หล่อฮังก๊วย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หล่อฮังก๊วย งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หล่อฮังก๊วย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หล่อฮั่งก้วย, หล่องฮั้งก๊วย (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Siraitia grosvenorii (Swingle) C.Seffrey ex A.M.Lu&Zhi Y. Zhang
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Momodica grosvenorii Swingle
ชื่อสามัญ Luo Han. Guo
วงศ์ CUCURBITACEAE


ถิ่นกำเนิดหล่อฮังก๊วย

หล่อฮังก๊วย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทางตอนใต้ของประเทศจีนบริเวณมลฑลกวางสี และกวางตุ้ง ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง เช่น ทางตอนเหนือของเวียดนาม เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยปัจจุบันพบว่าสามารถนำมาปลูกได้ ในทางภาคเหนือของไทย (บริเวณบนภูเขาที่มีอาหารหนาว)

ประโยชน์และสรรพคุณหล่อฮังก๊วย

  • ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • ช่วยให้ชุ่มคอ
  • แก้หลอดลมอักเสบ
  • บรรเทาอาการท้องผูก
  • เพิ่มการไหลเวียนของเลือด
  • แก้อาการเหงื่อออกมากและเหงื่อออกง่ายในที่อากาศเย็น
  • แก้โรคทางเดินหายใจ
  • แก้โรคทางเดินอาหาร
  • แก้ทวารหย่อน
  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะภายใน
  • ช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ
  • รักษาอาการอักเสบ
  • ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
  • ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
  • ช่วยป้องกันริ้วรอยแห่งวัย
  • ช่วยบรรเทาอาการแพ้

          หล่อฮังก๊วยถูกนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศจีนมานานกว่า 2000 ปี สรรพคุณหล่อฮังก๊วย มีสรรพคุณเป็นหยิน (ฤทธิ์เย็น) จัดอยู่ในประเภทธาตุเย็นเหมาะสำหรับคนธาตุร้อน แล้วตามบันทึกการแพทย์แผนจีนในสมัยราชวงศ์หมิง ในปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยพบว่าเนื้อผลหล่อฮังก๊วยมีสารสำคัญกล่มไตรเทอร์ปีน ไกลโคไซด์ ซึ่งพบปริมาณเหล่านี้ในผลแห้งมากกว่าผลสด โดยสารประกอบหลักที่พบ คือ mogroside V ซึ่งมีความหวานมากกว่าน้ำตาล 400 เท่า และ siamenoside I ซึ่งมีความหวานมากกว่าน้ำตาล 500 เท่า ของน้ำตาลซูโครส โดยสารเหล่านี้ให้ความหวานแต่ไม่ให้พลังงานเช่นเดียวกันกับสารสตีวิออล ไกลโคไซด์ และในปัจจุบันองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศให้มีการใช้สารสกัดผลหล่อฮังก๊วย ที่มี mogroside V 25%, 45% หรือ 55% เป็นสารแต่งรสหวานในอาหารเช่นเดียวกับสตีวิออล ไกลโคไซด์จากหญ้าหวาน อีกด้วย จึงทำให้มีการใช้สารสกัดจากเนื้อผลหล่อฮังก๊วยมาใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ ในอาหารประเภทต่างๆ เช่น ขนม น้ำหวาน เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เสริมความหวานแทนน้ำตาล เป็นต้น

หล่อฮังก๊วย

หล่อฮังก๊วย 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ในทางการแพทย์แผนจีนได้ระบุว่าการใช้หล่อฮังก๊วยเป็นสมุนไพร นั้นมีวิธีการดังนี้ เริ่มจากนำผลของหล่อฮังก๊วย ไปตากแห้ง หรือ ลนไฟจนแห้งแล้ว ทำการเคาะซึ่งหากใช้ได้แล้วจะมีเสียงกังวาน ก็สามารถนำมาต้ม หรือ ผสมกับจับเลี้ยงเพื่อปรุงเครื่องดื่ม หรือ นำไปเป็นส่วนประกอบกับเครื่องยาจีนชนิดอื่นๆ หรือ นำไปเป็นเครื่องปรุงในกรรมวิธีการปรุงอาหารต่างๆ เช่น การต้ม ตุ๋น นึ่ง เป็นต้น


