นหอม 


การขยายพันธุ์ขึ้นฉ่าย

ขึ้นฉ่ายสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดโดยมีวิธีการดังนี้ การเตรียมแปลง ทำการยกร่องแปลง หรือ ทำแปลงแบบธรรมดาในขนาดกว้าง 1-2 เมตร ความยาวตามความเหมาะสม  ทำการไถพรวนดิน ร่วมด้วยกับการกำจัดวัชพืช และตากดิน 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดดิน

           ทำการหว่านปุ๋ยคอก ร่วมด้วยกับผสมปุ๋ยเคมีเพียงเล็กน้อย เช่น ปุ๋ยคอก หรือ มูลโค 1000 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมี 30 กก./ไร่ ไถกลบดิน และตากดิน 2-3 วัน ก่อนปลูก

           สำหรับวิธีการปลูก แบ่งเป็น 2 วิธี คือ การปลูกด้วยการหว่านเมล็ด ถือเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และรวดเร็ว ด้วยการหว่านเมล็ดลงแปลงหลังการไถพรวนครั้งสุดท้ายในอัตราเมล็ดพันธุ์ 0.5-1 กก./ไร่ แต่ไม่ควรให้ถี่มาก และการปลูกด้วยการหยอดหลุม ให้ระยะห่างของหลุมในแนวขวาง และแนวยาวที่ 10-15 ซม. โดยหยอดเมล็ดพันธุ์ 3-5 เมล็ด/หลุม หลังจากการหว่านเมล็ด หรือ การหยอดเมล็ดให้คราดเกลี่ยกลบดินเล็กน้อย พร้อมวางทับด้วยฟางบางๆ และรดน้ำให้ชุ่ม

          การให้น้ำ สามารถให้น้ำตั้งแต่การหว่านเมล็ดครั้งแรกจนถึงระยะเก็บเกี่ยว วันละ 1-2 ครั้ง เช้าเย็น ส่วนการใส่ปุ๋ยอาจใช้วิธีการหว่าน หรือ การละลายน้ำรดก็ได้ ในอัตรา 50 กก./ไร่ โดยจะเริ่มให้ปุ๋ยเมื่อต้นกล้าตั้งต้นได้แล้วหรือประมาณ 1-2 อาทิตย์ หลังเมล็ดงอก และให้อีกครั้งก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 2 อาทิตย์ คื่นฉ่ายหลังจากเมล็ดงอกจนถึงการเก็บเกี่ยวจะใช้เวลาประมาณ 40-50 วัน ซึ่งควรเก็บในช่วงเช้าตรู่หรือช่วงเย็น


องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของขึ้นฉ่ายพบว่า ส่วนต่างๆ ของขึ้นฉ่าย มีสาระสำคัญ เช่น Epigenin, Phthalide, β-carotene, Luteolin, Pectin เป็นต้น และในส่วนของลำต้นและก้านยังพบน้ำมันหอมระเหยที่ประกอบด้วยสาร Selinene, Limonene, 3-n-butylphthalide, Sedanolide และ Sedanonic acid anhydride เป็นต้น นอกจากนี้ขึ้นฉ่ายยังมีสารอาหารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ดังตารางต่อไปนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของขึ้นฉ่าย ส่วนเหนือดิน (100 กรัม)

  • พลังงาน                   67   กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต           3    กรัม
  • น้ำตาล                    1.4    กรัม
  • เส้นใย                     1.6    กรัม
  • ไขมัน                      0.2    กรัม
  • โปรตีน                    0.7    กรัม
  • น้ำ                            95   กรัม
  • วิตามินเอ                22   ไมโครกรัม
  • วิตามินบี 1           0.021   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2           0.057   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3           0.323   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 6         0.074   มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 9               36   ไมโครกรัม
  • วิตามินซี                   3     มิลลิกรัม
  • วิตามินอี               0.27    มิลลิกรัม
  • วิตามินเค            29.3    ไมโครกรัม
  • แคลเซียม                40   มิลลิกรัม
  • เหล็ก                      0.2    มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม             11    มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส             24    มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม         260   มิลลิกรัม                                                               
  • โซเดียม                   80   มิลลิกรัม
  • สังกะสี                  0.13  มิลลิกรัม

 รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของขึ้นฉ่าย

โครงสร้างขึ้นฉ่าย

ที่มา : Wikipedia


การศึกษาทางเภสัชวิทยาของขึ้นฉ่าย

           ฤทธิ์ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร การศึกษาฤทธิ์ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหารของสารสกัด 96% เอทานอลจากส่วนเหนือดินของขึ้นฉ่าย (Apium graveolens L.) ในหนูแรท พบว่าการให้หนูกินสารสกัดขึ้นฉ่ายสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากการเหนี่ยวนำด้วยยา indomethacin ได้ โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดของสารสกัดที่ให้ และสารสกัดที่ขนาด 250 และ 500 มก./กก. สามารถลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากการเหนี่ยวนำด้วยแอลกอฮอล์และด่างแก่ได้ โดยที่ขนาด 500 มก./กก. สามารถลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารในอย่างชัดเจน การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดโดยการผูกกระเพาะอาหารส่วนปลายของหนูแรทเป็นเวลา 6 ชม. พบว่าการฉีดสารสกัดขนาด 250 และ 500 มก./กก. เข้าทางช่องท้อง สามารถลดการหลั่งกรดรวมทั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม จากผลการทดลองทำให้สามารถสรุปได้ว่า สารสกัด 96% เอทานอลจากต้นขึ้นฉ่าย สามารถป้องกัน และยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากการเหนี่ยวนำด้วยยา indomethacin แอลกอฮอล์ และด่างแก่ได้ รวมทั้งยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารด้วย ซึ่งคาดว่ากลไกการออกฤทธิ์น่าจะเกี่ยวข้องกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งลดการเกิด lipid peroxidation การเพิ่มขึ้นของ non-protein sulfhydryl (NP-SH) และฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งสารเมือก (mucus) ในกระเพาะอาหารของสารสกัดขึ้นฉ่าย

           ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวกับทำให้เจริญอาหาร ขึ้นฉ่ายมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งเมือกในกระเพาะอาหาร ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และอาจมีผลทางอ้อมให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้มากขึ้น นอกจากนี้กลิ่นของขึ้นฉ่าย อาจช่วยเจริญอาหาร

          ฤทธิ์ลดความดันโลหิตและลดคอเลสเตอรอลในเลือด มีการทดลองในผู้ป่วย 16 ราย โดยใช้ขึ้นฉ่ายสด (ไม่เอาราก) ล้างให้สะอาด คั้นเอาแต่น้ำ เติมน้ำผึ้ง หรือ น้ำเชื่อมจำนวนเท่ากัน ดื่มครั้งละ 40 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง (อุ่นก่อนดื่ม) ได้ผล 14 ราย ไม่ได้ผล 2 ราย โดยทั่วไปความดันโลหิตเริ่มลดลง หลังจากกินยาแล้วหนึ่งวัน มีบางรายที่ความดันเริ่มลดลงหลังจากกินยาไปแล้ว 4 วัน และผู้ป่วยจะรู้สึกเองว่าอาการดีขึ้น นอนหลับดี ปริมาณปัสสาวะมากขึ้น

          นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ และมีระดับคอเลสเตอรอลสูงเกินกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร (มก.%) โดยใช้รากขึ้นฉ่ายสด 10 ต้น ล้างให้สะอาดและตำให้ละเอียด ใส่พุทราจีน (แห้ง) 10 ลูก ต้มน้ำแบ่งดื่มเช้า-เย็นเป็นเวลา 15-20 วัน ผลปรากฏว่า ในจำนวน 21 ราย พบว่า 14 รายมีคอเลสเตอรอลลดลง 8-75 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร (มก.%) 

          ฤทธิ์ลดจำนวนเชื้ออสุจิ มีศึกษาวิจัยโดย ให้ผู้ทดลองอายุ 20-24 ปี จำนวน 7 คน กินผักขึ้นฉ่ายคนละ 85 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ติดต่อกัน (ยกเว้นเสาร์-อาทิตย์) พบว่า หลังจากกินผักขึ้นฉ่าย ไปแล้ว เชื้ออสุจิจะลดลงจากค่าเฉลี่ยปกติ เกินร้อยละ 50 ภายในเวลา 1 สัปดาห์ 4 คน ภายใน 2 สัปดาห์ 2 คน และภายในเวลา 3 สัปดาห์ 1 คน  และหลังจากหยุดกินผักขึ้นฉ่ายแล้ว จำนวนเชื้ออสุจิจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนสูงขึ้นจนเข้าสู่ระดับปกติ ภายใน 8-13 สัปดาห์ 


