ผักกาดน้ำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ผักกาดน้ำ (หญ้าเอ็นยืด)
งานวิจัยและสรรพคุณ 40 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ผักกาดน้ำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าเอ็นยืด, หญ้าเอ็นหยืด (ภาคเหนือ), หมอน้อย, ผักกาดน้ำใหญ่, ผักกาดน้ำไทย (ภาคกลาง), ต้าเชอเฉื่อยเฉา, เชียจ่อยเช่า, เซียแต่เฉ้า, เอียเตี่ยมไฉ่, ตะบุซี้ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plantago major Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Plantago dregeana Decne., Plantago latifolia Salisb., Plantago gigas H. Lév., Plantago jehohlensis Koidz., Plantago macronipponica Yamam., Plantago borysthenica Wissjul., Plantago sawadai (Yamam.) Yamam., Plantago villifera Kitag.
ชื่อสามัญ Waybread, Common plabtain, Greater plantain
วงศ์ PLANTAGINACEAE
ถิ่นกำเนิดผักกาดน้ำ
มีรายงานระบุว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของผักกาดน้ำอยู่ในแถบประเทศนอร์ดิก (นอร์เวย์, เดนมาร์ก, สวีเดน, ฟินแลนด์, ไอซ์แลนด์ และหมู่เกาะกรีมแลนด์) เมื่อประมาณ 4000 ปีก่อน จากนั้นจึงได้กระจายไปยังดินแดนต่างๆ ของทวีปยุโรป และได้กระจายพันธุ์ต่อไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยพบผักกาดน้ำ ได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา และตามทุ่งหญ้า หรือ ริมทางที่มีความชุ่มชื้น
ประโยชน์และสรรพคุณผักกาดน้ำ
- แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
- แก้ปัสสาวะขุ่น
- ใช้ขับปัสสาวะ
- ช่วยดับพิษร้อน
- แก้ร้อนใน ร้อนภายใน
- แก้เจ็บคอ
- แก้หนองใน
- แก้กามโรค
- แก้เอ็นอักเสบ
- แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
- แก้ท้องร่วง
- แก้บิด
- แก้ฝี
- แก้ช้ำรั่ว
- ช่วยบรรเทาอาการผิวหนังอักเสบ
- แก้แผลเรื้อรัง
- แก้พิษแมลงกัดต่อย
- แก้คันจาการแพ้
- แก้ขอบตาเป็นเม็ดบวม
- แก้ตาแดง ตาต้อ
- แก้เคล็ดขัดยอก
- แก้กระดูหัก กระดูกแตก
- บำรุงกำหนัด
- ใช้ห้ามเลือดออกภายนอก
- ช่วยขับก้อนนิ่ว
- แก้ปัสสาวะขัด
- แก้ปัสสาวะแดง
- แก้ท้องเสีย
- แก้ไอ
- แก้ท้องลง
- ใช้รักษาโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
- รักษาโรคตับอักเสบ
- รักษาแผล
- แก้หางตาเป็นเม็ด
- หลอดลมอักเสบจากการติดเชื้อ
- ช่วยลดบวม
- ใช้แก้ข้อเท้าแพลง
- เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
- แก้แพ้
- เส้นเอ็นพลิก เอ็นยึด
มีการนำใบของผักกาดน้ำ มารับประทานเป็นผักสด โดยเฉพาะ คนในแถบภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง จะนำผักกาดน้ำเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก หรือ อาจนำมาปรุงสุกก่อนรับประทาน อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการนำมาใช้ทำเป็นครีม หรือ โลชั่นบำรุงผิวเพื่อช่วยลบรอยเหี่ยวย่อน และลดเลื้อนริ้วรอยอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้ไอ และหลอดลมอักเสบจากการติดเชื้อ : โดยนำใบผักกาดน้ำแห้ง 1-3 กรัม ชงน้ำร้อน แก้ว (250 มิลลิลิตร) แช่ไว้ 15 นาที่ กินวันละ 3 ครั้ง
- ใช้แก้นิ่ว : โดยนำต้นผักกาดน้ำสุด 30 กรัม ต้มกับน้ำ 1 ลิตร กรองให้ได้น้ำยาประมาณ 750 มิลลิลิตร ใช้ดื่มหมด ติดต่อกัน 2 วัน
- ใช้แก้ร้อนใน : โดยดำผักกาดน้ำ แห้ง หรือ สดก็ได้ประมาณ กำมือ ต้มกับน้ำตาลกิน
