ผักขมหิน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักขมหิน งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักขมหิน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักปั๋งแฟ, ผักปั๋งดิน (ภาคเหนือ), ผักเบี้ยใหญ่, ผักขมฟ้า (ภาคกลาง), นังกูแซ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Boerhavia diffusa Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Boerhavia adscendens Willd., B. caespitosa Ridl., B. friesii., B. ciliatobracteata Heimerl, Axia cochinchinensis Lour.
ชื่อสามัญ Pigweed, Spreading hog weed.
วงศ์ NYCTAGINACEAE


ถิ่นกำเนิดผักขมหิน

ผักขมหิน จัดเป็นพืชล้มลุกที่ถูกจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่งมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณเส้นศูนย์สูตร เช่นใน อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย จากนั้นจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนของทวีปต่างๆ ตามแนวเส้นศูนย์สูตร สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณเรือกสวนไร่นาที่รกร้างว่างเปล่า หรือ ตามสองข้างถนน เป็นต้น


ประโยชน์และสรรพคุณผักขมหิน

  • ช่วยแก้ดีพิการ
  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  • แก้เสมหะ
  • ทำให้เรอ
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • แก้ฟกช้ำบวม
  • ใช้เป็นยาแก้ฝีช้อน
  • แก้จักษุขาว
  • แก้ลม
  • ช่วยขับลม
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้ริดสีดวงทวาร
  • บำรุงโลหิต
  • ช่วยขับโลหิต
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้เสมหะ
  • แก้ลมอัณฑพฤกษ์
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ฝีหนอง

           มีการนำผักขมหินมาใช้ประโยชน์ ในด้านต่างๆ ดังนี้ ในประเทศไทย อินเดีย และศรีลังกา มีการนำใบของผักขมหิน มารับประทานเป็นผัก โดยใช้ลวกจิ้มกับน้ำพริก หรือ อาหารพื้นถิ่นของชาวเอเชียใต้ ส่วนในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีการใช้ผักขมหินเป็นอาหารสำหรับใบเลี้ยงวัว และแกะในประเทศ

ผักขมหิน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต ขับโลหิต แก้เสมหะ ขับเสมหะ แก้ลมอัณฑพฤกษ์ แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ โดยใช้ดอกแห้งมาต้มกับน้ำ หรือ ชงเป็นชาดื่มก่อนอาหารเช้า-เย็น ก็ได้ ใช้แก้ดีพิการ ลดน้ำตาลในเลือด ขับลม ทำให้เรอ แก้เสมหะขับเสมหะ ใช้เป็นยาระบายแก้ฟกช้ำบวมภายใน โดยนำทั้งต้น (ต้น ราก ใบ ดอก) มาต้มกับน้ำดื่ม ก่อนอาหารเช้า-เย็น ใช้แก้ฝีช้อน แก้ลมขับเสมหะ แก้ริดสีดวงทวาร โดยนำรากมาต้มกับน้ำ หรือ ฝนกับน้ำดื่ม ก่อนอาหารเช้า-เย็น ใช้ขับเสมหะ ขับลม โดยใช้ใบผักขมหิน มาต้มกับน้ำดื่ม ก่อนอาหารเช้า-เย็น ใช้พอกฝีหนอง ฝีอักเสบโดยใช้ใบสดมาตำพอกบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของผักขมหิน

ผักขมหิน จัดเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรง หรือ ทอดเลื้อยขนานไปตามพื้นดินชูยอดได้ถึง 1 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านไปด้านข้างมาก ลำต้น และกิ่งผิวเรียบ หรือ มีขนเล็กน้อยบริเวณปลายกิ่ง ลำต้นกลมอวบน้ำมีสีเขียวปนแดง ยอดอ่อนมีขน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน หรือ รูปใบหอกแผ่นใบมีขนาดไม่เท่ากัน โคนใบเป็นรูปลิ่ม หรือ มน ปลายใบมีทั้งแหลม และมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียวค่อนข้างหนา ด้านบนในมีสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่า และมีต่อมสีแดงตามแนวขอบใบขนาดกว้างของใบประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร  ดอก ออกเป็นช่อแยกแขนง ลักษณะเป็นช่อกระจุกคล้ายซี่ร่ม โดยดอกจะออกบริเวณซอกใบและปลายกิ่งใน 1 ช่อดอกจะมี ดอกย่อยหลายดอก กลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น รูประฆัง สีขาวชมพู หรือ แดง ส่วนปลายแยกเป็น 10 กลีบ ปลายมน กลีบรวมยาวประมาณ 0.2 ซม. ก้านช่อดอกมีขน ขึ้นปกคลุม และมีเกสรเพศผู้ 2-3 อัน ยื่นพ้นกลีบรวมออกมาเล็กน้อย ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปกระบอง ขนาดยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร บริเวณขอบผลเป็นสัน 5 สัน ตื้นๆ มีต่อมทั่วไป ผิวผลมีขนขึ้นปกคลุมเมื่อจับดูจะรู้สึกเหนียวมือ

