แมงลักคา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นและข้อมูลงานวิจัย
แมงลักคา งานวิจัยและสรรพคุณ 21ข้อ
ชื่อสมุนไพร แมงลักคา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระเพราผี , กระเพราป่า , แมงลักป่า (ทั่วไป) , ก้อมก้อห้วย , ก้อมก้อดง (ภาคเหนือ) , อีตู่ป่า (ภาคอีสาน) การา (สุราษฏร์ธานี) , เสอไป๋จื่อ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hyptis suaveolens (L.) Poit.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bystropogon graveolens Blume, Bystropogon suaveolens (L.) L'Hér., Gnoteris cordata Raf., Hyptis congesta Leonard
ชื่อสามัญ west Indian spikenard, Mintweed ,Wild spikenard, Pugnet , Desert lavender , Chan
วงศ์ LAMIACEAE
ถิ่นกำเนิดแมงลักคา
แมงลักคาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกา เช่น เม็กซิโก , กัวเตมาลา , เอลซัลวาดอ , ฮอนดูรัส เป็นต้น จากนั้นได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก เช่นใน ปาปัวนิวกินี , คูราเซา , อินเดีย , บราซิล , อินโดนีเซีย , จีน และไทย สำหรับในประเทศไทยนั้น สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยจะพบตามบริเวณที่รกร้าง ตามข้างทาง ริมฝั่งแม่น้ำ หรือตามป่าทั่วไปที่มีความสูงไม่เกิน 1300 เมตร จากระดับน้ำทะเล และยังถูกจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่งในพื้นที่การเกษตรอีกด้วย
ประโยชน์และสรรพคุณแมงลักคา
- ช่วยขับเหงื่อ
- แก้หวัด
- ช่วยขับน้ำนม
- รักษาโรคผิวหนัง
- แก้ชักกระตุก
- แก้ปวดข้อ
- ใช้แก้ปวดท้อง
- ช่วยขับระดู
- เป็นยาเจริญอาหาร
- ช่วยขับระดู หรือเคี้ยวดับกลิ่นปาก
- ใช้ขับเหงื่อในคนที่เป็นหวัด
- ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
- แก้ปวดกระเพาะ
- แก้ปวดบิด
- แก้ไข้หวัด มาลาเรีย
- ใช้ขับลม
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้ปวดท้องประจำเดือน
- รักษาอาการอัมพฤกษ์อัมพาต
- รักษาแผลพุพอง
- ช่วยย่อยอาหาร
ลักษณะทั่วไปแมงลักคา
แมงลักคาจัดเป็นไม้พุ่มล้มลุก พุ่มเตี้ย มีอายุหลายปี ลักษณะลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 0.5 - 1.5 เมตร แตกกิ่งก้านมาก ลำต้นเป็นสันสี่เหลี่ยม ตามลำต้นมีขนสีขาวเหนียวติดมือ มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกัน ใบเป็นรูปไข่กึ่งไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบมนหรือเว้ารูปหัวใจขอบใบหยักเล็กน้อย แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน เป็นร่องเห็นได้ชัดเจนบริเวณเส้นใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.5-3 เซนติเมตร ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกตามบริเวณที่ซอกใบและปลายกิ่ง โดยจะมีดอกออกประมาณ 2-5 ดอกย่อย ต่อ 1 ช่อดอก มีสีม่วงอ่อนเป็นรูปปากเปิด ส่วนกลีบดอกโคนกลีบจะเป็นสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกกเป็น 2 ปาก มีขน ด้านบน 2 แฉก รูปช้อนยาว 2.5-3 มิลลิเมตร กว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร ด้านล่าง 3 แฉก กลีบด้านข้างรูปรียาว 1-1.5 มิลลิเมตร กว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร กลีบกลางยาว 1-1.5 มิลลิเมตร กว้าง 0.5-1มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมีลักษณะเรียวแหลมคล้ายหนาม มีสันตามยาว 10 สัน โคนเชื่อมติดกันยาว 5-5.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 อัน ด้านนอกมีขนยาวปกคลุม เกสรเพศผู้มี 4 อัน แยกเป็น 2 คู่ ก้านเกสรไม่ติดกัน อับเรณูติดกับก้านชูเกสรที่ด้านหลัง เกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ก้านชูเกสรเพศเมียยาว 3-5 มิลลิเมตร ผลเป็นผลแห้งแบบแคปซูล สีดำ ผิวผลย่น รูปขอบขนานแคบ ยาวประมาณ 1.2-1.5 มิลลิเมตร ปลายผลเว้า เมื่อผลแห้งจะไม่แตก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเข้มขนาดเล็ก มีลักษณะค่อนข้างกลม กว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตรโดยใน 1 ผลจะมีเมล็ดอยู่ 4 เมล็ด
การขยายพันธุ์แมงลักคา
แมงลักคาสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการปักชำ แต่โดยมากจะเป็นการขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ดในธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูก แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการนำมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์บ้างแล้ว สำหรับวิธีการปลูกแมงลักคานั้นก็สามารถทำได้โดยวิธีการนำเมล็ดมาเพาะให้ได้ต้นกล้า แล้วจึงนำไปปลูกในแปลง เช่นเดียวกันกับการปลูกไม้ล้มลุกพุ่มเตี้ยชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
ส่วนเหนือดินพบสารชนิดอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มเทอร์ปีนอยด์ เช่น α-amyrin, beta-amyrin, lupeol,oleanolic acid, betulinic acid, dehydroabietinol,ursolic acid, hyptadienic acid และกลุ่มสารฟลาโวนอยด์ เช่น 4’,5-dihydroxy-7-methoxy flavone ในรากพบสาร เทอร์ปีนอยด์ เช่น ursolic acid, betulinic acid, α-amyrin, beta-amyrin, α-peltoboykinolic acid, oleanolic acid เมือกหุ้มเมล็ด ของแมงลักคาพบสารประเภทโพลีแซคคาไรด์ เช่น D-xylose, D-manose,L-fucose, D-galactose, D-glucose, 4-O-methyl-D-glucuronic acid ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดิน พบว่ามีสารที่เป็นองค์ประกอบหลักคือ eucalyptol 30.38%, gamma-amylene 13.58%, beta-caryophylline 10.37%, delta-elemene 5.24% นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหย จากรากยังพบสาร eucalyptol และ α-phellandrene 18.56%, limonene 8.51%, และ caryophylline oxide 2.71%
