น้ำมันมะพร้าว
น้ำมันมะพร้าว
ชื่อสามัญ Coconut oil
Cuprylic acid
monolaurin
ประเภทและข้อแตกต่างน้ำมันมะพร้าว
“น้ำมันมะพร้าว” เป็นน้ำมันจากพืชชนิดหนึ่งที่มีส่วนประกอบหลักเป็นกรดไขมันอิ่มตัว (มากกว่า 90% จากปริมาณกรดไขมันทั้งหมด) แต่กรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ที่พบในน้ำมันมะพร้าว นั้นเป็นกรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลปานกลาง (medium chain fatty acid) เช่น กรดลอริก (lauric acid) กรดคาพริลิก (caprylic acid) กรดคาพริก (capric acid) กรดปาล์มิค (palmtic acid) และกรดสเตียริก (stearic acid) ซึ่งเมื่อรับประทาน และถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะถูกเผาผลาญได้ดี จึงถูกสะสมในเนื้อเยื่อไขมัน (adipose tissue) ได้น้อยกว่ากรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลยาว (long chain fatty acid) เช่น กรดไลโนเลอิก (linoleic acid) กรดโอลิอิก (oleic acid) และ กรดโลโนเลอิก (linoleie acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว โดยลักษณะของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ เมื่อยู่ในอุณหภูมิ (25 °Cขึ้นไป) จะมีลักษณะใสถึงสีเหลืองอ่อนใส มีกลิ่นอ่อนๆ เฉพาะตัวของมะพร้าว แต่เมื่อยู่ในสภาวะที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25°C จะมีลักษณะแข็งตัวเป็นไขสีขาวขุ่น และน้ำมันมะพร้าวจะมีควางคงตัวต่อความร้อนแสง และออกซิเจนในอากาศสูง จึงทำให้น้ำมันมะพร้าวมีกลิ่นเหม็นหืนได้ยากกว่า เมื่อเทียบกับน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ
นอกจากนี้ในน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ยังประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มฟีนอลิก และวิตามินอี ซึ่งปริมาณของสารต้านอนุมูลอิสระในน้ำมันมะพร้าวจะขึ้นอยู่กับความร้อนที่ใช้ในกระบวนการผลิตอีกด้วย
สำหรับประเภทของน้ำมันมะพร้าวนั้น ปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
- น้ำมันมะพร้าวแบบธรรมดา หรือน้ำมันมะพร้าวสกัดร้อน (Refined Bleaching Deodorizing Coconut oil:RBD) ที่สกัดได้จากเนื้อมะพร้าวห้าวหรือเนื้อมะพร้าวแห้ง (copra) โดยการบีบ หรือ สกัดด้วยตัวทำละลาย แล้วนำไปผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ (Refining) โดยการกำจัดกรดอิสระ ฟอกสี (Bleaching) และกำจัดกลิ่น (Deodorization) เพื่อให้เหมาะสำหรับการบริโภค ซึ่งมีสีเหลืองไม่มีกลิ่นและรส ปราศจากวิตามินอี เพราะถูกกำจัดออกไปโดยกระบวนการทางเคมี และมีปริมาณกรดไขมันอิสระ (Free Fatty Acid-FFA) ไม่เกิน 0.1%
- น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์หรือน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น (Virgin Coconut oil:VCO) ที่ได้จากการสกัดโดยวิธีทางธรรมชาติ หรือการบีบโดยไม่ผ่านความร้อนจากเนื้อมะพร้าวห้าว ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของน้ำมัน จึงเหมาะสำหรับการบริโภคเพราะเป็นน้ำมันมะพร้าวที่บริสุทธิ์ที่สุด สีใสเหมือนน้ำ มีวิตามินอี และไม่ผ่านกระบวนการเติมออกซิเจน (oxidation) มีค่าเบอร์ออกไซด์ (peroxide) และกรดไขมันอิสระต่ำ มีกลิ่นมะพร้าวอย่างอ่อนๆ ถึงแรง ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิต ซึ่งในปัจจุบันน้ำมันมะพร้าวชนิดนี้จะเป็นที่นิยมมากกว่าชนิดแรก
องค์ประกอบระหว่างน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นและน้ำมันมะพร้าวสกัดร้อน
