โคลงเคลง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

โคลงเคลง งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ

ชื่อสมุนไพร โคลงเคลง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น อ้า, อ้างหลวง (ภาคเหนือ), มะเหร, มังเร้, มังเคร, สำเรา, เบร์ (ภาคใต้), โคลงเคลงขี้นก, โคลงเคลงขี้หมา, มายะ (ภาคตะวันออก), กาดูดู๊, กาดูโด๊ะ (มลายู), ตาลาเต๊ะ (กะเหรี่ยง) 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Melastoma malabathricum Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Melastoma malabathricum subsp. Malabathricum
ชื่อสามัญ Melastoma, Malabar gooseberry, Malabar melasbathricum, Indian rhododendron.
วงศ์ MELASTOMATACEAE


ถิ่นกำเนิดโคลงเคลง

โคลงเคลง จัดเป็นพันธุพืชประจำถิ่นของไทยอีกชนิดหนึ่ง โดยมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียได้แก่ ในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า ลาว และกัมพูชา ต่อมาจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรอินเดีย และในออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบโคลงเคลง ได้ทั่วไปแต่จะพบได้มากทางภาคใต้ ตามที่รกร้างว่างเปล่า ตามทุ่งหญ้า หรือ ตามที่ราบลุ่มที่มีความชุ่มชื้น ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 3000 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณโคลงเคลง

  1. ใช้บำรุงธาตุ
  2. ใช้บำรุงร่างกาย
  3. ใช้บำรุงตับ
  4. ใช้บำรุงไต
  5. ใช้บำรุงน้ำดี
  6. แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  7. แก้มะเร็ง ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
  8. แก้ปวด
  9. ใช้ปรุงเป็นยาหลังคลอดในสตรี
  10. ใช้แก้ท้องร่วง
  11. แก้บิด
  12. แก้ริดสีดวงทวาร
  13. แก้หนองใน
  14. แก้ระดูขาวในสตรี
  15. แก้เชื้อราในช่องปาก และลำคอ
  16. แก้แผลสด
  17. แก้แผลหนอง
  18. แก้แผลไฟไหม้
  19. ใช้ระงับประสาท
  20. ห้ามเลือดในโรคริดสีดวงทวาร

           ใบ อ่อนถูกนำมาใช้เป็นอาหาร โดยสามารถนำมารับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกต่างๆ และแม่บ้านในอดีตยังมีการนำใบโคลงเคลง นำมาใช้รูดขัดเมือกปลาไหลได้อีกด้วย ส่วนเนื้อในของผลสุก มีสีม่วงสามารถนำมาใช้รับประทานเล่นได้ โดยจะมีรสหวานอมฝาด นอกจากนี้ยังมีการนำต้นโคลงเคลง มาใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ เนื่องจากมีทรงพุ่ม และดอกที่มีสีสวยงาม


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงร่างกาย บำรุงตับ ไต บำรุงน้ำดี ดับพิษไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้มะเร็ง แก้ปวด ใช้เป็นยาหลังคลอดในสตรี โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้เป็นยาระงับประสาท โดยนำดอกมาตากแห้ง ต้มกับน้ำ หรือ ชงเป็นชาดื่ม
  • ใช้รักษาโรคท้องร่วง โรคบิด แก้ริดสีดวงทวาร รักษาโรคหนองใน แก้ระดูขาวในสตรี โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้เชื้อราในช่องปาก หรือ ลำคอ โดยใช้น้ำคั้นจากใบ หรือ ใช้ใบมาต้มกับน้ำอมกลั้วคอ หรือ บ้วนปาก
  • ใช้รักษาแผลสด แผลไฟไหม้ โดยนำใบโคลงเคลง สดมาตำพอกบริเวณที่เป็นแผล
  • ใช้รักษาแผลที่เป็นหนอง โดยนำใบมาต้มแล้วชะล้างแผล
  • นอกจากนี้ในประเทศอินเดีย มีรายงานการนำผลสดมาฝนกับน้ำ ดื่มวันเว้นวัน เพื่อช่วยป้องกันโรคมะเร็งอีกด้วย


