มันสำปะหลัง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
มันสำปะหลัง งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ
ชื่อสมุนไพร มันสำปะหลัง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มันไม้, มันสำโรง, สำปะหลัง (ภาคกลาง), มันต้าง, ต้างน้อย, ต้างบ้าน (ภาคเหนือ), มันเตี้ย, มันต้นเดีย (ภาคอีสาน), มันต้น, มันเทศ, มันหิ่ว (ภาคใต้), หน้อยซิ, หน่วยเซ, โคร่เซาะ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Manihot esculenta Crantz.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Manihot utilissima Pohl.
ชื่อสามัญ Cassava, Casava
วงศ์ EUPHORBICEAE
ถิ่นกำเนิดมันสำปะหลัง
มีหลักฐานระบุว่ามันสำปะหลังเป็นพืชดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองในเขตร้อนของทวีปอเมริกาตอนกลาง และทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้ โดยมีการสัณนิฐานระบุว่า แหล่งกำเนิดมันสำปะหลัง 4 แห่ง คือ แถบประเทศกัวเตมาลา และเม็กซิโก ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ทางทิศตะวันออกของประเทศโบลิเวีย รวมถึงทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอาร์เจนตินา และทางทิศตะวันออกของประเทศบราซิล
ต่อมาในสมัยที่มีการล่าอาณานิคมในคริสต์ศตวรรษที่ 15 พวกนักค้าทาสจึงได้นำมันสำปะหลัง จากประเทศบราซิลไปปลูกในทวีปแอฟริกา และมีชาวโปรตุเกสก็ได้นำมันสำปะหลังไปปลูกที่เกาะรียูเนียน (Reunion) และแพร่กระจายไปยังมาดากัสกา ส่วนในทวีปเอเชียมีการนำมันสำปะหลังมาปลูกครั้งแรกโดยชาวสเปนที่ประเทศฟิลิปปินส์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 สำหรับประเทศไทย ไม่มีหลักฐานที่แน่นอนว่ามีการนำมันสำปะหลังเข้ามาปลูกเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเข้ามาใน พ.ศ.2329-2383 ช่วงเดียวกันกับศรีลังกา และฟิลิปปินส์ โดยคาดว่านำมาจากมาลายูมาปลูกในภาคใต้ ในปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดของประเทศไทย
ประโยชน์และสรรพคุณมันสำปะหลัง
- ช่วยให้การทำงานของระบบประสาทให้เป็นไปอย่างปกติ
- ช่วยให้การเต้นของหัวใจเป็นปกติ
- ช่วยในเรื่องการทำงานของไต
- ช่วยในการหดตัวของกล้ามเนื้อ
- ช่วยในการบำรุงลำไส้
- ช่วยในระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ
- ช่วยเรื่องการเผาผลาญ
- ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
- ช่วยลดคลอเรสเตอรอล
- ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
- ช่วยในการดูดซึมคอลลาเจนได้
ทางการแพทย์แผนปัจจุบันระบุว่า หัวของมันสำปะหลัง อุดมไปด้วย สาระสำคัญแร่ธาตุ และวิตามินต่างๆ มากมาย เช่น โคลีน ช่วยให้การทำงานของระบบประสาทให้เป็นไปอย่างปกติ โพแทสเซียม ช่วยให้การเต้นของหัวใจเป็นปกติและช่วยในเรื่องการทำงานของไตและการหดตัวของกล้ามเนื้อ
มันสำปะหลังถูกจัดให้เป็นอาหารที่มีความสำคัญอันดับ 5 ของโลก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของประเทศโลกที่สาม ทั้งการนำมาประกอบอาหารรับประทาน หรือ นำมาแปรรูปเป็นอหาร โดยสามารถนำมา ต้ม นึ่ง ย่าง อบ เชื่อม หรือ ทำเป็นแป้งแล้วแปรรูปเป็นอาหารก็ได้ และยังมีการนำใบมันสำปะหลัง ต้มจิ้มกำน้ำพริก หรือ นำมาทำแกงอีกด้วย
สำหรับแป้งมันสำปะหลังยังสามารถนำมาเข้าสู่อุตสาหกรรมต่างๆ ได้อีกหลายประการ เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม มีการนำแป้งมันสำปะหลังมาใช้ได้ทั้งในรูปของแป้งแท้ๆ และแป้งดัดแปร (Modified starch) เช่น ใช้ผลิตขนมปังอาหารเด็ก ขนมปัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยว ซอสปรุงรสต่างๆ รวมถึงใช้เป็นสารให้ความหวานในเครื่องดื่มก็ได้ เช่น น้ำเชื่อมฟรุกโตส น้ำตาลกลูโคส และใช้แทนซูโครส ในผลไม้กระป๋อง และแยม เป็นต้น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ใช้เคลือบเส้นใยของผ้า