ดาวกระจาย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ดาวกระจาย งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ดาวกระจาย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ดอกดาวกระจาย, ดาวเรืองพม่า (ทั่วไป), คำแพ, ดำแพ, คำเมืองไหว (ภาคเหนือ), สะลากุ้ง (ไทยใหญ่), พอกอลา (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ ดอกดาวกระจายมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ Cosmos bipinnatus Car., Cosmos sulpureus Car.
ชื่อสามัญ Cosmos, Mexican aster
วงศ์ COMPOSITAE - ASTERACEAE
ถิ่นกำเนิดดาวกระจาย
ดาวกระจาย จัดเป็นพืชในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณเขตร้อนของทวีปอเมริกากลาง และเป็นพืชพื้นเมืองของหลายประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น เมกซิโก, ปานามา เปอร์โตริโก, กัวเตมาลา, คอสตาริกา และคิวบา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยในปัจจุบันสามารถพบดาวกระจาย ได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณสวนสาธารณะ ตามอาคารสถานที่ตามรีสอร์ท โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
ประโยชน์และสรรพคุณดาวกระจาย
- ใช้แก้อาการท้องร่วง
- แก้ท้องเสีย
- แก้บิด
- ใช้รักษาแผลสด
- แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
- แก้พิษผื่นคัน
- แก้ไข้
- แก้ดีซ่าน
- แก้อาการม้ามโต
- ใช้รักษาอาการปวดหัว
- โรคทางเดินอาหาร
ดาวกระจาย เป็นไม้ดอกไม้ประดับที่ในปัจจุบันมีการนิยมปลูกลงแปลง เพื่อใช้ประดับตกแต่งอาคารสถานที่ หรือ ตกแต่งตามรีสอร์ท โรงแรม หรือ ตามบริเวณที่จัดงานต่างๆ เนื่องจากดอกมีขนาดใหญ่หลากหลายสี สามารถปลูกได้เป็นจำนวนมาก เมื่อบานจะดูแล้วสวยงามเป็นทุ่งดาวกระจาย และอายุดอกยังบานเป็นเวลานาน อีกทั้งบานเป็นชุดต่อเนื่อง อีกทั้งยังปลูกและดูแลง่าย ทนต่อสภาพอาการศแล้งและอากาศร้อนได้ดี นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์จำหน่ายโดยความต้องการเมล็ดพันธุ์ดาวกระจาย เพื่อปลูกในสวนหน้าบ้านของตนเองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทวีจำนวนมากขึ้นตามระยะเวลาอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย แก้บิดโดยนำดอกดาวกระจายมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษผื่นคัน โดยนำดอกดาวกระจาย สดมาขยี้ทาบริเวณที่เป็น
- ใช้รักษาบาดแผล โดยนำดอกดาวกระจายสดมาตำพอกบริเวณที่เป็นแผล
- ชาวบาโซโทใช้รักษาอาการปวดหัว และโรคทางเดินอาหาร
ลักษณะทั่วไปของดาวกระจาย
ดาวกระจาย จัดเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นสูง 30-100 เซนติเมตร ทรงพุ่มเตี้ยโปร่ง ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง เปราะหักง่าย ลำต้นมีสีเขียว มีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย
ใบดาวกระจาย เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ แผ่นใบเว้าแว่งคล้ายนิ้วมือ 5-7 แฉก แต่ละแฉกเป็นรูปหอก และอาจมีแฉกย่อยๆ อีกชั้นหนึ่ง โคนใบสอบไม่สมมาตร ปลายใบแหลม
ดอกดาวกระจาย เป็นดอกเดี่ยวเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกออกบริเวณปลายกิ่ง ดอกมีขนาด 5-15 เซนติเมตร กลีบดอกมีหลายสีตามสายพันธุ์ เช่น สีเหลือง, สีแดง, สีชมพู, สีม่วง, สีขาว หรือ อาจมี 2 สี ในดอกเดียวก็ได้ ส่วนกลีบดอกมีชั้นเดียว หรือ อาจเรียงซ้อนเป็นชั้นหลายชั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ส่วนแผ่นกลีบดอกค่อนข้างบางและเรียบ ปลายกลีบหยักเป็นฟันเลื่อย ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อัน และเกสรตัวเมีย 1 อัน ด้านล่างเป็นรังไข่