การศึกษาทางพิษวิทยาของขึ้นฉ่าย

การทดสอบความเป็นพิษ สารสกัดเอทานอล (80%) ของส่วนเหนือดินตากแห้ง ฉีดเข้าช่องท้องหนูขาว ค่า LD50 เท่ากับ 3587 มก./กก. และสารสกัดเอทานอล-น้ำ (1:1) ของส่วนผล ฉีดเข้าช่องท้องหนู ถีบจักร ค่า LD50 มากกว่า 1 ก./กก. นอกจากนี้ส่วนของใบคื่นไฉ่ กรอกเข้าทางกระเพาะ อาหารของหนูขาว ในขนาด 465 มก./กก. ไม่มีพิษ

           พิษต่อเซลล์ สารสกัดที่ทำให้แห้งโดยวิธีแช่แข็งของส่วนก้านใบคื่นไฉ่ (ไม่ระบุความเข้มข้น) มีฤทธิ์ต่อเซลล์ Leuk-P815 ในหลอดทดลอง ยังพบว่าน้ำสกัดผลแห้ง ความเข้มข้น 100 มคก./มล. ไม่มีฤทธิ์ต่อ Vero cells แต่สารสกัดเมทานอล-น้ำ (1:1) ความเข้มข้น 100 มคก./มล. มีฤทธิ์ไม่ชัดเจนต่อ Vero cells และสารสกัดเมทานอลลำต้นตากแห้ง ความเข้มข้น 200 มคก./มล. เป็นพิษอย่างอ่อนต่อเซลล์ macrophage cell line raw 264.7 แต่ในความเข้มข้น 40 มคก./มล. ไม่มีฤทธิ์ต่อเซลล์ macrophage ในหลอดทดลอง นอกจากนี้สารสกัดเอทานอล-น้ำ (2:1) ของผลคื่นไฉ่ มีค่าขนาดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (ED50) มากกว่า 20 มคก./มล. ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ CA-9KB ในหลอดทดลอง ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดินสด มีขนาดที่ทำให้เซลล์มะเร็งตายครึ่งหนึ่ง (ED50) เท่ากับ 3.6 มคก./มล. ไม่มีฤทธิ์ต่อเซลล์ CA-mammary-MCF-7 และเป็นพิษต่อเซลล์ CA-A549 โดยมีค่าที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (ED50) เท่ากับ 8.4 มคก./มล. ในหลอดทดลอง นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดินสด มีการทดลองความเป็นพิษต่อเซลล์ลำไส้ใหญ่ของคน cancer cell line-H129 โดยมีขนาดที่ทำให้เซลล์ตายครึ่งหนึ่ง (ED50) เท่ากับ 9.1 มคก./มล. ในหลอดทดลอง

           พิษต่อตัวอ่อน สารสกัดเอทานอล (95%) ของเมล็ด ในขนาด 100 มก./กก. น้ำสกัด และสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ของเมล็ด ในขนาด 150 มก./กก. กรอกเข้าทางปากของหนูขาวเพศเมีย พบว่าไม่มีพิษต่อตัวอ่อน สารสกัดเบนซีนของเมล็ดตากแห้ง กรอกเข้าช่องท้องของหนูขาวที่กำลังตั้งท้อง ขนาด 150 มก./กก. ไม่มีพิษต่อตัวอ่อน

           ทำให้เกิดอาการแพ้ ใบและลำต้นขึ้นฉ่าย ทาภายนอกในคน มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้ใบ คื่นไฉ่สด ทาภายนอกในคน ทำให้เกิดอาการแพ้ และส่วนเหนือดินสด ทาภายนอกผิวหนังในความเข้มข้นที่ไม่ได้เจือจาง เกิดอาการผิวหนังอักเสบในคนที่สัมผัส คิดเป็น 4% ของทั้งหมด โดย 86.3% มีอายุต่ำกว่า 30 ปี

