ฮิสปิดูลิน

ฮิสปิดูลิน


ชื่อสามัญ Hispidulin, 4’, 5, 7-Trihydroxy-6-methoxyflavone

ประเภทและข้อแตกต่างของฮิสปิดูลิน

ฮิสปิดูลิน (Hispidulin) จัดเป็นสารประกอบฟลาโวนอยส์ (flavonoids) ในกลุ่มฟลาโวน (flavone) ที่ได้จากพืชธรรมชาติโดยมีโครงสร้างทางเคมีเป็น monomethoxyflavone ที่เป็น scutellarein methylated ที่ตำแหน่ง 6 และมีสูตรทางเคมี คือ C16H12O6 มีมวลโมเลกุล 300.26 g/mol สำหรับประเภทของสารฮิสปิดูลิน นั้น จากการศึกษาค้นคว้าพบว่า มีเพียงประเภทเดียวเท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของฮิสปิดูลิน

สารฮิสปิดูลิน (Hispidulin) เป็นสารประกอบฟลาโวนอยส์ที่สามารถพบได้ในธรรมชาติโดยสามารถพบได้ในพืชหลายชนิด อาทิเช่น ในส่วนใบและดอกของปีบ (Millingtonia hortensis Linn), ส่วนเปลือกผิวสีเขียวของว่านหางจระเข้ (Aloevera (L.) Burm.f), ส่วนรากของไม้เท้ายายหม่อม (clerodendrum indicum (L.) Kuntze), ดอกของบัวหิมะ (ชนิด Saussurea involucrate) และพบได้ในส่วนต่างๆ ของต้นกระต่ายจาม (Scoparia dulcis Linn.) เป็นต้น

ฮิสปิดูลิน

ปริมาณที่ควรได้รับจากฮิสปิดูลิน

สำหรับบขนาดและปริมาณของสารฮิสปิดูลิน (Hispidulin) ที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อวันนั้นในปัจจุบันยังไม่ได้มีการกำหนดถึงขนาดและปริมาณ รวมถึงข้อกำหนดและเกณฑ์ในการใช้ของสารดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งอาจเป็นเพราะในการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยานั้นส่วนมากจะเป็นการศึกษาในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง มากกว่าการศึกษาทางคลินิก ซึ่งเท่าที่ได้ศึกษาค้นคว้าพบว่าการศึกษาทางคลินิกของสารฮิสปิดูลิน นั้นมีน้อยมาก ดังนั้นข้อมูลความปลอดภัยของสารฮิสปิดูลินจึงยังไม่ชัดเจนและยังไม่เพียงพอในการที่จะนำมากำหนดปริมาณหรือเกณฑ์ในการใช้สารดังกล่าว ซึ่งยังคงต้องรอการศึกษาทางคลินิก และยังศึกษาด้านความปลอดภัยเพิ่มเติม ต่อไป

ประโยชน์และโทษของฮิสปิดูลิน

ประโยชน์ของสารฮิสปิดูลิน (Hispidulin) ตามที่ได้ระบุไว้ในรายงานการศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า สารดังกล่าวมีฤทธิ์ขยายหลอดลม และต้านการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลม แก้หอบหืด ต้านอนุมูลอิสระ ต้านแบคทีเรียช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ ปกป้องตับจากสารพิษ ขับปัสสาวะ และต้านการชัก นอกจากนี้ในรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาบางฉบับยังได้ระบุถึงฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง โดยสารดังกล่าวช่วยกระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็งอีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องของฮิสปิดูลิน

สำหรับรายงานการศึกษาวิจัยด้านเภสัชวิทยาของสารฮิสปิดูลิน (Hispidulin) นั้นพบว่ามีน้อยมากซึ่งจากที่ได้ศึกษาค้นคว้ามาพบว่ามีเพียงไม่กี่ฉบับดังนี้

           ฤทธิ์รักษาโรคหอบหืด มีการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณแบบกึ่งทดลอง (quasi - experimental research) ของตำรับยาพ่นสารสกัดน้ำจากดอกปีบ ซึ่งมีสารฮิสปิดูลิน (Hispidulin) และสารฮอร์เทนซิน (Hortensin) เป็นองค์ประกอบหลักในอาสาสมัครชาย หญิงที่เป็นโรคหอบหืด จำนวน 30 คน ที่มีอายุเฉลี่ย 46 ปี โดยพ่นยา ขนาด 3 มล. จำนวน 3 ครั้ง/วัน และ แต่ละครั้งห่างกัน 15 นาที ด้วยเครื่องพ่นออกซิเจน ทำการนัดจำนวน 5 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน วัดค่า PEFR ก่อนและหลังการให้ตำรับยาดอกปีบ ผลการศึกษาพบว่า อาสาสมัครมีค่า PEFR เฉลี่ยก่อนและหลังได้รับตำรับยาพ่นดอกปีบ เท่ากับ 38.72% และ 68.53% ตามลำดับ และมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเฉลี่ย 0.55 รวมทั้งยังสามารถบรรเทาของอาการโรคปอดอุดกั้น ไซนัสอักเสบ อาการหวัดคัดจมูก ได้ดีเช่นเดียวกับการรักษาโรคหอบหืด

           ฤทธิ์ต้านจุลินทรี มีรายงานการศึกษาวิจัยในน้ำมันหอมระเหยจากดอกปีบพบว่ามีสาร Hispidulin และ Hortensis ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย Stephylococcus aureus, Stephylococcus epidermidis, Bacillus subtilis, Escherichia coli และ Proteus vulgaris

