มะเขือเทศ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
มะเขือเทศ งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะเขือเทศ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะเขือส้ม, บะเขือส้ม (ภาคเหนือ), มะเขือเครือ (ภาคอีสาน), ตรอบ (สุรินทร์), ตะก่อชิ (กะเหรี่ยง), ตีรอม (เขมร), ฮวงเกีย (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lycopersicum esculentum Mill
ชื่อสามัญ Tomato
วงศ์ Solanaceae
ถิ่นกำเนิดมะเขือเทศ
มะเขือเทศมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่แถบเทือกเขาแอนตีสของทวีปอเมริกาใต้ ในแถบประเทศเปรู และชิลี เดิมมะเขือเทศเป็นพืชที่เจริญเติบโตในป่าเขา แม้มะเขือเทศจะเป็นผลไม้ที่ดูจากภายนอกแล้วสวยงาม ทำให้คนชอบ และหลงใหลแต่ในสมัยนั้นก็ไม่มีใครกล้าพอที่จะนำมารับประทานเพราะคิดว่าเป็นผลไม้มีพิษ และในราวกลางศตวรรษที่ 15 ชาวสเปน และโปรตุเกส ได้นำเอามะเขือเทศจากเปรูไปปลูกในยุโรป หลังจากนั้นก็มีการนำไปปลูกยังประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ในระยะแรกมีการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับในสวน
มะเขือเทศ ได้ถูกนำมาปลูกเป็นไม้ประดับในสวนอยู่นานร่วม 200 ปี โดยไม่มีใครกล้านำมากินเลย จนกระทั่งในปลายศตวรรษที่ 18 มีนักวาดภาพชาวฝรั่งเศส ผู้หนึ่งนึกอยากลองชิมรสชาติของมะเขือเทศ
เขาจึงตัดสินใจลองกินมะเขือเทศดู หลังจากกินแล้ว ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ลองอยู่หลายครั้ง จนแน่ใจว่าไม่มีพิษ เมื่อข่าวออกไป ประชาชนทั่วไปก็เริ่มกินตามบ้าง มะเขือเทศเลยกลายเป็นอาหารในครัวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และในปี ค.ศ.1811 ก็มีการบันทึกลงในพจนานุกรมทางพฤกษศาสตร์ เป็นครั้งแรก
สำหรับในประเทศไทยมีการสันนิษฐานไว้ว่า มะเขือเทศเข้ามาสู่เมืองไทยนานหลายร้อยปีแล้ว โดยชาวยุโรปที่มาติดต่อค้าขายกับไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้นำเข้ามา และในหนังสืออักขราภธานศรับท์ของหมอปลัดเล พ.ศ.2416 หรือ เมื่อ 125 ปีมาแล้ว กล่าวถึงมะเขือเทศว่า “มะเขือเทศ : เป็นชื่อมะเขือเขาเอาพันธุ์มาแต่เมืองเทศปลูกไว้ในเมืองไทยจึงเรียก มะเขือเทศ” ซึ่งแสดงว่าเมื่อ 125 ปี ก่อนโน้นคนไทยก็ปลูกมะเขือเทศกันทั่วไปแล้ว
ประโยชน์และสรรพคุณมะเขือเทศ
- ช่วยด้านความสะอาดความงาม เชื่อว่าทำให้ผิวหนังตึงมีน้ำมีนวลขึ้น
- ช่วยดับกระหาย
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร
- ช่วยฟอกเลือด
- ช่วยย่อยอาหาร ย่อยไขมัน
- ช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
- บำรุง และกระตุนกระเพาะอาหาร ลำไส้ ไต ให้ทำงานได้ดี
- ช่วยขับพิษ และสิ่งคั่งค้างในร่างกายเป็นยาระบายอ่อนๆ
- ใช้รักษาหน้าเกรียมเนื่องจากถูกแดดเผา
- ช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ (โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย)
- ช่วยป้องกันรักษาผิวหนังให้เยื่อบุกระเพาะ และลำไส้
- ช่วยรักษาเหงือก และฟัน
- ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
