ส่องฟ้า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นและข้อมูลงานวิจัย
ส่องฟ้า งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ส่องฟ้า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ส่องดาว, สมัดใหญ่ (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Clausena wallichii Oliv.var.guillauminii. (Tanaka.) J.P.Molino
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clausena guillauminii Tanaka.
ถิ่นกำเนิดส่องฟ้า
ส่องฟ้า จัดเป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ในประเทศพม่า ไทย ลาว กัมพูชา โดยมักพบในบริเวณร้อนชื้นของภูมิภาคนี้ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้มากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ส่วนในภาคอื่นๆ พบได้น้อย
ประโยชน์และสรรพคุณส่องฟ้า
- แก้เจ็บตา
- ทาแก้ฝี
- แก้ไข้ปวดศีรษะ
- แก้วิงเวียน
- แก้ไข้มาลาเรีย
- แก้ปวดหลับปวดเอง
- แก้ผิดสำแดง
- แก้หลอดลมอักเสบ
- แก้จุกเสียด
- แก้ไข้
- แก้ริดสีดวงลำไส้
- แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- แก้ไข้ทำมาลา (ไข้หมดสติ)
- แก้ปวดเมื่อย
- แก้คอแหบแห้ง
- แก้ฟกช้ำ ช้ำใน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ส่องฟ้า
ใช้แก้ไข้ปวด ศีรษะ แก้ผิดสำแดง แก้ไข้มาลาเรีย แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ โดยใช้รากส่องฟ้ามาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้หลอดลมอักเสบโดยใช้รากส่องฟ้ามาผสมกับรากหนามงัวซัง และเหล้าว่านน้ำต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อโดยใช้รากส่องฟ้ากับรากเจตฟังดี ต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้ทำมาลา (ไข้หมดสติ) โดยใช้รากส่องฟ้า รากน้ำนมราชสีห์ รากทับทิม และเดือยไก่ป่า มาฝนกับน้ำกิน ใช้แก้ฝีโดยใช้รากส่องฟ้า และรากหมีฝนร่วมกันแล้วใช้ทาบริเวรที่เป็น ใช้แก้คอแหบแห้งโดยใช้รากส่องฟ้า รากดอกพุด รากกระจาย รากมะเขือขื่น รากพวงพี พริก 7 ขิง 7 เทียม 7 ตำใส่น้ำผักใช้อม และกิน ใช้แก้อาหารเป็นพิษ พะอืดพะอม วิงเวียน โดยใช้รากพวงพี รากสมัดใหญ่ รากส่องฟ้ารากหญ้านาง ต้มน้ำกินวันละ 3-4 ครั้ง ใช้แก้ปวดหลังปวดเอว โดยใช้รากสะมัด และรากส่องฟ้า มาต้มจนได้ยาสีเหลืองใสมีกลิ่นหอม ใช้ดื่มเช้าเย็น ใช้แก้ฟกช้ำจากการกระทบกระแทก โดยใช้กิ่ง และใบส่องฟ้า กิ่ง และใบสมัดเปลือกกุ่ม เปลือกก่อม หัวไพล เถาและใบของเถาเอ็นอ่อน มาบดทำเป็นลูกประคบตามตัวสัก 5-6 วัน
ลักษณะทั่วไปของส่องฟ้า
ส่องฟ้า จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านเล็กน้อย สูง 20-30 เซนติเมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนอก ปลายลี่ออกแบบเรียงสลับ รอบกิ่ง มีใบย่อย 3-7 ใบ มีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือ รูปของขนานแกมวงรี กว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยา 4-8 เซนติเมตร แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม และจะมีจุด หรือ ต่อมน้ำมันกระจายทั่วทั้งใบ ซึ่งเมื่อส่งอดูจะมองเห็นเป็นจุดโปร่งแสงเล็กๆ ดอกออกเป็นช่อกระจะ ที่ปลายกิ่ง ส่วนกลีบดอกย่อยขนาดเล็ก มีสีขาวแกมเหลืองโดยกลีบดอกจะมี 5 กลีบ ผลเป็นสดรูปกลมรี เมื่อสุกจะมีสีชมพูอ่อน
การขยายพันธุ์ส่องฟ้า
ส่วงฟ้าสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งโดยส่วนมากจะพบว่าการขยายพันธุ์จะเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติมากกว่าการถูกนำมาปลูก ทั้งนี้ ส่องฟ้า เป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตค่อนข้างช้า แต่ก็สามารถทนต่อทุกสภาพดิน และทนต่อความแห้งแล้งได้ดี สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกส่องฟ้านั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ด และการปลูกไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมีส่องฟ้า
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ ประกอบทางเคมีจากส่วนเปลือกราก และส่วนรากของส่องฟ้าระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด ดังนี้