แหล่งที่พบและแหล่งที่มาน้ำมันมะพร้าว
น้ำมันมะพร้าว (coconut oil) ได้จากการสกัดแยกน้ำมันจากเนื้อของมะพร้าว โดยการสกัดน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ ด้วยวิธีธรรมชาติสามารถทำได้หลายวิธี เช่น วิธีการบีบจากเนื้อมะพร้าวสด โดยขูดหรือย่อยมะพร้าวให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วบีบเอาน้ำมันโดยตรงโดยเครื่องบีบอัด น้ำมันที่ได้มีความบริสุทธิ์สูงสุด ที่ชื่อเรียกเฉพาะ คือ Extra Virgin Coconut Oil วิธีการบีบจากเนื้อมะพร้าวแห้ง วิธีนี้ต้องนำเนื้อมะพร้าวไปตากแห้ง เพื่อไล่ความชื้นจากเนื้อมะพร้าวก่อน จากนั้นจึงค่อยนำเนื้อมะพร้าวแห้งไปย่อยให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วจึงนำไปบีบเอาน้ำมันออกด้วยเครื่องบีบอัด วิธีนี้ได้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์คุณภาพไม่ดีเท่าน้ำมันมะพร้าวที่สกัดจากเนื้อมะพร้าวสด วิธีการหมักน้ำกะทิ ใช้หลักการตามธรรมชาติให้น้ำมันแยกออกจากน้ำเอง น้ำมันที่ได้เป็นน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ คุณภาพดี มีกลิ่นหอมของน้ำมันมะพร้าว การเคี่ยวน้ำกะทิ ทำได้โดยการคั้นน้ำกะทิจากเนื้อมะพร้าวสด จากนั้นนำกะทิใส่กระทะตั้งไฟเคี่ยวจนน้ำมันมะพร้าวแยกตัวออก และน้ำระเหยออกไป เหลือน้ำมันมะพร้าว ลอยอยู่ด้านบน และกากจับตัวเป็นก้อนอยู่ก้นกระทะ แล้วจึงกรองน้ำมันมะพร้าวมาใช้ วิธีนี้เป็นวิธีการที่ง่ายแต่น้ำมันที่ได้จะผ่านความร้อนสูงเป็นเวลานานในระหว่างการเคี่ยว จึงทำให้ความบริสุทธิ์ และกลิ่นหอมของน้ำมันมะพร้าวลดลง
องค์ประกอบของกรดไขมันชนิดต่างๆ ที่พบในน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์
ปริมาณที่ควรได้รับจากน้ำมันมะพร้าว
ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ของขนาดและปริมาณของน้ำมันมะพร้าว ที่ควรได้รับต่อวันอย่างชัดเจน แต่ในอดีตมีการระบุถึงขนาดการใช้น้ำมันมะพร้าวตามตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านต่างๆ เช่น ใช้บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย โดยผู้ใหญ่รับประทาน ครั้งละ 3-4 ช้อนชา เด็กครั้งละ 1-2 ช้อนชา/วัน ใช้รักษารังแค และเชื้อราบนศีรษะ โดยใช้น้ำมันมะพร้าวมาทาให้ทั่วแล้วทิ้งไว้ 30 นาที แล้วสระออกด้วยแชมพู สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น และช่วยในการสมานแผลโดยการใช้น้ำมันมะพร้าว 1 ส่วน และน้ำปูนใส 1 ส่วน ใส่ภาชนะคนให้เข้ากันจนมีลักษณะคล้ายน้ำมันข้น แล้วใช้สำลีพันปลายไม้จุ่มยาทาบริเวณแผลบ่อยๆ ในช่วงแรก หลังจากนั้นทาวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ช่วยลดอาการปวดแสบและช่วยให้แผลแห้งได้เป็นต้น
ประโยชน์และโทษน้ำมันมะพร้าว
ในปัจจุบันมีการนำน้ำมันมะพร้าวมาใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบโดยถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในการทำอาหาร และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ แล้วยังมีการนำน้ำมันมะพร้าวมาพัฒนาให้อยู่ในรูปของเภสัชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอีกหลายรูปแบบ อาทิ เช่น ใช้เป็นตัวเคลือบ (coating) ของไอศกรีมแท่ง ใช้เป็นน้ำมันทอดพวกผลไม้เปลือกแห้ง (nuts) และอาหารว่าง (snacks) ใช้ในการฉีดเคลือบ (spray coating) ผลิตภัณฑ์จากธัญชาติ และขนมปังกรอบ และใช้เป็นสารหล่อลื่นผลิตภัณฑ์ลูกกวาดต่างๆ เช่น คาราเมล (caramel) นำมาใช้แทนน้ำมันเนยในการผลิตนมข้นหวาน และใช้แทนน้ำมันเยนในการทำขนมอบต่างๆ ไอศกรีม ลูกกวาด ขนมพาย เอแคลร์ และมายองเนส และยังถูกนำไปใช้ทางอุตสาหกรรม เครื่องใช้ต่างๆ เช่น ทำสบู่ ผงซักฟอก แชมพู เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมพลาสติก ฟอกหนัง และใช้เป็นเชื้อเพลิงจุดตะเกียงให้แสงสว่าง
นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการบริโภคน้ำมันมะพร้าว เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนการที่ประกอบด้วยกรดไขมันที่มีประโยชน์หลายชนิดต่อร่างกาย ซึ่งกรดไขมันเหล่านี้ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และยังพบว่ามีฤทธิ์ทางชีวภาพที่หลากหลายที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และยังสามารป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ซึ่งน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อ และสามารถดูดซึมเข้าไปในร่างกายได้ดี ช่วยป้องกันรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อต่างๆ โดยกรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวสามารถทำลายเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ รา โปรโตซัว และเชื้อไวรัส ส่วนสารโมโนลอรินหรือสารปฏิชีวนะในน้ำมันมะพร้าว ยังสามารถฆ่าเชื้อโรคบางชนิดที่มีเกราะไขมันห่อหุ้มเซลล์ ที่ยาปฏิชีวนะธรรมไม่สามารถฆ่าได้ โรคมะเร็ง น้ำมันมะพร้าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ใช้เกิดโรคมะเร็ง เนื่องจากเป็นน้ำมันประเภทอิ่มตัว จึงไม่ถูกเติมไฮโดรเจนน (hydrogenate) และแตกตัวเมื่อถูกกับอุณหภูมิสูง และยังมีวิตามินอี ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของการกลายพันธุ์ของยีน ที่ทำให้เกิดเป็นเซลล์มะเร็ง โรคอ้วน การบริโภคน้ำมันมะพร้าว จะช่วยทำให้ร่างกายเกิดความร้อนสูง (ในขบวนการ thermogenesis) ทำให้ร่างกายมีอัตราการเผาผลาญอาหาร หรือเมตาบอลิซึม (metabolism) สูงเกิดเป็นพลังงานสำหรับใช้ในการดำรงชีวิต อีกทั้งยังช่วยทำลายไขมันที่ร่างกายสะสมอยู่ นำไปใช้เป็นพลังงาน เป็นต้น
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องน้ำมันมะพร้าว
มีผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ของน้ำมันมะพร้าวหลายฉบับดังนี้
ฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส มีการศึกษาวิจัยพบว่ากรดลดริกในน้ำมันมะพร้าว สามารถเปลี่ยนเป็นโมโนลอริน (monolaurin) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสได้ โดยเฉพาะไวรัสเอชไอวี (HIV), หัด (measles) และ เริม (herpes) โดยกลไกที่สารโมโนลอรินฆ่าไวรัส คือการที่โมโนลอรินสามารถแทรกซึมเข้าไปในส่วนไขมันที่ห่อหุ้มไวรัส (fatty envelope) และทำให้เยื่อหุ้มนั้นถูกทำลายไวรัสจึงตาย และยังพบว่าโมโนลอรินสามารถยับยั้งและลดการกระจายตัวของไวรัสเอชไอวีได้ และกรดไขมันสายปานกลาง (MCFA) ในน้ำมันมะพร้าวมีโครงสร้างเหมือนกับไขมันในน้ำนมมารดาที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แก่เด็กทารก และสามารถละลายเกราะหุ้มของเชื้อโรคที่สารปฏิชีวนะอื่นๆ ไม่สามารถทำลายได้อีกด้วย