- ช่วยรักษาโรคลักปิดลักเปิด
- ช่วยป้องกันเลือดกำเดาออก
- ช่วยป้องกันหลอดเลือดต่างๆ
- วิรักษาโรคตาแห้ง ตาฟาง
- ช่วยป้องกันอาการท้องอืด
- ช้วยแก้อาหารไม่ย่อย
- ช่วยดับร้อนถอนพิษในตับ
- ช่วยทำให้เลือดเย็น
- ใช้รักษาโรคความด้นโลหิตสูง
- ช่วยรักอาการคอแห้ง
- แก้ปากขม
มะเขือเทศ ในฐานะผัก และอาหาร มะเขือเทศใช้เป็นผักประกอบอาหารได้มากมายหลายชนิด เริ่มตั้งแต่ใช้เป็นผักกินสดโดยตรง หรือ ใช้เป็นเครื่องเคียงของอาหารบางประเภทโดยเฉพาะอาหารรสจัด ใช้ประกอบอาหารประเภทผัด ใช่เป็นอาหารประเภทน้ำพริก ใช่เป็นอาหารประเภทเครื่องจิ้มอื่นๆ ซึ่งมีมะเขือเทศ อยู่ในซอสของปลากระป๋อง ใช่เป็นอาหารประเภทต้ม ใช้เป็นอาหารประเภทแกง
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- มีการคำนวณพบว่า หากกินมะเขือเทศสดวันละ 2-3 ผล ปริมาณเกลือแร่วิตามินที่มีอยู่ในมะเขือเทศก็จะพอเพียงกับความต้องการของร่างกายในวันหนึ่งๆ
- ช่วยเป็นยารักษาโรคผิวหนังที่โดนแดดเผาโดยใช้ใบตำให้ละเอียดทาบริเวณที่เป็น
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน โดยนำราก ลำต้น และใบแก่ต้มกับน้ำรับประทาน
- ช่วยรักษาสิว และช่วยสมานผิวหน้าให้เต่งตึง โดยใช้น้ำมะเขือเทศพอกหน้า หรือ ใช้มะเขือเทศ สุกฝานบางๆ แปะบนใบหน้า ก็จะช่วยให้ผิวหน้าอ่อนนุ่ม
นอกจากนี้ยังมีข้อมูล ระบุว่าหากทานมะเขือเทศ 10 ครั้ง/สัปดาห์ จะช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชายได้ถึง 45%
ส่วนตำรายาจีนระบุถึงขนาดวิธีใช้ดังนี้
- เลือดออกตามไรฟัน ให้กินมะเขือเทศต่างผลไม้ เป็นเวลาติดต่อกันประมาณ 2 สัปดาห์ อาการดังกล่าวก็จะหายไป
- อาหารไม่ย่อย ใช้มะเขือเทศคั้นน้ำ ครั้งละ ประมาณครึ่งแก้ว ดื่มวันละ 2-3 ครั้ง
- ปากเป็นแผล ใช้น้ำคั้นมะเขือเทศ อมครั้งละ 3-45 นาที วันละหลายๆ ครั้ง
- เป็นไข้กระหายน้ำ ใช้น้ำคั้นมะเขือเทศและน้ำอ้อยอย่างละเท่าๆ กัน ผสมรวมดื่มแทนน้ำ
- ป้องกันโรคหวัดในฤดูร้อน ใช้มะเขือเทศที่ล้างสะอาดแล้ว หั่นเป็นแผ่นๆ ต้มน้ำแล้วดื่มต่างน้ำจะช่วยป้องกันโรคหวัดได้
- ความดันโลหิตสูง หลังตื่นนอนแปรงฟันแล้วตอนท้องว่างให้กินมะเขือเทศ 1-2 ผล ทุกวัน เป็นเวลา 15 วัน (1 ช่วงของการรักษา) ถ้ายังไม่หายให้กินต่อไปอีก 15 วัน
ลักษณะทั่วไปของมะเขือเทศ
มะเขือเทศจัด เป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว สูงได้ถึง 2 ม. ต้นอ่อนมะเขือเทศ มีลักษณะเป็นทรงกลม และเปราะหักง่าย เมื่อแก่ขึ้น ต้นจะค่อนข้างเป็นเหลี่ยม และแข็งแรงขึ้น แตกกิ่งตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น โดยลำต้นจะมีขนปกคลุม และมีกลิ่นเฉพาะตัว ลำต้นมะเขือเทศบางสายพันธุ์เป็นลำต้นตั้งตรง และแข็งแรง แต่บางสายพันธุ์มีลักษณะลำต้น และกิ่งเลื้อยขึ้นที่สูงหรือเลื้อยตามดิน ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ขอบใบเว้าลึกดูคล้ายเป็นใบประกอบแบบขนนก มีก้านใบหลัก แต่ละก้านใบ มีใบย่อยแตกออกด้านข้าง 7-9 ใบ ใบมีสีเขียวสด มีขนปกคลุมทั่วใบ ดอกมะเขือเทศเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีทั้งเกสรตัวเมีย