โคกกระออม
โคกกระออม งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ
ชื่อสมุนไพร โคกกระออม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตุ้มต๊อก, เครือตุ้มต๊อก ผักไล่น้ำ(ภาคเหนือ), กระดอม หญ้าใส่แมลงหวี่(ภาคกลาง), วิวี่ วิหวี่(ปราจีนบุรี), ติ๊นโข่ไหน, เจียขู่กวา, ไต้เถิงขู่เลี่ยน(จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cardiospermum halicacabum Linn.
ชื่อสามัญ Balloon vine, Heart seed, Heart pea, Love in puff
วงศ์ SAPINDACEAE
ถิ่นกำเนิดโดกกระออม
โดกกระออมเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกา (อเมริกากลางและอเมริกาใต้) โดยถูกจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง จากนั้นได้แพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก สำหรับประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ตามบริเวณชายป่า ที่รกร้างว่างเปล่า สองข้างถนน ตามริมน้ำ และตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1500 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณโดกกระออม
- ขับพิษร้อนถอนพิษไข้
- ช่วยแก้พิษในร่างกาย
- แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
- ลดความดันโลหิต
- รักษาโรคดีซ่าน ทำให้เลือดเย็น
- ขับเหงื่อแก้ไขข้ออักเสบ
- แก้หอบหืด
- รักษาตาต้อ
- ใช้เป็นยาระบาย
- รักษาต่อมลูกหมากโต
- รักษาผิวหนัง ฝี กลาก เกลื้อน
- แก้ฝีบวม ฝีหนอง
- แก้ตาเจ็บ
- ใช้เป็นยาแก้ประจำเดือนของสตรี ขับโลหิต
- รักษาโรคโลหิตตก
- ช่วยบำรุงน้ำดี
รูปแบบและขนาดวิธีใช้โดกกระออม
ใช้ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยลดความดันโลหิต ขับเหงื่อ ทำให้เลือดเย็น แก้หอบหืด ลดอาการต่อมลูกหมากโต ใช้เป็นยาแก้ระบาย แก้ปวดบวมฟกช้ำ โดยใช้ต้นหรือเถาแห้ง 10-18 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม หากเป็นต้นสดให้ใช้ 35-70 กรัม คั้นเอาน้ำกิน ใช้แก้ไข้ แก้ไอหืด ขับปัสสาวะ ขับระดู โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาใส่แผล โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำและนำมาล้างแผล ใช้รักษาโรครูมาตอยด์ โดยใช้ใบสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำเคี่ยวกับน้ำมันงา ใช้ทาเช้า-เย็น ติดต่อกันประมาณ 7 วัน
ลักษณะทั่วไปโดกกระออม
โคกกระออมจัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยพันหรือเถาไม้ล้มลุกขนาดกลาง มีเถายาวประมาณ 1-10 เมตร ลำต้นแตกกิ่งจำนวนมาก เลื้อยเกาะพันกัน ขึ้นไปบนต้นไม้หรืออาจทอดเลื้อยตามพื้นดิน ลักษณะของเถามีสีเขียวเป็นรูป5 เหลี่ยม มีสัน และมีขนปกคลุมเล็กน้อย เถามีขนาดประมาณก้านไม้ขีดไฟ และตามบริเวณข้อของเถามีมือสำหรับยึดเกาะ
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ โดยจะมีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะขอใบย่อยเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือรูปใบหอกปลายแหลม โคนใบมน ขอบใบเป็นจักหยักลึก มีมือเกาะสั้นๆ จะอยู่ที่ปลายยอด ส่วนมือจับจะมีอยู่ 2 อัน แยกกันออกจากก้านช่อดอก ใบมีขนาดกว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร และยาว 5-12 เซนติเมตร แผ่นใบบางเป็นสีเขียว ผิวใบทั้งสองด้านมีขนสีขาวสั้น ขนาดเล็กเกาะกระจายห่างๆอยู่ทั่วไป ใบคู่หลังจะมีขนาดเล็กกว่าใบกลาง และมีก้านใบยาว
ดอก ออกเป็นช่อแบบสมบูรณ์เพศ โดยใน 1 ช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 3-4 ดอก โดยจะออกตามง่ามใบ ดอกมีขนาดเล็กยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร สีขาว มีกลีบดอก 4-5 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 4 กลีบ มีเกสรเพศผู้ 8 ก้าน
ผล มีลักษณะของผลเป็นรูปสามเหลี่ยม มีลักษณะคล้ายกับถุงลม บางๆ มี3 พู โดยจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผลประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร เปลือกผลเป็นเยื่อบางและมีสีเขียวอ่อนหรือสีเขียมเหลือง มีผิวเป็นลายเส้นและมีขนสั้นนุ่มกระจายอยู่ทั่วผล ผลเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ แล้วแฝงลงด้านในผลจะมีเมล็ดขนาดเล็กประมาณ 1-3 เมล็ด
เมล็ด ทรงกลมผิวเรียบ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 มิลลิลิตร เมื่อยังอ่อนจะเป็นสีเขียวอ่อนและค่อนข้างนิ่ม แต่เมื่อเมล็ดแก่จะเป็นสีดำและแข็ง ที่คั่วเมล็ดเป็นสีขาวลักษณะคล้ายรูปหัวใจ
การขยายพันธุ์โดกกระออม
โคกกระออมสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด เนื่องจากโคนกระออมถูกจัดเป็นวัชพืชที่รบกวนผลผลิตทางการเกษตรดังนั้นจึงไม่นิยมนำมาปลูก ส่วนที่พอเห็นกินกันทั่วไปก็เป็นการพบในธรรมชาติ ดังนั้นการแพร่ขยายพันธุ์ของโคนกระออมนั้น จึงเป็นการขยายพันธุ์โดยอาศัยเมล็ดจากตามพื้นดินเนื่องจากเป็นต้นใหม่ตามธรรมชาติมากกว่า
องค์ประกอบทางเคมีโดกกระออม
