พลู ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

พลู งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ

ชื่อสมุนไพร พลู
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น พลูเหลือง, พลูทอง, พลูจีน (ทั่วไป), เปล้าอ้วน, ซีเก๊ะ, ซีเก๊าะ (ภาคใต้), กื่อเจี่ย (จีนแต้จิ๋ว), จวีเจียง (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper betle Linn.
ชื่อสามัญ Bettle Piper, Bettle leaf vine
วงศ์ PIPERACEAE

ถิ่นกำเนิดพลู

พลูมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นในแถบเอเชียใต้ เช่น ประเทศอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ฯลฯ (แต่อีกตำราหนึ่งระบุว่าพลูมีต้นกำเนิดมาจากประเทศมาเลเซีย) โดยพบว่าพลูมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่พบได้มากในประเทศอินเดียกว่า 40 สายพันธุ์ ส่วนในประเทศไทยพลู พบได้ทั่วไปในทั่วทุกภาค และมีแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญในประเทศ คือ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก นครปฐม กรุงเทพมหานคร มหาสารคาม ขอนแก่น และนครราชสีมา ซึ่งมักจะเป็นการปลูกเพื่อการบริโภคในท้องถิ่น ปลูกเพื่อการค้า และส่งออกต่างประเทศในบางส่วน 


ประโยชน์และสรรพคุณพลู

  1. ช่วยให้เหงือก และฟันแข็งแรง
  2. ช่วยดับกลิ่นปาก
  3. แก้ปวดท้อง (ที่มีอาการเย็นบริเวณท้อง)
  4. ช่วยขับเสมหะ
  5. เป็นยากระตุ้นน้ำลาย
  6. ช่วยขับเหงื่อ
  7. แก้ปวดท้อง เพราะพยาธิ
  8. ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ
  9. รักษาอาการช้ำบวม
  10. รักษาอาการไอเจ็บคอ
  11. รักษาอาการผื่นคันอันเนื่องมาจากเกิดลมพิษ
  12. รักษาโรคผิวหนัง
  13. รักษาโรคกลาเกลื้อน
  14. รักษาแผลอักเสบฝีหนอง
  15. รักษาสิว
  16. ใช้เป็นยาระบาย
  17. แก้อาการท้องผูก
  18. ช่วยลดไข้
  19. แก้ปวดศีรษะ
  20. ขับลมในกระเพาะอาหาร
  21. ทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น
  22. ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
  23. แก้ลมพิษ
  24. แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ
  25. บำรุงกระเพาหาร
  26. ลดปวดบวม
  27. รักษาฮ่องกงฟุต 


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ใบสด 3-5 กรัม ต้มน้ำกินสำหรับแก้อาการปวดท้อง แก้ลมพิษ ให้ใช้ใบสดตำผสมเหล้าทาบริเวณที่เป็น ใช้เคี้ยวแล้วคายทิ้งวันละ 2-3 ครั้ง ช่วยดับกลิ่นปาก แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ และบำรุงกระเพาหาร ใช้ใบสดโขลกให้ละเอียดคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำร้อนหนึ่งแก้วใช้ดื่ม ลดปวดบวม ใช้ใบพลู ใบใหญ่ๆ นำไปอังไฟให้ร้อนใช้ไปประคบบริเวณที่ปวดบวมช้ำ รักษากลาก และฮ่องกงฟุต เอาใบสดโขลกให้ละเอียดดองกับเหล้าขาวทิ้งไว้ 15 วัน แล้วกรองเอาแต่น้ำใช้ทาบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของพลู

พลูเป็นพืชวงศ์เดียวกับพริกไทย(PIPERACEAE) จัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง ลำต้นเกลี้ยงเป็นปล้อง และมีข้อ ขนาดลำต้น 2.5-5 ซม. ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ และมีร่องเล็กๆสีน้ำตาลอมแดงตามแนวยาวของลำต้น สันร่องมีสีเขียว โดยลำต้นส่วนปลายจะมีสีเขียว ส่วนลำต้นส่วนต้นจะมีสีเขียวอมเทา โดยมีรากยึดเกาะที่ออกตามขอของลำต้นบางครั้งเรียกว่า รากตุ๊กแก แตกออกตามข้อของลำต้นเพื่อยึดเกาะวัสดุสำหรับช่วยพยุงลำต้นเลื้อยขึ้นที่สูงได้ และทำให้ลำต้นไม่หลุดร่วงลงสู่พื้นได้ง่าย ใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว ออกสลับกัน รูปหัวใจหรือกลมแกมรูปไข่กว้าง 8-12 ซม. ยาว 12-6 ซม. ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม เนื้อใบค่อนข้างเป็นมันสด ใบอ่อนมีสีเหลืองอ่อน และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน และสีเขียวเข้ม เมื่อแก่เต็มที่จะมีสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสเผ็ดร้อน เส้นใบนูนเด่นทางด้านล่าง ก้านใบยาว ดอกพลู มีสีขาว ออกรวมกันเป็นช่อ มีช่อดอกแบ่งเพศกันอยู่คนละต้น ประกอบด้วยช่อดอกตัวเมีย และดอกตัวผู้ มีใบประดับดอกขนาดเล็กรูปวงกลม ช่อดอกตัวผู้ยาว 2-12 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1.5-3 ซม. ประกอบด้วยเกสรตัวผู้ 2 อัน มีขนาดสั้นมาก ส่วนช่อดอกตัวเมียมีความยาวเท่ากับช่อดอกตัวผู้ แต่มีก้านช่อดอกยาวกว่า ดอกมักบานไม่พร้อมกัน จึงทำให้ไม่ค่อยพบเห็นผลของพลู เพราะมีโอกาสผสมเกสรน้อย ผลของพลู มีลักษณะอัดแน่นที่เกิดจากดอกในช่อดอก ผลของพลูมีลักษณะค่อนข้างนุ่ม ด้านในประกอบด้วย 1 เมล็ด โดยเมล็ดมีลักษณะกลม ขนาดยาวประมาณ 2.25-2.6 มม. กว้างประมาณ 2 มม.

พลู 

พลู

การขยายพันธุ์พลู

พลูสามารถปลูก และขยายพันธุ์ใหม่ด้วยการปักชำกิ่ง เช่นเดียวกับพืชตระกูลพริกไทยอื่นๆ โดยใช้กิ่ง หรือ ลำต้นที่มีข้อประมาณ 3-5 ข้อ ปักชำในแปลงปักชำ หรือ ถุงปักชำ เมื่อกิ่งปักชำติดแล้วค่อยย้ายลงปลูกในแปลงปลูก แล้วจึงทำค้างให้พลูเลื้อยพันขึ้น  ซึ่งพลู จะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพของดินร่วนที่มีอินทรียวัตถุมาก มีความเป็นกรดเล็กน้อย (pH 6- 6.7) พื้นที่การระบายได้ดีมีค่าความชื้นสัมพันธ์ประมาณ 70-80%


องค์ประกอบทางเคมี

ใบพลู มีน้ำมันหอมระเหยซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญต่างๆ ได้แก่ chavicol, chavibetol, eugenol, estragole methlyeugnol และ hydroxycatechol สารกลุ่มโมโนเทอร์ปีนส์ เช่น 1,8-cineol, carvacrol, camphene, limonene สารกลุ่มเซสควีเทอร์ปีนส์ เช่น cadinene, caryophyllene นอกจากนี้ยังมีสารอื่นๆ อีก เช่น β-carotene, β-sitosterol, stigmasterol และในส่วนของต่างๆ ของพลู สดยังพบสาร Fluoride, tectrochrysin, adunctin A, yangonin, fargesin, pluviatilol, sesamin

 รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของพลู

   พลู

ที่มา : wikipedia

            นอกจากนี้เมื่อนำใบพลู สดมาวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารพบว่า มีองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้ 

