ยอป่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ยอป่า งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ


ชื่อสมุนไพร ยอป่า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สลักหลวง, สลักป่า (ภาคเหนือ), อุ้มลูกดูหนัง (สระบุรี), คุย (พิษณุโลก), กะมูดู (มลายู), คุ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Morinda coreia Buch.Ham.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Morinda exserta Roxb., Morinda tinctoria
วงศ์ RUBIACEAE


ถิ่นกำเนิดยอป่า

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่ายอป่าชนิดที่จะกล่าวถึงในบทความนี้เป็นพืชคนละชนิดกับ "ยอเถื่อน" (Morinda elliptica (Hook.f.Ridl) ซึ่งมีชื่อเรียกบางท้องถิ่นว่ายอ บ้าน เช่นเดียวกัน โดยยอป่า (Morinda coreia Buch. Ham.) ในบทความนี้จัดเป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงบริเวณรอบๆ คาบสมุทรอินเดียอีกด้วย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้เกือบทั่วทุกภาคของประเทศยกเว้นภาคใต้ บริเวณป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังทั่วไป ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1300 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณยอป่า

  • ใช้เป็นยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ
  • ช่วยขับลมแก่น
  • ช่วยบำรุงเลือด
  • ช่วยขับเลือด
  • แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ
  • ช่วยขับผายลม
  • ขับน้ำคาวปลาให้แห้ง
  • ป้องกันสันนิบาตหน้าเพลิงขับ
  • ช่วยฟอดโลหิตระดู
  • ป้องกันบาดทะยักปากมดลูก
  • แก้ไอ
  • แก้จุเสียด
  • แก้ปวดศีรษะ
  • แก้ม้ามโต
  • แก้ริดสีดวง
  • ฆ่าไข่เหา
  • แก้คลื่นไส้
  • แก้อาเจียน
  • ขับลมในลำไส้
  • ขับระดูสตรี
  • แก้ไข้
  • แก้ไข้มาลาเรีย

           ยอป่า ถูกใช้ประโยชน์ในหลายด้านเช่นเดียวกันกับยอบ้าน อาทิเช่น ผลสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้ส่วนใบอ่อนและยอดอ่อน มีรสขมมัน ใช้ลวก หรือ ต้มให้สุกจิ้มกับน้ำพริก เนื้อไม้นำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือน หรือ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ เปลือกต้นและรากที่มีอายุ 3-4 ปี สามารถนำมาย้อมผ้าโดยจะให้สีแดง นอกจากนี้ยังมีการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านหรือตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ร่วมเงา และดอกยังมีกลิ่นหอมอ่อนอีกด้วย

ยอป่า

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยอป่า

ใช้ขับลม กระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ โดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงเลือด แก้จุดเสียดแน่นเฟ้อ ขับผายลม ขับน้ำคาวปลา ขับ และฟอกโลหิตระดู ป้องกันบาดทะยักปากมดลูก โดยนำแก่นไม้แห้งมาต้มกับน้ำ หรือ นำมาดองกับสุราดื่ม ใช้แก้ไข้แก้ปวดศีรษะ แก้ม้ามโต ริดสีดวงทวาร โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้จุดเสียด แก้ไอ โดยนำใบสดมาอังไฟแล้วนำมาปิดที่หน้าอกและหน้าท้อง ใช้แก้คลื่นไส้โดยนำผลอ่อนมารับประทาน ใช้ขับลมในลำไส้ ใช้ขับระดูสตรี โดยนำผลสุกยอป่า มารับประทานสด


ลักษณะทั่วไปของยอป่า

ยอป่า จัดเป็นไม้ยืนต้น พลัดใบ สูง 5-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มรี ลำต้นตั้งตรง เปลือกสีน้ำตาลอมเทา หนาแตกเป็นร่องตามยาว หรือเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยมเล็กๆ  กิ่งก้านคดงอ หักง่าย ผิวกิ่งมีปุ่มปมมาก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกรวมกันที่ปลายกิ่ง โดยจะออกตรงข้ามสลับกับตั้งฉาก ลักษณะของใบ กว้าง 4-7 เซนติเมตร ยาว 8-17 เซนติเมตร เป็นรูปไข่กลับ หรือ รูปรี โคนใบแหลมหรือเบี้ยว ปลายใบมนหรือแหลม ส่วนขอบใบเรียบและเป็นคลื่น ด้านหลังใบสีเขียวมัน ท้องใบสีอ่อนกว่า ส่วนใบแก่จะบางเหนียว ผิวใบด้านบนมีขนสากขึ้นประปราย ส่วนด้านล่างมีขนนุ่ม  ดอกเป็นช่อ โดยจะออกเป็นกลุ่ม บริเวณซอกใบ หรือปลายกิ่ง กลีบดอกมีสีขาว และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกมีขนาด 1.5 เซนติเมตร กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบแหลม รูปสามเหลี่ยม แยกเป็น 5 กลีบ กลีบดอกหนาเมื่อดอกบานปลายกลีบแผ่กว้างออก  มีหลอดกลีบเลี้ยงด้านบนลักษณะแบน สีเขียวอมเหลือง เชื่อมติดกับกลีบดอกข้างเคียง และมีเกสรตัวผู้สั้น 5 อัน ชูพ้นหลอดกลีบดอก ผลเป็นผลรวมคล้ายกับยอบ้านรูปร่างค่อนข้างกลม เนื้อในผลเป็นสีขาว อ่อนนุ่ม ฉ่ำน้ำ ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่เป็นสีดำ ภายในผลมีเมล็ดรูปร่างแบนสีน้ำตาล โดยจะมีเมล็ด 1 เมล็ดต่อหนึ่งผลย่อย

