กุหลาบมอญ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
กุหลาบมอญ งานวิจัยและสรรพคุณ 10 ข้อ
ชื่อสมุนไพร กุหลาบมอญ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ยี่สุ่น (ทั่วไป, ภาคกลาง), กุหลาบออน (ไทยใหญ่), เหม่ยกุยฟา, เหม่ยกุยฮัว (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rosa damascena Mill.
ชื่อสามัญ Damask Rose, Summer damask
วงศ์ ROSACEAE
ถิ่นกำเนิดกุหลาบมอญ
สำหรับถิ่นกำเนิดของกุหลาบมอญนั้นเชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชียจนถึงเขตอบอุ่นของยุโรปตั้งแต่อินเดีย อิหร่าน ประเทศแถบตะวันออกกลางไปจนถึงตุรกี และบัลแกเรีย แล้วจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวางทั้งในเอเชีย และยุโรป สำหรับในประเทศไทยเชื่อกันว่าถูกนำเข้ามาปลูกในช่วงรัชกาลที่ 2 ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าสมเด็จพระนเรศวร ทรงนำกุหลาบมอญ ที่เป็นดอกไม้พื้นเมืองของมอญกลับมาปลูกในประเทศไทยหลังจากเสร็จสงครามในสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนในปัจจุบันสามารถพบกุหลาบมอญได้ทั่วทุกภาคของประเทศ
ประโยชน์และสรรพคุณกุหลาบมอญ
- ใช้เข้ายาหอมเป็นยาบำรุงหัวใจ
- ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย
- ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ
- ช่วยบำรุงกำลัง
- บำรุงเลือด
- แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน
- แก้วิงเวียน หน้ามืดตาลาย
- ช่วยขับน้ำดี
- แก้ไข้ตัวร้อน
- ใช้เป็นน้ำกระสายยา
ในประเทศไทยกุหลาบมอญ ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านอาหาร สามารถนำกลีบดอกมาชุบแห้งทอด เพื่อใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก แล้วยังใช้นำมายำเป็นเมนู ยำดอกกุหลาบ นอกจากนี้ยังใช้ทำเป็นชากุหลาบที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันนี้ โดยใช้กลีบกุหลาบที่ตากแห้งมาชงเป็นชากุหลาบที่มีกลิ่นหอม และมีสีสดสวยงาม ด้านการนำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมก็ยังมีการนำกลีบของดอกกุหลาบมอญมาสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และยา โดยใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง รวมถึงใช้กลิ่นอาหาร และน้ำเชื่อมอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้บำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ไข้ตัวร้อน ช่วยขับน้ำดี และใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ โดยการใช้กลีบกุหลาบมอญ แห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ชงแบบชาดื่ม หรือ อาจนำมาบดเป็นผงรับประทานเป็นยาผงก็ได้เช่นกัน ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง บำรุงเลือด แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน แก้วิงเวียน หน้ามืดตาลาย โดยใช้กลีบแห้งเข้ายาหอมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ
ลักษณะทั่วไปของกุหลาบมอญ
กุหลาบมอญ จัดเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง เปลือกต้นเรียบแต่ละมีหนามทั้งบริเวณลำต้น และกิ่งก้านสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ส่วนหนามมีมากลักษณะตรง หรือ โค้งเล็กน้อย หนามอ่อนเป็นสีน้ำตาลแกมสีแดง ส่วนหนามแก่เป็นสีเทา แต่จะความยาวไม่เท่ากัน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกแบบเรียงสลับ โดยมีใบย่อย 5-7 ใบ ขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นสีเขียวรูปไข่ ปลายแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย แผ่นใบด้านล่างมีขนเล็กน้อย ส่วนก้านใบเป็นสีน้ำตาลแดง ดอกออกเป็นช่อแบบกระจะ หรือ ช่อแบบกระจุกแตกแขนง บริเวณปลายกิ่ง และปลายยอด มีดอกย่อยประมาณ 3-12 ดอก ซึ่งจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้าง 4.5-7 เซนติเมตร กลีบดอกมีลักษณะช้อนกันเป็นชั้นๆ จำนวนมากกลีบค่อนข้างกลม ปลายกลีบดอกมน หรือ เป็นหยักตื้นๆมีกลิ่นหอมแรง และบานได้หลายวัน โดยปกติแล้วใน 1 ดอก จะมีกลีบออกประมาณ 20-30 กลีบ ซึ่งสีของดอกจะมีตั้งแต่สีขาว ชมพูอ่อน ชมพูเข้ม และสีแดง แต่ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นสีชมพู และแดง ส่วนกลีบเลี้ยงดอกจะมีสีเขียว ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม เป็นติ่งแหลมกว้าง ม้วนโค้งและจะร่วงในเวลาต่อมา ผลเป็นผลสดรูปทรงกลม หรือ รูปไข่ ยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร มีสีแดงอ่อนถึงเข้ม ด้านในของผลมีเมล็ดสีน้ำตาลประมาณ 1-3 เมล็ด เป็นรูปสามเหลี่ยมกลม ยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร
การขยายพันธุ์กุหลาบมอญ
กุหลาบมอญ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ การติดตา และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การตอนกิ่ง และการติดตา สำหรับวิธีการก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการตอนกิ่ง และติดตาไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ทั่วไปที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้าที่ ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการปลูกกุหลาบมอญ ควรเป็นพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนดินควรเป็นดินร่วนปนเหนียว มีอากาศถ่ายเทได้ดี และการเตรียมพื้นที่ก่อนปลูกควรกำจัดวัชพืชให้หมด แล้วจึงขุดร่องลึกประมาณ 50 เซนติเมตร จากนั้นผสมส่วนผสมที่ประกอบด้วยขี้วัว และแกลบ อัตราส่วน 1:1 เพื่อนำไปใส่ในร่องนั้น เพื่อเป็นปุ๋ย จากนั้นขุดหลุมในแปลงให้ลึกประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นหลุมปลูก ส่วนระยะปลูกควรเว้น ระยะระหว่างต้นxระยะระหว่าง แถวประมาณ 30x30 เซนติเมตร โดยควรปลูกแบบสลับฟันปลา
หลังจากปลูก (ส่วนใหญ่จะปลูกประมาณเดือนพฤษภาคม) จะเริ่มตัดดอกได้ประมาณ 45-60 วัน ถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนจะตัดดอกได้ประมาณ 45-50 วัน ถ้าปลูกในฤดูหนาวจะตัดดอกได้ประมาณ 50-60 วัน
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของกุหลาบมอญ พบว่า มีสารสำคัญๆ เช่นnerol, geraniol, citronellol, phenylethylalcohol ส่วนในน้ำมันหอมระเหยพบสาร β-phenylethyl benzoate, nonadecene, docosane และ heneicosane เป็นต้น
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกุหลาบมอญ
ฤทธิ์คลายกังวล มีการศึกษาวิจัยโดยทดสอบให้หนูเจอร์บิลดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยกุหลาบมอญ เป็นเวลา 20 ชม. พบว่าหนูจะแสดงพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงความคลายกังวล และเมื่อให้หนูดมน้ำมันหอมระเหยติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หนูจะมีพฤติกรรมคลายกังวลมากขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดอาการง่วงซึม (sedation) เมื่อเปรียบเทียบกับยาคลายกังวล diazepam
ฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acethylcholinesterase มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ป้องกันการทำงานของระบบประสาทจากน้ำมัน และสารที่มีกลิ่นหอมที่สกัดได้จากกุหลาบมอญโดยทำการทดสอบในหลอดทดลอง และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase (AChE) และ butyrylcholinesterase (BChE) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาท acetylcholine และทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นโดยการวัดปฏิกิริยาต้านออกซิเดชั่นต่างๆได้แก่ DPPH radical scavenging, metal-chelation (การวัดการจับกับโลหะเพื่อต้านการเกิดออกซิเดชั่น) และ ferric-reducing antioxidant power (FRAP) assays (การทดสอบความสามารถของสารในการจับอนุมูลอิสระโดยใช้ ascorbic acid) วัดระดับสารประกอบสำคัญด้วยเทคนิค Gas Chromatography-Mass Spectrometry (GC-MS) จากผลการทดสอบพบสารต่างๆ ในกุหลาบมอญได้แก่ citronellol, geraniol, nerol และ phenylethyl alcohol มีฤทธิ์ยับยั้ง AChE (60.86 ± 1.99%) และ BChE (51.08 ± 1.70%) ที่ 1000 มคก./มล. โดยพบว่า phenylethyl alcohol มีฤทธิ์ยับยั้ง AChE ได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับสารอื่น