- ใช้ขับปัสสาวะ ลดบวม : โดยนำผักกาดน้ำทั้งห้า 20-40 กรัม ต้มกับน้ำกิน
- ใช้แก้ข้อเท้าแพลง เคล็ดขัดยอก แมลงสัตว์กัดต่อย : โดยตำใบสดของผักกาดน้ำแล้วใช้น้ำที่ได้ทาบริเวณที่เป็น และใช้กากพอกทิ้งไว้ เปลี่ยนยาวันละ 3-4 ครั้ง
- ใช้แก้หนองใน กามโรค แก้นิ่ว แก้ช้ำรั่ว อาการร้อนใน แก้เจ็บคอ โดยนำทั้งต้นนำไปต้มกับน้ำตาลกรวดดื่ม
- ใช้เป็นยาบำรุงกำหนัด เพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ โดยใช้ทั้งต้นและใบ ไปตากแดดให้แห้งแล้วทำเป็นชาชงดื่ม
- ใช้แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขุ่น ใช้ขับปัสสาวะ แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้เอ็นอักเสบ แก้กระดูหัก กระดูกแตก โดยนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ฝี แก้แผลอักเสบ แผลเรื้อรัง แก้แพ้ แก้พิษแมลงกัดต่อย โดยนำทั้งต้นหรือใบมาตำพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้รักษากระดูกหัก กระดูกแตกเคล็ดขัดยอก เส้นเอ็นพลิก เอ็นยึด โดยใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น เช่น ตะไคร้ หญ้าถอดปล้อง เถาวัลย์ปูน บอระเพ็ด มาทำเป็นลูกประคบ ประคบบริเวณที่เป็น หรือนำน้ำมันมะพร้าว เทใส่กระทะพอประมาณ แล้วนำหญ้าเอ็นยืดประมาณ 4-5 ต้น นำมาโขลกให้พอแหลก เอามาทอดเคี่ยวกับน้ำมัน แล้วเอามาทาบริเวณที่เป็นก็ได้
ส่วนในตำราการแพทย์แผนจีนนั้นระบุว่าแก้ปัสสาวะขัด โดยใช้ผักกาดน้ำ 1 ตำลึง หรือ สัก 3 ต้น ต้มกับกวยแชะ
ลักษณะทั่วไปของผักกาดน้ำ
ผักกาดน้ำ จัดเป็น ไม้ล้มลุก ขนาดเล็กอายุหลายปี ลำต้นเนื้ออ่อนสีเขียวสั้นติดพื้นผิวดิน สูง 30-50 ซม. ส่วน ราก แตกแขนงเป็นรากฝอยจำนวนมาก
ใบผักกาดน้ำ เป็นใบเดี่ยวรูปไข่กลับ ออกเป็นกระจุก จากบริเวณโคนต้น โดยใบมีขนาด กว้าง 12-16 เซนติเมตร ยาว 20-30 เซนติเมตร แผ่นใบมีเส้นใบหลัก 3-9 เส้น ออกมาจากจุดร่วมกันที่ฐานใบ ขอบใบเรียบ หรือ หยักเล็กน้อยโคนใบเรียวแหลม ปลายใบเป็นติ่งแหลม หรือ กลม และมีก้านใบยาวเท่ากับแผ่นใบ
ดอกผักกาดน้ำ ออกเป็นช่อ แบบช่อเชิงลด โดยจะเป็นช่อตั้งตรงชูขึ้นมาจากกลางลำต้น ซึ่งก้านช่อดอกจะยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อยรูปสามเหลี่ยมแคบๆ ขนาดเล็กสีเขียวแกมน้ำตาล เรียงอยู่บนก้านช่อดอก
ผลผักกาดน้ำ เป็นผลแห้ง ขนาดเล็กขนาด ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ลักษณะทรงกลม หรือ อาจมีรูปร่างไม่แน่นอน สีเขียวอมสีน้ำตาล หรือ เป็นสีน้ำตาล เมื่อผลสุกจะแตกออก ในผลมีเมล็ดรูปเหลี่ยมขนาดเล็กประมาณ 8-15 เมล็ด มีขนาดกว้าง 0.8 มิลลิเมตร ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร มีรสขมเล็กน้อย
การขยายพันธุ์ผักกาดน้ำ
ผักกาดน้ำสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และการแตกกอ โดยผักกาดน้ำ ขึ้นได้ดีในดินร่วนที่ชุ่มชื้น และยังเป็นพืชที่ชอบแสง เพราะเป็นไม้กลางแจ้ง สามารถทนความแห้งแล้งได้ดี สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกผักกาดน้ำ นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูก ไม้ล้มลุกชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของผักกาดน้ำระบุว่าพบสารออกฤทธิ์หลายชนิดเช่น สารสกัดจากเมล็ดพบสาร Holoside, Planteose, Plantagluqde, Myristic acidn, Arachidic acid, Palmitic acid, ferulic acid, Stearic acid, Lignoceric acid, Linoleic acid, Linolenic acid, Oleic