กำจาย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กำจาย งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กำจาย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ขี้คาก, กระจาย, หนามจาย (ภาคเหนือ), ขี้แรด (ภาคกลาง), หนามแดง, หนามหัน (ภาคตะวันออก), ฮาย, งาย (ภาคใต้), ตาฉู่แม, สื่อกีพอ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia digyna Rottl.
ชื่อสามัญ Teri pods
วงศ์ LEGUMINOSAE – CAESALPINIOIDEAE

ถิ่นกำเนิดกำจาย

กำจาย จัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียโดยมีเขตการกระจายพันธุ์เป็นบริเวณกว้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา เนปาล รวมถึงในจีนตอนใต้ สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณป่าเบญจพรรณ และตามชายป่า หรือ ตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป

ประโยชน์และสรรพคุณกำจาย

  • ใช้แก้ไข้ ตัวร้อน
  • ขับประจำเดือนในสตรี
  • แก้กามโรค
  • ใช้เป็นยาฝาดสมาน
  • ใช้สมานแผล
  • ช่วยห้ามเลือด 
  • ช่วยดับพิษฝี ถอนพิษฝี
  • ช่วยถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
  • รักษาแผล สด แผลเรื้อรัง แผลเปื่อย
  • ใช้แก้ท้องร่วง
  • ช่วยให้ไม่ทำให้แผลเป็นรอยแผลเป็น

         ดังที่กล่าวมาแล้วว่าต้นกำจาย ไม่นิยมนำมาปลูกไว้ในบ้านเรือน เนื่องจากมีหนามที่แหลมคม ดังนั้นการใช้ประโยชน์ของกำจายจะเป็นการเก็บมาใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ จึงทำให้การใช้ประโยชน์จากำจายค่อนข้างจะน้อย โดยส่วนมากแล้วจะเก็บมาใช้เป็นยาสมุนไพร แต่ก็มีบางส่วนที่นำน้ำฝาดที่ได้จากผล หรือ ฝักสามารถมาใช้ในการย้อมผ้า แห และอวน


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ไข้ ตัวร้อน ถอนพิษไข้ ขับประจำเดือนในสตรี ใช้เป็นยาฝาดสมาน โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้กามโรค โดยนำรากกำจายสด และรากมะขามป้อม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ดับพิษฝี ถอนพิษฝี ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย รักษาแผลสดแผลเรื้อรัง และแผลเปื่อย โดยนำรากมาตำให้ละเอียด พอกบริเวณที่เป็น ใช้แก้ท้องร่วงใช้เป็นยาฝาดสมาน โดยนำผล หรือ ฝักมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ห้ามเลือด สมานแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว และไม่ทิ้งรอยแผลเป็น โดยนำฝัก หรือ ผลกำจาย มาห่อผ้าขาวบางแล้วตำคั้นเอาน้ำไปชะล้างบาดแผล

ลักษณะทั่วไปของกำจาย

กำจาย จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย มีความสูงของต้นได้ 2.5-10 เมตร ลำต้นมีสีขาวนวลถึงน้ำตาลต้นอ่อนผิวเรียบแต่ลำต้นแก่และก้านใบมีหนามแหลมแข็งโค้งคล้ายหนามกุหลาบ และบริเวรกิ่งอ่อนมีขนสั้นขึ้นปกคลุมทั่วไป ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกแบบเรียงสลับ มีก้านใบยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยมีประมาณ 8-12 คู่ ออกเรียงตรงข้ามกัน มีขนาดกว้าง 3-4 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน โคนใบเบี้ยว ปลายใบมน แผ่นใบเป็นสีเขียวสด ใบอ่อนมีขนนุ่ม เมื่อใบแก่ขนจะร่วงหมด หูใบเรียวแคบ ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ร่วงได้ง่ายก้านใบย่อยมีขนาดสั้นมาก ดอก ออกแบบช่อกระจะ  ซึ่งจะออกบริเวณง่ามใบและปลายกิ่งช่อดอก ยาว 15-20 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน โดยกลีบนอกจะใหญ่กว่ากลีบอื่น โคนติดกันเป็นรูปถ้วยตื้นๆ และมีกลีบดอก 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน สีเหลือง ค่อนข้างกลม ปลายหยักเว้า มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของดอก 5-7 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 10 อัน ส่วนก้านชูอับเรณูมีขนเป็นปุย รังไข่เกลี้ยง หรือ มีขนประปราย มีออวุล 3-4 เม็ด ก้านดอกยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ผล ออกเป็นฝักลักษณะแบน  กว้าง 1.5-2 เซนติเมตร และยาว 3.5-5 เซนติเมตร  เป็นรูปรีแกมขอบขนาน ตรงกลางป่องเล็กน้อย ปลายเป็นจะงอย แหลมมีขอบเป็นสัน ฝักดิบเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ แต่จะไม่แตกอ้า ด้านในฝักมีเมล็ดมีประมาณ 2-3 เมล็ด มีลักษณะค่อนข้างกลมสีน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 9 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 12 มิลลิเมตร