ผักขมหิน

ผักขมหิน

การขยายพันธุ์ผักขมหิน

ผักขมหินสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งในปัจจุบันผักขมหิน ถูกจัดให้เนวัชพืชชนิดหนึ่งที่มีการแพร่พัน์ได้เร็วมาก สามารถพบได้ในที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีการนำมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ แต่จะเก็บเอาจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการแพร่พันธุ์ของผักขมหินนั้นจะเป็นการแพร่พันธุ์โดยอาศัยเมล็ดตกสู่พื้นดินแล้วออกเป็นต้นใหม่ในธรรมชาติมากกว่า


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของผักขมหิน ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น boeravinone A, B, C, D, E, arachidic acid, aspartic acid, behenic acid, borhavine, punarnavine, glutamic acid, histidine, leucine, oleic acid, oxalic acid, palmitic acid, proline, serine, theonine, alanine, tyrosine, ursolic acid, valine, xylose, methionine.

โครงสร้างผักขมหิน

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักขมหิน

มีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดผักขมหิน จากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           มีการศึกษาฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์ และฤทธิ์ต้านเอสโตรเจนของผักโขมหิน (Boerhaavia diffusa) ในเซลล์มะเร็งเต้านมชนิด MCF-7 โดยทดสอบกับสารสกัดเมทานอลของผักโขมหิน (BME) ที่ความเข้มข้นตั้งแต่ 20–320 มคก./ล. พบว่าสารสกัดดังกล่าว มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ MCF-7 ได้ตั้งแต่ระดับปานกลางถึงระดับสูง และ BME สามารถเข้าแย่งจับกับตัวรับเอสโตรเจน (estrogen receptor) แบบแข่งขันกับสาร [3H]-estradiol และพบว่า BME ลดการแสดงออกของยีน pS2 ซึ่งบ่งบอกถึงฤทธิ์ต้านเอสโตรเจน นอกจากนี้ยังทำให้เซลล์ MCF-7 อยู่ในช่วง G0-G1 ของวัฏจักรของเซลล์ (cell cycle) เพิ่มขึ้น ในขณะที่ช่วงอื่นๆ ลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิด cell cycle arrest ที่ระยะ G0-G1 จากผลการทดลองสามารถสรุปได้ว่าผักโขมหินมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านมที่เกี่ยวข้องกับผลของเอสโตรเจน

           ฤทธิ์ขยายหลอดลม มีการศึกษาฤทธิ์ขยายหลอดลมของหนูเม้าส์หรือหนูแรทในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดจากใบผักขมหิน (Boerthavia diffusa) ที่สกัดด้วยน้ำและเอทานอล มีฤทธิ์ขยายหลอดลม โดยสารสกัดเอทานอล ออกฤทธิ์ดีกว่าสารสกัดน้ำ ซึ่งสารสกัดจากผักขมหินขนาด 1 มก./มล. ทำให้มีการขยายของหลอดลมได้ถึง 70%

           มีการทดลองโดยใช้สารสกัดน้ำและเอทานอล จากส่วนต้นของผักขมหินมาฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และยังมีการศึกษทดลองฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในกระต่ายที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน จากการกระตุ้นด้วยสาร alicxan โดยได้ทำการเปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบัน (tolbutamide, gtibenclamide) พบว่าภายในเวลา 8 ชั่วโมง สารสกัดทั้ง 2 ชนิด สามารถให้ผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เทียบเท่ากับยา tolbutamide


การศึกษาทางพิษวิทยาของผักขมหิน

มีรายงานการทดสอบความเป็นพิษ ของสารสกัดผักขมหิน ทั้งต้นด้วยน้ำ และเอทานอล พบว่าในขนาดสูงสุดที่สัตว์ทดลองทนได้ คือ 1 กรัม/กิโลกรัม ส่วนสารสกัดจากรากด้วยน้ำ พบว่าขนาดที่ทำให้หนูถีบจักรตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 298 มิลลิกรัม/กิโลกรัม


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ผักขมหินเป็นสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทานเนื่องจาก ตามสรรพคุณตำรายาไทยระบุว่ามีฤทธิ์ขับโลหิต ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ ส่วนผู้ที่มีร่างกายปกติทั่วไป ก็ควรระมัดระวังในการใช้ผักขมหิน เป็นสมุนไพร โดยการใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ผักขมหิน
  1. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ผักขมหิน ”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 107-108.
  2. ณัฏฐณิชชา มหาวงษ์. สมุนไพรกับโรคหอบหืด. จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 29. ฉบับที่ 3 เมษายน 2555. หน้า 2-15
  3. ฤทธิ์ต้านมะเร็งของผักโขมหิน, ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร, สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. ผักขมหิน. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.[hargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=168
  5. Lrie-N’guessan G,Champy P, Kouakou-Siransy G, Koffi A, Kabian BJ, Leblais V. Tracheal relaxation of five lvoran anti-asthmatic plants: role of epithelium and K channels in the effect of the aqueous-alcohoilc extract of Bichrostachys cinerea root bark J Ethnopharmacol 2011;138(2):432-8.