ขี้กาแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ขี้กาแดง งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ


ชื่อสมุนไพร ขี้กาแดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ขี้กาขม, ขี้กาลาย, ตูมกา, มะกาดิน, แตงโมป่า (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnopetalum integrifolium (Roxb. Kurz)
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Trichosanthes japonica, Trichosanthes intergrifolia Kurz.
ชื่อสามัญ Red ball snake gourd.
วงศ์ CUCURBITACEAE


ถิ่นกำเนิดขี้กาแดง

ขี้กาแดง จัดเป็นไม้เถาเลื้อยที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย บริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบขี้กาแดงได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่าละเมาะต่างๆ

ประโยชน์และสรรพคุณขี้กาแดง

  • บำรุงน้ำดี
  • แก้พิษเสมหะ
  • แก้พิษโลหิต
  • ช่วยถ่ายพิษเสมหะให้ตก
  • แก้พิษตานซาง
  • แก้ตานขโมย
  • ช่วยขับพยาธิ
  • ใช่เป็นยาถ่ายอย่างแรง
  • ใช้ควันรม แก้หืด
  • แก้โรคผิวหนังอักเสบ
  • แก้ไข้
  • ช่วยดับพิษไข้
  • แก้ปวดศีรษะ
  • แก้จุกเสียด
  • ช่วยแก้ฝีฝักบัว
  • แก้ตับโต
  • แก้ม้ามย้อย
  • แก้อวัยวะในช่องท้องบวมโต
  • ช่วยขับเสมหะ
  • ช่วยดับพิษ
  • แก้ไอเป็นเลือด
  • แก้เม็ดผดผื่นคัน
  • แก้ฝีอักเสบ
  • แก้เม็ดผดผื่นคัน
  • แก้ไข้หัว
  • แก้ไข้พิษ
  • แก้ไข้กาฬ

ขี้กาแดง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงน้ำดี แก้ไข้ ดับพิษไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้จุกเสียด แก้ตับโต ม้ามย้อย แก้ท้องบวมโต โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้บำรุงน้ำดี แก้พิษเสมหะ และโลหิต ถ่ายพิษเสมหะให้ตก แก้พิษตานซาง ตานขโมย ขับพยาธิ
  • ใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง โดยนำผลขี้กาแดง แห้งมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้บำรุงน้ำดี ขับเสมหะ ดับพิษ แก้ไอเป็นเลือด โดยนำเถามาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ฝีอักเสบ โดยใช้ใบมาบด หรือ ตำพอกบริเวณที่เป็น  
  • ใช้แก้ฝีฝักบัว โดยใช้รากสดมาบดใช้ทา หรือ ประคบบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้ไข้หัว ไข้พิษ ไข้กาฬ แก้เม็ดผดผื่นคัน โดยนำเถามาต้มน้ำตบ


ลักษณะทั่วไปของขี้กาแดง

ขี้กาแดง จัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้ออ่อน มีความยาวได้ถึง 9 เมตร มักจะเลื้อยพาดพันกับสิ่งยึดเกาะอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ลักษณะเถา อวบน้ำ สากมือ มีขนสีขาวสั้นตั้งตรงเกาะติดหนาแน่น

  • ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงเวียนรอบเถา ลักษณะขดใบ รูปค่อยข้างกลม หรือ รูปไข่กว้าง 5-14 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร โคนใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลมขอบจักซี่ฟันห่างๆ และหยักเว้า 3-5 แฉก (ใบอ่อนอาจหยักลึกมากจนเกือบคล้ายใบประกอบ) แฉกกลางจะใหญ่กว่าแฉกอื่น เป็นรูปสามเหลี่ยม หรือ คล้ายรูปรียาวได้ถึง 12 เซนติเมตร เนื้อ สีเขียมเข้มด้านบน ใบสากคายส่วนด้านล่าง มีต่อมสีเข้มกระจายทั่วใบ มีเส้นโคนใบ 3-5 เส้น มีมือเกาะออกตรงข้ามหรือใกล้โคน ก้านใบ ปลายแยกแขนง 2-3 เส้น ก้านใบยาว 3-7.5 เซนติเมตร
  • ดอก เป็นดอกเดี่ยวแบบแยกเพศ ซึ่งจะออกบริเวณง่ามบ โดยช่อดอกเพสผู้เป็นแบบช่อกระจายมีขนสั้นออกตามซอกใบยาว 7-16 เซนติเมตร มีก้านช่อดอกยาว 5-11 เซนติเมตร แต่ละช่อจะมีดอกย่อย 2-20 ดอก มีใบประดับรูปรีแกมรูปไข่กลับ หรือ รูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด สีเขียว หรือ สีแดงเข้มมีต่อมเห็นได้ชัด ดอกเพศผู้มีสีขาวและมีขนสั้นๆ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยก 5 แฉก รูปไข่ หรือ รูปแถบขอบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ส่วนกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปไข่กลับยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ปลายกลีบจักเป็นชายครุยเกสรเพศผู้มี 3 อัน ติดใกล้คอหลอด ก้านดอกยาว 0.5-1 เซนติเมตร ส่วนดอกเพศเมียออกเดี่ยวๆ บริเวณซอกใบมีกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 4-6 เซนติเมตร ปลายแยก 5 แฉก กลีบคอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยก 5 แฉก มีขนหยาบๆ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบรูปไข่มี 1 ช่อง มีออวุลจำนวนมาก และมีก้านดอกยาว 1-2 เซนติเมตร
  • ผลเป็นแบบมีเนื้อลักษณะผลทรงกลม หรือ รูปไข่ ผิวเรียบ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-7 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว มีริ้วสีขาวจางๆ เมื่อผลแก่สีส้มแดง มีก้านผล ยาว 2-3 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก โดยเมล็ดสีน้ำตาลเข้ม 1 เซนติเมตร มีลักษณะ ทรงกลมแบนรี กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 1.5 เซนติเมตร และมีเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นเมือกใสสีเขียวเข้มเกือบดำ

