ปีบ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ปีบ งานวิจัยและสรรพคุณ 15ข้อ
ชื่อสมุนไพร ปีบ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กาสะลอง , กาดสะลอง , กาสะลองดำ (ภาคเหนือ) , กางของ (ภาคอีสาน) , กัองกลางดง (ภาคกลาง) , เต็กตองโพ่ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Millingtonia hortensis Linn. f.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bignonia hortensis (L.f.)Oken , Millingtonia dubiosa Span.
ชื่อสามัญ Cork Tree,Indian Cork Tree.
วงศ์ Bignoniaceae
ถิ่นกำเนิดปีบ
ปีบจัดเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณประเทศพม่าและไทย โดยมักจะพบขึ้นกระจัดกระจายทั่ว ๆ ไป ตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง จากนั้นจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียงปัจจุบันสามารถพบได้ในหลายประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ และอินเดีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย ปีบเป็นต้นไม้มีดอกหอมของไทยที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่โบราณ โดยมีหลักฐานว่าวรรณคดีในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นหลายเรื่องได้บรรยายถึงปีบในตอนชมดง เช่น ในบทประพันธ์ของสุนทรภู่ และเรื่องอิเหนาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ซึ่งในปัจจุบันสามารถพบต้นปีบได้หลายภาค เช่นใน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณปีบ
- ช่วยขยายหลอดลม
- รักษาหืด
- ช่วยบำรุงโลหิต
- ช่วยบำรุงกำลัง
- ช่วยบำรุงน้ำดี
- เพิ่มการหลั่งน้ำดี
- แก้ริดสีดวงจมูก
- แก้ไซนัสอักเสบ
- แก้ลม
- ช่วยบำรุงปอด
- แก้วัณโรคและโรคปอดพิการ
- แก้ไอ
- แก้เหนื่อยหอบ
- ใช้รักษาอาการหอบหืด
- ใช้เป็นสีย้อม
ลักษณะทั่วไปปีบ
ปีบจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แบบผลัดใบ ลำต้นตรง สูงได้ถึง 25 เมตร เปลือกต้นหนาสีเทาเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบ มีช่องอากาศเรือนยอดเป็นพุ่มแน่นทึบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกตรงข้ามกัน มีใบย่อย 4-6 คู่ เป็นรูปไข่ปลายแหลมกว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ขอบใบหยักหรือเว้าเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางเรียบ เห็นเส้นกลางใบและต่อมขนได้ชัด ดอก ออกเป็นช่อกระจุกบริเวณ ตามปลายกิ่งโตมีดอกย่อยจำนวนมาก ซึ่งดอกมีสีขาวและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบรองกลีบดอกมีขนาดเล็กมาก มีโคนเชื่อมติดกันยาว 2-5 มม. ปลายแยกเป็นกลีบกลม ๆ 5 กลีบ ขอบม้วนออก กลีบดอกยาวประมาณ 4.5-7 ซม. กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อเล็กยาวแบบปากแตร ท่อมีขนาดกว้างประมาณ 2 มม. ยาว 6-8 ซม. ปลายท่อบานออก แยกออกเป็น 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ผลดอก เป็นฝัก แบน ยาวรูปขอบขนานหัวแหลมท้ายแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.3 เซนติเมตร ยาว 25-30 เซนติเมตร ฝักมีสีเขียวพอแห้งจะแข็งและแตกออก เมล็ดแบนสีขาว มีรูปหยดน้ำจำนวนมาก เมล็ดมีปีกสีขาวบาง ๆ ทำให้สามารถปลิวไปตามลมได้ไกล ๆ
การขยายพันธุ์ปีบ
ปีบสามารถขยายพันธุ์ได้โดย วิธีการเพาะเมล็ด หรือการนำรากรอบๆต้นปีบมาเพาะเป็นต้น โดยมีวิธีการ คือ ตัดรากบริเวณรอบๆ ต้น เป็นท่อนๆ ขนาด 15-20 เซนติเมตร แล้วนำไปปักชำในกระบะที่ผสมด้วยดินร่วน ปุ๋ยคอกและขี้เถ้าแกลบแล้วรดน้ำให้ชุ่มจากนั้นรอให้รากที่เพาะนั้นแทงยอดขึ้นมาพบประมาณจึงสามารถนำไปปลูกในบริเวณที่ต้องการได้ ทั้งนี้ปีบเป็นไม้ที่ทนความแห้งแล้งได้ดี แต่ก็ค่อนข้างชอบอากาศชุ่มชื้น และสามารถเจริญเติบโตได้ทุกสภาพดินแต่จะชอบดินร่วนปนทรายมากกว่าชนิดอื่น ดังนั้นในการเลือกพื้นที่ปลูกไม้ปีบจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยดังกล่าวด้วย
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของปีบ สารเคมีที่พบในดอกคือสารในกลุ่ม Glycosides เช่น scutallerin, scutellarein-5-galactoside, salidroside,2-(3,4-dihydroxy phenyl)-ethyl glucoside, 2-phenyl rutinoside, acetoside,p-coumaryl alcohol glucoside, phenyl propanoid glucosides, cornoside, isoeugenol glucoside, rengyolone, rengyoside B, rengyol, isorengyol, rengyoside A, millingtonine และสารในกลุ่ม Flavanoids เช่น scutellarein-5-glucuronide, Hispidulin, hortensin, scutellarein, 3,4-dihydroxy-6,7-dimethoxyflavone ใบพบฟลาโวนอยด์ hispidulin, dinatin และสารอื่นๆได้แก่rutinoside ,ß carotene ในผลพบสาร acetyl oleanolic acid เปลือกต้นพบสาร คือ sitosterol, สารขมและ tannins รากพบสาร คือ lapachol, beta-sitosterol,hentriacontane , paulownin
