คาโมมายล์ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

คาโมมายล์ งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ

ชื่อสมุนไพร คามามายล์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เยอรมันคา โมมายล์, โรมันคาโมมายล์ (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Matricaria chamomillaL. (เยอรมันคาโมมายล์) Chamaemelum nobile L. (โรมันคาโมมายล์)
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Chamomilla recutita L., Matricaria recutita L.
ชื่อสามัญ Chamomile, Garden Chamomile, Roman Chamomile, Camomile
วงศ์ Asteraceae

ถิ่นกำเนิดคาโมมายล์

มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในยุโรปตะวันตก โดยคาดว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมของคาโมมายล์น่าจะเป็นโรมันคาโมไมล์ และดอกคาโมมายล์ก็ใช้เป็นสมุนไพรมานานนับพันปี ตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ กรีก และโรมัน โดยเป็นสมุนไพรที่นิยมมากในทวีปยุโรป ซึ่งชาวยุโรปจะรู้จักคาโมไมล์กันดีในชื่อ Capable of anything หรือ ยาครอบจักรวาล แล้วจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังทวีปต่างๆ ในเวลาต่อมา ปัจจุบันมีการปลูกคาโมมายล์ กันมากในทวีปยุโรป โดยมีการปลูกในประเทศเยอรมัน, รัสเซีย และฝรั่งเศส เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยพบปลูกแถวเชียงใหม่ และเชียงราย ในที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1400–1600 เมตร ทั้งนี้ในปัจจุบันสายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมนำมาใช้ และรู้จักกันเป็นอย่างดี คือ สายพันธุ์เยอรมันคาร์โมมายล์

ประโยชน์และสรรพคุณคาโมมายล์

  1. กลิ่นช่วยทำให้จิตใจสงบ คลายเครียดคลายกังกล
  2. ช่วยให้หลับ
  3. ช่วยให้เจริญอาหาร
  4. ลดอาการระคายเคืองทางเดินอาหาร
  5. ช่วยขับลม
  6. ช่วยลดอาการปวดเกร็งท้อง
  7. ช่วยลดการปวดประจำเดือน
  8. แก้ภูมิแพ้
  9. ช่วยต้านการอักเสบในช่องปาก คอ ผิวหนัง
  10. ช่วยสมานแผล
  11. ช่วยบำบัดทางกาย
  12. แก้ปวดลดไข้
  13. แก้พิษร้อน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับรูปแบบการใช้คาโมมายล์ นั้นจะแตกต่างกันไปตามประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ด้านอุตสาหกรรม เครื่องสำอาง ยา หรือ น้ำหอม จะใช้น้ำมันหอมระเหยไปเป็นส่วนประกอบ หรือ ส่วนผสม ส่วนในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม อาจจะใช้ทั้งสารสกัด น้ำมันหอมระเหย หรือ ในรูปแบบดอกอบแห้งมาเป็นส่วนประกอบก็ได้ แต่สำหรับการใช้ประโยชน์จากดอกคาโมมายล์ ที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี คือ การทำชาคาโมมายล์ โดยจะใช้ดอกที่ผ่านการอบแห้งแล้วมาใช้ชงเป็นชาดื่มเพื่อสุขภาพ หรือใ ช้บำบัดรักษาอาการเครียดคลายกังวลทำให้จิตใจสงบ ช่วยในการหลับ ขับลม ลดอาการปวดเกร็งท้อง ปวดประจำเดือน เป็นต้น


ลักษณะทั่วไปของคาโมมายล์

คาโมมายล์จัดเป็นไม้ล้มลุกใบเลี้ยงคู่ มีอายุปีเดียว ลำต้นกลมหักง่ายมีสีเขียว สูงได้ 20-30 ซม. ใบเป็นแบบขนนกสองชั้น เวียนสลับ แตกย่อยเป็นริ้วๆ คล้ายผักชี ก้านใบอ่อนลู่ลงดิน ก้านดอกแข็งแรงยาว 15-20 ซม.ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวบริเวณปลายกิ่ง แต่เมื่อยู่รวมกันมากจะมองดูคล้ายออกเป็นช่อ กลีบดอกรูปขอบขนาน สีขาว เวียนรอบตุ้มเกสรสีเหลืองขนาดใหญ่ มีกลิ่นหอม เมล็ดคล้ายเมล็ดข้าวเปลือกแต่ขนาดเล็กมาก

คาโมมายล์

การขยายพันธุ์คาโมมายล์

คาโมมายล์สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยต้องหว่านในกระบะเพาะเฉพาะ และให้น้ำด้วยการใช้ฟ๊อกกี้พ่นพอเมล็ดเติบโตเป็นต้นกล้า จึงย้ายต้นกล้าไปลงถุงขนาดเล็กแล้วดูแลต่อจนต้นกล้าตั้งตัวได้จึงนำไปปลูกในแปลงต่อไป สำหรับสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมใการปลูกคาโมมายล์ นั้นดินควรเป็นดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดีแล้วต้องปลูกในเขตอากาศหนาวเย็นที่มีอุณหภูมิ 9-14 องศาเซลเซียส และมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 900-1,600 เมตร