acid, Behenic acid สารสกัดจากส่วนใบพบสาร ursolic acid, oleanolic acid, Myristic acid, Palmitic acid, Stearic acid, Arachidic acid, Behenic acid ส่วนสารสกัดจากส่วนเหนือดินพบสาร Aucubin, Glycoside, Plantaginin, Plantaglucide, Saponin, Ursolic acid, Asperuloside Flowers, Gardoside, Geniposidic acid, Melittoside, Majoroside, Catapol, 10-Actoxymajoroside, 10-Hydroxymajoroside, Baicalein, Hispidulin, Homoplantaginin, Luteolin 7-diglucosid, Apigenin 7-glucosid, Hispidulin 7-glucuronide, Luteolin 7-glucosid
นอกจากนี้ใบสดของผักกาดน้ำ ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของใบผักกาดน้ำ (100 กรัม)
- พลังงาน 61 แคลอรี่
- น้ำ 81.4%
- โปรตีน 2.5 กรัม
- ไขมัน 0.3 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 14.6 กรัม
- วิตามินเอ 4,200 หน่วยสากล
- วิตามินบี 2 0.28 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.8 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 8 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 184 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 52 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักกาดน้ำ
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดผักการน้ำ จากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
ฤทธิ์แก้ปวด ทดสอบฤทธิ์แก้ปวดของสารสกัด methanol จากใบและเมล็ด โดยวิธี acetic acid-induced writhing และวิธี tail-flick test ในหนูถีบจักร พบว่าเมื่อป้อนสารสกัดเมล็ดผักกาดน้ำขนาด 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แสดงผลยับยั้งอาการปวดจากกรด acetic ได้อย่างมีนัยสำคัญที่ protection rate เท่ากับ 62.3% ส่วนสารสกัดจากใบผักกาดน้ำขนาดเดียวกันให้ผล protection rate เท่ากับ 48.8% เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน dipyrone (50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ให้ผล protection rate เท่ากับ 80.5% ในขณะที่สารสกัดขนาด 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ไม่ให้ผลป้องกันความเจ็บปวดจากการเหนี่ยวนำด้วยกรด acetic นอกจากนี้สารสกัดใบผักกาดน้ำขนาด 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ยังสามารถเพิ่มระยะเวลาในการทนต่อความร้อนเมื่อทดสอบกับหางหนู ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวดด้วยความร้อนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสรุปสารสกัดจากเมล็ด และใบผักกาดน้ำ สามารถลดความเจ็บปวดได้เมื่อทดสอบในสัตว์ทดลอง
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยใช้สารสกัด methanol จากเมล็ดผักกาดน้ำ ด้วยวิธี carrageenan-induced rat paw oedema พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ลดการบวมที่อุ้งเท้าหนูแรทได้ ขึ้นกับขนาดของสารสกัดที่ใช้ โดยมีค่าความเข้มข้นที่ลดการบวมได้ครึ่งหนึ่ง หรือ ED50 เท่ากับ 7.507 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ออกฤทธิ์ได้น้อยกว่ายามาตรฐาน indomethacin โดยกลไกต้านการอักเสบ คือ การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ COX-2 ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์สารพรอสตาแกลนดินที่ทำให้เกิดการอักเสบ (COX-2-catalyzed prostaglandin