มะกอกฝรั่ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะกอกฝรั่ง งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ


ชื่อสมุนไพร
มะกอกฝรั่ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะกอกเทศ, มะกอกหวาน, มะกอกดง (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Spondias dulcis Parkinson.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Spondias dulcis Linn., Spondias Cytherea Sonn., Cytheraea dulcis (Parkinson) Wight & Arn.
ชื่อสามัญ Jew plum, Jew’s plum, Otatheite apple
วงศ์ ANACARDIACEAE


ถิ่นกำเนิดมะกอกฝรั่ง

มะกอกฝรั่ง จัดเป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนในทวีปเอเชีย ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่นในอินเดีย ศรีลังกา, ปากีสถาน, เนปาล, บังคลาเทศ, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น ต่อมาจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยพบมะกอกฝรั่ง ได้ทั่วทุกภาคของประเทศที่ความสูงใกล้ระดับน้ำทะเลถึง 500 ม. จากระดับทะเล


ประโยชน์และสรรพคุณมะกอกฝรั่ง

  1. ใช้บำบัดโรคธาตุพิการ จากน้ำดีไม่ปกติ
  2. ช่วยทำให้ชุ่มคอ
  3. แก้กระหายน้ำ
  4. ใช้เป็นยาระบาย
  5. แก้โรคบิด
  6. ใช้แก้ปวดหู
  7. แก้หูอักเสบ
  8. ใช้ดับพิษกาฬ
  9. แก้ร้อนใน, แก้ร้อนในอย่างแรง
  10. แก้ลงท้องปวดมวน
  11. แก้สะอึก
  12. แก้หอบ
  13. ใช้ผสมยามหานิล
  14. ใช้แก้ท้องเสีย
  15. แก้ธาตุพิการ
  16. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  17. ช่วยลดไขมันในเลือด

           มีการนำผลมะกอกฝรั่ง มารับประทานเป็นผลไม้ โดยจะมีรสเปรี้ยวปนหวานมัน และกรอบ หรือ ใช้ปรุงอาหาร และทำเครื่องดื่มสมุนไพร ในไทยนิยมนำมาจิ้มกับพริกเกลือ หรือ นำไปแปรรูปทำน้ำผลไม้ ส่วนในต่างประเทศชาวอินโดนีเซีย นำมาจิ้มกับกะปิ สับยำใส่เครื่องปริงพื้นเมือง หรือ ใช้เป็นส่วนผสมในโรยัก ประเทศฟิจิใช้ทำแยม และในประเทศจาเมกาจะรับประทานผลสดโดยนำไปคลุกกับเกลือ

มะกอกฝรั่ง
มะกอกฝรั่ง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ธาตุพิการจากน้ำดีไม่ปกติ ช่วยให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ
  • ใช้เป็นยาระบาย ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยนำผลแก่ หรือ ผลสุกมารับประทานสด ลดไขมันในเลือด
  • ใช้แก้ร้อนในอย่างแรง ดับพิษกาฬ แก้สะอึก แก้ปวดมวนท้อง โดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ร้อนใน แก้หอบ แก้สะอึก โดยนำเมล็ดมะกอกฝรั่ง ไปสุมไฟให้เป็นถ่านแล้วนำมาแช่กับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ปวดหู หูอักเสบ โดยน้ำคั้นจากใบหยอดหู
  • ใช้แก้ธาตุพิการ แก้บิด ท้องเสีย โดยนำยอดอ่อนมารับประทานสด
  • ใช้ช่วยให้ชุ่มคอ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของมะกอกฝรั่ง

มะกอกฝรั่ง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 7-25 เมตร ทรงพุ่มค่อนข้างโปร่ง ลำต้นกลม เปลือกต้นเรียบมีสีน้ำตาลอมเทา หรือ สีน้ำตาลแดง

           ใบมะกอกฝรั่ง เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเป็นคู่ตรงข้าง ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่รีค่อนข้างเรียวแหลม คนใบแหลม ก้านใบยาว ส่วนปลายใบเรียวแหลม

           ดอกมะกอกฝรั่ง ออกเป็นช่อที่มีช่อดอกแตกออกมาจากช่อดอกใหญ่ ซึ่งจะออกตามปลายยอด โดยจะออกเป็นกระจุกเล็กๆ ดอกจะเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกย่อยมีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นสีขาว มีฐานรองดอกเป็นสีเหลือง ลักษณะกลม และมีก้านช่อดอกสั้น

           ผลมะกอกฝรั่ง เป็นผลเดี่ยวแต่จะออกเป็นพวงมีลักษณะรูปไข่ ผิวเปลือกบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่มีสีเขียมอมเหลือง ส่วนผลสุกเป็นสีส้ม เนื้อใบมีสีขาวอมเขียวค่อนข้างฉ่ำน้ำ มีรสเปรี้ยวอมหวานมัน เนื้อผลกรอบ ด้านในผลมีเมล็ดแข็งๆ และมีขนแข็งๆ 1 เมล็ด ลักษณะเป็นรูปทรงกลมรี สีขาวนวล ซึ่งเปลือกหุ้มเมล็ดมีขนยาวๆ แข็งๆ มียางคล้ายไรไข่ปลา

