การเวก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

การเวก งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ

ชื่อสมุนไพร การเวก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สะบันงาเครือ (ภาคเหนือ), กระดังงาป่า, กระดังงัว (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก), กระดังงาเถา (ภาคใต้), หนามควายนอน (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Artabotrys siambinghlang-ylang
ชื่อสามัญ Ylang-Ylang, Climbingylang-ylang
วงศ์ ANNONACEAE


ถิ่นกำเนิดการเวก

สำหรับถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของการเวกนั้นบางข้อมูลระบุว่า มีถิ่นกำเนิดในทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย และในประเทศศรีลังกา แล้วถูกนำเข้ามาในประเทศไทย โดยการนำเมล็ดเข้ามาปลูกผ่านทางพ่อค้าชาวอินเดียในช่วงสมัยอยุธยา ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าการเวก มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิม อยู่ในป่าชื้นภาคกลาง และภาคใต้ของไทย โดยนับเป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมในไทยอีก จึงได้ชื่อว่า siamensis ซึ่งมาจากคำว่าสยาม แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสามารถพบการเวกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยสามารถพบได้ตามป่าธรรมชาติประเภทป่าดิบ และป่าเบญจพรรณต่างๆ รวมถึงยังพบการนำมาปลูกตามบ้านเรือน และอาคารสถานที่ต่างๆ อีกด้วย


ประโยชน์และสรรพคุณการเวก

  • ช่วยฟื้นร่างกายหลังการคลอดบุตร (ราก)
  • ใช้รักษาโรคมาลาเรีย (ราก)
  • ใช้ขับปัสสาวะ (ราก) (ดอก)
  • รักษาอหิวาตกโรค (ราก)
  • ใช้ถ่ายพยาธิ (ราก) (ลำต้น)
  • ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ หรือ ใช้เป็นยาคุมกำเนิด (ราก) (ลำต้น)
  • ช่วยบำรุงร่างกาย (ดอก)
  • บำรุงโลหิต (ดอก)
  • แก้อาการวิงเวียนศีรษะ (ดอก)
  • ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ดอก)
  • รักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี (ลำต้น)
  • ใช้รักษาวัณโรค (ผล)
  • แก้ท้องเสีย

           ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีการนำการเวกมาใช้ประโยชน์ดังนี้ มีการนำการเวก มาปลูกให้เลื้อยขึ้นคลุมเป็นซุ้มประตู ซุ้มระเบียง ซุ้มเก้าอี้สนาม หรือ ซุ้มทางเท้า เนื่องจากการเวกมีดอกที่มีกลิ่นหอม และเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งที่ทนทานมีอายุยืนนาน ออกดอกตลอดปี ขึ้นได้ทั่วไป ชอบกลางแจ้งแดดจัด และเลื้อยคลุมซุ้มหลังคาต่างๆ ได้ดี ส่วนของดอกมีการนำมาใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย เพื่อใช้ทำน้ำหอม ยาหอม ใช้ทานวด รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางต่างๆ และยังมีการนำดอกนำมาห่อรวมกันในใบสูดดม เพื่อช่วยในการผ่อนคลายได้อีกด้วย

การเวก

การเวก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงโลหิต บำรุงร่างกาย ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย โดยนำดอกการเวก มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อาการวิงเวียนศีรษะ โดยนำดอกมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ใช้สูดดม หรือ นำดอกสดมาห่อด้วยใบเป็นรูปกรวย จากนั้นนำไปจ่อเข้ารูปจมูกแล้วสูดดม
  • ใช้ขับปัสสาวะ รักษาโรคอหิวาตกโรค ใช้ถ่ายพยาธิ และใช้เป็นยาคุมกำเนิด โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ฟื้นร่างกายหลังคลอด ใช้รักษาโรคมาลาเรีย โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้รักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี ใช้ถ่ายพยาธิ ใช้เป็นยาคุมกำเนิด โดยนำเนื้อไม้มาต้มกับน้ำดื่ม