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของโคกกระออมระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ในเมล็ดของโคกกระออมพบน้ำมันหอมระเหย เช่น 11-Eciosenoic acid, 1-Cyano-2 hydroxymethyl prop 2-ene-1-ol และสาร Saponin
ส่วนสารกัดจากต้นโคกกระออมประกอบไปด้วย สาร Flavonoids, Saponin, Quebrachitiol, Apigenin, Proanthocyanidin, Stigmosterol, Phytosterols และ Alkaloids เป็นต้น ทั้งนี้มีการศึกษาวิจัยสารสกัดจากต้นโคกกระออมพบว่า ปริมาณสารฟลาโวนอยด์ที่พบในโคกกระออมแบบแห้งจะมากกว่าในโคกกระออมแบบสด และตัวทำลายที่ดีที่สุด คือ น้ำ โดยปริมาณของฟลาโวนอยด์เท่ากับ 4.73x10 +- 7.02x10 กรัมต่อ 100 กรัมของโคกกระออม
การศึกษาทางเภสัชวิทยาโดกกระออม
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยการศึกษาทางเภสัชวิทยาของโคกกระออมได้ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ไว้ดังนี้
ฤทธิ์ระงับปวดและต้านอักเสบ มีการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดน้ำจากสมุนไพรของโคกกระออมในการระงับปวดด้วยการกระตุ้นด้วยกรดน้ำส้มและการใช้ความร้อนพบว่า สารสกัดมีความแรงในการระงับอาการปวดเป็นครึ่งหนึ่งของมอร์ฟีนซัลเฟตที่ขนาด 25 มก/กก. และเมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยการกระตุ้นการบวมที่อุ้งเท้าหนูด้วยคาราจีแนน พบว่าสารสกัดโคกกระออมที่ความเข้มข้น 0.7 ก/กก. มีผลต่อการต้านอักเสบได้ดีกว่าน้ำเกลือแต่น้อยกว่า indomethacin อย่างไรก็ตาม สารสกัดสามารถลดอาการบวมใกล้เคียงกับ indomethacin ที่เวลา 5 ชม. หลังได้รับยา
ฤทธิ์ลดไข้ มีการศึกษาโดยทำการศึกษาในการลดไข้ที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยยีสต์ในหนู พบว่ามีฤทธิ์ลดไข้ โดยเริ่มต้นออกฤทธิ์ที่เวลา 30 นาที และมีระยะเวลานาน 6 ชม.
ฤทธิ์ลดความดันโลหิต มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ลดความดันโลหิตจากน้ำมันระเหยจากเมล็ด โคกกระออม โดยนำไปทดลองกับสุนัขพบว่าสามารถช่วยลดความดันโลหิตในระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แต่หากเป็นน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดไปทำการสกัดด้วยแอลกอฮอล์ พบว่าสามารถช่วยลดความดันโลหิตในระยะเวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอื่นๆระบุว่า สารสกัดโคกกระออมไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อรา Mentagophyte และ Tricophyton เล็กน้อยที่ความเข้มข้นถึง 10000 ไมโครกรัมต่อมล. และการออกฤทธิ์ในด้านเภสัชวิทยาจะขึ้นกับขนาดและความเข้มข้นของสารสกัดอีกด้วย และยังพบว่าสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่พบมากในโคกกระออมมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) และสามารถต้านการอักเสบได้ โดยมีข้อมูลยืนยันว่ามีส่วนช่วยในการลดการอักเสบอันเป็นผลมาจากเซลล์เกิดภาวะผิดปกติและหลั่งสารเคมีที่อันตรายออกมา จึงส่งผลให้บริเวณนั้นมีอาการบวมแดง รวมไปถึงอาการปวดอันเป็นสาเหตุของการอักเสบที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อและใยกล้ามเนื้อ
การศึกษาทางพิษวิทยา
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานโคกกระออม เนื่องจากในสรรพคุณทางยาพบว่ามีฤทธิ์ขับระดูในสตรี อาจทำให้แท้งบุตรได้ ส่วนผู้ที่มีสุขภาพดี ในการใช้โคกกระออมเป็นสมุนไพรก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรรับประทานในขนาด/ปริมาณ ที่ได้กำหนดไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากจนเกินไป และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง โคกกระออม
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. โคกกระออม (Kok Kra Om). หนังสือสมุนไพรไทยเล่ม 1. หน้า 168.
- สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่2. (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544.
- วิทยา บุญวรพัฒน์. โคกกระออม. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 168.
- อรทัย เนียมสุวรรณ, นฤมล เล้งนนท์, กรกนก ยิ่งเจริญ, พัชรินทร์ สิงห์ดำ. 2555. พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของพืชกินได้จากป่าชายเลนและป่าชายหาดบริเวณเขาสทิงพระ จังหวัดสงขลา วารสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 40(3): 381-991.
- พญ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “โคกกระออม”. หนังสือสมุนๆพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 207-208.
- ณัฐพร มีเฟือง และคณะ. 2561. การวิเคราะห์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณของฟลาโวนอยด์จากโคกกระออมเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เจลลดอาการอักเสบ. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ.
- วัชรี คุณกิตติ, มุกดา จิตเจริญธรรม, จุฬารัตน์ ปริยชาติกุล. การศึกษาคุณสมบัติของเภสัชบางประการของสารสกัดด้วยน้ำ จากสมุนไพรโคกกระออม. วารสารวิจัย มข. ปีที่ 6. ฉบับที่1. มกราคม-มิถุนายน 2544. หน้า 14-22.