กะตังใบ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กะตังใบ งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กะตังใบ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตองต้อม, ตองจ้อม (ภาคเหนือ), ต้างไก่, ขี้หมาเปียก (ภาคอีสาน), ดังหวาย, ช้างเขิง, บังบายต้น (ภาคใต้), คะนางใบ (ภาคตะวันออก), เหม่โคเหมาะ (กะเหรี่ยง), ไม้ชักป้าน (ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Leea indica (Burm.f.)Merr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Leea javanica
ชื่อสามัญ Bandicoot Berry
วงศ์ LEEACEAE

ถิ่นกำเนิดกะตังใบ

กะตังใบ เป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปเอเชียบริเวณอินเดีย บังคลาเทศ เนปาล พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ออสเตรเลีย และฟิจิ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบได้บริเวณ ป่าเต็งรัง รวมถึงป่าผลัดใบทั่วทุกภาคของประเทศที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1400 เมตร

ประโยชน์และสรรพคุณกะตังใบ

  • แก้บิด
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้อาการกระหายน้ำ
  • แก้ไข้ดับร้อน
  • แก้ไข้รากสาด
  • ช่วยขับเหงื่อ
  • แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว
  • แก้ไอ
  • รักษามะเร็งเต้านม
  • แก้ตกขาว
  • แก้มะเร็งมดลูก
  • แก้นิ่ว
  • แก้ปัสสาวะขัด
  • แก้มะเร็งลำไส้
  • รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
  • แก้วิงเวียน
  • แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • แก้ผื่นคันตามผิวหนัง
  • ใช้เป็นยาช่วยย่อย

           ตั้งแต่ในอดีตมีการนำกะตังใบ มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้ ผลสุกสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ ส่วนใบอ่อน และยอดอ่อนรสชาติฝาดมันสามารถนำมาใช้รับ ประทานเป็นผักสด หรือ นำมาลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริกได้ และยังใช้ใบแก่มาเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย อีกทั้งยังมีการนำรากของกะตังใบมาตำให้แหลกแล้วนำมาใส่แผลที่เป็นหนองของสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ และสุกร เป็นต้น


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  1. ใช้แก้ท้องเสีย แก้บิด ปวดท้อง ขับเหงื่อ ดับร้อน แก้ไข แก้ไข้รากสาด แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะขัด แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้อาการกระหายน้ำ โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  2. ใช้แก้ท้องเสีย โดยนำรากกะตังใบลำต้นขมิ้นเครือ ลำต้นเมื่อยดูก และรากตากวาง อย่างละเท่ากัน ต้มกับน้ำดื่ม
  3. ใช้แก้ไอ แก้มะเร็งเต้านม แก้ปัสสาวะขัด แก้นิ่ว โดยนำลำต้นกะตังใบ มาต้มกับน้ำดื่ม
  4. ใช้เป็นยาช่วยย่อย โดยนำน้ำยางจากใบอ่อนมากิน
  5. รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยนำรากมาฝนกับเหล้าใช้ทาบริเวณที่เป็น
  6. แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้อาการคัน หรือ ผื่นคันตามผิวหนัง โดยนำใบสดมาตำพอก หรือ ทาบริเวณที่เป็น
  7. แก้วิงเวียน มึนงง โดยนำใบนำย่างไฟให้เกรียม พอกศีรษะ

ลักษณะทั่วไปของกะตังใบ

กะตังใบ จัดเป็น ไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ลำต้นฉ่ำน้ำผิวเกลี้ยง ตามต้นอ่อนและกิ่งอ่อนจะปกคลุมด้วยขนสั้นๆ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 1-3 ชั้น โดยออกแบบเรียงสลับ ก้านใบประกอบยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ส่วนแกนกลางใบประกอบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร เกลี้ยง หรือ มีขนสั้นขึ้นปกคลุม ใน 1 ช่อใบ จะมีใบย่อยมีประมาณ 3-7 ใบ ออกเป็นคู่ตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปรียาว หรือ รูปใบหอกแกมรี โคนใบแหลมเล็กน้อย ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-24 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยงหรืออาจมีขนเล็กน้อย หลังใบเป็นลอนตามแนวเส้นใบ ส่วนท้องใบเป็นลอนสีเขียวนวล ใบหนาปานกลาง ก้านใบยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร เกลี้ยง หรือ มีขน และมีต่อมขนาดเล็กรูปเหลี่ยม หรือ กลม ดอกออกเป็นช่อแผ่กว้างตั้งขึ้น โดยจะออกบริเวณซอกใบ ก้านช่อดอกยาว 10-25 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกตูมรูปทรงกลมมีสีแดงเข้มเมื่อดอกบานมีสีขาว มีกลีบเลี้ยงยาว 2-3 มิลลิเมตร เชื่อมติดกัน ที่โคน ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ เชื่อมติดกันที่โคนมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ปลายอับเรณูจะโผล่พ้นหลอดออกไปเป็นแฉกมนๆ ปลายแฉกเว้า ส่วนเกสรเพศเมียมี 6 ช่อง แต่ละช่องมีไข่ 1 เมล็ด ผลเป็นรูปทรงกลมแป้นแบน ด้านบนผิวผลบางขนาดผลประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มจนถึงสีดำ เนื้อผลนุ่ม ในผลมีเมล็ด 6 เมล็ด มีลักษณะเป็นรูปไข่

