พิษนาศน์ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

พิษนาศน์ งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร พิษนาศน์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น แผ่นดินเย็น (อุบลราชธานี), ถั่วดินโคก (เลย), นมราชสีห์ (ฉะเชิงเทรา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sophora exigua Craib
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sophora violacea var. pilosa Gagnep.
วงศ์ Fabaceae–Papilionaceae


ถิ่นกำเนิดพิษนาศน์
 

สำหรับถิ่นกำเนิดของพิษนาศน์ นั้นยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณใดของโลก แต่ในประเทศไทยนั้น สามารถพบขึ้นทั่วไปในภาคเหนือ และภาคอีสาน บริเวณที่เป็นดินทรายในป่าผลัดใบ และป่าโปร่งทั่วไป ยังมีการนำมาใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรตามภูมิปัญญาชาวบ้านมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว

ประโยชน์และสรรพคุณพิษนาศน์ 

  • ช่วยขับน้ำ
  • ช่วยขับพิษภายใน
  • แก้คางทูม
  • แก้ฟกบวมตามข้อ ตามกล้ามเนื้อ 
  • ช่วยลดไข้ในเด็ก
  • ช่วยบำรุงน้ำนม
  • แก้ฝี
  • แก้พิษงู
  • ช่วยบรรเทาอาการไข้
  • แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัด และอีสุกอีใส)
  • แก้อาเจียน
  • แก้มะเร็งคุดทะราด
  • แก้หัวใจให้พิการต่างๆ 
  • แก้ไข้สันนิบาต
  • แก้ปวดมวนท้อง
  • แก้ลิ้นกระด้างคางแข็ง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้พิษนาศน์

ใช้แก้คางทูม ขับพิษ ขับน้ำ แก้ปวดบวมตามขับ ใช้บำรุงน้ำนม โดยนำรากพิษนาศน์ มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ลดไข้ในเด็กโดยการนำรากมาฝนกับน้ำดื่ม ใช้แก้ฝีโดยใช้รากมาฝนกับน้ำแล้วนำไปทาบริเวณที่เป็น ส่วนในการใช้พิษนาศน์ที่มีในตำรับยาต่างๆ ดังที่กล่าวมานั้น ให้ใช้ตามขนาด และวิธีใช้ของยาตำรับนั้นๆ


ลักษณะทั่วไปของพิษนาศน์
 

พิษนาศน์ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงได้ 15-30 เซนติเมตร ลำต้นลักษณะสั้นประมาณ 5-8 เซนติเมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ แนบกับพื้นดินมีใบย่อย 9-13 ใบ โดยจะเป็นรูปวงรี รูปไข่ หรือ รูปขอบขนานแกมวงรี ปลายใบรูปไข่กลับ กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร ยาว 2-5 เซนติเมตร ผิวใบมีขนละเอียดสีขาวขึ้นปกคลุม ดอกเป็นแบบช่อกระจะ โดยจะออกที่ปลายยอด และมีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกคล้ายรูปดอกถั่ว เป็นสีม่วงเข้ม และมีก้านช่อดอกยาว ผลออกเป็นฝักรูปขอบขนาน มีขนละเอียดสีขาว ปกคลุมด้านในมีเมล็ดเดียว

พิษนาศน์

การขยายพันธุ์พิษนาศน์

พิษนาศน์ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ดแต่จะเป็นพืชที่ค่อนข้างโตช้า ซึ่งในธรรมชาติจะอาศัยฝักแก่ที่ร่วงหล่น และแตกออกมาทำให้เมล็ดด้านในตกสู่ดินแล้วจึงเจริญเติบโตเป็นต้นต่อไป แต่ทั้งนี้เราสามารถนำเมล็ดของพิษนาศน์ มาทำการเพาะปลูกได้ โดยใช้วิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกเช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและปลูกพืชตระกูลถั่วอื่นๆ เช่น ถั่วเหลือง ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมีพิษนาศน์