องค์ประกอบทางเคมี  

มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของดอกคาโมมายล์พบว่าดอกคาโมมายล์ ประกอบด้วยสารหลายกลุ่ม เช่น สารกลุ่ม flavonoids ได้แก่ apigenin, quercetin, patuletin, luteolin และ flavonoid glucosides กลุ่ม coumarins ได้แก่ herniarin และ umbelliferone ในน้ำมันหอมระเหยพบสาร (-)-alpha-bisabolol มากกว่า 50%, chamazulene 1-15%, (-)-alpha-bisabolol oxides A และ B, cis- และ trans-en-yn-dicycloethers นอกจากนี้ยังพบสารอื่นๆ ได้แก่  phenolic acidsvaleremic acid, salicylate, cyanogenic glycoside และ GABA (gamma aminobutyric acid) อีกด้วย

โครงสร้างคาโมมายล์ 

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของคาโมมายล์

ฤทธิ์ต่อระบบประสาท คลายกังวล ฤทธิ์ทำให้สงบ ทำให้หลับ มีผลการศึกษาวิจัยพบว่า สารสกัดดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์คลายวิตกกังวล ทำให้สงบอ่อนๆ และทำให้นอนหลับดีขึ้นโดยพบว่าสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ คือ apigenin ออกฤทธิ์โดยการจับกับ benzodiazepine receptors นอกจากนี้ในสารสกัดยับพบสาร GABA ปริมาณเล็กน้อย ซึ่ง GABA เป็นสารสื่อกระแสประสาท (neurotransmitter) ทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมอง ช่วยเกิดการผ่อนคลาย ส่วนการสูดดมน้ำมันจากดอกคาโมมายล์มีผลลดความเครียดในหนูที่ถูกตัดรังไข่ โดยลดระดับของฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคโทรฟิค (adrenocorticotrophic hormone : ACTH) นอกจากนี้การสูดดมน้ำมันจากดอกคาโมมายล์ร่วมกับการได้รับยาไดอะซีแพม (diazepam) จะช่วยลดระดับ ACTH โดยผลนี้ถูกยับยั้งโดยยาฟลูมาซีนิล (Flumazenil) ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม GABA receptor antagonist ดังนั้นน้ำมันจากดอกคาโมมายล์น่าจะออกฤทธิ์เป็น benzodiazepam agonist และมีผลต่อระบบ GABA ergic ในสมองได้

           นอกจากนี้ยังมีการทดลองทางคลินิกในประเทศญี่ปุ่นพบว่า การรับประทานเจลลี่คาโมมายล์มีผลลดอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้อารมณ์ดี การศึกษาในผู้ป่วยที่มีอาการวิตกกังวลระดับปานกลาง และประเมินด้วยแบบวัดภาวะวิตกกังวล Hamilton Anxiety Rating Scale (HAM-A) พบว่าการรับประทานสารสกัดดอกคาโมมายล์ ติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ช่วยลดอาการวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญ

           และยังมีการศึกษาฤทธิ์คลายความวิตกกังวลของคาโมมายล์ ในผู้ป่วยโรควิตกกังวลทั่วไประดับปานกลาง และมาก (moderate to severe generalized anxiety disorder) โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ช่วง คือ การศึกษาระยะสั้น เป็นการศึกษาแบบเปิด (open label) ในผู้ป่วยจำนวน 104 คน โดยให้รับประทานแคปซูลสารสกัดเอทานอลจากดอกคาโมมายล์ ขนาด 500 มก. วันละ 3 แคปซูล (ใน 1 แคปซูลเทียบเท่ากับดอกคาโมมายล์แห้ง 2 ก. มีสารสำคัญ apigenin-7-glycosides ประมาณ 6 มก.) ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ จากนั้นประเมินค่าความวิตกกังวลโดยให้อาสาสมัครตอบแบบสอบถาม GAD-7 symptom rating ผลการศึกษาพบว่าอาสาสมัครมีอาการวิตกกังวลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อประเมินผลลัพธ์รองด้วยแบบสอบถาม Hamilton Rating Scale for Anxiety, the Beck Anxiety Inventory และ Psychological General Well Being Index ต่างพบว่าความวิตกกังวลในอาสาสมัครลดลง และอาสามัครมีสุขภาวะทางจิตใจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนรับประทาน และในลำดับถัดมา ทำการศึกษาต่อเนื่องระยะยาว แบบสุ่มและปกปิดทั้งสองฝ่าย (double blind, randomized controlled trial) ในอาสาสมัคร 179 คน โดยให้รับประทานแคปซูลสารสกัดจากคาโมมายล์ วันละ 3 แคปซูล (รวม 1,500 มก./วัน) ติดต่อกัน 12 สัปดาห์ จากนั้นคัดเลือกเฉพาะอาสาสมัครที่มีค่า GAD-7 ลดลงอย่างน้อย 50% และมีค่า Clinical Global Impression-severity score เท่ากับ 3 หรือ ต่ำกว่า จำนวน 93 คน สุ่มให้รับประทานแคปซูลสารสกัดคาโมมายล์ หรือ ยาหลอก ต่อเนื่องอีก 26 สัปดาห์ พบว่าจำนวนอาสาสมัครกลุ่มได้รับยาหลอกมีอาการกำเริบคิดเป็น 25.5% ในช่วงระยะเวลา 6.3±3.9 สัปดาห์ ขณะที่อาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับคาโมมายล์มีอาการกำเริบเพียง 15.2% ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอก และในระยะเวลานานกว่ากลุ่มยาหลอก คือ 11.4±8.4 สัปดาห์ จากการติดตามผลหลังการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากคาโมมายล์มีอาการวิตกกังวลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงมีน้ำหนักตัว และความดันโลหิตลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก จากการศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการรับประทานสารสกัดจากคาโมมายล์ทั้งการใช้ในระยะสั้น และระยะยาว (8-38 สัปดาห์) มีความปลอดภัยและสามารถบรรเทาอาการวิตกกังวลทั่วไปได้เช่นเดียวกับการใช้ยาคลายความกังวล