คุณค่าทางโภชนาการในใบพลูสด (100 กรัม)

                        Water                           (น้ำ)                               85-90%

                        Protein                        (โปรตีน)                         3-3.5%

                        Fat                               (ไขมัน)                          2.3-3.3%

                        Minerals                      (เกลือแร่)                       0.4-1.0%

                        Fiber                            (ใยอาหาร)                    2.3%

                        Chlorophyll                 (คลอโรฟีล)                    0.01-0.25%

                        Carbohydrate              (คารโปรไฮเดรต)            0.5-6.10%

                        Nicotinic acid              (วิตามืน บี3)                  0.63-0.89 มก./100 ก.

                        Vitamin C                    (วิตามิน ซี)                     0.005-1.01%

                        Vitamin A                    (วิตามิน เอ)                   1.9 -2.9 มก./100 ก.

                        Thiamine                     (วิตามิน บี1)                   10-70 มคก./100 ก.

                        Riboflavin                    (วิตามิน บี2)                 1.9-30 มคก./100 ก.

                        Tannin                          (แทนนิน)                       0.1-1.3%

                        Nitrogen                       (ไนโตรเจน)                    2.0-7.0%

                        Phosphorus                   (ฟอสฟอรัส)                 0.05-0.6%

                        Potassium                     (โพแทสเซียม)               1.1-4.6%

                        Calcium                        (แคลเซียม)                    0.2-0.5%

                        Iron                               (ธาตุเหล็ก)                    0.005-0.007%

                        Essential oil                  (น้ำมันหอมระเหย)          3.4 มดก./100 ก.

                        Energy                          (พลังงาน)                       44 กิโลแคลอรี่/100 ก.

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของพลู

           ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย (Antibacterial activity) จากการศึกษาฤทธิ์การยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียของสารสกัดจากใบพลูที่สกัดด้วยน้ำ พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อ Streptococcus mutans โดยพบว่าที่ความเข้มข้น 1 มก./มล. ของสารสกัดจากใบพลูมีผลทำให้เซลล์แตก นอกจากเชื้อดังกล่าวข้างต้นแล้ว มีการศึกษาเกี่ยวกับพลูว่าเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์กว้างขวางในการยับยั้งการเจริญของเชื้อได้หลายชนิด เช่น Ralstonia sp., Xanthomonas sp. และ Erwinia sp., เป็นต้น โดยองค์ประกอบหลักที่พบในสารสกัดจากใบพลูที่สกัดด้วยน้ำ คือ hydroxychavicol, fatty acid และ hydroxybenzenacetic acid และยังพบว่าสารสกัดใบพลูที่สกัดด้วยเมทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ S, aureus, B. cereus, K. pneumonia และ E. coli

            ฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา (Antifungal activity) มีการศึกษาพบว่าสารสกัดด้วยเอทานอลจากใบพลูมีความสามารถในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้หลายชนิดเช่น Colletotrichum capsici, Fusarium pallidoroseum, Botryodiplodia theobromae, Altemaria altemate, Penicilium citrinum, Phomopsis caricae-papayae และ Aspergillus niger ซึ่งทดสอบโดยใช้วิธี disc diffusion method พบว่าสารสกัดใบพลูจากเอทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราดังกล่าวข้างต้นได้ดีกว่า prochloraz 2.5 มก./มล. หรือ clorimazole 10 มก.มล นอกจากนั้นมีการศึกษาเพื่อพัฒนาครีมพลู เพื่อใช้ในการรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งสามารถติดต่อสู่กันระหว่างคนและสัตว์ โดยเตรียมครีมพลูที่ประกอบด้วย สารสกัดพลูจากเอทานอล 10 % เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน ketoconazole cream 20% ด้วยวิธี disc diffusion method ผลการศึกษาพบว่าให้ค่าการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา microsporum canis, microporum gypreum และ Trichophyton mentagrophyte ใกล้เคียงกับ ketosporum canis, microsporum gypreum และ trichophyton mentagrophyte ใกล้เคียงกับ ketoconazole cream เมื่อทำการอ่านผลที่ 96 ชั่วโมง แต่ประสิทธิภาพของครีมพลูเริ่มลดลงภายหลังจาก 96 ชั่วโมง และหมดไปในวันที่ 7 ของการทดสอบ