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้ปวดท้องและลดไข้ โดยนำใบแห้งมาชงกับน้ำดื่ม ใช้ขับน้ำนม ขับเหงื่อ แก้หวัด โดยนำยอดอ่อน มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาสำหรับเจริญอาหาร ขับระดูในสตรี โดยใช้รากต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้เบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยใช้ใบและต้นสดประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวให้นาน 30 นาที แล้วนำมาแบ่งดื่มเช้าและเย็น ใช้ขับเหงื่อ และแก้ปวดท้อง โดยนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้โรคผิวหนัง โดยใช้ทั้งต้นตำพอกบริเวณที่เป็น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
มีผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของแมงลักคาพบว่า ฤทธิ์รักษาแผล สารสกัดเอทานอลจากใบ สามารถรักษาแผลในหนูขาวได้ โดยมีฤทธิ์เพิ่มเอนไซม์ที่ใช้ต้านอนุมูลอิสระ เช่น catalase, superoxide dismutase
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเอทานอลของต้นแมงลักคา พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เหนี่ยวนำด้วย carageenan เมื่อป้อนให้หนูในขนาด 400 มก./กก. ให้ผลใกล้เคียงกับยาต้านอักเสบ Ibuprofen ขนาด 100 มก./กก.
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า สารสกัดด้วยเมทานอลมีฤทธิ์อย่างอ่อนในการต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งแกรมบวก แกรมลบและเชื้อรา Candida albicans โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งเชื้อได้ (MIC) ≤ 100 μg/ml
ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อมาลาเลีย สารสกัดด้วยเอทานอลจากส่วนเหนือดินแมงลักคามีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของโปรโตชัวที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรีย (Plasmodium falciparum 3D7 strain) โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการเติบโตได้ 50% (IC50) ,25μg/ml โดยสารบริสุทธิ์ที่มีฤทธิ์ดังกล่าว คือ dehydroabietinol ยับยั้งการเติบดตของ Plasmodium falciparum ทั้งสายพันธุ์ที่ไวต่อยาคลอโรควินและดื้อต่อยาคลอโรควินโดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งเชื้อที่ 50% (IC50) เท่ากับ 26 และ 27 ไมโครโมลาร์
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ ยังระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของแมงลักคาว่า น้ำมันหอมระเหยจากดอก ใบ และต้น มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราก่อโรคหลายชนิด ยับยั้งเนื้องอก ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ทำให้หลอดเลือดคลายตัว
การศึกษาทางพิษวิทยา
มีการทดสอบความเป็นพิษเรื้อรัง โดยเมื่อให้สารสกัดน้ำของแมงลักคา แก่หนูขาว ป้อนทางปากในขนาด 5, 50, 250, 500 มก/กก/วัน เป็นเวลา 6 เดือน พบว่าไม่มีผลเปลี่ยนแปลงต่อการเจริญเติบโตค่าโลหิตวิทยา ค่าชีวเคมีของซีรัมของหนู นอกจากนี้พยาธิสภาพของอวัยวะภายในของหนูก็ยังคงเป็นปกติ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- สตรีมีครรภ์ ห้ามใช้แมงลักคาเป็นสมุนไพร เพราะมีฤทธิ์ขับระดูในสตรี
- ในการใช้แมงลักคาเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับ ตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อ รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้แมงลักคาเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้.กรมป่าไม้ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.(เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544) .กรุงเทพฯ บริษัทประชาชน จำกัด 2544.หน้า 289.
- หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “แมงลักคา”. หน้า 140.
- นันทวัน บุณยะประภัศร.อรนุช โชคชัยเจริญพร. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน.เล่ม 3. กรุงเทพฯ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.2542.หน้า778-80.
- ดวงพร สุวรรณกุล , รังสิต สุวรรณเขตนิคม.วัชพืชในประเทศไทย.กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.2544.หน้า86.
- ธวัชชัย รัตน์เลศ.เจมส์ เอฟ แมกซ์เวล. รายชื่อวัชพืชที่มีรายงานพบในประเทศไทย กรุงเทพฯ เวิร์ดเพลส.2540หน้า85
- ดรุณ เพ็ชรพลายและคณะ.พืชสมุนไพรในประเทศไทย ตอนที่1.กรุงเทพฯโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.2538.หน้า102-3.
- ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของแมงลักคา.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- วงศ์สถิต ฉั่วกุล และคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.สยามไกษัชยพฤกษ์ ภูมิปัญญาของชาติ.กรุงเทพฯ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) 2538 หน้า 141.
- แมงลักคา.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=268
- ประไพ วงศ์สินคงมั่น , ดวงเพ็ญ ปัทมดิลก.จารี บันสิทธิ์ , ธิดารัตน์ บุญรอด , เย็นจิตร เตชะดำรงสิน และปราณี ชวลิตธำรง, ข้อกำหนดทางเคมีของส่วนเหนือดินแมงลักคา.วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีที่4ฉบับที่1.มกราคม-เมษายน2549.หน้า1-16