ฤทธิ์ลดความดัน มีการศึกษาแบบ Randomized, double-blind, clinical trial ในผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนจำนวน 40 คน อายุระหว่าง 20-40 ปี แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน ให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันถั่วเหลือง หรือ น้ำมันมะพร้าว วันละ 30 มล. ร่วมกับการรับประทานอาหารแคลอรี่ต่ำและการออกกำลังกายโดยการเดินวันละ 50 นาที เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เมื่อทำการวัดค่าชีวเคมีและสัดส่วนของอาสาสมัครหลังจบการทดลอง 1 สัปดาห์ พบว่าทั้งสองกลุ่มมีดัชนีมวลกาย (BMI) ลดลง แต่เฉพาะในกลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะพร้าวเท่านั้นที่มีรอบเอวลดลง นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะพร้าวมีปริมาณ High-density lipoprotein (HDL) สูงขึ้น (48.7±2.4 vs. 45.0±5.6) และอัตราส่วนของ LDL:HDL (2.41±0.8 vs. 3.1±0.8) ลดลงเมื่อเทียบกับก่อนการทดลอง ในขณะที่กลุ่มที่รับประทานน้ำมันถั่วเหลืองมีปริมาณคอเลสเตอรอลรวม Low-density lipoprotein (LDL) และอัตราส่วนของ LDL:HDL เพิ่มขึ้นแต่ปริมาณ HDL ลดลง
ฤทธิ์สลายไขมัน มีการศึกษาผลของการรับประทานน้ำมันมะพร้าว บริสุทธิ์ (virgin coconut oil) ต่อกระบวนการสร้างและสลายไขมัน เปรียบเทียบกับน้ำมันที่ได้จากเนื้อมะพร้าวแห้ง น้ำมันมะกอก และน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน โดยทดลองเลี้ยงหนูแรทเพศผู้ 4 กลุ่ม (กลุ่มละ 6 ตัว) กลุ่มที่ 1 เลี้ยงด้วยอาหารที่ผสมด้วยน้ำมันที่ได้จากเนื้อมะพร้าวแห้ง 8% กลุ่มที่ 2 เลี้ยงด้วยอาหารที่ผสมน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ 8% กลุ่มที่ 3 เลี้ยงด้วยอาหารที่ผสมน้ำมันมะกอก 8% และกลุ่มที่ 4 เลี้ยงด้วยอาหารที่ผสมน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน 8% ใช้ระยะเวลาเลี้ยงนาน 45 วัน จากนั้นทำการชำแหละซากเก็บอวัยวะภายในเพื่อตรวจวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง และเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมี ผลจากการทดลองพบว่า เมื่อสิ้นสุดการเลี้ยง น้ำหนักของหนูทุกกลุ่มไม่แตกต่างกัน หนูกลุ่มที่เลี้ยงด้วยอาหารที่ผสมน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์มีระดับคอเลสเตอรอล ฟอสโฟไลปิด และ ไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดและตับลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มอื่นๆ ผลการวิเคราะการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างและสลายไขมันพบว่า หนูในกลุ่มที่เลี้ยงด้วยอาหารที่ผสมน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์มีอัตราการแสดงออกของเอนไซม์และโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสลายไขมัน (acetyl CoA carboxylase, fatty acid synthase และ sterol regulatory element-binding protein-1c) ลดลง และมีผลเพิ่มการแสดงออกของเอนไซม์และโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการสลายไขมัน (carnitine palmitoyl transferse I, acyl CoA oxidase, acyl CoA dehydrogenase, enoyl CoA hydratase, β-hydroxy acyl CoA hydrogenase, 3-ketoacyl CoA thiolase และ peroxisome proliferator-activated receptor α) และเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มอื่นๆ จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าการรับประทานน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์มีผลต่อกระบวนการสลายไขมันได้ดีกว่าน้ำมันชนิดอื่นๆ ที่นำมาเปรียบเทียบในการศึกษาครั้งนี้