            ฤทธิ์การต้านอักเสบ (Anti-inflammatory activity) การศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านการอักเสบจากสารสกัดที่ได้จากพลู พบว่าสารสกัดจากใบพลูอบแห้งทีสกัดด้วยเอทานอล 95% มีสาระสำคัญที่มีฤทธิ์ต้านการอับเสบ คือ allylpyrocatechol โดยมีการศึกษาในหนู Sprague Dawley rat เพศผู้มีขนาดน้ำหนักตัว 100-120 ก. ผลจาการทดลองพบว่าการฉีด allypyrocatechol ขนาด 10 มก./กก. เข้าใต้ผิวหนังบริเวณ sub-plantar มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบที่เกิดขึ้นในหนู โดย allylpyrocaate-chol จะลดการแสดงออกของ mRNA ของ inducible nitric oxide synthase (iNOS), cyclooxygenase-2 (COX-2), interleukin-12p40 (IL-12p40) และ tumor necrosing factoralpha (TNF-α) ซึ่ง allylpyocatachol จะป้องกันการทำลาย kappa B inhibitor (IKB) มีผลยับยั้งการทำงานของ transcription ขึ้น ส่งผลให้มีการกระตุ้นการทำงานของ macrophage น้อยลง ทำให้เกิดการอักเสบลดลง

            ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Free radlcal scavenging activity) การศึกษาผลของสารสกัดใบพลูด้วยเอทานอลต่อการต้านอนุมูลอิสระในหนู Swiss albino mice โดยศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเกิดอนุมูลอิสระ ผลจาการศึกษาพบว่าสารสกัดจากใบพลูมีผลในการยับยั้งการเกิดกระบวนการ lipid peroxidation ที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยรังสีแกมมา และนอกจากนี้พบว่าเมื่อทำการป้อนสารสกัดพลูในขนาด 1,5 และ 10 มก./กก. ให้หนูกินทุกวันติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงนำตับของหนูมาวิเคราะห์พบว่าไม่มีการเปลี่ยนระดับของ lipid peroxidation และยังพบว่าสารสกัดจากใบพลูมีผลทำให้ปริมาณของ glutathione เพิ่มขึ้น ซึ่ง glutathione มีส่วนสำคัญในกระบวนการ detoxification โดยจะไปทำการควบคุมและรักษาระดับของปฏิกิริยา redox และ thiol homeostasis ในตับ ซึ่งมีผลในการควบคุมการเกิดปฏิกิริยา cellular oxidative และยังพบว่าสารสกัดใบพลูมีผลในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซน์ superoxide dismutase (SOD) แต่ในทางตรงกันข้ามพบว่า การทำงานของเอนไซน์ catalase ลดลง นอกจากการศึกษาปัจจัยดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับสภาวะเครียดของสัตว์ทดลองที่เกิดหลังจากการให้สารสกัดจากใบพลู โดยศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับ glyoxalase system (Gly l และ Gly ll) ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงสภาวะเครียดของหนู ซึ่งจากการทดลองพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับ Gly l และ Gly ll) หลังจากการให้สารสกัดใบพลู กับหนู

            ฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน (lmmunomodulating Activity) การศึกษาผลของสารสกัดพลูด้วยเอทานอลต่อการสร้าง histamine และ granulocyte macrophage colony stimulating factor (GM-CSF) จาก bone marrow mast cells ของหนูแรท (murine rat) และการหลั่งของ eotaxin และ IL-8 โดย human lung epithelial cell line (BEAS-2B) ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสารสกัดพลูด้วยเอทานอล มีผลลดการหลั่ง histamine และ GM-CSF ซึ่งเป็นผลมาจากการกระตุ้นของ lgE ที่เกิดขึ้นในปฏิกิริยา hypersensitive อย่างมีนัยสำคัญ และสารสกัดพลูจากเอทานอลยังมีผลในการยับยั้งการหลั่ง eotaxin และ IL-8 ซึ่งมาจากจากการกระตุ้นของ TNF-αและ IL-4 ในปฏิกิริยา allergic reaction นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากพลูมีผลต่อการกระบวนการ phagocytosis ของ macrocytes ในหนูถีบจักร และน้ำมันหอมระเหยจากพลูยังมีผลต่อการเพิ่มจำนวนของ lymphocytes จากม้าม ไขกระดูก และต่อม thymus ในหนูถีบจักรด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของพลู

            การทดสอบความเป็นพิษ (Toxicity test) ขนาดของสารสกัดพลูที่ป้อนให้หนูถีบจักรกินแล้วตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 3.22 ก./กก. หนูที่ได้รับสารสกัดต่ำกว่า 2 ก./กก. มีอาการซึมและหลับ ไม่มีผลต่อการหายใจและกลับเป็นปกติได้ ถ้าได้รับสารสกัดมากกว่า 2.5 ก./กก. พบว่าหนูมีอาการซึม และหลับมากขึ้น มีอาการอ่อนเพลีย หลังจากนั้นมีอาการซึม และตายเนื่องจากหายใจไม่ออก นอกจากนี้ยังพบว่า chavicol และ chavibetol เป็นสารในใบพลู ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของ phenol เป็นพิษกับเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocyte) ทำให้เกิด hypopigmentation ในส่วนของ basal cell layeres ของผิวหนังชั้นกำพร้า

            ทดสอบความเป็นพิษเมื่อฉายแสง (Phototoxicity) ของขี้ผึ้งพลู 4% ซึ่งทำจากสารสกัดใบพลูด้วยอีเทอร์ใน modified polyethylene glycol ointment ต่อผิวหนังหนูตะเภา ไม่พบผื่นแดง หรืออาการระคายเคืองใดๆ ทั้งก่อนฉาย และหลังฉายแสงอุลตราไวโอเล็ต ขณะที่ยาเตรียมขึ้ผึ้งใบพลูที่ใช้ base เป็น hydrophilic petrolatum จะเป็นพิษต่อผิวหนังหนูตะเภา โดยมีสีแดงเด่นชัด

            ก่อกลายพันธุ์ สารสกัดอะซีโตนและสารสกัดน้ำจากใบ ความเข้มข้น 200 ไมโครกรัม/เพลท ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อเชื้อ Salmonella typhimurium TA98, TA100 ,TA1535, TA1537 และ TA1538 สารสกัดคลอโรฟอร์ม สารสกัด 50% เอทานอล สารสกัด 95% เอทานอล และสารสกัดน้ำจากใบ ความเข้มข้น 1.41 37.5 50 และ 153.8 มก./ เพลท ตามลำดับ ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ ต่อเชื้อ S.typhimurium TA98, TA100

            พิษต่อเซลล์ สารสกัดน้ำจากช่อดอก ความเข้มข้น 800 ไมโครกรัม/มล. เป็นพิษอย่างอ่อนต่อเซลล์ oralmucosal fibroblasts และสารสกัดเดียวกันนี้ เป็นพิษอย่างอ่อนต่อเซลล์ gingival keratinocytes สารสกัด 95% เอทานอลจากใบ ความเข้มข้น 20 ไมโครกรัม/มล. เป็นพิษอย่างอ่อนต่อเซลล์ 9KB

            พิษต่อยีน สารสกัดน้ำจากช่อดอก เป็นพิษต่อยีนเมื่อทดลองในเซลล์ oral mucosal fibroblasts และเซลล์ gingival keratinocytes สาร hydroxychavicol จากช่อดอกเป็นพิษต่อยีน ทำให้โครโมโซมของเซลล์ Chinese hamster ovary (CHO-K1) แบ่งตัวผิดปรกติ