ลักษณะทั่วไปของการเวก

การเวก จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง อยู่ในวงศ์น้อยหน่า (ANNONACEAE) มีลำต้นเลื้อยยาวได้ถึง 15 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นโตได้ถึง 15 เซนติเมตร เปลือกลำต้นแตกเป็นริ้วมีช่องอากาศสีน้ำตาลดำ กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุม ส่วนกิ่งแก่เกลี้ยงมีหนามแข็งที่เกิดจากเนื้อไม้ออกเป็นคู่ ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับข้างบนกิ่ง ใบมีขนาดใหญ่ กว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 15-18 เซนติเมตร ใบมีลักษณะรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ โคนใบแหลมเล็กน้อยส่วนปลายใบแหลม ของใบเรียบเนื้อใบหนา ด้านบนในเกลี้ยงเป็นมัน ด้านล่างมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุม และมีก้านใบสีเขียวทรงกระบอกยาว 5-6 มิลลิเมตร ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว หรือ ออกเป็นกลุ่ม 2-5 ดอก บริเวณซอกใบ ก้านดอกมีสีเขียว ทรงกระบอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.2 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มสีสนิม ใบประดับ เป็นรูปสามเหลี่ยมกว้างและยาว 2 มิลลิเมตร ปลายแหลม ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนคล้ายสีน้ำตาลแดง กลีบเลี้ยง มีสีเขียว รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายแหลม กว้างและยาว 7 มิลลิเมตร ขอบกลีบเลี้ยงม้วนพับขึ้น ปลายกลีบโค้งขึ้น กลีบเลี้ยงมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ด้านล่างบริเวณกลางกลีบมีร่องตามยาว 1 ร่อง ส่วนดอกเมื่อยังดอกอ่อนมีสีเขียวเมื่อบานเต็มที่มีสีเหลือง บริเวณรอยคอมีสีแดงอมชมพู และบริเวณกลีบดอกจะมีขนสั้นนุ่มสีเหลืองอ่อน กลีบดอกชั้นนอกรูปใบหอก กว้าง 4-5.5 เซนติเมตร ยาว 1-1.7 เซนติเมตร ปลายมนสีร่องด้านล่างบริเวณกลางกลีบ 1 ร่อง ส่วนกลีบดอกชั้นในรูปใบหอก กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 4-5 เซนติเมตร ปลายมนด้านล่างมีร่องตามยาว ต่อเนื่องจากโคนกลีบประมาณ 5 มิลลิเมตร แล้วค่อยๆ ยับตัวแบนราบ ดอกการเวกมีกลิ่นหอมมาก โดยจะหอมแรวในตอนเย็นจนถึงเช้าตรู่ ผลของการเวกมีลักษณะทรงกลมค่อนข้างรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-3 เซนติเมตร และยาว 3-4 เซนติเมตร โดยจะออกเป็นช่อโดยในแต่ละช่อจะมีผลย่อยประมาณ 5-20 ผล

การเวก

ผลการเวก

การขยายพันธุ์ของการเวก

การเวก สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ วิธีการตอนกิ่ง โดยมีวิธีการดังนี้