เมล็ดดาวกระจาย เป็นเมล็ดแห้งมีลักษณะรียาวแหลมทั้งหัว และท้ายมีแปลือกหุ้มเมล็ดแข็งเป็นสีน้ำตาลอมดำ
ทั้งนี้สายพันธุ์ดาวกระจาย ที่นิยมปลูกในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ สารพันธุ์ C.bipinnatus Cav. (Sensation Type) มีลักษณะเด่น คือ กลีบดอกเป็นแบบชั้นเดียว ดอกมีหลายสี มีลำต้นสูงประมาณ 90 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเรียวยาว และหยักลึก ส่วนสายพันธุ์ C. sulphureus Cav. (Klondyke Type) มีลักษณะเด่น คือ กลีบดอกเป็นแบบชั้นเดียว หรือ อาจจะซ้อนหลายชั้น กลีบดอกมีเฉพาะสีเหลือง หรือ เหลืองส้ม มีลำต้นสูง 30-60 เซนติเมตร เตี้ยกว่าอีกสายพันธุ์ ใบมีลักษณะใหญ่ และหยักตื้นกว่าชนิดแรก
การขยายพันธุ์ดาวกระจาย
ดาวกระจาย เป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายมาก และมีการกระจายพันธุ์ที่รวดเร็ว มีความทนต่อสภาพอากาศแล้งได้ดี และทนต่อแสงแดดได้ดีเช่นกัน ซึ่งวิธีการขยายพันธุ์ดาวกระจายสามารถทำได้โดยการใช้เมล็ด โดยมีวิธีการดังนี้
เริ่มจากไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืชออกให้หมด โดยการเตรียมแปรงในช่วงแดดออกติดต่อกัน อย่างน้อย 3-5 วัน เพื่อให้วัชพืชเหลือน้อยที่สุดจากนั้นจึงหว่านเมล็ด หรือ หยอดเมล็ด โดยหากหว่านเมล็ด ควรหว่านให้เมล็ดดาวกระจาย มีระยะห่างอย่างน้อยประมาณ 15-20 เซนติเมตร จากนั้นไถคราดตื้นๆ กลบหน้าดิน ส่วนการหยอดเมล็ดจะใช้วิธีการขุดหลุม ลึก 3-5 เซนติเมตร หลอดเมล็ดหลุมละ 2-3 เมล็ด โดยเว้นระยะห่างของหลุมที่ 30 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างแถวที่ 40-50 เซนติเมตร หรือ อาจเพาะกล้าให้มีใบจริงก่อน 3-5 ใบ จากนั้นค่อยย้ายลงปลูกลงหลุม หลุมละ 1-2 ต้นก็ได้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนของดอก และน้ำมันหอมระเหยจากใบของดาวกระจาย ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ส่วนของดอกประกอบด้วยสารกลุ่มฟีนอลิค (phenolic compounds) เช่น Gallic acid, Chlorogenic acid, Protocatechuic acid, p-Hydroxy benzoic acid และยังพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoid compounds) เช่น Apigenin, Rutin, Quercetin, Myricetin และ Kaempferol เป็นต้น ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบพบสาร β-Ocimene, α.-Thujene, Germacrene-D, α.-Farnesene, Terpinene-4-ol, Sabinene, Propanedinitrile, Terpinolene และ Carbamimidothioic acid เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของดาวกระจาย
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดดาวกระจาย จากส่วนดอกและน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบของดาวกระจาย ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี Ferric Reducing Antioxidant Power (FRAP assay), Cellular Antioxidant Activity (CAA assay) และ Oxygen Radical Absorbance Capacity (ORAC assay) พบว่าสารสกัดดอกดาวกระจาย มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Pancreatic lipase (เอนไซม์ช่วยย่อยไขมันจากตับอ่อน) ได้และยังมีรายงานการศึกษาวิจัย ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของ น้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบของดาวกระจาย ต่อแบคทีเรียบางชนิดสามารถยับยั้งแบคทีเรียที่ทดสอบโดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งได้ (MIC) อยู่ในช่วง 0.16-0.63 มก./มล. ซึ่งค่า MIC ของการยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวกอยู่ในช่วง 0.16 ถึง 0.31 มก./มล. ในขณะที่ค่า MIC ในการยับยั้งแบคทีเรียแกรมลบอยู่ในช่วง 0.31 ถึง 0.63 มก./มล. แสดงให้เห็นว่าแบคทีเรียแกรมบวกไวต่อน้ำมันหอมระเหยมากกว่าแบคทีเรียแกรมลบโดยเชื้อ Staphylococcus aureus (OK 2a และ OK 2b ) มี MIC เท่ากับ 0.16 มก./มล. ในขณะที่ S. aureus ATCC 6538 ถูกยับยั้งที่ 0.31 มก./มล. และเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli ATCC 8739 รวมถึงเชื้อ Shigella sonnei ATCC 29930 ถูกยับยั้งที่ระดับ 0.63 มก./มล. ในขณะที่เชื้อแบคทีเรียแกรมลบชนิดอื่น เช่น Proteus vulgaris CSIR 0030, Enterobacter faecalis KZN และ Shigella flexineri KZN ถูกยับยั้งที่ระดับ 0.31 มก./มล. นอกจากนี้ยังมีรายงายว่าสารสกัดพจากดาวกระจาย (ไม่ระบุส่วนสกัด) ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของดาวกระจาย
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้ดาวกระจาย เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ดาวกระจาย
- นันทิยา สมานนท์. (2526). คู่มือการปลูกไม้ดอก. กรุงเทพฯ: สยามสปอร์ตพลับบิชชิ่ง.
- ประโยชน์ต่อสุขภาพของดอกไม้ไทย. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ประดิพันธ์ ทองแถม ณ อยุธยา, สุมิตา คนสนุก, อนัญญา วงศ์วานรุ่งเรือง, อิทธิพลของรังสีแกมมาแบบเฉียบพลันต่อการรอดชีวิต และการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางสัณฐานวิทยาในเมล็ดดาวกระจาย. วารสารวิชชามหาวิทยาลับราชภัฏพระนครปีที่ 41 ฉบับที่ 1. มกราคม-มิถุนายน 2565. หน้า 108-118.
- ดาวกระจาย (Mexican Aster) สรรพคุณและการปลูกดาวกระจาย. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- สารสกัดจากดอกดาวกระจาย. กระดานถาม-ตอบ สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6587.
- Jang S, Marchal V, Panigrahi KC, Wenkel S, Soppe W, Deng XW, Valverde F, Coupland G. Arabidopsis COP1 สร้างรูปแบบชั่วคราวของการสะสม CO ที่ทำให้เกิดการตอบสนองต่อการออกดอกตามช่วงแสง EMBO J. 2008;27:1277-1288 doi: 10.1038/emboj.2008.68
- Shibamoto T. ดัชนีความตึงในการวิเคราะห์น้ำมันหอมระเหย ใน: Sandra, Bicchi C, บรรณาธิการ. โครมาโตกราฟีแก๊สแคปิลลารีในการวิเคราะห์น้ำมันหอมระเหย นิวยอร์ก: A. Verlag; 1987. หน้า 259-274
- Alexandros SB. พืชที่ใช้รักษาโรคมาเลเรียในบราซิล J. Ethnobiol. Ethnomed. 2007;3:18. doi: 10.1186/1746-4269-3-18.
- Zhou, G., Guo, J., Yang, J. and Yang, J. (2018). Effect of fertilizers on Cd accumulation and subcellular distribution of two cosmos species (Cosmos sulphureus and Cosmos bipinnata). International Journal of Phytoremediation, 20(9), 930-938.
- Akihisa T, Yasukawa K, Oinuma H, Kasahara Y, Yamanouchi S, Takido M, Kumaki K, Tamura T. Triterpene แอลกอฮอล์จากดอกไม้ของ Compositae และฤทธิ์ต้านการอักเสบไฟโตเคม. 1996;43:1255-1260. ดอย: 10.1016/s0031-9422(96)00343-3.
- Dubey S, Singh VK. พลวัตของประชากรของ Aphis spiracecola Patch (Homoptera: Aphididae) บนพืชสมุนไพร Cosmos bipinnatus ในรัฐอุตตรประเทศตะวันออก ประเทศอินเดีย Adv. Life Sci. 2011;1:54-58.