ลักษณะทั่วไปของหล่อฮังก๊วย

หล่อฮังก๊วย จัดเป็นพืชประเภทไม้เลื้อยยาว อยู่ในวงศ์แตง (Cucurbitaceae) โดยมีลำต้นเป็นเถายาวประมาณ 3-4 เมตร มีรากเป็นรูปกระสวย และจะขยายใหญ่ขึ้นตามเถาใบเป็นรูปไข่ปลายแหลมยาว โคนใบหยักลึกมีขนาดกว้าง 5-17 เซนติเมตร ยาว 12-23 เซนติเมตร ดอกออกเป็นดอกเดียวคล้ายดอกฟักทอง ดอกมีสีเหลือง ผลสดมีรูปร่างกลมรี มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-8 เซนติเมตร ผิวเรียบมันสีเขียวอ่อน เมื่อผลแห้งจะมีสีน้ำตาลเข้ม มีรสหวานด้านในผลมีเมล็ดรูปไข่สีเหลืองอ่อนจำนวนมาก

หล่อฮังก๊วย

หล่อฮังก๊วย

การขยายพันธุ์หล่อฮังก๊วย

หล่อฮังก๊วย สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกหล่อฮังก๊วยนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ด และปลูกไม้เถาอื่นๆ ในวงศ์แตง (Cucurbitaceae) เช่น แตงกวา แตงโม และน้ำเต้า ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้หล่อฮังก๊วยเป็นพืชที่ชอบอากาศหนาว ดังนั้นพื้นที่ปลูกจึงต้องมีภูมิอากาศหนาวเช่นในพื้นที่สูงทางภาคเหนือของไทยเป็นต้น


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีในผลของหล่อฮังก๊วย ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น Mogrol, Mogroside IA, Mogroside V, Neomogroside, 11-Oxomogrol, Siamenoside I, Isomogroside V, Grosmomoside I นอกจากนี้ในดอกของหล่อฮังก๊วยยังพบสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น kaempferol, kaempferol 7-O-L-rhamnopyranoside, kaempferol 3-O-L-rhamnopyranoside-7-O-[β-D-glucose-based-(1-2)-α-L-rhamnoside], kaempferitrin และ quercetin-3-O-D-glucopyranoside-7-O-L-rhamnopyranoside เป็นต้น และยังมีการศึกษาวิจัยสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของหล่อฮังก๊วยพบว่ามีสารต่างๆ ดังนี้ magnolol, vanillic acid, p-hydroxybenzylic acid, aloe emodin, β-sitosterol, daucosterol และ succinic acid อีกด้วย

โครงสร้างหล่อฮังก๊วย

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหล่อฮังก๊วย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหล่อฮังก๊วยหลายฉบับดังนี้

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านการอักเสบแบบในหลอดทดลอง (in vitro ) ของสาร mogrosides ซึ่งสกัดได้จากหล่อฮังก๊วย ในเซลล์แมคโครฟาจน์ RAW 264.7 ซึ่งถูกกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบด้วยการเติม Lipopolysaccharides (LPS) แล้วจึงเติมสารสกัด mogrosides เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งการเกิดกระบวนการอักเสบของหล่อฮั่งก๊วย และในเซลล์เนื้อเยื่อจากใบหนูของหนูเมาส์โดยทำการฉีดสารสกัด mogrosides เข้าที่ใบหูหนูก่อนกระตุ้นให้เกิดอาการบวมและอักเสบด้วยการฉีด 12-o-tetradecanoylophorbol-13-acetate (TPA) วัดการแสดงออกของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดกระบวนการอักเสบด้วยวิธี RT-qPCR (Reverse transcription real-time polymerase chain reaction) และวิธี ELISA (Enzyme-linked immunosorbent assay) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัด mogrosides มีผลลดระดับการแสดงออกของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดกระบวนการอักเสบได้แก่ nitric oxide synthase (iNOS) cyclooxygenase-2 (COX-2) และ interleukine-6 (IL-6) นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มการแสดงออกของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการป้องกันการอักเสบได้แก่ poly ADP-ribose polymerase family number 1 (PARP1), BCL2-like 1 (BCL2l1) transformation-related protein 53/ p53 (TRP53), mitogen-activated protein kinase 9 (MAPK9) และ peroxisome proliferator activator receptor δ (PPAR δ) ซึ่งผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสารสกัด mogrosides จากหล่อฮั่งก๊วยมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้