ยอป่า

ยอป่า

การขยายพันธุ์ยอป่า

ยอป่า เป็นไม้ยืนต้นที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ เช่นเดียวกันกับไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำยอป่านั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับ “ยอบ้าน” ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ (บทความ”ยอ”)


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของยอป่า ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น ใบและกิ่งยอป่าพบสารกลุ่มอิริดอยด์ไกลโคไซด์ ได้แก่ yopaaoside A, yopaaoside B, yopaaoside C, asperulosidic acid, deacetyl-asperuloside, asperuloside และ 6-O-acetylscandoside, 10-O-acetylmonotropein นอกจากนี้ยังพบ สารกลุ่มแอนทราควิโนนไกลโคไซด์ ได้แก่ lucidine 3-O-β primeveroside สารกลุ่มเซโคอิริดอยด์ไกลโคไซด์ ได้แก่ secoxyloganin สารกลุ่มฟีโนลิกไกลโคไซด์ ได้แก่ 3,4,5-trimethoxyphenyl 1-O-β-apiofuranosyl (1″→6′)-β-glucopyranoside  เป็นต้น

โครงสร้างยอป่า

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของยอป่า

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดยอป่า จากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้

           ฤทธิ์สมานแผล มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์สมานแผลของสารสกัดคลอโรฟอร์มของผลยอป่า ในหนูแรทพบว่า สารสกัดที่เข้มข้น 20 มก./มล. และ 10 มก./มล. มีฤทธิ์ช่วยเร่งการสมานแผลในหนูเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยแผลสามารถหดตัวอย่างสมบูรณ์ และขนสดเริ่มขึ้นในบริเวณที่เป็นแผล ภายใน 15 วัน หลังจากที่ได้รับ สารสกัดคลอโรฟอร์มจากผลของยอป่า 20 มก./มล.
          นอกจากนี้จากผลการศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ ยังระบุว่าสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของยอป่ายังมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ฤทธิ์ต้านการปวดประจำเดือน ฤทธิ์ต้านอักเสบ ฤทธิ์ต้านเบาหวาน และฤทธิ์ต้านภาวะซึมเศร้า เป็นต้น


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของยอป่า

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานผลสุกของยอป่า รวมถึงไม่ควรนำยอป่ามาใช้เป็นยาสมุนไพร เนื่องจากมีฤทธิ์ขับระดูสตรี และมีฤทธิ์ขับเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ สำหรับบุคคลทั่วไปที่สุขภาพดีก็ควรระมัดระวังในการใช้ยอป่า เป็นสมุนไพร เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอเหมาะที่ได้กำหนดไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจทำให้ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ยอป่า

  1. ธารดาว ทองแก้ว. ยออาหารและยาน่ารู้. คอลัมน์เรื่องเด่นจากปก. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 278. มิถุนายน 2548.
  2. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “ยอป่า” หน้า 167.
  3. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. สยามไภษัชยพฤกษ์:ภูมิปัญญาของชาติ, พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง.2539.
  4. สุรพงษ์ เก็งทอง. สมุนไพรพื้นบ้านในหมู่เกาะแสมสาร. รายงานการวิจัยโครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็กพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย. หน้า 42-43
  5. ยอป่า.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=272
  6. Solomon,1999 N. Solomon The Tropical Fruit with 101 Medicinal Uses, Noni Juice (second ed.), Woodland Publication, Pleasant Grove, UT (1999)
  7. Tripetch,K;Ryoji,K. and Kazuo,Y.lridoid and phenolic glycosides from Morinda coreia. Phytochemistry , 59,5 (2002):551-556.
  8. Jayasinghe et al., 2002 U.L. Jayasinghe, C.P. Jayasoorya, B.M. Bandara, S.P. Ekanayake, L. Merlini, G. Assante Antimicrobial activity of some Sri Lankan Rubiaceae and Meliaceae Fitoterpia, 73 (5)(2002),pp. 424-427
  9. Kanchanapoom T., Kasai R., and Yamadaki K. lridoid and phenolic glycosides from Morinda coreia Phytochemistry 59, 5. (2002):551-556.
  10. Srilakshmi et al., 2012 J.K. Srilakshmi, V. Meena, S. Sriram, S. Sasikumar Phytochemical screening and antimicrobial evaluation of Morinda tinctoria Roxb. Against selected microbes International Journal of Pharmaceutical Innovations, 2(2012), pp.1-7
  11. Pawlus et al., 2005 A.D. Pawlus , B.N. Su, W.J. Keller, A.D. Kinghorn An anthraquinone with potent quinone reductase-inducing activity and other constituents of the fruits of Mirinda citrifolia (Noni) Journal of Natural Products,68 (2005). pp. 1720-1722