ลักษณะทั่วไปของโคลงเคลง

โคลงเคลง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลางมีความสูงของต้น 1-3 เมตร บริเวณผิวลำต้น และกิ่งก้านจะเป็นสีน้ำตาลแดง กิ่งก้านมักจะมีสีลักษณะเป็นเหลี่ยม และลำต้นจะมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม

           ใบโคลงเคลง เป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับตั้งฉากตรงข้ามเป็นคู่ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกมีขนาดกว้าง 1.7-5 เซนติเมตร ยาว 4-14 เซนติเมตร โคนใบและปลายใบแหลมขอบใบเรียบ แผ่นใบแข็งมีสีเขียวหลังใบมีสีเข้มกว่าท้องใบ ผิวใบมีเมล็ดเล็กแหลม มีเส้นใบที่มองเห็นชัดเจน ออกจากโคนใบไปจรดกันที่ปลายใบประมาณ 3-5 เส้น ส่วนเส้นใบย่อยเรียงแบบขั้นบันได และไม่มีหูใบ

           ดอกโคลงเคลง ออกเป็นช่อแบบสมบูรณ์เพศโดยจะออกบริเวณปลายยอด ในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยช่อละประมาณ 3-5 ดอก ลักษณะของดอกย่อยจะมีกลีบดอก 4-6 กลีบ เป็นสีม่วงอมสีชมพู มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และมีฐานรองดอกที่ปกคลุมด้วยเกล็ดแบนเรียบ เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้สีเหลือง 10 ก้าน เรียงเป็นวง และมีรยางค์สีม่วงโค้งงอส่วนรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ

           ผลโคลงเคลง เป็นผลแห้งมีลักษณะคล้ายคนโท หรือ ลูกข่าง ขนาดของผลจะกว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว และจะมีขนปกคลุม ผลเมื่อแก่เปลือกผลจะเป็นสีน้ำตาลพอแก่จัดจะแห้งแล้วแตกออกตามขวาง ด้านในผลมีเนื้อขนาดเล็กจำนวนมาก

โคลงเคลง
ที่มาของภาพ www. mungfali. com
โคลงเคลง

การขยายพันธุ์โคลงเคลง

โคลงเคลงสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีอาทิเช่น การเพาะเมล็ด การปักชำ การตอนกิ่ง และการแยกกอ แต่ในการขยายพันธุ์ของโคลงเคลงนั้นในปัจจุบันจะเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ มากกว่าการถูกนำมาปลูกโดยมนุษย์ ซึ่งการขยายพันธุ์ในธรรมชาตินั้นจะอาศัยเมล็ดของโคลงเคลง ร่วงหล่น ถูกสัตว์กินเนื้อผลแล้วถ่ายออกมา หรือ ถูกลมพัดปลิวไปเกิดเป็นต้นใหม่ สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกโคลงเคลงนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนเหนือดิน (ผล ใบ ก้าน และราก) ของโคลงเคลง พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้ catechin, gallic acid, luteolin, quercetin, rutin, anthocyanin, ursolic acid, stearic acid และ β-sitosterol เป็นต้น

โครงสร้างโคลงเคลง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของโคลงเคลง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดโคลงเคลง จากส่วนเหนือดิน และสารสกัดจากผลโคลงเคลงของระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           มีรายงานว่าพบปริมาณสาร anthocyanin จากเนื้อผลโคลงเคลง โดยมีค่ามากถึง 880 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม และมีปริมาณฟินอลิกรวม 900 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งสารในกลุ่มดังกล่าว มีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยเป็นสารที่สามารถต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยยับยั้งการเกิดมะเร็ง ลดอัตราเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และเส้นเลือดอุดตันในสมองได้

           ยังมีรายงานการทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งแบคทีเรีย ก่อโรคในอาหารของสารสกัดหยาบจากส่วนรากก้านใบและผลของต้นโคลงเคลง โดยได้ทำการทดสอบการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรค 3 สายพันธุ์ ได้แก่ S.aureus, B.cereus และ E.coli ด้วยวิธี discdiffusiontest พบว่าสารสกัดหยาบจากรากก้านแ ละผลของพืชโคลงเคลง สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียชนิด S.aureus ได้ โดยมีผลการยับยั้งของสารสกัดจากส่วนรากเท่ากับ 18.00 มิลลิเมตร สารสกัดจากส่วนของก้านเท่ากับ 18.00 มิลลิเมตร และสารสกัดจากส่วนของผลเท่ากับ 18.00 มิลลิเมตร แต่ไม่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย E.coli และ B.cereus ได้