biosynthesis) และมีการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งพบว่ากรดเออโซลิก (Ursolic acid) ที่แยกได้จากผักกาดน้ำมีฤทธิ์เป็นสารต้านการอักเสบโดยให้ผลยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase COX-2 isoenzyme เมื่อทดลองในหลอดทดลอง มีค่า IC50 130mM ในขณะที่ IC50 สำหรับ COX-1 isoenzyme เท่ากับ 210 mM ค่าคงทนเฉพาะเจาะจง (selectivity) ต่อ COX-2 เท่ากับ 0.6 ใกล้เคียงกับ NS-398 ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ ความเฉพาะเจาะจงต่อการยับยั้ง COX-2 isoenzyme จะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาในการบ่ม (incubate) นานขึ้น ในขณะที่ผลการยับยั้ง COX-1 isoenzyme ไม่ขึ้นกับเวลาในการบ่มยาต้านการอักเสบที่มีฤทธิ์ไม่เฉพาะเจาะจงมีผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร สารที่มีความเฉพาะเจาะจงต่อการยับยั้ง COX-2 isoenzyme จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวต่ำกว่า
ฤทธิ์ปกป้องการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทดสอบฤทธิ์ปกป้องการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของสารสกัด methanol จากใบ และเมล็ดผักกาดน้ำ โดยใช้ เอทานอล และยาแอสไพรินเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารในสัตว์ทดลอง ผลการทดสอบเมื่อใช้เอทานอลเป็นสารเหนี่ยนำการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร พบว่าสารสกัดเมทานอลจากใบผักกาดน้ำ ให้ผลลดดัชนีการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (ulcer index) โดยมีฤทธิ์ปกป้องการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (curative ratio) ได้เท่ากับ 87.50% แต่สารสกัดจากเมล็ดไม่ออกฤทธิ์ ในขณะที่ยามาตรฐาน ranitidine (100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) มีค่า curative ratio เท่ากับ 38.90% นอกจากนี้สารสกัดใบผักกาดน้ำ ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ให้ผลลดจำนวนแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ สารสกัดจากเมล็ดไม่มีผลลดจำนวนแผลในกระเพาะอาหาร แต่สารสกัดใบและเมล็ด มีผลลดความเป็นกรดโดยรวมในกระเพาะอาหารลงได้ สารสกัดจากเมล็ด และใบ ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมื่อป้อนให้สัตว์ทดลอง ไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำย่อย และโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเพิ่มเติม พบว่าผักกาดน้ำ สามารถยับยั้งเชื้อ H. pylori ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
ฤทธิ์แก้ท้องร่วง ทดสอบฤทธิ์แก้ท้องร่วงโดยให้สารสกัด ethanol จากใบผักกาดน้ำแก่หนูแรท ที่ได้รับน้ำมันละหุ่งเพื่อกระตุ้นให้ท้องร่วง และทดสอบการบีบตัวของลำไส้เล็กส่วน duodenum โดยใช้ลำไส้ที่แยกออกมาจากกระต่าย จากการทดสอบพบว่าเมื่อป้อนสารสกัดแก่หนูขนาด 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แสดงฤทธิ์ต้านการท้องร่วงได้อย่างมีนัยสำคัญ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4 ชั่วโมง สารสกัดขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร และลำไส้ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่สารสกัดขนาดสูงมีประสิทธิภาพดีกว่าขนาดต่ำเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้สารสกัดใบผักกาดน้ำที่ความเข้มข้น 1.6 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ทำให้เกิดการกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้เล็กส่วน duodenum แต่ในความเข้มข้นที่สูงขึ้นจะทำให้ลำไส้คลายตัวอย่างรวดเร็ว