ฤทธิ์ปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศชาย มีการศึกษาแบบ double-blind, randomized, placebo-controlled trial ในอาสาสมัครเพศชายที่มีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการได้รับยาเมทาโดน (methadone) เพื่อบำบัดอาการติดฝิ่น จำนวน 50 คน (อายุเฉลี่ย 40 ปี) โดยสุ่มให้อาสาสมัครรับประทานน้ำมันหอมระเหยจากดอกกุหลาบมอญ (Rosa Damascena) ในรูปแบบหลอดหยด วันละ 2 มล. (ใน 1 ดรอป ประกอบด้วย citronellol 17 มก.) หรือ ยาหลอก เป็นเวลา 8 สัปดาห์ จากนั้นให้อาสาสมัครตอบแบบประเมินตนเอง Self-assessment of sexual dysfunction: the Brief Sexual Function Inventory (BSFI) และแบบวัดดัชนีสากลของการทดสอบสมรรถภาพทางเพศ (International Index of Erectile Function: IIEF) พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากกุหลาบมอญสามารถช่วยปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศ รวมถึงเพิ่มระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่ลดลงจากการได้รับยาเมทาโดน และสมรรถภาพเพศชายที่เพิ่มขึ้นไม่มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเพศ แสดงให้เห็นว่าน้ำมันหอมระเหยจากดอกกุหลาบมอญสามารถปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศชายในผู้ป่วยที่มีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศจากการได้รับยาเมทาโดนได้
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยในหนูแรทโดยให้ดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยนาน 28 วัน พบว่าระดับ lipid peroxidation ในสมองของหนูลดลง และระดับสารต้านอนุมูลอิสระได้แก่ วิตามินA, วิตามินE วิตามินC และเบต้าแคโรทีน สูงกว่ากลุ่มควบคุม
ฤทธิ์ต่อการนอนหลับ ทดสอบฉีดสารสกัดเอทานอล และสารสกัดน้ำของดอกกุหลาบมอญ ที่ขนาด 500 และ 1000 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาคลายกังวล diazeoam (3 มก./กก.) และกลุ่มควบคุมที่ให้น้ำเกลือ (10 มล./กก.) หลังจากนั้น 30 นาที ฉีดยานอนหลับ pentobarbital ขนาด 30 มก./กก. พบว่าสารสกัดทีผลทำให้ระยะเวลาการออกฤทธิ์ ของยานอนหลับ pentobarbital ยาวนานขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับยา diazeoam
การศึกษาทางพิษวิทยาของกุหลาบมอญ
มีการศึกษาทางพิษวิทยาในน้ำมันกุหลาบมอญ โดยป้อนทางปากให้กับหนูขาวพบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มีขนาดมากกว่า 5 กรัมต่อกิโลกรัม
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าการทดสอบความเป็นพิษของกุหลาบมอญจะระบุว่ามีความเป็นพิษต่ำมากรวมถึงมีการนำกุหลาบมอญ มารับประทานเป็นอาหารได้ แต่การใช้กุหลาบมอญเพื่อเป็นสมุนไพรก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดทีพอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึง ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้กุหลาบมอญเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาอาการของโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง กุหลาบมอญ
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 1 น้ำกระสายยา. กรุงเทพฯ:บริษัทอมรินทร์พริ้นดิ้งแอนด์พับลิงซิ่ง จำกัด (มหาชน) 2556: 94 หน้า
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. หนังสือสมุนไพร ไทย เล่ม 1. “กุหลาบมอญ (Ku Lhap Mon)”. หน้า 53.
- ฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acethylcholinesterase และฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นของกุหลาบมอญ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพรสำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ปิยะ เฉลิมกลิ่น ไม้ดอกหอม เล่ม 1.กรุงเทพฯ:บ้านและสวน,2542: 160 หน้า.
- ธิดารัตน์ จันทร์ดอน. กุหลาบมอญ. ดอกไม้หอมมีประโยชน์. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “กุหลาบมอญ ”. หน้า 181.
- ฤทธิ์ปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศชายที่ได้รับยาเมทโคนของน้ำมันกุหลาบมอญ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Rakhshandah H, Hosseini M, Dolati K. Hypnotic effect of Rosa damascena in Mice. Iran J Pharm Res 2004;3:181.
- Boskabady MH, Shafei MN, Saberi Z, Amini S. Pharmacological effects of Rosa damascena. Iran J Basic Med Sci 2001;14(4):295-307.
- Bradley B F, Starkey N J, Brown S L, Lea R W. The effects of prolonged rose odor inhalation in two animal models of anxiety. Physiol Behav 2007;92:931-8.
- Senol FS, Orhan IE, Kurkcuoglu M, Khan MTH, Altintas A, Sener B, Baser KHC. A mechanistic investigation on anticholinesterase and antioxidant effects of rose (Rosa damascena Mill.). Food Res Int 2013;53:502-9.