ดอกมะกอกฝรั่ง
มะกอกฝรั่ง

การขยายพันธุ์มะกอกฝรั่ง

มะกอกฝรั่งสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยม คือ การเพาะเมล็ดโดยมีวิธีการดังนี้

           เริ่มจากนำเมล็ดของผลแก่ที่มีสีเขียวอมเหลืองมาเพาะ ในกระบะเพาะที่มีส่วนผสมของดิน ทราย ขุยมะพร้าว และขี้เถ้าแกลบ ที่ได้คลุกเคล้าจนเข้ากันดี จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม (อย่างให้แฉะ) เมื่อเพาะได้แล้ว 1-2 สัปดาห์ เมล็ดมะกอกฝรั่ง จะงอกเป็นต้นกล้า จึงสามารถไปปลูกลงในแปลง จนต้นพันธุ์มีความสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร จึงสามารถนำไปปลูกได้ สำหรับการเตรียมหลุมปลูกให้เว้นระยะระหว่างต้นและแถว ใช้ระยะ 2x2 เมตร จากนั้นขุดหลุมขนาด 0.5x0.5x0.25 เมตร นำปุ๋ยคอกมารองก้นหลุม แล้วจึงนำต้นกล้ามาปลูก รดน้ำพอชุ่มๆ


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของเนื้อผลมะกอกฝรั่ง พบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญอาเช่น hexadecanoic acid, α-terpineol, α-selinene, β-caryophyllene, hydroxythrosol, oleuropein และ 3-hexenol

โครงสร้างมะกอกฝรั่ง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะกอกฝรั่ง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของส่วนต่างๆ และสารสกัดมะกอกฝรั่ง จากส่วนต่างๆ พบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจดังนี้

           ฤทธิ์ลดอาการชา หรือ อาการปวดที่เกี่ยวกับเส้นประสาทในโรคเบาหวาน มีรายงานการศึกษาผลของสารสกัดจากใบมะกอกต่ออาการชา หรือ ปวดที่เกี่ยวกับเส้นประสาทในเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยง และหนูแรทที่ถูกชักนำให้เป็นเบาหวาน พบว่า ในเซลล์ประสาทที่เลี้ยงด้วยอาหารเลี้ยงเซลล์ที่มีระดับน้ำตาลสูงกว่าปกติ 4 เท่า จะมีการทำงานของ caspase-3 และการทำลายเซลล์เพิ่มขึ้น เมื่อเซลล์ประสาทได้รับสารสกัดจากใบมะกอกฝรั่ง ขนาด 200, 400 และ 600 มคก./มล. พบว่าเซลล์ถูกทำลายลดลง สอดคล้องกับการทดลองในหนูแรทที่ถูกชักนำให้เป็นเบาหวานโดยการฉีดด้วยสาร streptozotocin พบว่า ในไขสันหลังของหนูแรทที่เป็นเบาหวาน จะมีการทำงานของ caspase-3 เพิ่มขึ้น มีระดับโปรตีนกระตุ้นการตายของเซลล์ (Bax) เพิ่มขึ้น และมีระดับโปรตีนที่ป้องกันการตายของเซลล์ (Bcl2) ลดลง ส่งผลให้หนูกลุ่มนี้มีความไวเพิ่มขึ้นในการตอบสนองต่อการปวด (hyperalgesia) เมื่อหนูแรทได้รับสารสกัดจากใบมะกอกฝรั่ง ขนาด 300 และ 500 มก./กก./วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จะมี hyperalgesia ลดลง ซึ่งเกิดจากการยับยั้งการทำงานของ caspase-3 มีระดับโปรตีน Bax ลดลงและมีระดับโปรตีน Bcl2 เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สารสกัดจากใบมะกอกยังแสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากการทดสอบด้วยวิธี DPPH อีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากภาวการณ์ติดแอลกอฮอล์เรื้อรัง มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระซึ่งเกิดจากภาวะการติดแอลกอฮอล์เรื้อรังของสารโพลีฟีนอลที่แยกได้จากเนื้อผลของมะกอกฝรั่ง ซึ่งเหลือจากกระบวนการผลิตน้ำมันมะกอกบริสุทธ์ (extra virgin olive oil) โดยให้หนูเม้าส์กินสารโพลีฟีนอลในขนาด 20 มก./กก./วัน โดยนำมาละลายในน้ำที่มีเอทานอลความเข้มข้น 11% เป็นเวลานาน 2 เดือน จากการวิเคราะห์ทางเคมีพบว่าสารโพลีฟีนอลที่นำมาทดสอบมีสารไฮดรอกซีไทโรซอล (Hydroxytyrosol) และอนุพันธ์เป็นส่วนประกอบหลัก (30 และ 20% ตามลำดับ) และจากการวิเคราะห์ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี free oxygen radical test (FORT) และ free oxygen radical defense (FORD) tests พบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับสารโพลีพีนอลจากผลมะกอกร่วมกับแอลกอฮอล์มีค่า FORT ลดลง และมีค่า FORD เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ได้รับแอลกอฮอร์อย่างเดียว สรุปได้ว่าสารโพลีฟีนอลจากผลมะกอกฝรั่งสามารถป้องกันการเกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน และความผิดปกติที่เกิดจากภาวะการติดแอลกอฮอล์เรื้อรังได้ และมีการศึกษาแบบสุ่มแ ละปกปิดทั้งสองฝ่าย (double blind, randomized trial) ในหญิงวัยหมดประจำเดือน อายุระหว่าง 49-68 ปี ซึ่งมีภาวะโรคกระดูกบางที่กระดูกช่วงเอว (L2-L4) จำนวน 64 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดโพลีฟีนอลจากใบมะกอกฝรั่ง ขนาด 250 มก./วัน ร่วมกับแคลเซียม 1,000 มก./วัน ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุมได้รับยาหลอกเป็นแคลเซียม 1,000 มก./วัน นาน 12 เดือน จากนั้นประเมินกระดูกโดยดูค่า osteocalcin (โปรตีนในกระดูก) ความหนาแน่นของกระดูก และระดับไขมันในเลือด พบว่าระดับของ osteocalcin มีค่าเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ความหนาแน่นของกระดูกในกลุ่มควบคุมมีค่าลดลง ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากใบมะกอกฝรั่งมีค่าเท่าเดิม และในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากใบมะกอกฝรั่งพบว่าระดับไขมันในเลือดดีขึ้น คือ ระดับคอลสเตอรอลรวม และคอเลสเตอรอลชนิด LDL มีค่าลดลง

           อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยพบว่าสาร hydroxytyrosol ที่ได้จากมะกอกฝรั่ง มีผลลดระดับคอเลสเตอรอลในหนูขาวที่กินอาหาร ที่มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงได้ โดยพบว่าหนูที่กินอาหารซึ่งผสม hydroxytyrosol ขนาด 2.5 มก./กก. เป็นเวลา 16 สัปดาห์ จะมีระดับของคอเลสเตอรอล และ LDL ลดลง แต่มีระดับของ HDL สูงขึ้น และยังเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการต้านอนุมูลอิสระ คือ catalase และ superoxide dismutase และมีผลยับยั้งการเกิด lipid peroxidation ในตับ หัวใจ ไต และเส้นเลือด aorta ของหนูได้

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดของสารสกัดจากใบมะกอกฝรั่ง โดยทำการทดลองกับหนู 40 ตัว ที่ถูกกระตุ้นให้อ้วนและมีความดันโลหิตสูง โดยให้สารสกัดจากใบมะกอกฝรั่งในขนาด 500 และ 1,0000 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าความดันโลหิตของหนูลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และระดับคอเลสเตอรอลก็ลดลงด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมะกอกฝรั่ง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากผลมะกอกฝรั่งระบุว่าจากการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดเอทานอล 95% จากผลมะกอกฝรั่ง เมื่อนำมาให้สัตว์ทดลองทางปากในขนาด 1 กรัมต่อกิโลกรัม หรือ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่าไม่พบความเป็นพิษ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการรับประทานผลสุก และผลแก่ของมะกอกฝรั่งสามารถรับประทานได้ มีความปลอดภัย แต่สำหรับการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง มะกอกฝรั่ง
  1. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. "มะกอกฝรั่ง" ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กรุงเทพมหานคร : แสงแดด, 2550, หน้า 135.
  2. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดตอนแฝก มะกอกฝรั่ง หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด หน้า 135-136.
  3. เอ็ดมันส์.เจ.บี.2520. หลักวิชาพืชสวน. พิมพ์ที่โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ หน้า 182-251
  4. อำนวย ดำดื้อ.2528. หลักการผลิตไม้ผล. ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยของแก่น หน้า 36-31
  5. ผลลดคอเลสเตอรอลของสาร phenolic และ hydroxytyrosol ที่แยกได้จากน้ำทิ้งของกระบวนการสกัดน้ำมันมะกอก. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารโพลิฟินอล จากมะกอกในหนูที่มีภาวะติดแอลกอฮอล์เรื้อรัง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์
  7. การรับประทานสารสกัดโพลีฟินอลจากมะกอกมีผลช่วยเพิ่มระดับ osteocalcin ซึ่งเป็นโปรตีนในกระดูกและช่วยให้ระดับไขมันในเลือดดีขึ้นในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีภาวะโรคกระดูกบาง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์
  8. สารสกัดจากใบมะกอกลดอาการชา หรือ ปวดที่เกี่ยวกับเส้นประสาทในโรคเบาหวาน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์
  9. มะกอก. กลุ่มยากันหรือแก้เลือดออกตามไรฟัน สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี. (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก www.rsph.or.th/plants_data/herbs/.
  10. Davidson, Alan, and Tom Jaine. The Oxford companion to food. Oxford University Press, USA, 2006. 805.