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดดอกคาโมมายล์ด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ น้ำมันหอมระเหย และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ และเทอร์พีนอยด์ที่เป็นองค์ประกอบในสารสกัด และน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านการอักเสบทั้งในหลอกทดลอง และสัตว์ทดลอง โดยพบว่า สารสกัดดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูที่ถูกทำให้อักเสบที่หูจากน้ำมันละหุ่ง โดยพบว่าสารสกัดจากดอกสดให้ผลยับยั้งได้ดีกว่าดอกแห้ง โดยสามารถยับยั้งการหลั่ง prostaglandin E2 จาก lipopolysaccharide-activated macrophages ในหลอดทดลอง ยับยั้งเอ็นไซม์ 5-lipoxygenase และ cyclooxygenase 2 (COX-2) โดยสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ คือ (-)-alpha-bisabolol และ apigenin นอกจากนี้ยังพบว่าสาร apigenin ที่ยังมีฤทธิ์ยับยั้ง nitric oxide synthase (NOS) ใน LPS-activated macrophages และยับยั้งการสร้าง interleukin-6 และ tumour necrosis factor-alpha เมื่อให้ทางปากใน หนู mice ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย LPS ส่วนการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ผิวหนังในอาสาสมัคร พบว่าครีม และขี้ผึ้งคาโมมายล์ใช้ภายนอก มีต้านการอักเสบได้ดีเมื่อเทียบกับยาขี้ผึ้ง hydrocortisone

           ฤทธิ์ป้องกันอาการท้องเสีย มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ป้องกันการเกิดท้องเสียของยาต้มจากดอกคาโมมายล์ ในหนูแรทที่ถูกกระตุ้นให้มีอาการท้องเสียด้วยการป้อนน้ำมันละหุ่ง พบว่าเมื่อป้อนยาต้มจากดอกคาโมมายล์ ขนาด 25, 50 และ 100 มก./กก.น้ำหนักตัว ที่เวลา 60 นาที ก่อนการป้อนน้ำมันละหุ่ง ช่วยป้องกันการเกิดอาการท้องเสีย และลดการสะสมของของเหลวในลำไส้ (intestinal fluid accumulation) รวมทั้งช่วยลดการเกิด oxidative stress ซึ่งมีสาเหตุมาจากอาการท้องเสีย โดยคาโมมายล์ช่วยลดระดับ malondialdyhyde รวมทั้งป้องกันการสูญเสียเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ superoxide dismutase, catalase และ glutathione peroxidase นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณ hydrogen peroxide และ free iron ในเยื่อบุกระเพาะและลำไส้ ซึ่งเกิดจากอาการท้องเสียได้