            เมื่อให้สารสกัดน้ำจากใบพลู ร่วมกับสารสกัดน้ำจากหมากและยาสูบ ขนาด 9.4 ก./กก. แก่หนูถีบจักรเป็นเวลา 10 เดือน พบว่าทำให้โครโมโซมของเซลล์ไขกระดูกของหนูเปลี่ยนแปลงและมีการแบ่งตัวผิดปกติ

            ฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์ สารสกัด 95% เอทานอลจากก้านใบขนาด 30 มก./กก. มีผลคุมกำเนิดในหนูขาวทั้ง 2 เพศ ให้หนูถีบจักรเพศผู้กินสารสกัด 95% เอทานอลจากใบและลำต้น ขนาด 50 มก./กก. ใน 30 วันแรก และขนาด 1000 มก./กก. ใน 30 วันหลัง พบว่าสามารถคุมกำเนิดได้โดยลดการปฏิสนธิ (ferility) ได้ถึง 0% ขณะที่สารสกัด 95% เอทานอล สารสกัดน้ำ และสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์จากใบและราก (ไม่ระบุขนาดที่ใช้) ไม่มีผลต่อการคุมกำเนิดในหนูถีบจักรและไม่มีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนที่มดลูกในหนูขาวที่ได้รับสารสกัดนี้ ใบและรากแห้งไม่ระบุสารสกัดและขนาดที่ใช้ ก็ไม่มีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนเช่นกัน เมื่อให้โดยการฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูขาว

            ฤทธิ์ก่อเกิดมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในชายที่เคี้ยวหมากในประเทศไต้หวัด โดยศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งหลอดอาหารระยะเริ่มต้น (esophageal squamous-cell-carcinoma) จำนวน 126 ราย โดย 65 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติว่าเคี้ยวหมาก และ 61 ราย ในนั้นเป็นผู้ป่วยที่เคี้ยวหมากกับดอกพลู (Piper betle infloesence) และ 4 ราย เคี้ยวหมากกับดอกและใบพลู (Piper betle inflorecence and betel leaf) พบว่าผู้ชายที่เคี้ยวหมาก มีโอกาสที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้สูงกว่าคนที่ไม่ได้เคี้ยวหาก 4 เท่า และจากการศึกษาเพิ่มเติบพบว่า คนที่เคี้ยวหมากกับดอกพลูมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้มากกว่าคนที่เคี้ยวหมากกับใบและดอกพลู หรือ เคี้ยวหมากกับใบและดอกพลู หรือ เคี้ยวหมากกับใบพลูอย่างเดียวถึง 24 เท่า (ไม่พบผลแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในคนที่เคี้ยวหมากกับใบและดอกพลู หรือ เคี้ยวหมากกับใบพลูอย่างเดียว) ซึ่งผลจากการทดลองในครั้งนี้คาดว่าในดอกของพลูมีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (carcinogens) และในใบพลูมีสารต้านมะเร็ง (anticarcinogenic)


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. การเก็บใบพลู มาใช้ควรเก็บตอนสาย เพราะเป็นช่วงที่ใบมีการสังเคราะห์แสงสมบูรณ์ โดยเลือกเก็บเฉพาะใบที่มีสีเขียวเข้ม ไม่ควรเก็บใบอ่อนบริเวณยอดหรือเก็บใบแก่ที่เหลืองแล้ว เพราะใบเหล่านี้จะมีสารเคมี หรือ น้ำมันหอมระเหยน้อย
  2. ในผู้ที่แพ้ยางของพืชประเภท ชะพลู พริกไทย ควรระมัดระวังไม่ให้โดนยางของพลูด้วยเช่นกันเพราะเป็นพืชในวงศ์เดียวกันอาจทำให้เกิดการแพ้ได้
  3. การใช้พลูในรูปแบบสมุนไพรเพื่อการรักษาโรคควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอเหมาะไม่ใช้มากหรือใช้เป็นระยะเวลานานเกินไป
  4. สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้