และเกสรตัวผู้ในดอกเดียวกัน โดยออกดอกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 3-5 ดอก แทงออกบริเวณข้อของกิ่ง ดอกมีขนาดเล็ก สีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ และกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เมื่อดอกบาน กลีบเลี้ยง และกลีบดอกจะโค้งลง ภายในประกอบด้วยเกสรตัวผู้ 5 อัน ล้อมรอบเกสรตัวเมียที่อยู่ด้านใน ผลมะเขือเทศมีลักษณะเป็นผลฉ่ำน้ำ และมีรูปร่างแตกต่างกันตามสายพันธุ์ เช่น รูปทรงกลม ทรงรี ส่วนขนาดมีทั้งขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ ผลอ่อนจะมีสีเขียวอมขาว และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาวเมื่อแก่ และเป็นสีแดง เมื่อผลสุก เมล็ดมะเขือเทศ มีลักษณะแบน รูปไข่ สีเหลือง หรือ สีน้ำตาลอ่อน และมีขนาดเล็ก โดยมีขนสั้นปกคลุมรอบนอก ยาวประมาณ 3-5 มม. โดยอาจมีมากถึง 250 เมล็ดใน 1 ผล
การขยายพันธุ์มะเขือเทศ
มะเขือเทศสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีเพาะเมล็ด โดยมีวิธีการดังนี้
การเตรียมดิน การปลูกมะเขือเทศ จำเป็นต้องยกร่องแปลงคล้ายกับการปลูกพืชผักทั่วไป และต้องเตรียมดิน และกำจัดวัชพืชก่อน ด้วยการไถพรวนดินรอบแรกที่ไถลึกประมาณ 20-30 ซม. และตากดินนาน 10-15 วัน จากนั้น ไถพรวนดินรอบ 2 อีกครั้ง และตากดินนาน 5-7 วัน โดยก่อนไถรอบ 2 ให้หว่านโรยด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 3-5 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 20 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อตากดินรอบ 2 ครบตามวันแล้วจึงไถยกร่องเตรียมปลูก โดยไถยกร่องกว้าง 70-80 ซม. สำหรับปลูกแถวเดี่ยว และร่องกว้าง 100-120 ซม. สำหรับปลูกแถวคู่ โดยยกร่องสูงประมาณ 30 ซม. ส่วนการเพาะกล้าจะใช้วิธีการเพาะกล้าในแปลงเพาะ โดยการเตรียมดินด้วยการผสมดินกับปุ๋ยคอก ก่อนการหว่านเมล็ดลงแปลง และดูแลจนกล้ามีอายุได้ 25-30 วัน หรือ มีใบจริง 5-7 ใบ แล้วค่อยย้ายปลูกในแปลงต่อ ทั้งนี้ ก่อนย้ายปลูก ให้รดน้ำในแปลงให้ชุ่มก่อนทุกครั้ง การปลูก นิยมปลูกในช่วงปลายฤดูฝนที่ฝนเริ่มน้อย หากปลูกในช่วงก่อนฤดูฝนหรือต้นฤดูฝนมักประสบปัญหาผลเน่าเสียง่าย โดยหลังจากการไถยกร่อง จะเริ่มขึ้นตอนการปลูก โดยจะใช้กล้าเพาะ ในระยะปลูกที่ความห่างของต้นหรือหลุมที่ 50 ซม. และหลังการปลูกประมาณ 1 อาทิตย์ ควรใช้วัสดุเกษตรคลุมดิน เช่น ฟางข้าว วางคลุมรอบโคนต้น เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดิน ทั้งนี้มะเขือเทศบางสายพันธุ์มีลักษณะเลื้อยสูง และลำต้นไม่แข็งแรง จำเป็นต้องทำค้างให้ ด้วยการใช้ไม้ไผ่ปักค้ำทแยงกัน หลังจากปลูกประมาณ 15 วัน หรือ ใช้ไม้ปักระหว่างต้น แล้วใช้ลวดขึงด้านข้าง เพื่อให้ลำต้นเลื้อยเกาะ
องค์ประกอบทางเคมี
ในมะเขือเทศมีสารสีแดงคือ lycopene ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม carotenoid ซึ่งมีการศึกษาพบว่าสาร lycopene ซึ่งมีการศึกษาพบว่าสาร lycopene มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้มากกว่าเบต้าแคโรทีน (B-carotene) 2 เท่า และมากกว่าวิตามินอี 10 เท่า ยังมีสารเด่นในกลุ่มคาโรทีนอยด์อีก เช่น บีตา-แคโรทีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ และสารไฟโทอีน (phytoene) และไฟโทฟลูอีน (phytofluene)