           ทำให้แท้ง สารสกัดเอทานอล (95%) น้ำสกัด และปิโตรเลียมอีเทอร์ของเมล็ด กรอกเข้าปากหนูขาวที่ตั้งท้อง ในขนาด 100 มก./กก. ไม่มีฤทธิ์ทำให้แท้ง และสารสกัดเอทานอล (100%) กรอกเข้าทางกระเพาะอาหารของหนูขาวที่ตั้งท้อง ในขนาด 200 มก./กก. ไม่มีฤทธิ์ทำให้แท้ง

            พิษต่อไต น้ำมันหอมระเหยจากเมล็ด ฉีดเข้าช่องท้องของหนูตะเภาทั้งสองเพศ ในขนาด 0.73 และ 1.03 มล./กก. ไม่มีพิษต่อไต และน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ด ฉีดเข้าช่องท้องของหนูขาว ในขนาด 0.93 มล./กก. ไม่มีพิษต่อไต

           ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ น้ำสกัดผล ความเข้มข้น 100 มก./จานเพาะเชื้อ ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อ cells-pig-kidney-LLC-PK-1 และ trophoblastic-placenta ขึ้นฉ่าย สด และผ่านความร้อน มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ใน Salmonella typhimuriumในจานเพาะเชื้อ และน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ด ทดลองในหนูขาว ค่า IC50 เท่ากับ 0.015 มคก./แผ่น มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อเซลล์ microsomes ในตับหนูขาว ชาชง (ไม่ระบุส่วน) ความเข้มข้น 100 มคล./แผ่น ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ใน Salmonella typhimurium TA98 และ 100 โดยใช้ ethyl methane sulfonate เหนี่ยวนำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์ ทดลองในจานเพาะเชื้อ นอกจากนี้สารสกัดเอทานอล (70%) ของส่วนเหนือดินแห้ง ไม่มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ใน E. coliโดยใช้ mitomycin เหนี่ยวนำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์ ทดลองในจานเพาะเชื้อ Aqueous high speed supernatant (ไม่ระบุส่วน) ความเข้มข้น 0.1 มล./จานเพาะเชื้อ มีฤทธิ์อย่างอ่อนในการก่อกลาย พันธุ์ใน Salmonella typhimurium TA98 ทดลองในจานเพาะเชื้อ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. การใช้ขึ้นฉ่ายเพื่อต้องการสรรพคุณทางยา ควรใช้ตามขนาดที่ระบุไว้ในตำรับยาต่างๆไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
  2. หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขึ้นฉ่าย ในปริมาณมากทุกรูปแบบ เพราะอาจทำให้มดลูกหดตัว และเสี่ยงต่อภาวะแท้ง
  3. ขึ้นฉ่ายอาจเพิ่มความเสี่ยงให้มีเลือดออกง่ายขึ้น และอาจทำให้ความดันเลือดลดต่ำลง เมื่อรับประทานในปริมาณมากดังนั้น ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติและผู้ที่มีภาวะความดันต่ำจึงควรระมัดระวังในการรับประทาน
  4. ยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับขึ้นฉ่าย เช่น ยาเลโวไทรอกซีน ยาลิเทียม ยาระงับประสาทหรือยาที่ออกฤทธิ์ให้เกิดอาการง่วงซึม เป็นต้น รวมถึงผู้ที่รับประทานยาเป็นประจำ หรือ มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะรับประทานขึ้นฉ่ายเพื่อเป็นยารักษาโรค
  5. ผู้ที่แพ้พืชในวงศ์ UMBELLIFERAE ควรหลีกเลี่ยงในการรับปรทานขึ้นฉ่าย ทุกรูปแบบ

 