  • เริ่มจากการเลือกกิ่งต้นพันธุ์ที่ไม่อ่อน หรือ ไม่แก่จนเกินไป มีความสมบูรณ์ไม่ม่ร่องรอยของโรค และแมลง 
  • จากนั้นใช้มีดคมๆ ควั่นกิ่ง โดยการใช้มีดควั่นกิ่งโดยรอบเป็นวงแหวน 2 วง ให้มีระยะห่างของวงแหวนเท่ากับความยาวของเส้นรอบวงของกิ่งที่ใช้ทำการตอน แล้วกรีดจากด้านบนถึงด้านล่าง ลอกเอาเปลือกออก ใช้สันมีขูดส่วนที่เป็นเมือกลื่นบนเนื้อไม้ออกให้หมด
  • แล้วจึงนำตุ้มตอนมา (นำขุยมะพร้าวไปแช่น้ำ บีบให้หมาดๆ และอัดลงในถุงพลาสติกขนาดเล็ก ผูกปากถุงให้แน่น) ผ่าตามยาวแล้วหุ้มไปบนรอยแผล มัดด้วยเชือกบริเวณหัวท้ายเหนือ และใต้รอยแผลที่ควั่นเอาไว้ โดยควรมัดให้แน่นไม่ให้ตุ้มตอนหมุนได้
  • จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 30-45 วัน กิ่งตอนก็จะเริ่มออกราก และแทงผ่านตุ้มตอนที่หุ้มออกมาจนมองเห็นด้วยตาเปล่าแต่ต้องรอจนรากที่งอกออกมาเป็นสีเหลืองแก่ หรือ สีน้ำตาล จึงจะสามารถตัดมาชำได้
  • ทั้งนี้ก่อนการชำกิ่งตอนจะต้องตัดแต่งใบและกิ่งออกทิ้งบ้าง เพื่อลดการคายน้ำของใบให้มีปริมาณน้อยลง จากนั้นให้ตัดเชือกและแกะถุงพลาสติกออก นำไปชำลงในถุงพลาสติก หรือ กระถางดินเผาที่ผสมดิน และวัสดุปลูกไว้แล้ว พร้อมปักหลักยึดไว้ให้แน่น นำเข้าพักไว้ในโรงเรียนที่ร่ม และชื้นแล้วรออีก 1-2 สัปดาห์ จึงสามารถนำไปปลูกต่อไป


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดการเวก จากส่วนต่างๆ ของระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลานชนิด อาทิเช่น

           สารสกัดจากส่วนใบพบสาร Artabotrys-A และ B,Succinic acid, Fumaric acid, Taxifolin สารสกัดจากส่วนเมล็ดพบสาร Isoamericanol-A, Isoamericanin-A , Artabotrycinol, Americanin-B, Beta-sitosterol, Daucosterol, Palmitic acid สารสารที่พบในน้ำมันหอมระเหยจากดอกของการเวก พบสาร ethyl acetate, ethyl butanoate, ethyl isobutanoate, isobutyl acetate, trans-caryophyllene, alpha-pinene และ alpha-humulene เป็นต้น

โครงสร้างการเวก

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของการเวก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของน้ำมันหอมระเหยจากส่วนดอกของการเวก ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

           การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพระบุว่า น้ำมันหอมระเหยของการเวก มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. epidermidis ส่วนการศึกษาฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางโดยวิธี Open-field พบว่าน้ำมันหอมระเหยของการเวก แสดงแนวโน้มฤทธิ์สงบระงับ โดยเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับ 18% จากการได้รับยา Pentobarbital แตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสําคัญ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยน้ำมันหอมระเหยจากส่วนดอกของการเวกในต่างประเทศยังระบุว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเบาหวาน ปกป้องตับ และต้านมะเร็ง เป็นต้น


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของการเวก

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้การเวกเป็นสมุนไพร นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับสตรีมีครรภ์ หรือ สตรีที่สงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้การเวก เป็นสมุนไพร เนื่องจากมีสรรพคุณเป็นยาคุมกำเนิด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้


เอกสารอ้างอิง การเวก
  1. ราชบัณฑิตยสถาน. 2538.อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร : เพื่อนพิมพ์.
  2. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็มสมิตินันท์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2544. บริษัทประชาชนจำกัด, กรุงเทพฯ.
  3. เดชา ศิริภัทร. การเวก มงคลนามแห่งความหอมและความไพเราะ. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 267. กรกฎาคม 2544.
  4. ณรงค์ คูณขุนทด. 2544. การศึกษาทางอนุกรมวิธานพรรณไม้วงศ์น้อยหน่าในป่าตะวันออก. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  5. ทวี อินสุระ. อนุกรมวิธานและลักษณะนิเวศบางประการของพรรณไม้สกุลการเวกในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (วนศาสตร์) สาขาชีววิทยาป่าไม้ ภาควิชาป่าไม้ คณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2552. 118 หน้า
  6. ศุภโชนิ เดชะราช. 2540. การศึกษาทางอนุกรมวิธานของพืชวงศ์น้อยหน่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน.วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  7. กระดังงา/การเวก (Ylang-Ylang) สรรพคุณและการปลูกกระดังงา. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com