นอกจากนี้ มะเขือเทศมีสารฟลาโวนอยด์มากในรูปของกลุ่มฟลาโวนอล โดยพบมากที่สุดในผิวมะเขือเทศ เป็นร้อยละ 98 ของฟลาโวนอลทั้งหมดในผลมะเขือเทศ สารที่พบคือเควอร์เซติน (quercetin) และแคมป์ฟีรอล (kaempferol) และยังพบกรดมาลิก (malic acid), กรมซิตริก (citric acid) และกรดกลูตามิค (glutamic acid) อีกด้วย
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะเขือเทศ
ที่มา : Wikipedia
คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือเทศ สีแดงสด ต่อ 100 กรัม
มะเขือเทศพลังงาน 18 กิโลแคลอรี่, คาร์โบไฮเดรต 3.9 กรัม, น้ำตาล 2.6 กรัม, เส้นใย 1.2 กรัม, ไขมัน 0.2 กรัม, โปรตีน 0.9 กรัม, น้ำ 94.5 กรัม, วิตามินเอ 42 ไมโครกรัม, เบตาแคโรทีน 449 ไมโครกรัม, ลูทีน และซีแซนทีน 123 ไมโครกรัม, วิตามินบี 1 0.037 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 0.594 มิลลิกรัม, วิตามินบี 6 0.08 มิลลิกรัม, วิตามินซี 14 มิลลิกรัม, วิตามินอี 0.54 มิลลิกรัม, วิตามินเค 7.9 ไมโครกรัม, ธาตุแมกนีเซียม 11 มิลลิกรัม, ธาตุแมงกานีส 0.114 มิลลิกรัม, ธาตุฟอสฟอรัส 24 มิลลิกรัม, ธาตุโพแทสเซียม 237 มิลลิกรัม, ไลโคปีน 2,573 ไมโครกรัม
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะเขือเทศ
มีรายงานการวิจัยทางคลินิกว่ามะเขือเทศมีฤทธิ์รักษาโรคต่อมลูกหมากโต โดยให้ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าอยู่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตระยะเริ่มต้นรับประทานซอสมะเขือเทศเข้มข้น (Tomato paste) วันละ 50 กรัม (มี lycopene อยู่ 13 มิลลิกรัม) ติดต่อกัน 10 สัปดาห์พบว่า มีผลทำให้ค่า prostate-specific antigen (PSA) ในเลือดซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงภาวะต่อมลูกหมากโตลดลง และยังมีการศึกษาทางคลินิกในประเทศสหรัฐอเมริกากับผู้ป่วยใหม่ที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจำนวน 26 คน โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จำนวน 15 คน เป็นกลุ่มศึกษาให้รับประทาน 15 มิลลิกรัมของ lycopene วันละ 2 ครั้ง นาน 3 สัปดาห์ ก่อนที่จะทำการผ่าตัดต่อลูกหมาก (prostatectomy) กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุมไม่ได้รับประทานใดๆ หลังสิ้นสุดการศึกษา พบว่า 73% (11 คน) ของกลุ่มที่ศึกษา และ 18% (2คน) ของกลุ่มควบคุมไม่มีการลุกลามของมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และระดับ PSA ลดลง 18% ในกลุ่มศึกษา ในขณะที่กลุ่มควบคุมเพิ่มขึ้น 14% อีกฉบับศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากจำนวน 26 คน โดยทำการแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานสารสกัดมะเขือเทศขนาด 30 มิลลิกรัมของ lycopene นาน 3 สัปดาห์ จำนวน 15 คน กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุมเปรียบเทียบไม่มีการให้อาหารเสริมใดๆ หลังสิ้นสุดการลองพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดมะเขือเทศขนาดของก้อนเนื้อมีขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (80% VS 45%) ระดับ PSA เฉลี่ยในกระแสเลือดมีระดับลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากจำนวน 32 ราย โดยให้บริโภคซอสมะเขือเทศเนื้อมะเขือเทศปั่นละเอียดในขนาด 30 มิลลิกรัม lycopene ต่อวัน นาน 3 สัปดาห์ พบว่าระดับ lycopene ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในขณะที่ระดับของ lycopene ในเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 0.196 เป็น 0.582 นาโนกรัม/มิลลิกรัม แบะในการศึกษาผู้ป่วยชายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก (prostate adenocarcinoma) จำนวน 32 ราย โดยให้ผู้ป่วยรับประทานซอสมะเขือเทศ 30 มิลลิกรัมของ lycopene /วัน (ประมาณ ¾ ถ้วยตวง) เป็นเวลา 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นเจาะเลือดดูระดับ PSA และ lycopene พบว่าระดับ lycopene ในเลือด (serum) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จาก 638 เป็น 1,258 นาโนโมล และระดับ PSA ใน serum ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจาก 10.6 เป็น 8.7 นาโนกรัม/มิลลิลิตร (ลดลง 18%) ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก 32 คน โดยให้ผู้ป่วยบริโภคซอสมะเขือเทศประมาณ 30 มิลลิกรัมของ lycopene นาน 3 สัปดาห์ และเจาะเลือดเพื่อวัดระดับ PSA และlycopene ในกระแสเลือด พบว่าระดับ lycopene ในกระแสเลือดและในต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น 1.97-2.92 เท่า และระดับ PSA ในกระแสเลือดลดลง 17.5% อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนทำการศึกษา ซึ่งการศึกษาทางคลินิกทั้งหมดที่กล่าวมาสรุปว่า สาร lycopene ในซอสมะเขือเทศสามารถป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้ และยังมีการศึกษารายงานความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคผลิตภัณฑ์มะเขือเทศ มะเขือเทศสดซึ่งมี lycopene เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และมีผลต่อการลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือสามารถป้องกันการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้
ฤทธิ์ปกป้องโรคหัวใจจากมะเขือเทศ มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ของมะเขือเทศในการลดระดับ lactate dehydrogenase (LDH) และ creatinine kinase (CPK) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญเกี่ยวกับความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจและความเสียหายของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการออกกำลังกายโดยทำการทดสอบในนักกีฬา 15 คน ที่ผ่านการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiography) และมีค่าชีวเคมีในร่างกายที่ปกติและเป็นผู้ที่ออกกำลังกายแบบไม่ใช้ออกซิเจนจนมี LDH