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยสารฮิสปิดูลิน (hispidulin) พบว่าสามารถยับยั้งการอักเสบในหนูทดลองจากอาการบวมน้ำที่หูที่เกิดจาก 12-O-tertradecanoylphorbol-13-acetate (TPA) และโรคผิวหนังที่เกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลต ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผิวหนังและภูมิแพ้ผิวหนัง ในระดับเซลล์โดยสารฮิสปิดูลินสามารถยับยั้งการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันต่างๆ ได้เช่น Tcell, Macro phage, และ Mast cell เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ของสารฮิสปิดูลินอาทิเช่น ฤทธิ์การยับยั้ง 5-Lipoxygenase pathway ของสารจากดอกปีบซึ่งได้ทำการสกัดจากดอกปีบโดยใช้วิธีการสกัดเย็นด้วยเมทานอลเป็นตัวทำละลายแล้วนำมาแยกด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์, คลอโรฟอร์ม, นอร์มัลบิวทานอล พบว่าในชั้นของคลอโรฟอร์มมีสาร Hispidulin ที่สามารถยับยั้ง 5-Lipoxygrnase pathway ได้ถึงร้อยละ 65 ที่ความเข้มข้น 64 μM และยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ปกป้องตับ และขับปัสสาวะ เป็นต้น

โครงสร้างฮิสปิดูลิน

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ถึงแม้ว่าจะมีผลการวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เป็นประโยชน์ต่างๆ มากมายแต่การศึกษาวิจัยส่วนมากจะเป็นการศึกษาวิจัยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น ส่วนการศึกษาวิจัยทางคลินิกนั้นน้อยมาก ดังนั้นในการที่จะใช้ประโยชน์จากสารฮิสปิดูลิน นั้นควรรอจนกว่าจะมีการศึกษาวิจัยทางคลินิกและการศึกษาด้านความปลอดภัยในการใช้ที่ชัดเจนอีกทั้งยังต้องรอจนกว่าจะมีการระบุถึงขนาดและปริมาณการใช้ รวมถึงการกำหนดเกณฑ์การใช้อย่างชัดเจนเสียก่อน แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันมีข้อมูลว่าได้เริ่มมีการศึกษาวิจัยทางคลินิก ของสารฮิสปิดูลินมาบ้างแล้ว ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานคงจะมีการกำหนดการใช้สารดังกล่าวได้ในอนาคตอันใกล้นี้

เอกสารอ้างอิง ฮิสปิดูลิน
  1. ภญ.กฤติญา ไชยนอก. หอมดอกปีบ. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. พนิดา แสนประกอบ, สื่อกัญญา จารุพินทุโสภณ. การสกัดการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีและประยุกต์ในน้ำมันหอมระเหยจากดอกปีบ. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ปีที่ 1. ฉบับที่ 1 สิงหาคม 2554. หน้า 16-24
  3. ปริ่มเฉนียน มุ่งการดี. ปีบ. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 8 ฉบับที่ 4. 2534:17-19.
  4. อุทัย โสธนะพันธุ์, สินธพ โฉมยา, วันดี ญาณไพศาล, นุชนาฎ กิจเจริญ. เภสัชพฤกษ์. ภาควิชาเภสัชเวทคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.สำนักพิมพ์ บริษัท บพิธการพิมพ์ จำกัด. กรุงเทพมหานคร 2544. หน้า 48-49.
  5. ประสิทธิผลของตำรับยาดอกปีบต่ออัตราการหายใจของผู้ป่วยโรคหอบหืด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. Chaiprasongsuk A, Lohakul J, Soontrapa K, Sampattavanich S, Akarasereenont P, Panich U. Activation of Nrf2 ช่วยลดการควบคุม MMP-1 ที่อาศัย UVA ผ่านการส่งสัญญาณ MAPK/AP-1: ผลกระทบของสารป้องกันแสงของซัลโฟราเฟนและฮิสปิดูลิน เจ Pharmacol Exp Thers. 2017;360(3):388–398.
  7. Sittiwet, C. Anti-Microbial Avtivities of Millingtonia hortensis Linn. Flowers Essential Oil. J. Pharmacol. Toxicol. 4(1), 2009: 41-44.
  8. Akram M, Syed AS, Kim KA, Lee JS, Chang SY, Kim CY และอื่นๆ กิจกรรมต้านการอักเสบแบบใหม่ของ Heme oxygenase 1 ของ Salvia plebeia และส่วนประกอบที่ใช้งานอยู่ เจ เอธโนฟาร์มาคอล. 2015;174:322–330.
  9. Surendra Kumar M, Astalakshmi N, Chandran J, Jaison J, Sooraj P, Raihanath T, et al. A Review on Indian cork tree - Millingtonia hortensis linn.F. World Journal of Pharmacy and Pharmaceutical Sciences 2014;3(10):256-71
  10. Kim DE, Min KJ, Kim MJ, Kim SH, Kwon TK. ฮิสปิดูลิน ยับยั้งการอักเสบของสารก่อภูมิแพ้ที่เกิดจากเซลล์แมสต์ผ่านการควบคุมการปล่อยฮีสตามีนและไซโตไคน์ที่ทำให้เกิดการอักเสบ โมเลกุล 2019;24(11):E2131.
  11. Moongkarndi, P. et al., The Inhibitory Avtivity in 5-Lipoxygenase Pathway of Hispidulin from Millingtonia hortensis Linn F. J.Sci.Soc.Thailand, 17, 1991:51-56.
  12. Yin Y, Gong FY, Wu XX, Sun Y, Li YH, Chen T, et al. ฤทธิ์ต้านการอักเสบและกดภูมิคุ้มกันของฟลาโวนที่แยกได้จาก Artemisia vestita เจ เอธโนฟาร์มาคอล. 2008;120(1):1–6.
  13. Nagaraja MS, Paarakh PM. Millingtonia hortensis Linn. - a review. Pharmacologyonline 2011;2:597-602.