มีรายงานองค์ประกอบทางเคมีจากเปลือกรากของส่องฟ้า (C. guillauminii) พบสารใหม่ 2 สาร คือ osthol, xanthoxyletin และสารที่มีรายงานมาแล้วอีก 3 สาร คือ poncitrin, heptaphylline และ 7-methoxyheptaphylline ส่วนรายงานผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากรากส่องฟ้า (C. guillauminii) พบสารใหม่ในกลุ่มคาร์บาโซลแอลคาร์ลอยด์ 2 สาร คือ guillauminines A และ B และยังพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญอีก 4 ชนิด คือ flurockausine A, mukonol, 7-methoxy mokonoi และ cluariala D เป็นต้น ส่วนผลการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยของส่องฟ้าพบว่า องค์ประกอบทางเคมีหลักเป็นสารประกอบฟีนอลิก (phenolics) สูงถึงร้อยละ 99.29 และสารประกอบฟีนอลิกที่พบมากที่สุด คือ Anethole (62.38%) รองลงมา คือ Estragole (24.54%) และ Safrole (11.60%) ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบสาร Cauyophylleve และ trans-Isoeugenol อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของส่องฟ้า
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาทางเภสัชวิทยาของสารออกฤทธิ์ที่พบในส่วนราก และเปลือกรากของส่องฟ้าพบว่า สาร fluroclausine A และ 7-methoxyheptaphylline มีความเป็นพิษที่สูงต่อเซลล์มะเร็งปอด ด้วยค่า IC50 เท่ากับ 7.44 และ 9.51 µg/mL ตามลำดับ นอกจากนี้สาร fluroclausine A ยังมีฤทธิ์เป็นพิษที่สูงต่อเซลล์มะเร็งช่องปากด้วยค่า IC50 เท่ากับ 1.35 µg/mL ส่วน mukonol ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติ และยังมีรายงานว่า สาร mukonol, 7-methoxymokonol และ cluariala D มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย ด้วยค่า IC50 เท่ากับ 4.03, 3.46 และ 3.41 µg/mL ตามลำดับ อีกทั้งสาร fluroclausine A และ 7-methoxyheptaphylline ยังมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่อ่อนด้วยค่า IC50 เท่ากับ 25 µg/mL อีกด้วย
ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งได้มีการนำสารที่แยกได้จากเปลือกรากของส่องฟ้า ไปศึกษาฤทธิ์ต้านการอับเสบ ต่อการแสดงออกในเอนไซม์ inducible nitric oxide synthase (iNOS) โดยการติดตาม lipopolysaccharide (LPS) และไนตริกออกไซด์ (NO) ในเซลล์แมคโครฟาจ ของหนูสายพันธ์ RAW264.7 พบว่าสาร poncitrin มีฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกในเอนไซม์ inducible nitric oxide synthase ที่ความเข้มข้น 10 µM และพบว่าสาร xanthoxyletin ก่อให้เกิดการแสดงออกของ iNOS ที่ส่งผลให้มีการผลิตไนตริกออกไซด์ อีกทั้งการแสดงออกของโปรตีน TNF-α และ cyclooxygenase-2 (COX-2) ที่คาดว่าน่าจะแสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบได้
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของส่องฟ้า
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้ส่องฟ้า เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ส่องฟ้า
- อนันต์ อธิพรชัย, ภรณี ศรีปรีชาศักดิ์ และสุวรรณา เสมศรี. (2562). สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากพืชสกุล Clausena สำหรับการรักษาโรคเบาหวาน. ชลบุรี: มหาวิทยาลัยบูรพา.
- กาญจนา รุ่งรัชกานนท์ และคณะ.การขยายพันธุ์ส่องฟ้าโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ, การประชุมวิชาการระดับชาติ มอบ.วิจัยครั้งที่ 16.หน้า 105-115
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอบุลราชธานี. (2560). สมัดน้อย. เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=114
- Auranwiwat, C., Laphookhieo, S., Trisuwan, K., Pyne, S. G. and Ritthiwigrom, T. (2014). Carbazole alkaloids and coumarins from the roots of Clausena guillauminii. Phytochemistry Letters, 9, 113-116.
- . Nakamura, T., Kodama, N., Arai, Y., Kumamota, T., Higuchi, Y., Chaichantipyuth, C., Ishikawa, T., Ueno, K., Yano, S. (2009). Inhibitory effect of oxycoumarins isolated from the Thai medicinal plant Clausena guillauminii on the inflammation mediators, iNOS, TNF-a, and COX-2 expression in mouse macrophage RAW264.7. Journal of Natural Medicines, 63, 21–27
- Kanjanawattanawong, S. and Singbumrung, N. (2020). Establishment of a protocol for micropropagation of Clausena guillauminii Tanaka. Acta Horticulturae, 249-256.