และ CPK สูงกว่าคนทั่วไป โดยให้นักกีฬา 9 คน ดื่มน้ำมะเขือเทศระหว่างออกกำลังกาย และหลังออกกำลังกายแทนการดื่มอาหารเสริมคาร์โบไฮเดรตเป็นเวลามากกว่า 2 เดือน ผลการทดสอบพบว่าน้ำมะเขือเทศช่วยลดระดับ LDH และ CPK ได้ นอกจากนี้ยังพบว่ามะเขือเทศช่วยลดระดับ homocystein ที่ทำให้เกิดผนังหลอดเลือดอุดตันและ C-reactive protein สารสำคัญเกี่ยวกับการเกิดโรคหลอดเลือดแข็งตัว ส่วนนักกีฬาอีก 4 คน เป็นกลุ่มควบคุมซึ่งดื่มอาหารเสริมคาร์โบไฮเดรตพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากผลการทดสอบจึงสรุปได้ว่าน้ำมะเขือเทศสามารถลดความเสียหายของกล้ามเนื้อหลังจากออกกำลังกายและช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจได้
ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด เมื่อแบ่งหนูแฮมสเตอร์ จำนวน 32 ตัว เป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม กินอาหารปกติ กลุ่มที่ 2 กินอาหารที่มีไขมันสูง (ประกอบด้วยอาหารปกติ + น้ำมันข้าวโพด 10% + คอเลสเตอรอลล 0.2%) กลุ่มที่ 3 และ 4 กินอาหารไขมันสูงร่วมกับสารสกัดมะเขือเทศ เข้มข้น (tomato paste) 3% และ 9% ตามลำดับ นาน 8 สัปดาห์ พบว่า หนูที่กินสารสกัดมะเขือเทศเข้มข้น 9% จะมีระดับคอเลสเตอรลทั้งหมด และ low density lipoprotein ในเลือดลดลง 14.3 และ 11% ตามลำดับ ส่วนสารสกัด 3% ไม่มีผลดังกล่าว สารสกัดทั้ง 3% และ 9% จะไปเพิ่มระดับ high density lipoprotein ในเลือดหนู 19.4 และ 28.8% ตามลำดับ ระดับ malondialdehyde ในเลือดลดลง 80.18 และ 89.33% และกลุ่มที่ได้รับสารสกัด 9% มีเอนไซม์ superoxide dismutase, catalase, glutathione peroxidase ในเลือดเพิ่มขึ้น
ฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลของเมล็ดมะเขือเทศ การศึกษาฤทธิ์ลดคอลเลสเตอรอลของกากมะเขือเทศอบแห้ง (TP) น้ำมันจากเมล็ดมะเขือเทศ (TSO) และเมล็ดมะเขือเทศที่สกัดน้ำมันออกแล้ว (DTS) ในหนูแฮมสเตอร์ โดยทำการป้อนอาหารไขมันสูงที่มีส่วนผสมของ TSO 10% หรือ DTS 18% เทียบกับการป้อนอาหารที่มีน้ำมันข้าวโพด 10% และเซลลูโลสชนิด microcrystalline 10% (กลุ่มควบคุม) และทดลองป้อนอาหารที่มีส่วนผสมของ TP 42% เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับอาหารที่มีเซลลูโลสชนิด microcrystalline 25% พบว่า การป้อนอาหารที่มีส่วนผสมของมะเขือเทศทั้ง 3 รูปแบบ มีผลลดปริมาณคอเลสเตอรอลที่สะสมในตับของหนูได้ แต่กลุ่มที่ได้รับ DTS เท่านั้นที่สามารถลดปริมาณคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลชนิด low-density lipoprotein ในเลือดได้ นอกจากนี้ยังพบว่าหนูที่ได้รับ DTS มีการแสดงออกของยีน CYP7A1, CYP51, ABCB11 และ ABCG5 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นยีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์กรดน้ำดีและคอเลสตอรอล เป็นผลให้ร่างกายขับกรดน้ำดี และคอเลสเตอรอลออกทางอุจจาระเพิ่มมากขึ้น ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในเลือดของมะเขือเทศมีความเกี่ยวข้องกับโปรตีน ไฟเบอร์ หรือ สารฟีนอลิคที่พบในเมล็ดมะเขือเทศ
ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพก่อโรคชนิดต่างๆ ของสารสกัดน้ำและสารสกัดเอทานอลจากผลมะเขือเทศราชินี และมะเขือเทศสีดา โดยใช้สารสกัดน้ำ ความเข้มข้น 25-50 ก./มล. และสารสกัดเอทานอล ความเข้มข้น 0.6-1.67 ก./มล. ทดสอบกับจุลชีพ 6 ชนิด ได้แก่ Staphylococcus aureus, Streptococcus pyogenes, Escherichia coli, Pseudomonas aeruginosa, Candida albicans และ Candida tropicali พบว่าสารสกัดน้ำจากมะเขือเทศราชินี และมะเขือเทศสีดา สามารถยับยั้งเชื้อ S. pyogenes ได้เพียงชนิดเดียวและให้ผลในการยับยั้งใกล้เคียงกัน (มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดของสารสกัดที่ยับยั้งการเจริญของจุลชีพ (MIC) เท่ากับ 25 และ 22.5 ก./มล. ตามลำดับ) สารสกัดเอทานอลจากมะเขือเทศสีดามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ S. pyogenes, P. aeruginosa, E. coli และ C. tropicalis โดยมีค่า MIC เท่ากับ 0.3, 0.6, 0.7 และ 0.83 ก./มล. ตามลำดับ ส่วนสารสกัดเอทานอลจากมะเขือเทศราชินีมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ S. pyogenesและ P. aeruginosa โดยมีค่า MIC เท่ากับ 0.7 และ 0.6 ก./มล. ตามลำดับ สรุปว่าสารสกัดเอทานอลจากผลมะเขือเทศ ทั้ง 2 ชนิด สามารถต้านเชื้อจุลชีพก่อโรคที่สำคัญบางชนิดได้ดีและหลากหลายกว่าการสกัดด้วยน้ำ
การศึกษาทางพิษวิทยาของมะเขือเทศ
การศึกษาสารสกัดจากมะเขือเทศ (tomato oleoresin extract) ซึ่งประกอบด้วย lycopene 6% ในด้านพิษวิทยา พบว่าค่าความเข้มข้นของสารที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) โดยการรับประทานในคนทีค่ามากกว่า 5,000 มก./กก. น้ำหนักตัวความเป็นพิษเฉียบพลันต่อผิวหนังที่ความเข้มข้น 2,000 มก./กก. น้ำหนักตัว ไม่พบพิษและไม่มีการรายงานความเป็นพิษต่อการก่อกลายพันธุ์ด้วยความเข้มข้น 5,000 ไมโครกรัม/plate ซึ่งโดยส่วนใหญ่การบริโภคอาหารที่มี lycopene ของคนโดยเฉลี่ยจะมี lycopene ประมาณ 8.2 มก./วัน นอกจากนี้มีการศึกษาในหนู (rat) โดยให้หนูกินอาหารที่มีส่วนผสมของ lycopene ในขนาดสูงถึง 500 มก./กก. น้ำหนักตัว นาน 14 สัปดาห์ หรือ 1,000 มก./กก. น้ำหนักตัว นาน 4 สัปดาห์ พบว่าไม่มีพิษกับตัวอ่อน ไม่มีพิษต่อยีน ซึ่งจะเห็นได้สาร lycopene ในมะเขือเทศมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และมนุษย์บริโภคมะเขือเทศ เป็นอาหารมานานมาก และไม่มีการรายงานความเป็นพิษ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- มะเขือเทศ และผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อน จึงควรกินมะเขือเทศและผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ ในปริมาณจำกัด
- มะเขือเทศเป็นพืชผักผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตและผู้ที่มีภาวะ โพแทสเซียมในเลือดสูง
- การบริโภคมะเขือเทศ อาจก่อให้เกิดอาการแพ้มะเขือเทศได้โดยจะมีอาการ ปาก ลิ้น หรือ ใบหน้า มีอาการบวม และมีอาการจาม เจ็บคอ เป็นต้น