           ฤทธิ์ต้านเบาหวาน มีการศึกษาวิจัยกลไกการออกฤทธิ์ต้านเบาหวานของสาร cucurbitane glycosides ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม mogrosides ที่แยกได้จากผลหล่อฮั่งก๊วย (Siraitia grosvenori) จำนวน 18 ชนิด ในหลอดทดลอง โดยใช้เซลล์มะเร็งตับของมนุษย์ (HepG2 cells) และเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน metformin พบว่าสารทุกตัวมีฤทธิ์ทำให้การเก็บกลูโคสเข้าสู่เซลล์ (glucose uptake) เพิ่มขึ้น โดยมีประสิทธิภาพสูงสุดที่ความเข้มข้น 1 μmol/L ซึ่งผลดังกล่าวเทียบเท่าหรือดีกว่ายา metformin ที่ความเข้มข้นเดียวกัน และยังมีการศึกษาผลของหล่อฮั่งก๊วยต่อระดับอินซูลิน โดยมีรายงานการวิจัยฉบับหนึ่งพบว่าสารสกัดจากผลของหล่อฮั่งก๊วย และสาร mogrosides สามารถช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินของเบต้าเซลล์ในตับอ่อนและทำให้อินซูลินทำงานเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านจุลชีพ มีการศึกษาวิจัยสารสกัดจากใบ ผลและลำต้นของหล่อฮังก๊วยพบว่าฤทธิ์ยับยั้งอย่างรุนแรงต่อเชื้อ Pseudomonas aeruginosa, Escherichia coli และ Streptococcus mutans


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหล่อฮังก๊วย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาระบุว่าการรับประทานหล่อฮังก๊วย ในรูปแบบของเครื่องดื่มและอาหารมีความปลอดภัยสูง เช่นเดียวกับสาร mogrosides ซึ่งมีความเป็นพิษต่ำมาก โดยมีการทดสอบความเป็นพิษในหนูเม้าส์โดยการฉีดเข้าทางกระเพาะอาหารพบค่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 10 ก./กก.


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เนื่องจากหล่อฮังก๊วย เป็นพืชในวงศ์แตง (Cucurbitaceae) ดังนั้นผู้ที่แพ้พืชในวงศ์นี้ไม่ควรรับประทานเพราะอาจเกิดอาการแพ้ได้ นอกจานี้ถึงแม้ว่าสารสกัดจากหล่อฮังก๊วยจะมีความหวานที่ไม่ให้พลังงานแต่การใช้ก็ควรระมัดระวังในการใช้โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรใช้ร่วมกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่ผสมกับน้ำตาลเพราะอาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้


เอกสารอ้างอิง หล่อฮังก๊วย
  1. นิศารัตน์ สุขเอม, ปริศนีย์ ทับใบแย้ม.การใช้หล่อฮังก๊วย แทนน้ำตาลมะพร้าวในผลิตภัณฑ์วุ้นน้ำนมข้าวยาคู. รายงานการวิจัย.คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร.2556. 47 หน้า
  2. วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ ๔). ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ ๓๘๑ พ.ศ. ๒๕๕๙, ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๓๓, ตอนพิเศษ ๒๙๘ ง. (ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๙)
  3. ฤทธิ์ต้าเบาหวานของสารสกัดจากหล่อฮั่งก๊วย. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. วิไลพร จอมพล และ อาทิศรา ขุนสิทธิ์.2553. "การใช้น้ำหล่อฮั่งก้วยทดแทนน้ำตาลมะพร้าว ในกระยาสารท” วิทยานิพนธ์ปริญญาตรี.ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร.
  5. ฤทธิ์ต้านการอักเสบของหล่อฮังก๊วย (Momordica grosvenorii). ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. Dewick PM. Medicinal natural products: A biosynthetic approach. 2nd ed. West Sussex: John Wiley & Sons, 2001.
  7. Su X, Xu Q, Liang R, Tang Z, Wei Y. Experiments studies on the non-toxicity action of mogrosides. Shipin Kexue. 2005;26(3):221-4.
  8. Williamson E, Driver S, Baxter K, editors. Stockley’s herbal medicines Interactions: A guide to the interactions of herbal medicines 2nd ed. London: Pharmaceutical Press; 2009.
  9. Zhou Y, Zheng Y, Ebersole J, Huang CF. Insulin secretion stimulating effects of mogroside V and fruit extract of luo han kuo (Siraitia grosvenori Swingle) fruit extract. Yao Xue Xue Bao. 2009;44(11):1252-7
  10. Evans WC, editor. Trease and Evans’ pharmacognosy. 16th ed. London: W.B.Saunders Co.Ltd.; 2009.