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ น้ำมันมะพร้าวที่สกัดแบบเย็น (virgin coconutoil) นั้นมีสาร alpha-Tocopherol ถึง 39.61 mg/kg ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) โดยการป้องกันเซลล์ไม่ให้ถูกเติมออกซิเจน และเป็นตัวต่อต้านอนุมูลอิสระ (free radicals)
Linonleic acid
lauric acid
ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ
ในการเลือกซื้อน้ำมันมะพร้าว ควรเลือกซื้อยี่ห้อที่ได้รับการรับรองจาก อย. และน้ำมันมะพร้าว จะมีอายุการใช้งาน 5 ปี นับจากวันที่ผลิต นอกจากนี้ต้องมีลักษณะสีใส หรือ เหลืองอ่อนใส ในอุณหภูมิปกติ และต้องไม่มีตะกอนหรือสิ่งแปลกปลอม ไม่มีกลิ่นหืน ส่วนในขนาดและปริมาณการรับประทานนั้น เนื่องจากยังไม่มีเกณฑ์การใช้รับประทานอย่างแน่ชัด ดังนั้นจึงควรรับประทานและใช้ในขนาดที่พอดี ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง น้ำมันมะพร้าว
- ดวงดาว ฉันทศาสตร์.น้ำมันมะพร้าว:จากอาหารสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม.จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 24.ฉบับที่ 1 ตุลาคม 2549. หน้า 3-5
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. มะพร้าว. วารสารพืชปลูกพื้นเมืองไทย. 2548 กรกฎาคม;1(3).
- ผลของการรับประทาน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ (virgin coconutoil) ต่อกระบวนการสร้างและสลายไขมัน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ณรงค์ โฉมเฉลา.(2550) “มหัศจรรย์น้ำมันมะพร้าว “เอกสารวิชาการ ฉบับที่ 1/2550.กรุงเทพฯ ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทย
- ภญ.ชนิภา ปฐมวิชัยวัฒน์.น้ำมันมะพร้าวกับการลดน้ำหนัก.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- คมสัน หุตะแพทย์.การสกัดน้ำมันพืชโดยวิธีธรรมชาติ.เกษตรกรรมธรรมชาติ 2546,5:21-34.
- ผลของการบริโภคน้ำมันมะพร้าวต่อค่าชีวเคมีและสัดส่วนของร่างกาย.ข่าวความเครลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ธนานันท์ ตัณฑกุล.(2549).การศึกษากระบวนการแยกน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์โดยการเหวี่ยงแยก.วิทยานิพนธ์ ปริญญาวิศวกรรมมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- น้ำมันมะพร้าว.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6381
- Assuncao ML, Ferreira HS, dos Santos AF, Cabral CR, Jr., Florencio TM. Effects of dietary coconut oil on the biochemical and anthropometric profiles of women presenting abdominal obesity. Lipids. 2009Jul;44(7):593-601.
- Gunetileke KG, Laurentius SF Conditions for the srparation of oil and protein from coconut milk emusion J Food Sci 1974;39:230-3.
- Jayadas N.H., and Nair.K.P.(2006) “Coconut oil as base for industrial lubricants evaluation and modification of thermal oxidative and low temperature properties” Tribology International 39,9:873-878.
- Marten B, Pfeuffer M, Schrezenmeir Jr. Medium-chain triglycerides. International Dairy Journal. 2006;16(11):1374-82.
- Seow CC, Gwee CN. Coconut milk chemistry and technology Int J Food Sci&Tech 1997,32:189-201.
- Kapola,N.S.,Chamil,D.H.,and Sagarka E(2009) Comparison of the phenolic-dependent antioxidant properies of coconut oil extracted under cold and conditions “Food Chemistry 114:1444-1449.