- มีรายงานว่านักโภชนาการ แนะนำให้ผู้ชายบริโภคมะเขือเทศแบบสุก เพราะจะช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ส่วนผู้หญิงแนะนำให้บริโภคแบบสด เพราะมีสารอาหารต่างๆ และวิตามินซีที่จะช่วยให้ผิวพรรณเต่งตึง มีน้ำมีนวล
เอกสารอ้างอิง มะเขือเทศ
- เดชา ศิริภัทร. มะเขือเทศผักผลไม้แนวหน้าระดับโลก.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่225.มกราคม2541.
- ภก.ญ.กฤติยา ไชยนอก.มะเขือเทศกับไลโดพีน.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- มะเขือเทศลดไขมันในเลือดและต้านอนุมูลอิสระ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- พนิดา ใหญ่ธรรมสาร. มะเขือเทศกับมะเร็งต่อมลูกหมาก,จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 21. ฉบับที่ 4. 2547. หน้า 15-21
- วิทิต.วัฒนาวิบูล. มะเขือเทศ แอปเปิล แห่งความรัก.คอลัมน์ อาหารสมุนไพร.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 58. กุมภาพันธ์ 2527.
- ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพของสารสกัดผลมะเขือเทศราชินีและมะเขือเทศสีดา.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ฤทธิ์ปกป้องโรคหัวใจจากมะเขือเทศ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.มะเขือเทศ ราชินี.คอลัมน์ บทความพิเศษ.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 359.มีนาคม.2552
- ฤทธิ์ลดคลอเลสเตอรอลของเมล็ดมะเขือเทศ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัย.
- มะเขือเทศและการปลูกมะเขือเทศ.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- DiMascio P,Kaiser S, Sies H. Lycopene as the most effective biological carotenoid singlet oxygen quencher.Arch Biochem Bophys 1989;274:532-8.
- Van Breemen RB,Xu X, Viana MA, et al. Liquid chromatography-mass spectrometry of cis-and all-trans-lycopene in human serum and prostate tissue after dietary supplemention with tomato sauce. J Agric Food Chem 2002;50(8):2214-9.
- Matuika RA, Hood AM, Griffths JC. Safety evaluation of a natural tomato oleoresin extract derived from food-processing tomatoes. Regui Toxicol Pharmacol 2004:39-390-402.
- Kuck O, Sarkar FH, Sakr W. et al. Phase ll ramdomized clinical trial of lycopene supplementation before radical prostateomy. Cancer Epidemiol Biomarkers Prev 2001;10(8):861-8.
- Chen L, Stacewicz-Sapuntzakis M, Duncaw C, et al. Oxidative DNA damage in prostate cancar patients consuming tomato sauce-based entrees as a whole-food intervention. J Natl Cancer lnst 2001:93(24):1872-9.
- Thomas JA. Diet. Micronutrients, and the prostate gland. Nutr Rev 1999;57(4):95-103.
- Mcclain RM and Bausch J. Summary of safety studies conducted with synthetic lycopene. Regul Toxicol Pharmacol 2003;37-274-85
- ต่อมลูกหมากโต.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medp;ant.mahido;.ac.th/user/reply.asp?id=6641