 

เอกสารอ้างอิง พลู
  1. กานต์ วงศาริยะ, มัลลิกา ชมนาวัง, พลูกับคุณประโยชน์ที่ซ่อนอยู่, จุลาสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ปีที่ 26 ฉบับที่ 3. เมษายน 2552. หน้า 3-10
  2. ผกากรอง ขวัญข้าว.พืชใกล้ตัว.อภัยภูเบศรสาร, 2549.ปีที่ 4, หน้า 1
  3. อรัญญา และ จรีเดช มโนสร้อย. น้ำมันหอยระเหยและสารสกัดจากสมุนไพรไทย การใช้ทางยาและเครื่องสำอาง. 2548, คอกข้าง:เชียงใหม่.หน้า 146-17.
  4. อริญญา ศรีบุศราคัม. พลู กับโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา. จุลสารข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.ปีที่ 20. ฉบับที่ 3.เมษายน 2546. หน้า 4-8
  5. จุฑามณี จารุจินดา, จงจิตร อังคทะวานิช, ลิ้นจี่ หวังวีระ และคณะ, บรรณาธิการ. ความก้าวหน้าของยาที่ใช้ในระบบทางเดินอาหาร. กรุงเทพฯ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล,2532:271 หน้า.
  6. นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร.บรรณธิการ.สมุนไพร ไม้พื้นบ้านเล่ม 1 กรุงเทพ:บริษัท ประชาชน จำกัด 2541
  7. ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล.เลื่อยและพลู.คอลัมน์อื่นๆ นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 40.สิงหาคม.2525
  8. พลู ใบพลู ประโยชน์และสรรพคุณพลู. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพิชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  9. Choudhary, D.ang R.K. Kale, Antioxidant and non-toxic properties of Piper betle leaf extract: in vitro and in vivo studies. Phytother Res, 2002. 16(5):p. 461-6.
  10. Mohamed, S., et al., Antimycotic screening of 58 Malaysia against pathogens. Pesticds science, 1996. 47(3):p.259-264.
  11. Guha, P.,Betel Leaf: Negalected Green Gold of lndia. J. Hum. Ecol., 2006. 19(2):p.87-93.
  12. Best R, Lewis DA, Nasser N. The anti-ulcerogenic activity of the unripe plantain banana (Musa species). Brit J Pharmacol 1984;82(1):107-16.
  13. Ghosal S, Saini KS. Sitoindosides l and ll, two new anti-ulcerogenic sterylacylgucosides from Musa paradisiaca. J Chem Res(s) 1984;4:110
  14. Nopamart, T., C. Arinee, and K. Watcharee, An invitro evaluation of Piper betle skin cream as anti-zoonotic dermatophytes. The proceeding of  42th Kasetsart University  annual conference 2004:p.441-448.
  15. Pannangpetch P, Vuttivirojana A, Kularbkaew C, et al. The antiulcerative effect of Thai musa species in rats. Phyther res 2001;15(5):407-10.
  16. Sengupta, A., et al., Pre-clinical toxicity evaluation of leaf-stalk extractive of Piper betle Linn in rodents. Lndian J Exp Biol,2000. 38(4): p.338-42.
  17. Lirio, L.G.,M.L. Hermana, and M.Q. Fontonilla, Note Antibacterial Activity of Medicinal Plants from the Philippines Pharmaceutical Biology, 1998.36(5): p.357-359.
  18. Gruenwald J, Brendler T, Jaenicke C, et al (eds.)PDF for herbal for herbal medicines (2 nd Edition) New Jersey:Medical Economic Company,2000:858pp
  19. Wu, M.T., et al., Constituents of areca chewing related to esophageal cancer risk in Taiwanese men. Dis Esophagus, 2004. 17(3):p.257-9.
  20. Dompmartin A, Szczurko C, Michel M, et al. Two cases of urticaia following fruit ingestion, with cross-sensitivity to latex Contact Dermat 1994;30(4):250-2.