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของรากพิษนาศน์ พบว่า พบสารกลุ่ม flavonoids ชนิด flavanone ที่มีหมู่พีนิลมาต่อในโครงสร้าง จากรากของถั่วดินโคก ได้แก่ สาร exiguaflavanone A – M, Sophoraflavanone G และ 5,7,2’-trihydroxy-8-lavandulylflavanone  (Ruangrungsi et al., 1992; Iinuma et al., 1993; Iinuma et al., 1994) และยังพบสารกลุ่ม benzochromones ที่มีหมู่พีนิลมาต่อในโครงสร้าง ได้แก่ exiguachromone A และ exiguachromone B (Iinuma et al., 1993; Iinuma et al., 1994และพบสารกลุ่ม alkaloidsได้แก่ cytisine, (-)-12-cytisineacetamide, (-)-12-hydroxycytisine, (-)-N-formylcytisine, (-)-N-methylcytisine (Takamatsu et al., 1991)

โครงสร้างพิษนาศน์

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของพิษนาศน์

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดจากรากพิษนาศน์ ด้วยเฮกเซน เอทิลอะซีเตต และเมทานอล ต่อเชื้อแบคทีเรีย 5 สายพันธุ์ ได้แก่ Escherichia coli O157:H7, Listeria monocytogenes, Pseudomonas aeruginosa, Salmonella typhimurium และ Staphylococcus epidermidisn  ด้วยวิธี agar diffusion ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทิลอะซีเตต มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Pseudomonas aeruginosa และ Staphylococcus epidermidis โดยมีค่าเฉลี่ยเส้นผ่านศูนย์กลางของบริเวณยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อเท่ากับ 18.75±0.43 และ 20.00±0.50 มิลลิเมตร ตามลำดับ สารสกัดเมทานอล มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Staphylococcus epidermidis โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางการยับยั้งเท่ากับ 14.00±0.00 มิลลิเมตร เนื่องจากการติดเชื้อ P.aeruginosa อาจเป็นสาเหตุของอาการมีไข้ เจ็บคอแบบมีเสมหะเขียว การติดเชื้อแบคทีเรียสกุล Staphylococcus อาจเป็นสาเหตุของการเกิดฝีหนองได้ ผลการทดลองจึงสอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้รากพิษนาศน์ฝนน้ำดื่มรักษาอาการเป็นไข้ อมแก้เจ็บคอ และใช้รากฝนน้ำทารักษาฝี สารสกัดหยาบเอทิลอะซีเตต และสารสกัดหยาบเมทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ แต่สารสกัดหยาบเฮกเซนไม่มีฤทธิ์ดังกล่าว แสดงว่าสารออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ของรากพิษนาศน์เป็นสารที่มีขั้วปานกลาง และมีขั้วมาก

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งที่ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย (anti-bacterial activity) เช่นเดียวกัน โดยในรายงานระบุว่าสาร sophoraflavanone G ที่พบในรากของพิษนาศน์มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยสาร sophoraflavanone G ที่มีความเข้มข้น 0.05 µg/ml มีผลท้าให้ลด membrane fluidity ของเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย เปรียบเทียบกับสาร naringenin ต้องใช้ความเข้มข้นมากกว่า 2.5 µg/ml จึงเห็นผลการลด membrane fluidity ของเยื่อหุ้ม เซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย โดยหมู่ 8-lavandulyl และหมู่ 2’-hydroxyl ของสาร sophoraflavanone G มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มการลด membrane fluidity ของเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย

           นอกจากนี้สารกลุ่ม flavanone ที่มีหมู่แทนที่ 2’,4’- หรือ 2’,6’-dihydroxy ที่วง B และหมู่ 5,7-dihydroxy ที่วง A จะมีฤทธิ์ต้านเชือแบคทีเรีย methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA) สูงอย่างมีนัยสำคัญ และการมีหมู่แทนที่เป็นหมู่ aliphatic ที่ตำแหน่ง 6 หรือ 8 จะช่วยเพิ่มฤทธิ์มากขึ้น สารtetranhydroxyflavanone ที่ แยกได้จาก รากถั่วดินโคก คือ sophoraflavanone G ซึ่งมีโครงสร้าง 5,7,2’,4’-tetrahydroxyflavanone และมีหมู่ lavandulyl เป็นหมู่แทนที่ที่ตำแหน่งที่ 8 มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย MRSA สูง โดยมีค่า MIC (Minimal Inhibitory Concentration) ในช่วงระหว่าง 3.13-6.25 µg/ml

           ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง (anti-cancer activity) สาร sophoraflavanone G ที่พบในรากของพิษนาศน์ สามารถยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณของโปรตีน STATs (Signal transducerand activator of transcription proteins) ซึ่งนำไปสู่กระบวนการอะพอพโตซิสของเซลล์มะเร็ง เช่น การยับยั้งกระบวนการ tyrosine phosphorylation ของโปรตีน STATs ใน Hodgkin’s lymphoma

การศึกษาทางพิษวิทยาของพิษนาศน์

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

ในการใช้พิษนาศน์เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่น เพราะยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยาดังนั้น จึงควรใช้ในปริมาณที่พอดี ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้พิษนาศน์ เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง พิษนาศน์
  1. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ และคณะ. สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 ยาอีสาน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พรินติงแอนด์พับลิชชิ่ง จ้ากัด (มหาชน). 2543.
  2. ศ.ดร.ภก.นิจศิริ เรืองรังษี, ดร.โยศักดิ์  จันศรีนิยม, นิรันดร์ วิพันธุ์เงิน. รายงานฉบับสมบูรณ์ เรื่องการศึกษาวิจัยสมุนไพร ถั่วดินโคก เพื่อประเมินคุณค่า และความสำคัญ ประกอบการพิจารณาในการประกาศให้เป็นสมุนไพรควบคุม ตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. 23 หน้า
  3. บุษบา ประภาสพงศ์ และคณะ.แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์: ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว. 2547.
  4. พิษนาศน์.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrndedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=157
  5. พิษนาศน์ .ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrndedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=78
  6. Kim B-H, Won C, Lee Y-H, Choi JS, Noh KH, Han S, et al. Sophoraflavanone G induces apoptosis of human cancer cells by targeting upstream signals of STATs. Biochemical Pharmacology. 2013;86(7):950–9.
  7. Takamatsu S, Saito K, Ohmiya S, Ruangrungsi N, Murakoshi I. Lupin alkaloids from Sophora exigua. Phytochemistry. 1991;30(11):3793–5.
  8. Iinuma M, Yokoyama J, Ohyama M, Tanaka T, Mizuno M, Ruangrungsi N. Seven phenolic compounds in the roots of Sophora exigua. Phytochemistry. 1993;33(1):203–8.
  9. Tsuchiya H, Sato M, Miyazaki T, Fujiwara S, Tanigaki S, Ohyama M, et al. Comparative study on the antibacterial activity of phytochemical flavanones against methicillin-resistant Staphylococcus aureus. Journal of Ethnopharmacology. 1996;50(1):27–34.
  10. Iinuma M, Yokoyama J, Ohyama M, Tanaka T, Ruangrungsi N. Eight phenolic compounds in root of Sophora exigua. Phytochemistry. 1994;35(3):785–9.
  11. Tsuchiya H, Iinuma M. Reduction of membrane fluidity by antibacterial sophoraflavanone G isolated from Sophora exigua. Phytomedicine. 2000;7(2):161–5.
  12. Ruangrungsi N, Iinuma M, Tanaka T, Ohyama M, Yokoyama J, Mizuno M. Three flavanones with a lavandulyl group in the roots of Sophora exigua. Phytochemistry. 1992;31(3):999–1001.