ฤทธิ์รักษาแผลเบาหวานและแผลกดทับ การศึกษาแบบเปิดในผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า (diabetic foot ulcer) ที่มีความรุนแรงระดับ 1-2 ตามเกณฑ์ของ Wagner classification system และผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ (pressure ulcer) ความรุนแรงระดับ 2-3 ตามเกณฑ์ของ The International Journal of Lower Extremity WoundsPressure Injury Advisory Panel staging system จำนวน 94 ราย โดยสุ่มแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มทดสอบได้รับการรักษาด้วยเจลหญ้าเอ็นยืด (Plantago major L.) ความเข้มข้น 10% (ในตำรับประกอบสารสกัด 70% เอทานอลจากหญ้าเอ็นยืด, hydroxypropyl methylcellulose, methyl parabenและ propyl paraben) กำหนดให้ผู้ป่วยทาเจลที่แผลวันละ 1 ครั้ง หลังการทำความสะอาดแผลตามมาตรฐานด้วยน้ำเกลือ และปิดบาดแผลด้วยก๊อซ กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มควบคุมได้รับการรักษาแผลตามมาตรฐาน และปิดแผลด้วยแอลจิเนต แผ่นโฟม น้ำผึ้ง แผ่นไฮโดรคอลลอยด์ และไฮโดรเจล โดยขึ้นกับลักษณะของบาดแผล ทำการทดสอบเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ผลพบว่าเจลหญ้าเอ็นยืดสามารถลดอาการผื่นแดงของบาดแผล และลดขนาดบาดแผลมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติตั้งแต่สัปดาห์แรกของการทดสอบ นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มที่ได้รับเจลหญ้าเอ็นยืดจำนวนผู้ป่วยบาดแผลหายสนิทมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบผู้ป่วยบาดแผลหายสนิท เท่ากับ 32 และ 9 คน ตามลำดับ การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าเจลสารสกัด 70% เอทานอลจากหญ้าเอ็นยืดมีฤทธิ์รักษาแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน และรักษาแผลกดทับได้
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของผักกาดน้ำ
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา ของสารสกัดจากเมล็ด และใบผักกาดน้ำ ระบุว่า ฤทธิ์บรรเทาอาการข้ออักเสบรูมาตอยด์ มีรายงานการศึกษาฤทธิ์บรรเทาอาการข้ออักเสบรูมาตอยด์ของหญ้าเอ็นยืด (Plantago major L.) ในหนูแรทเพศเมียที่เหนี่ยวนำให้เกิดข้ออักเสบด้วย Complete Freund's Adjuvant (CFA) ด้วยการป้อนสารสกัดส่วนที่ไม่ละลายน้ำด้วย n-hexane ซึ่งแยกได้จากสารสกัดหยาบไดคลอโรมีเทนต้นหญ้าเอ็นยืด ขนาด 240 และ 480 มก./กก. ให้แก่หนูแรท ติดต่อกัน 30 วัน พบว่ายับยั้งการบวมของข้อได้ตามขนาดของสารสกัดที่ได้รับ โดยยับยั้งได้ 15.70% และ 15.94% ตามลำดับ แต่มีค่าน้อยกว่ากลุ่มควบคุมบวกที่ได้รับยา diclofenac ขนาด 5 มก./กก. (ยับยั้งได้ 19.71%) และสารสกัดจากหญ้าเอ็นยืดมีผลต้านการอักเสบ ลดจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophils ลดการแสดงออกของสารอักเสบ tumor necrosing factor-α และ Interleukin-6 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์บริเวณข้อด้วยเทคนิคทางจุลพยาธิวิทยา พบว่าจำนวนเซลล์อักเสบและความหนาตัวของเยื่อหุ้มข้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากหญ้าเอ็นยืด แสดงให้เห็นว่าสารสกัดส่วนที่ไม่ละลายน้ำด้วย n-hexane ซึ่งแยกได้จากสารสกัดหยาบไดคลอโรมีเทนต้นหญ้าเอ็นยืดมีฤทธิ์ต้านอาการข้ออักเสบรูมาตอยด์
