กระโดน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระโดน งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ


ชื่อสมุนไพร กระโดน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักฮาด, ปุยขาว, พุย, ปุย (ภาคเหนือ), ต้นจิก, กระโดนบก, กระโดนโคก (ภาคกลาง), ปุยกระโดน (ภาคใต้), หูกวาง (ภาคตะวันตก), ขุย, แซงจิแหน่ (กะเหรี่ยง), กะนอน (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Careya shaerca Roxb.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Careya arborea Roxb.
ชื่อสามัญ Patana oak, Tummy wood
วงศ์ LECYTHIDACEAE


ถิ่นกำเนิดกระโดน

กระโดน เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย บริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่น ในอินเดีย ศรีลังกา อัฟกานิสถาน ปากีสถาน เนปาล พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณป่าแดง ป่าเบญจพรรณ และป่าบริเวณชายทุ่งทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณกระโดน

  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้อักเสบจากงูกัด
  • แก้พิษงู
  • ใช้สมานแผล
  • แก้เคล็ดเมื่อย
  • รักษาแผลสด
  • ช่วยบำรุงร่างกาย
  • ช่วยแก้โรคกระเพาะอาหาร
  • รักษาริดสีดวง
  • แก้น้ำกัดเท้า
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • ช่วยบำรุงร่างกายสตรีหลังคลอดบุตร
  • แก้หวัด
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ใช้ปิดแผลมีพิษ
  • ใช้ปิดหัวฝี

         มีการนำใบอ่อนยอดอ่อน และดอกอ่อนของกระโดน ซึ่งมีรสฝาดอมมัน มาใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก แจ่ว ลาบ ก้อย ส้มตำ ส่วนเปลือกต้นมีการนำมาทำสีย้อมผ้า โดยจะให้สีน้ำตาลแดง แต่หากต้มรวมกับฝ้ายใช้ย้อมผ้า จะให้สีเหลืองอ่อน เส้นใยจากเปลือกต้นมีการนำมาทำกระดาษสีน้ำตาล เมล็ด และราก ใช้เป็นยาเบื่อปลา ในส่วนของเนื้อไม้มีสีแดงแก่ หรือ น้ำตาลแกมแดงค่อนข้างแข็ง เสี้ยนค่อนข้างตรง และหนัก สามารถใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ รวมถึงสามารถใช้เป็นหมอนรองรางรถไฟได้

กระโดน

กระโดน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ปวดท้อง ท้องเสีย สมานแผลภายใน น้ำกัดเท้า โดยใช้เปลือกต้นกระโดน มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้โรคกระเพาะอาหาร ใช้ในการย่อยอาหาร บำรุงหลังคลอด โดยนำผลมาตากให้แห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงร่างกายหลังคลอดบุตรของสตรี แก้หวัดแก้ไอทำให้ชุ่มคอโดยใช้ดอก และน้ำจากเปลือกสดผสมน้ำผึ้งกิน ใช้เป็นยาสำหรับสตรีที่อยู่ไฟ โดยนำแก่นต้มกับน้ำดื่ม ใช้สำหรับปิดแผลมีพิษ และปิดหัวฝีโดยใช้ต้นผสมกับยาน่อง และดินประสิว นำมาเคี่ยวให้งวดแล้วตากแห้งแล้วนำมาปิดบริเวณแผล ใบ ใช้รักษาแผลสด โดยนำใบมานึ่งให้สุกแล้วใช้ปิดแผล

 

ลักษณะทั่วไปของกระโดน

กระโดน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แน่นทึบ สูง 10-20 เมตร (แต่โดยมากจะพบลำต้นสูงประมาณ 4-6 เมตร) เปลือกต้นหนาสีดำ หรือ สีน้ำตาลดำหนา แตกล่อนเป็นแผ่น มีกิ่งก้านสาขามาก เนื้อไม้มีสีแดงเข้มจนถึงสีน้ำตาลแดง

           ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับถี่ๆ เป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่ง ใบ เป็นรูปไข่กลับ กว้าง 10-25 ซม. ยาว 20-35 ซม. โคนใบเรียวยาวสอบเรียว ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้นๆ ขอบใบหยักเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างบางแต่มีความเหนียวผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 10-15 เส้น

           ดอก ออกเป็นช่อกระจะสั้นๆ บริเวณปลายกิ่งที่ไม่มีใบ โดยในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 2-6 ดอก ซึ่งกลีบดอกจะมี 4 กลีบ ยาวประมาณ 1-5 นิ้ว ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปขอบขนาน โคนกลีบเป็นสีชมพูส่วนปลายกลีบ และขอบกลีบมีสีเขียวอ่อน บริเวณโคนดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ดอกมีเกสรเพศผู้สีขาวจำนวนมากยาวประมาณ 4-5 ซม. และมีก้านเกสรยาวเรียงตัวกันแน่นเป็นพู่ โคนก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นวงสีแดงอ่อนๆ ฐานดอกมีลักษณะเป็นรูปวงแหวน ขอบนูน

           ผล เป็นผลสดมีเนื้อรูปกลม หรือ รูปไข่ เปลือกผลค่อนข้างแข็งกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6.5 เซนติเมตร ผิวเรียบสีเขียว เปลือกหนา ที่ปลายผลมีส่วนของกลีบเลี้ยงติดทน ผลสุกมีสีเขียวพอสุกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะแบนผิวเรียบ รูปไข่ สีน้ำตาลอ่อน กว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 1.5 เซนติเมตร

กระโดร

กระโดน

การขยายพันธุ์กระโดน

กระโดนสามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ การตอนกิ่ง และการใช้เมล็ด แต่วิธีที่นิยมในการขยายพันธุ์ คือ การตอนกิ่งเนื่องจากง่ายกว่า และเร็วกว่า รวมถึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เร็วกว่าการใช้เมล็ดปลูก ซึ่งการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดนั้นต้องรอถึงฤดูฝนเนื่องจากกระโดน จะเติบโต และรอดได้ดีในฤดูฝน สำหรับวิธีการตอนกิ่งกระโดนนั้นสามารถสามารถทำได้เช่นเดียวกับการตอนกิ่งไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยในต่างประเทศของสารสกัดจากใบของกระโดน ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น สารกลุ่มฟีนอลิก ได้แก่ gallic acid, protocatechuic acid, p-hydroxybenzoic acid, vanillic acid, syringic acid, p-coumaric acid, ferulic acid, sinapic acid เป็นต้น และยังพบสาระสำคัญอีกเช่น lupeol, teraxerol, careaborin, careyagenolide acid, maslinic acid, Quercetin ฯลฯ นอกจากนี้ยอดอ่อน และดอกอ่อนของกระโดนยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของดอกอ่อน และยอดอ่อนของกระโดน (100 กรัม)