กะตังใบ

กะตังใบ

การขยายพันธุ์กะตังใบ

กะตังใบสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด ซึ่งโดยส่วนมากแล้วกะตังใบ จะขยายพันธุ์โดยธรรมชาติมากกว่าการถูกนำมาขยายพันธุ์ และปลูกโดยมนุษย์ ซึ่งการขยายพันธุ์ในธรรมชาติของกะตังใบนั้นจะอาศัยผลแก่ที่ร่วงหล่น หรือ สัตว์ป่ามากินผลสุกแล้วขับถ่ายเมล็ดออกมา จนเกิดเป็นต้นใหม่ แต่หากต้องการนำเมล็ดกะตังใบมาเพาะเป็นต้นกล้าเพื่อนำมาปลูกก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปลูกไม้พุ่มทั่วไปดังเช่นที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดกะตังใบ จากใบระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น Gallic acid, Gallocatechin, Bergenin, Epicatechin, Epigallocatechin, Ellagic acid, Kaempferol, Esculetin, Theasinensin A, myricitrin, Quercetin 3-O-rhamnoside, Methyl-O-ellagic acid และ Quercitrin 2″-O-gallate เป็นต้น ส่วนในน้ำมันหอมระเหยจากดอกกะตังใบพบสารประกอบต่างๆ ดังนี้  Di-isobutylphthalae, di-n-butylphthalate, n-butylisobutylphthalate และ butylisohexylphthalate

 โครงสร้างกะตังใบ

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกะตังใบ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของกะตังใบระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้  

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่าน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากดอกกะตังใบ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบ ส่วนสารสกัดเอทานอลจากใบแสดงฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบ โดยพบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวกได้ดีกว่าแบคทีเรียแกรมลบ

           ฤทธิ์ต้านไวรัส สารสกัดเอทานอลทีได้จากใบของกะตังใบแสดงฤทธิ์ต้านไวรัสเริมชนิดที่ 1 โดยมีค่า MIC เท่ากับ 0.05 มก./มล. แต่ทั้งนี้สารสกัดดังกล่าวไม่ได้ผลกับไวรัส vesicular stomatitis

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากสารสกัดเมทานอลของกะตังใบ ระบุว่าแสดงฤทธิ์ในการกำจัดทีเด่นชัดต่ออนุมูลอิสระ ส่วนสารสกัดเอทานอล และเฮกเซน เอทิลอะซีเดต และน้ำจากใบของกะตังใบมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยพบว่ามีฟีนอลสูงและแสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่โดดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนอื่นๆ

           ฤทธิ์ป้องกันตับ มีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่าสารสกัดเอทานอลที่ได้จากเปลือกลำต้นของกระตังใบแสดงฤทธิ์ป้องกันตับจากพิษที่เกิดจากยาพาราเซตามอลในหนู โดยสารสกัดใน 2 ขนาด คือ 200 และ 400 มก.กก.น้ำหนักตัว จะส่งผลให้ระดับความเป็นพิษของเอนไซม์ซีรัม บิลิรูบิน และไตรกลีเซอไรด์ ลดลงอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มควบคุม


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกะตังใบ

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้กะตังใบ เป็นสมุนไพรนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง กะตังใบ
  1. เต็ม สมิตินันทน์, 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.
  2. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. “กะตังใบ”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 69.
  3. ก่องกานดา ชยามฤต, 2540. สมุนไพรไทยตอนที่ 6. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.
  4. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “กะตังใบ (Katang Bai)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 41.
  5. กะตังใบ. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http:///www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=1
  6. Mishra G, Khosa RL, Singh P, Jha KK. Hepatoprotective activity of ethanolic extract of Leea indica (Burm.f.)Merr. (Leeaceae) stem bark against paracetamol induced liver toxicity in rats. Niger J Exp Clin Biosci 2014;2:59-63.
  7.  Bourdy G., Walter A. Maternity and medicinal plants in Vanuatu I. The cycle of reproduction. J. Ethnopharmacol. 1992;37:179–196.
  8. Reddy NS, Navanesan S, Sinniah SK, Wahab NA, Sim KS. Phenolic content, antioxidant effect and cytotoxic activity of Leea indica leaves. BMC Complement Altern Med 2012;12:128
  9.  The Angiosperm Phylogeny Group An update of the Angiosperm Phylogeny Group classification for the orders and families plants: APG III. Bot. J. Linn. Soc. 2009;161:105–121.
  10. Ali AM, Mackeen MM, El-Sharkawy SH, Hamid JA, Ismail NH, Ahmad FB, Lajis NH. Antiviral and cytotoxic activities of some plants used in Malaysian indigenous medicine. Pertanika J Trop Agric Sci 1996;19:129-36.
  11. Rahman MA, Imran TB, Islam S. Antioxidative, antimicrobial and cytotoxic effects of the phenolics of Leea indica leaf extract. Saudi J Biol Sci 2013;20:213-25.
  12. Srinivasan GV, Sharanappa P, Leela NK, Sadashiva CT, Vijayan KK. Chemical composition and antimicrobial activity of the essential oil of Leea indica (Burm.f.) Merr. Flowers. Nat Prod Radiance 2009;8:488-93.