           นอกจากนี้สารสกัดจากส่วนผลของโคลงเคลงยังมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย ยับยั้งไวรัส และมีความเป็นพิษต่อเซลล์อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของโคลงเคลง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้โคลงเคลง เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคนั้น ควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำยาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง โคลงเคลง
  1. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์, สำนักงานหอพรรณไม้ (2ed.) กรุงเทพมหานคร: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. 2557.
  2. กรมป่าไม้. 2548. สมุนไพร ในพื้นที่พรุจังหวัดนราธิวาส. ฝ่ายโครงการพิเศษ กองแผนงาน .สำนักวิจัยการจัดการป่าไม้แ ละผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้
  3. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “โคลงเคลง”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 106.
  4. ศิริพรรณ สุขขัง และคณะ. ปริมาณแอนโทไซยานิน. สารประกอบฟีนอลิกและน้ำตาลของผลโคลงเคลง (Melastoma malabathricum L.) จากแหล่งต่างๆของประเทศไทย. การประชุมวิชาการของมหาวิทยาลัยเกตรศาสตร์ ครั้งที่ 56. หน้า 274-281
  5. อาอีเซาะส์ เบ็ญหาวัน. สุนีย์ แวมะ, การศึกษาสารประกอบฟีนอลิกในสารสกัดจากต้นโคลงเคลง เอาลงด้วยเทคนิค HPTLC และฤทธิ์ต้านแบคทีเรียก่อโรคในอาหาร. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. มรย.ปีที่ 6. ฉบับที่ 1. มกราคม-มิถุนายน 2564. หน้า 81-90.
  6. Zakaria,Z.A., Rofiee, M.S., Mohamed, A.M.,Teh,L.K.,&Salleh,M.Z (2011). InvitroantiproliferativeandantioxidantactivitiesandtotalphenoliccontentsoftheextractsofMelastomamalabathricumleaves. JournalofAcupunctureandMeridianStudies, 4(4),248-256.
  7. Miguel, M.G. 2011. Anthocyanins: Antioxidant and/or anti-inflammatory activities. J. Appl. Pharm. Sci. 01 (06): 07-15
  8. Joffry,S.M.,Yob,N.J., Rofiee, M.S., Affandi, M.M.R., Suhaili,Z.,Othman,F.,etal.(2012). Melastomamalabathricum(L.) Smithethnomedicinaluses,chemicalconstituents, andpharmacologicalproperties:areview. Evidence-BasedComplementaryandAlternativeMedicine, 2012:258434, 1-48.doi:10.1155/2012/258434
  9. Anuar, N., A.F.M. Adnan, N. Saat, N. Aziz and R.M. Taha. 2013. Optimization of extraction parameters by using response surface methodology, purification, and identification of anthocyanin pigments in Melastoma malabathricum fruit. Sci. World J.2013: 1-10.
  10. Kumar,V.,Ahmed,D.,Gupta,P.S.,Anwar,F.,&Mujeeb,M.(2013).Anti-diabetic,anti-oxidantandanti-hyperlipidemicactivitiesofMelastomamalabathricumLinn. leavesinstreptozotocininduceddiabeticrats. BMCComplementaryandAlternativeMedicine, 13(1),1-19
  11. Hazarika, T.K., S. Marak, D. Mandal, K. Upadhyaya, B.P. Nautiyal and A.C. Shukla. 2016. Underutilized and unexploited fruits of Indo-Burma hot spot, Meghalaya, north-east India: ethno-medicinalevaluation, socio-economic importance and conservation strategies. Genet. Resour. Crop Evol.63: 289-304
  12. Sayuti, K., F. Azima and M. Marisa. 2015. The addition of “senduduk” fruit (Melastoma malabathricum, L.) extract as colorants and antioxidant on jackfruit straw (Artocarpus heterophyllus, L.) jam. IJASEIT 5 (6): 397-401.