           ฤทธิ์ควบคุมดัชนีน้ำตาล และต้านอนุมูลอิสระในผู้ป่วยเบาหวาน มีการศึกษาวิจัยแบบ single-blind randomized controlled clinical trail ต่อฤทธิ์ของคาโมมายล์ ในการควบคุมดัชนีน้ำตาล (glycemic index) และต้านอนุมูลอิสระในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 64 คน โดยแบ่งผู้ป่วยเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้ดื่มชาคาโมมายล์ (ชาซอง บรรจุ 3 ก. ชงในน้ำร้อน 150 มล. นาน 10 นาที) ดื่มวันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที ติดต่อกัน 18 สัปดาห์ เทียบกับกลุ่มที่สองที่รับประทานน้ำอุ่นในขนาดเดียวกัน เมื่อสิ้นสุดการทดลองพบว่าผู้ป่วยที่ดื่มชาคาโมมายล์มีความเข้มข้นของค่าน้ำตาลสะสม (glycosylated hemoglobin) ระดับอินซูลิน และภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) และระดับ malondialdehyde ในเลือดลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าค่าการต้านอนูมูลอิสระในกลุ่มที่รับประทานชาโมมายล์เพิ่มขึ้น 6.81% โดยมีผลเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ superoxide dismutase, glutathione peroxidase และ catalase ขึ้น 26.16%, 39.71% และ 45.06% ตามลำดับ

           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ มีการศึกษาวิจัยพบว่าน้ำมัน และสารจากดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัสก่อโรคหลายชนิด โดยพบว่าสาร (-)-alpha-bisabolol และน้ำมันคาโมมมายด์มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus, Bacillus subtilis เชื้อรา Candida albicans และน้ำมันยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริม (herpes simplex virus) นอกจากนี้สารสกัดคาโมมายล์ยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคหลายชนิดได้แก่ Staphylococcus aureus, Staphylococcus mutans, Staphylococcus salivarious, Bacillus megatherium, Leptospira icterohaemorrhagiae และ Campylobacter jejuni

           ฤทธิ์ต้านการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ และรักษาแผลในทางเดินอาหาร มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัด และน้ำมันหอมระเหยจากดอกคาโมมายล์ สารที่เป็นองค์ประกอบมีฤทธิ์ต้านการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ของสัตว์ทดลองที่เหนี่ยวนำให้เกิดการหดเกร็งด้วยสาร acetylcholine และ histamine แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า papaverine ส่วนสารสกัดดอกคาโมมายล์ด้วยเอทานอลในน้ำ และสาร (-)-alpha-bisabolol สามารถยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารสัตว์ทดลองที่เหนี่ยวนำด้วย indromethacin ความเครียด และแอลกอฮอล์ โดยสามารถลดความเป็นกรด และเพิ่มปริมาณมิวซินในกระเพาะอาหาร

การศึกษาทางพิษวิทยาของคาโมมายล์

ผลการศึกษาวิจัยความเป็นพิษในการใช้สารสกัดดอกคาโมมายล์ในสัตว์ทดลองพบว่า ไม่พบความเป็นพิษทั้งในการศึกษาพิษแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยในน้ำมันจากดอกคาโมมายล์ พบว่า มีค่า LD50  มากกว่า 5 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ของสัตว์ทดลอง

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ควรระมัดระวังการใช้ดอกคาโมมายล์ในผู้ที่แพ้ดอกคาโมมายล์ รวมถึงผู้ที่แพ้พืชในตระกูลเดียวกัน เช่น ดาวเรือง, ดาวกระจาย และเก๊กฮวย เป็นต้น
  2. ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานคาโมมายล์พร้อมกับการใช้ยา warfarin หรือ ยา cyclosporine เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อกัน และเกิดผลข้างเคียงตามมาได้
  3. ถึงแม้ว่าการศึกษาทางพิษวิทยาจะมีผลการศึกษาว่าดอกคาโมมายล์มีความเป็นพิษต่ำมากแต่ในการใช้เพื่อเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดี และไม่ควรใช้ต่ดเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้คาโมมายล์ เป็นสมุนไพรบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง คาโมมายล์
  1. ผศ.ดร.ภญ.ณัฎฐินี อนัณตโชค.ดอกคาโมมายล์. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. ฤทธิ์คลายความกังวลของคาโมมายล์.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. ชาคาโมมายล์ ช่วยควบคุมดัชนีน้ำตาล และต้านอนุมูลอิสระในผู้ป่วยเบาหวาน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. คาโมมายล์สมุนไพรที่ช่วยให้ผ่อนคลายและบำรุงสุขภาพ.พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  5. คาโมมายล์ช่วยป้องกันอาการท้องเสีย. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. McKay DL, Blumberg JB. A Review of the Bioactivity and Potential Health Benefits of Chamomile Tea (Matricaria recutita L.). Phytother. Res. 2006; 20:519–530.
  7. Barnes J, Anderson LA, Phillipson JD. Herbal Medicines. 3rd Ed. London: The Pharmaceutical Press, 2007.
  8. Bone K, Mills S. Principles and Practice of Phytotherapy : Modern Herbal Medicine. 2nd Ed. Edinburgh: Churchill Livingstone Elsevier, 2013.
  9. McKenna DJ, Jones K, Hughes K. Botanical Medicines: The Desk Reference for Major Herbal Supplements. 2nd Ed. NY: The Haworth Herbal Press, 2002.