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้รักษาอาการหืดหอบ และขยายหลอดลม โดยนำดอกแห้ง 5-7 ดอก ผสมกับยาสูบเล็กน้อยมวนเป็นบุหรี่สูบ หรือจะใช้ใบมวนบุหรี่สูบก็ได้ ใช้ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงโลหิต บำรุงน้ำดี ใช้แก้ลม โดยนำดอกแห้งมาต้มกับน้ำดื่มหรือจะใช้ชงเป็นชาก็ได้ ใช้แก้โรคปอดอักเสบ แก้ไอ แก้เหนื่อยหอบ โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไอขับเสมหะ โดยใช้เปลือกรากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์บรรเทาอาการโรคหอบหืด มีการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณแบบกึ่งทดลอง (quasi - experimental research) ของตำรับยาดอกปีบโดยทำการพ่นสารสกัดน้ำจากดอกปีบด้วยเครื่องพ่นออกซิเจน ในอาสาสมัครชายหญิงที่เป็นโรคหอบหืด จำนวน 30 คน อายุเฉลี่ย 46 ปี โดยพ่นยา ขนาด 3 มล. จำนวน 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 15 นาที โดยทำการนัดจำนวน 5 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน วัดค่า PEFR ก่อนและหลังการให้ตำรับยาดอกปีบ ผลการศึกษาพบว่า อาสาสมัครมีค่า PEFR เฉลี่ยก่อนและหลังได้รับตำรับยาพ่นดอกปีบ เท่ากับ 38.72% และ 68.53% ตามลำดับ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเฉลี่ย 0.55 จากผลการศึกษาวิจัยแสดงว่าตำรับยาพ่นดอกปีบมีประสิทธิผลในการรักษาโรคหอบหืดได้
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอีกหลายฉบับเช่น สารสกัดเมทานอลจากดอกมีฤทธิ์ขยายหลอดลมในหนูทดลอง สารสกัดเอทานอลจากดอกมีฤทธิ์ปกป้องตับจากสารพิษในหนูทดลอง สารสกัดน้ำจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดในหลอดทดลอง สารสกัดเมทานอลจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ขับพยาธิ สาร hispidulin จากดอก มีฤทธิ์ต้านการชัก ทำให้สงบระงับในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีอาการลมชักได้สารสกัดใบด้วยอะซิโทนมีฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุง
การศึกษาทางพิษวิทยา
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ไม่ควรสูดดมกลิ่นของดอกปีบมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัวได้
- ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ ไม่ควรใช้ดอกปีบเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค เพราะอาจทำให้อาการแพ้กำเริบได้
- ในการใช้ส่วนต่างๆ ของปีบเป็นสมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาโรคนั้น ควรระมัดระวังในการใช่เช่นเดียวกับกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้ปีบเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง
- นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ). หนังสือสมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 2. กรุงเทพฯ : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2541.
- เดชา ศิริภัทร.ปีบ.ราชินีจากป่าตะวันตก.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่293.กันยายน2547
- ปริ่มเฉนียน มุ่งการดี. ปีบ. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 8 ฉบับที่ 4. 2534:17-19.
- ภญ.กฤติยา ไขยนอก.หอมดอกปีบ.บอกกล่าวเล่าเรื่องสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ประสิทธิผลของตำรับยาดอกปีบต่ออัตราการหายใจของผู้ป่วยโรคหอบหืด.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- ปีบ.กลุ่มยาขับเสมหะ แก้ไอ สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ(ออนไลน์).เข้าถึงได้จากhttp://www.rspg.or.th/plant_data/herbs/herbs_08_2.htm
- ปีบ.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์).เข้าถึงได้จากhttp://www.phargan.com/main.php?action=viewpage&pid=237
- Surendra Kumar M, Astalakshmi N, Chandran J, Jaison J, Sooraj P, Raihanath T, et al. A Review on Indian cork tree - Millingtonia hortensis linn.F. World Journal of Pharmacy and Pharmaceutical Sciences 2014;3(10):256-71
- Kumari A, Sharma RA. A Review on Millingtonia hortensis Linn. Int J Pharm Sci Rev Res 2013;19(2):85-92.
- Nagaraja MS, Paarakh PM. Millingtonia hortensis Linn. - a review. Pharmacologyonline 2011;2:597-602.