พลังงาน

83

กิโลแคลอรี่

ใยอาหาร

1.9

กรัม

วิตามิน เอ

3,958

หน่วยสากล

วิตามิน บี 1

0.10

มิลลิกรัม

วิตามิน บี 2

0.88

มิลลิกรัม

วิตามิน บี 3

1.8

มิลลิกรัม

วิตามินซี

126

มิลลิกรัม

แคลเซียม

13

มิลลิกรัม

ฟอสฟอรัส

18

มิลลิกรัม

ธาตุเหล็ก

1.7

มิลลิกรัม

 โครงสร้างกระโดน

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระโดน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยจากสารสกัดจากใบของกระโดนระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้ มีการศึกษาวิจัยโดยนำส่วนของ ในอ่อนกระโดนมาวิเคราะห์ปริมาณสารประกอบฟีนอลิก รวมด้วยวิธีFolin-Ciocaltue reagent และ ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี 2,2’-Azino-bis (-3 ethylbenzothiazoline-6-sulfonic acid) cation radical - scavenging assay หรือ วิธี ABTS และ Free radical scavenging activity หรือ วิธี DPPH พบว่า สารสกัด เอทานอลมีปริมาณสาร ประกอบฟีนอลิกรวม และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง กว่าสารสกัดด้วยน้ำ ส่วนการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูล อิสระด้วยวิธี ABTS พบว่า ใบอ่อนของกระโดน บกที่สกัดด้วยตัวทำละลายเอทานอล มีร้อยละการยับยั้งอนุมูลอิสระสูงที่สุดเท่ากับ 73.82 และยังมีการศึกษาวิจัยพบว่าสารที่พบในส่วนของใบกระโดนระบุว่าสาร Clomesone ซึ่งเป็น 2-chloroethyl ester ของกรดมีเทนซัลโฟนิก แสดงฤทธิ์ต้านเนื้องอกส่วนสาร 4-phenyl-pyrido pyrimidine มีฤทธิ์แก้ปวด ต้านจุลชีพ ต้านการแพ้ ลดความดันโลหิต ต้านเนื้องอก ขับปัสสาวะ ต้านการอักเสบและต้านวัณโรค เป็นต้น


การศึกษาทางพิษวิทยาของกระโดน

มีรายงานระบุว่าส่วนใบอ่อน และยอดอ่อนของกระโดน มีปริมาณกรดออกซาลิก ในปริมาณสูงโดยในใบสด 100 กรัม มีปริมาณกรดออกซาลิกถึง 59 มิลลิกรัม


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

การรับประทานยอดอ่อน หรือ ใบอ่อนของกระโดน ควรรับประทานแต่พอดีเนื่องจากในส่วนใบอ่อน และยอดอ่อนมีกรดออกซาลิก อยู่ค่อนข้างสูงหากรับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไปกรดออกซาลิกอาจเข้าไปสะสมในร่างกาย และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ นอกจากนี้เมล็ดของกระโดนมีพิษสูงห้ามรับประทาน หรือ นำไปใช้เป็นยาสมุนไพร เด็ดขาด

เอกสารอ้างอิง กระโดน 
  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “กระโดน”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
  3. ดร.นิจศิริ เรืองรังสี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. กระโดน (Kradon). หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 24.
  4. พนิดา แสนประกอบ. การศึกษาสารประกอบฟีนอลิกรวม และต้านอนุมูลอิสระของผักพื้นบ้านในจังหวัดร้อยเอ็ด. วารสารวิชาการเกษตร ปีที่ 36. ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2561. หน้า 293-301.
  5. กระโดน. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpade&pid=7.
  6.  Nutrition Division. Department of Health Ministry of Public Health. (1992). Nutritive Values of Thai Foods. Thai veterans oganisation. Bankok.
  7. Gupta, R. K.; Chakraboty, N. K. & Dutta, T. R. (1975). Crystalline constituents from Careya arborea Roxb. leaves. Indian Journal of Pharmacy, Vol. 37, Number 6, pp 161-162.
  8. Gomha SM, Abdallah MA, Al-Showiman SS, Morad MA, Mabkhot YN. Synthesis of new pyridopyrimidinone-based thiadiazoles and pyrazolines as potential anti-breast cancer agents. Biomed Res. 2017;28:9903–9.
  9. Talapatra, B.; Basak, A. & Talapatra, S. K. (1981). Terpenoids and related compounds; Careaborin, a new titerpene ester from the leaves of Careya arborea. Journal of the Indian Chemical Society, Vol. 58, Number 8, pp 814-815
  10.  Shealy YF, Krauth CA. Synthesis and antineoplastic evaluation of alpha-substituted alkanesulfonates: Analogues of clomesone. J Pharm Sci. 1993;82:1200–4.
  11. Das, M. C. & Mahato, S. B. (1982). Triterpenoid sapogenols from the leaves of Careya arborea: structure of careyagenolide. Phytochemistry, Vol. 21, Number 8, pp 2069-2073.