เอกสารอ้างอิง ขึ้นฉ่าย
  1. ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล. คื่นไช่. คอลัมน์อาหารสมุนไพร. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 28. สิงหาคม. 2524
  2. เต็ม สมิตินันทน์ "ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง)" พิมพ์ที่ หจก.ฟันนี่พับบลิชชิ่ง กรุงเทพฯ 2523 หน้า 27.
  3. ขึ้นฉ่าย. สมุนไพรในชีวิตประจำวัน. ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.
  4. ฤทธิ์ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหารของขึ้นฉ่าย. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  
  5. พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ "คู่มือการใช้สมุนไพร" พิมพ์ที่ สำนักพิมพ์ เมดิคัล มีเดีย กรุงเทพฯ 2534 หน้า 117, 152.
  6. คื่นไฉ่. สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. ขึ้นฉ่าย และประโยชน์ต่อสุขภาพ. พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.podpad.com
  8. คื่นฉ่าย.พืชเกษตรดอมคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  9.  Prakash AO, Mathur R. Screening of Indian plants for antifertility activity. Indian J Exp Biol 1976;14:623-6.
  10. Runnebaum B, Rabe T, Kiesel L, Prakash AO.  Biological evaluation of some medicinal plant extracts for contraceptive efficacy in females. Future aspects in contraception. Part 2. Female contraception.  Boston:MTP Press, Ltd., 1984:115-28.
  11. Yokel RA, Ogzewalla CD. Effects of plant ingestion in rats determined by the conditioned taste aversion procedure. Toxicon 1981;19(2):223-32.
  12. Badria FA. Is man helpless against cancer? An environmental approach: antimutagenic agents from Egyptian food and medicinal preparations.  Cancer Lett 1994;84(1):1-5.
  13. Saleh MM, Hashem FA, Glombitza KW. Cytotoxicity and in vitro effects on human cancer cell lines of volatiles of Apium graveolens var. filicinum.  Pharm Pharmacol Lett 1998;8(2):97-9.
  14. Henry SA, Cantab MD, Cantab DP.  Celery itch: dermatitis due to celery in vegetable canning. Brit J Dermatol Syphilis 1933;47:301-9.
  15. Rockwell P, Raw I. A mutagenic screening of various herbs, spices, and food additives. Nutr Cancer 1979;1:10-5.
  16. Al-Hindawi MK, Al-Deen HIS, Nabi MHA, Ismail MA. Anti-inflammatory activity of some Iraqi plants using intact rats. J Ethnopharmacol 1989;26(2):163-8.
  17. GargSK, Saksena SK, Chaudhury RR.  Antifertility screening of plants. Part VI. Effect of five indigenous plants on early pregnancy in albino rats.  Indian J Med Res 1970;58:1285-9.
  18. Miwa M, Kong ZL, Shinohara K, Watanabe M. Macropohage stimulating activity of foods. Agr Biol Chem 1990;54(7):1863-6.
  19. Kada T, Morita K, Inoue T. Anti-mutagenic action of vegetable factor(s) on the mutagenic principle of tryptophan pyrolysate.  Mutat Res 1978;53:351-3.
  20. Hattori M, Nakabayashi T, Lim YA, et al. Inhibitory effects of various Ayurvedic and Panamanian medicinal plants on the infection of Herpes simplex virus-1 in vitro and in vivo.  Phytother Res 1995;9(4):270-6.
  21.  Stager J, Wuthrich B, Johansson SGO. Spice allergy in celery-sensitive patients. Allergy 1991;46(6):475-8.
  22. Yamaguchi T. Inhibitory activity of heat treated vegetables and indigestible polysaccharides on mutagenicity. Mutat Res 1992;284(2):205-13.
  23.  Miwa M, Kong ZL, Shinohara K, Watanabe M. Macropohage stimulating activity of foods. Agr Biol Chem 1990;54(7):1863-6.
  24. Jadassohn W, Zaruski M. Idiosyncrasy towards celery.  Arch Dermatol Syphilol 1926;15:93-7. 
  25. Hashim S, Aboobaker VS, Madhubala R, Bhattacharya RK, Rao AR. Modulatory effects of essential oils from spices on the formation of DNA adducts by aflatoxin B1 in vitro.  Nutr Cancer 1994;21(2):169-75.
  26. Kim OK, Murakami A, Nakamura Y, Ohigashi H. Screening of edible Japanese plants for nitric oxide generation inhibitory activities in raw 264.7 cells. Cancer Lett 1998; 125(1/2):199-207.
  27. Bhakuni DS, Dhar ML, Dhar MM, Dhawan BN, Gupta B, Srimali RC. Screening of Indian plants for biological activity. Part III. Indian J Exp Biol 1971;9:91.
  28. Kohli RP, Dua PR, Shanker K, Saxena RC. Some central effects of an essential oil of Apium graveolens (Linn.).  Indian J Med Res 1967;55:1099-102.