กำจาย

กำจาย

การขยายพันธุ์กำจาย

กำจายสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าถูกนำมาขยายพันธุ์โดยมนุษย์ เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ที่มีหนาแหลมคม ไม่เหมาะที่จะนำมาปลูกไว้ในบ้านเรือน จึงไม่เป็นที่นิยม สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกกำจาย นั้นก็สามารถทำได้ เช่นเดียวกันกับไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดกำจาย จากส่วนราก พบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น bergenin, caesalpinine A, cesalpinine C, intricatinol, isointricatinol, E-8-methoxybonducelline, Bonducellin, isobonducellin, Z-8 methoxybonducelline, e‐eucomine และ z‐eucomine เป็นต้น

โครงสร้างกำจาย

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกำจาย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากรากของกำจายระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ อาทิเช่น

           ฤทธิ์รักษาเบาหวานชนิดที่ 2 มีการทดสอบฤทธิ์ต้านเบาหวานชนิดที่ 2 ในหนูแรทเพศผู้ของสารเบอร์จีนินซึ่งเป็นสกัดจากรากกำจาย ในขนาด 2.5, 5 และ 10 มก./กก. โดยเมื่อป้อนให้หนูปกติและหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin กิน นาน 14 วัน พบว่าสารเบอร์จีนินขนาด 10 มก./กก. สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด (oral glucose tolerance test) ของหนูปกติในนาทีที่ 30 และนาทีที่ 60 และลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (fasting blood glucose) ของหนูที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานได้ในวันที่ 14 ของการศึกษาเท่านั้น และสารสกัดเบอร์จีนินทุกขนาดสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลรวมถึง คอเลสเตอรอลชนิด LDL และยังช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิด HDL แต่ไม่มีผลต่อระดับกลัยโคเจนในตับ นอกจากนี้ยังลดการออกซิไดซ์ของไขมัน และเพิ่มระดับเอนไซม์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ superoxide dismutase (SOD) และ catalase (CAT) ในตับด้วย จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารเบอร์จีนินในรากกำจายมีฤทธิ์ต้านเบาหวาน ลดไขมันในเลือด และต้านอนุมูลอิสระ ในหนูแรทที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2ได้

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมีการศึกษาและ ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากรากของกำจาย โดยใช้แบบจำลองมาตรฐาน ในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดเมทาอนลของรากของกำจาย Caesalpinia digyna (CDM) มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ และการยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของไขมัน เมื่อป้อนสารสกัดให้หนูทดลองทางปากที่ 100, 200 และ 400 มก./กก. ของน้ำหนักตัว เป็นเวลา 7 วัน

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอื่นระบุว่าสารสกัดจากรากของกำจายยังมีฤทธิ์ ลดไข้ ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อจุลชีพ อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกำจาย

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้กำจายเป็นสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทานเนื่องจากกำจายมีสรรพคุณในการขับประจำเดือนในสตรี ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ สำหรับคนที่มีสุขภาพปกติ ก็ควรระมัดระวังการใช้กำจาย เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง กำจาย
  1. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “กำจาย (Kamchai)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 48.
  2. สารเบอร์จีนีน (bergenine) ในรากกำจายมีฤทธิ์รักษาเบาหวานชนิดที่ 2. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3.  ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
  4. Somendu K. Roy, Amit. Srivastava, M Jachak. Sanjay, Analysis of homoisoflavonoids in Caesalpinia digyna by HPLC-ESI-MS, HPLC and method validation. Natural Product Commun. 7 (9) (2012) 
  5. Smitinand, T. and Larsen, K., eds. 1984. Flora of Thailand (Vol.4: 1). Bangkok: TISTR Press.
  6. Kumar Rajesh, Patel Dinesh K, Prasad Satyendra K, Laloo Damiki, Krishnamurthy Sairam, Hemalatha S. Type 2 antidiabetic activity of bergenin from the roots of Caesalpinia digyna Rottler. Fitoterapia. 2012;83(2):395–401.
  7. Emon Nazim Uddin, Jahan Israt, Sayeed Mohammed Aktar. Investigation of antinociceptive, anti-inflammatory and thrombolytic activity of Caesalpinia digyna (Rottl.) leaves by experimental and computational approaches. Adv. Traditional Med. 2020:1–9. 
  8. Mahato Shashi B, Sahu Niranjan P, Müller Eveline, Luger Peter. Stereochemistry of a macrocyclic spermidine alkaloid from Caesalpinia digyna Rottl. X-Ray determination of the structure of caesalpinine C (celallocinnine) Journal of the Chemical Society, Perkin Transactions. 1985;2(2):193–196.