ทำให้เส้นใยแข็งแรง ทนต่อแรงเสียดสีระหว่างทอ และเพื่อให้ไม่มีขนเวลาทอ อุตสาหกรรมกระดาษ ใช้ในการบดเยื่อกระดาษ เพื่อให้กระดาษมีความเหนียว ใช้ในการรีด และขัดมันหน้ากระดาษ ใช้เป็นตัวยึด และเพิ่มความหนาของกระดาษ เป็นต้น ใช้เป็นตัวเจือจางในยาประเภทแคปซูล ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตผงชูรส และไลซีน ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกาว ใช้ผสมกาวในการผลิตไม้อัด และใช้ในการผลิตเอทานอล เพื่อเป็นส่วนผสมในการผลิตแก๊สโซฮอลล์อีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
เนื่องจากหัวของมันสำปะหลังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญลำดับต้นๆ ของประชากรโลก ดังนั้นในการใช้มันสำปะหลังนทางยาสมุนไพรก็จึงเป็นการใช้ในรูปแบบของอาหาร โดยนำมาปรุงเป็นอาหารประเภทต่างๆ ทั้งคาว และหวานรับประทาน ก็จะได้สรรพคุณตามที่ได้กล่าวมา แต่ทั้งนี้ไม่ควรรับประทานหัวมันสำปะหลัง ที่ไม่ผ่านกระบวนการทำให้สุก เนื่องจากในหัวมันสำปะหลังดิบมีสารพิษ Cyanogenic glycoside ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบไหลเวียนของเลือด ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่เซลล์สมองได้น้อยลง เมื่อกินหัวมันสำปะหลังสดๆ ที่มีสารชนิดนี้ จะทำให้เกิดอาการเป็นพิษได้ แต่หากนำมาปรุงสุกพิษชนิดนี้ก็จะหายไป โดยการทำให้สุกจะต้องเอาผิวเปลือกออกควร บด ขุด ก่อน สำหรับการต้มควรนำมาต้ม 30-40 นาที แล้วทิ้งน้ำที่ต้ม ถ้าเป็นใบอ่อนให้ต้มมากกว่า 10 นาที ถ้าใบแก่ให้ต้มนานกว่านี้
ลักษณะทั่วไปของมันสำปะหลัง
มันสำปะหลัง จัดเป็นไม้พุ่มอายุหลายปี เป็นไม้เนื้อแข็ง มีลำต้นตั้งตรง มีความสูงของลำต้นประมาณ 1-5 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้น 3-6 เซนติเมตร ผิวลำต้นเรียบ มีการแตกกิ่งของลำต้นแตกต่างกันตามสายพันธุ์มีทั้งไม่แตกกิ่ง จนถึงแตกได้ 4 กิ่ง กิ่งที่แตกจากลำต้นหลักเรียกว่า Primary branch ส่วนกิ่งที่แตกจากกิ่งชุดแรกเรียกว่า Secondary branch และตามลำต้น จะเห็นรอยก้านใบที่หลุดร่วงไปเรียกว่า “รอยแผลใบ” โดยในทุกส่วนของต้นมันสำปะหลัง เมื่อนำมาสับจะมีน้ำยางสีขาวไหลออกมา
ใบมันสำปะหลัง เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ รอบลำต้น (spiral) ลักษณะของใบเป็นรูปโล่ ใบแยกเป็นแฉก 3-9 แฉก แต่ละแฉกมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก รูปดาบ มีขนาดกว้าง 3-5 เซนติเมตร และยาว 10-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบสอบของใบเรียบ ผิวด้านบนเกลี้ยงมีสีเขียว ส่วนด้านล่างเป็นสีขาวนวล อาจมีขนเล็กน้อยตามเส้นใบ ก้านใบยาวประมาณ 5-30 เซนติเมตร มีสีแดงเข้มที่โคนก้านใบติดกับลำต้นมีหูใบรูปหอกยาว 1 เซนติเมตร
ดอกมันสำปะหลัง ออกเป็นช่อกระจาย (Paniclo) ช่อดอกเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งจะออกซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 3-10 เซนติเมตร ในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยงดอกยาว 3-8 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็นแฉกสามเหลี่ยม 5 แฉก ไม่มีกลีบดอก ภายในดอกมีก้านเกสรเพศผู้ 10 อัน อับเรณูมีขนาดเล็กมีก้านดอกยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ส่วนดอกเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนติดกันเพียงเล็กน้อย ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และไม่มีกลีบดอกเช่นเดียวกันกับดอกเพศผู้ ส่วนรังไข่เป็นสันมีสัน 6 สัน ไม่มีขนยาว 3-4 มิลลิเมตร ท่อรังไข่เชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นกลุ่ม 3 กลุ่ม ในแต่ละกลุ่มจะแยกเป็นแขนง อีกจำนวนมาก ดอกเพศเมียจะประกอบไปด้วยรังไข่ 3 คาร์เพล ในแต่ละคาร์เพลมี 1 ออวุล และจะมีก้านดอกยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร
ผลมันสำปะหลัง เป็นแบบ Capsule ลักษณะกลมเกลี้ยงมีปีกตามยาว 4 ปีก เมื่อโตเต็มที่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ภายในผลมีช่อง 3 ช่อง แต่ละช่องมีเมล็ด รูปร่างยาวรี ลายดำสีน้ำตาล 1 เมล็ด เมื่อผลแก่เต็มที่จะแตกดีดเมล็ดกระเด็นออกไป
ราก หรือ หัว มันสำปะหลังเป็นแบบ Adventitious root system โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ รากจริง (True or wiry roots) และรากสะสม (Modified or storages roots) หรือ ที่เรียกกันทั่วไปว่า หัวโดยรากจริงเป็นรากที่งอกจากท่อนพันธุ์ หรือ ตามข้อของลำต้นที่ใช้ขยายพันธุ์ โดยสามารถงอกได้จาก 3 ส่วน คือ รากจากส่วนเนื้อเยื่อ รากจากส่วนตา และรากจากส่วนรอยหลุดร่วงของใบ ส่วนรากสะสม หรือ ส่วนหัว (Tuber) ของมันสำปะหลัง คือ ส่วนรากที่ขยายใหญ่เพื่อสะสมอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตในส่วน Parenchyma cell ซึ่งหัวของมันสำปะหลังมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-15 เซนติเมตร ยาว 15-100 เซนติเมตร
ทั้งนี้มันสำปะหลัง ที่นิยมปลูกกันในประเทศไทยมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ ชนิดขม (bitter varieties) ชนิดนี้ใช้ทำแป้งมันและอาหารสัตว์ โดยจะมีก้านใบสีเขียวปนชมพู เปลือกหัวสีนวลชนิดนี้จะมีกรดไฮโดรไซยานิกอยู่สูง และชนิดหวาน (sweet varieties) ชนิดนี้ใช้ทำเป็นอาหารรับประทาน โดยจะมีก้านใบสีแดง เปลือกหัวสีแดงหม่น ชนิดนี้จะมีกรดไฮโดรไซยานิกน้อยกว่าชนิดแรก
การขยายพันธุ์มันสำปะหลัง
มันสำปะหลัง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยใช้ท่อนพันธุ์ กล่าวคือ ใช้ส่วนของลำต้นที่มีอายุตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป นำมาตัดเป็นท่อนให้มีขนาดยาว 20-30 เซนติเมตร (ควรมีตาประมาณ 7-10) แล้วปักลงในดิน ส่วนวิธีการปลูกนั้นเริ่มจาก การเตรียมดิน โดยควรไถพรวนหน้าดินให้ลึก 20-30 เซนติเมตร การไถควรทำ 1-2 ครั้ง ด้วยผาน 3-4 สลับกับผาน 7 เพื่อพลิกดินชั้นล่างกลับขึ้นมา นำเอาธาตุอาหารที่ถูกชะล้างลงไปในดินชั้นล่างกลับขึ้นมาอยู่ในดินชั้นบน จากนั้นทำการคัดเลือกท่อนพันธุ์ โดยท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่ใช้ปลูกควรได้จากต้นที่มีอายุตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป และไม่ควรเกิน 18 เดือน ลักษณะของท่อนพันธุ์ใหม่สด ไม่บอบช่ำ ปราศจากโรคแมลง ตัดต้นพันธุ์ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร โดยท่อนพันธุ์จะต้องมีตาอย่างน้อย 5-7 ตาต่อท่อนพันธุ์
จากนั้นจึงทำการปลูกมันสำปะหลัง แบบปักลงในดิน ซึ่งสามารถปลูกแบบยกร่อง หรือ ไม่ยกร่องก็ได้ โดยปักท่อนพันธุ์ให้ตั้งตรง ลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร หากปลูกในฤดูแล้งให้ปักลึก 15 เซนติเมตร โดยควรเว้นระยะปลูกของระยะแถวประมาณ 70-100 เซนติเมตร และของระยะหลุมประมาณ 50-100 เซนติเมตร แต่ส่วนใหญ่มักจะเว้นระยะปลูกประมาณ 80x100 เซนติเมตร หรือ 100x100 เซนติเมตร
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของส่วนหัว และสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของมันสำปะหลัง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้
สาระสำคัญที่พบในส่วนหัว เช่น querecetin, linamarin, linustatin, yucalexin, amento flavone, prussic acid, cyanogenic glycoside และ lotaustralin ส่วนสารสกัดจากใบพบสาร dipsgenin, resveratrol, actadecanoic acid, pentadexanoic acid และ squalene เป็นต้น ส่วนสารสกัดจากลำต้นพบสาร Scopoletin, coniferaldehyde, 6-deoxyja careubin, ficusol และ piroresirol เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมันสำปะหลัง
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของส่วนหัวรวมถึงสารสกัดมันสำปะหลัง จากส่วนต่างๆ ของมันสำปะหลัง ระบุว่ามีการศึกษาทดลองในกระต่ายและหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้มีไขมันในเลือดสูง ด้วยการให้หัวมันสำปะหลังเป็นอาหาร ผลการทดลองพบว่าหนูทดลองมีระดับไขมันในเลือดลดลง และยังมีการศึกษาทดลองผลในการลดไขมันของใบมันสำปะหลัง จากการทดลองพบว่าสาร Polyphenol และสาร Saponins เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และลดไขมันจำพวกไตรีกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอล และไขมันอื่นๆ จึงได้ทำการศึกษาทดลองกับหนูวิสตร้าเพศผู้เป็นระยะเวลา 7 สัปดาห์ ด้วยการนำใบมันสำปะหลัง มาอบแห้งที่ 30-35 ≥ แล้วจึงนำไปผสมในอาหารให้หนูทดลองกินในขนาด 5%, 10%, 15% ซึ่งผลการทดลองพบว่าในขนาด 10% และ 15% สามารถช่วยลดไขมันในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อีกทั้งยังมีการนำหัวมันสำปะหลังมาสกัดด้วยเอทานอล 99.5% นำมาทดสอบกับเซลล์มะเร็งเต้านม (MCF-7 เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (HT-29) และเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (HL-60) พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (HL-60) ลดลงถึง 10 เท่า
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมันสำปะหลัง
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของส่วนหัวของมันสำปะหลัง ระบุว่า ส่วนหัว (ดิบ) มีสาร Cyanogenic glycoside ซึ่งมีความเป็นพิษต่อระบบไหลเวียนของเลือด
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการรับประทานหัวมันสำปะหลัง ควรทำให้สุกก่อนรับประทาน เนื่องจากหัวดิบมีความเป็นพิษ ซึ่งหากรับประทานหัวดิบเข้าไปทำให้เกิดอาการพิษดังนี้ เริ่มจากมีอาการอาเจียน หายใจลำบาก กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย กระตุกมึนงง ไม่รู้สึกตัว ชักก่อนจะหมดสติ มีอาการขาดออกซิเจน ตัวเขียว หากได้รับมากอาจทำให้เกิดอาการโคม่าภายใน 10-15 นาที
เอกสารอ้างอิง มันสำปะหลัง
- เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “มันสำปะหลัง” หนังสือสมุนไพร ลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. หน้า 154.
- คณาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. (2547). พืชเศรษฐกิจ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
- ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้ามาตรฐาน และมาตรฐานสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2545. (2545). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 119 ตอนพิเศษ 21ง, น.1-3.
- มันสำปะหลัง. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- เครือวัลย์ หุตานุวัตร. การเป็นพิษของมันสำปะหลัง. วารสารศูนย์แพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยของแก่น 2521:4:127-138.
- มานพ เหลืองนฤมิตชัย. การป้องกันและรักษาผู้ป่วยที่เป็นพิษจากการรับประทานมันสำปะหลังดิบ. วารสารแพทย์เขต 7 ปีที่ 12 ฉบับที่ 1. มกราคม-มีนาคม 2536. หน้า 37-40
- มานพ เหลืองนฤมิตชัย. การเป็นพิษจากการรับประทานมันสำปะหลังในเด็ก. วารสารกรมการแพทย์ 1991:16:142-144.
- Ajayi E, Ogungbuji E, Ganiyu N. ศักยภาพในการระงับปวดของสารสกัดสมุนไพรแอฟริกันดั้งเดิมบางชนิดในหนูทดลองที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยอาหารไขมันสูง Ife Journal of Science. 2015;17(2):511‐517.
- Miladiyah I. ฤทธิ์ลดอาการปวดของสารสกัดเอธานอลจากใบ Manihot esculenta Crantz ในหนู Universa Medicina. 2011;30(1):3‐10.
- Bahekar SE, Kale RS. การประเมินฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของ Manihot esculenta Crantz ในหนูวิสตาร์ J Pharm Bioallied Sci. 2016;8(2):119.
- Bahekar SE, Kale RS. ฤทธิ์ต้านอาการท้องร่วงของสารสกัดเอธานอลจากใบ Manihot esculenta Crantz ในหนูวิสตาร์ J Ayurveda Integr Med. 2015;6(1):35