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยความเป็นพิษของผักกาดน้ำระบุว่ามีความปลอดภัยสูง สำหรับการใช้ผักกาดน้ำ เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค ต่างๆ นั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ผักกาดน้ำ
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ผักกาดน้ำ”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 464-465.
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “ผักกาดน้ำใหญ่”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 336.
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ผักกาดน้ำ Common Plantain”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. หน้า 167.
- ฤทธิ์รักษาแผลเบาหวาน และแผลกดทับของหญ้าเอ็นยืด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ฤทธิ์บรรเทาอาการข้ออักเสบรูมาตอยด์ของหญ้าเอ็ดยืด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ผลการยับยั้งเอนไซม์ cox-2 ของผักกาดน้ำ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ผักกาดน้ำ. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid323
- Bianco, A., Guiso, M., Passacantilli, P., Francesconi, A., 1984. Iridoid and phenylpropanoid glycosides from new sources. Journal of Natural Products 47, 901–902.
- Anne Berit Samuelsen. (2000). The traditional uses, chemical constituents and biological activities of Plantago major L. A review Plantago major L. Department of Pharmacognosy, School of Pharmacy, University of Oslo, P.O. Box 1068, Blindern, N-0316 Oslo, Norway Received 19 March 1999; received in revised form 13 March 2000; accepted 17 March 2000.
- Murai, M., Tamayama, Y., Nishibe, S., 1995. Phenylethanoids in the herb of Plantago lanceolata and inhibitory effect on arachidonic acid-induced mouse ear edema. Planta Medica 61, 479–480.
- Nazarizadeh A, Mikaili P, Moloudizargari M, Aghajanshakeri S, Javaherypour S. Therapeutic uses and pharmacological properties of Plantago major L. and its active constituents. J Basic Appl Sci Res. 2013;3(9):212-21.
- Ahmed, Z.F., Hammouda, F.M., Rizk, A.M., Wassel, G.M., 1968. Phyochemical studies of egyptian Plantago species. Planta Medica 4, 404–410
- Long, C., Moulis, C., Stanislas, E., Fouraste´, E., 1995. L%aucuboside et le catapol dans les feuilles de Plantago lanceolata L., Plantago major L. et Plantago media L. Journal de Pharmacie de Belgique 50, 484–488.
- Taskova, R., Handjieva, N., Evstatieva, L., Popov, S., 1999. Iridoid glucosides from Plantago cornuti, Plantago major and Veronica cymbalaria. Phytochemistry 52, 1443–1445.
- Kawashty, S.A., Gamal-el-din, E., Abdalla, M.F., Saleh, N.A.M., (1994). Flavonoids of Plantago species in Egypt. Biochemical Systematics and Ecology 22, 729–733
- Swiatek, K., Kurowska, A., Gora, J., 1980. Chemical composition of some Plantago species seed oil. Herba Polonica 4, 213–217.