ขี้กาแดง

ขี้กาแดง

การขยายพันธุ์ขี้กาแดง

ขี้กาแดง สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด โดยการนำผลขี้กาแดงสุก ที่มีสีแดงไปผ่าควักเอาแต่เมล็ดนำมาล้างน้ำให้สะอาดตากแดดให้แห้ง และนำไปเพาะในกระบะเพาะชำ ให้เป็นต้นกล้าแล้วจึงนำไปปลูก หรือ นำเมล็ดหยอดลงหลุมในแปลงปลูกเลยก็ได้ ซึ่งวิธีการปลูกสามารถทำได้โดยขุดหลุมกว้าง 20 เซนติเมตร ยาว 20 เซนติเมตร แล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักคลุกเคล้ากับดินก้นหลุม จากนั้นนำเมล็ดของขี้กาแดงแช่น้ำ 1 คืน มาหยอดลงหลุมละ 1-3 เมล็ด แล้วรดน้ำให้ชุ่มประมาร 7-10 วัน จะงอกเป็นต้นอ่อน หรือ นำต้นกล้าที่เพาะมาปลูกในหลุมดังกล่าวก้ได้เช่นกัน

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงายผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนผลของขี้กาแดง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด ได้แก่ สารอนุพันธ์ tritepene gtycosides เช่น tetrahydro cucurbitacin l, cucurbitacin R, cucurbitacin J และ cucurbitacin K เป็นต้น

           นอกจากนี้อีกการศึกษาวิจัยหนึ่งระบุว่าพบสาร bryoamaride, aoibaclyin, 25-O-acetylbryoamaride และ beta-sitosterol 3-O-beta-D-glucoptranoside ในสารสกัดผลของขี้กาแดง อีกด้วย

โครงสร้างขี้กาแดง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของขี้กาแดง

สำหรับการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของขี้กาแดง นั้นจากการศึกษาค้นคว้าพบว่ามีการศึกษาวิจัยน้อยมาก ซึ่งพบเพียงการศึกษาวิจัยในต่างประเทศเพียง 1-2 ฉบับเท่านั้น โดยในรายงานการศึกษาดังกล่าวได้ระบุว่า สารสกัดจากเอทานอล และเมทานอลจากผล ขี้กาแดงมีฤทธิ์ ต้านการอักเสบ ต้านแบคทีเรีย ต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์กระตุ้นลำไส้และถ่ายพยาธิ เป็นต้น


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของขี้กาแดง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

มีรายงานระบุว่าส่วนเมล็ดของขี้กาแดงมีความเป็นพิษ หากรับประทานเข้าไปอาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ส่วนผลสดของขี้กาแดง ยังมีฤทธิ์ระบาย หากรับประทานเข้าไปอาจทำให้เกิดภาวะท้องเดินอย่างแรงได้ ดังนั้นในการใช้ขี้กาแดงเป็นยาสมุนไพร ควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยขั้นตอนการเตรียมยาควรเตรียมโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อีกทั้งการใช้ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดมี่มาจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ขี้กาแดง
  1. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544
  2. ขี้กาแดง , คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย เล่ม 1.กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข,กันยายน 2558.หน้า 44-46
  3. เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ไม้มีพิษ. กทม. เศรษฐศิลป์. 2552
  4. Sekine T.,lkegami F.,Fukasawa N., Kashiwagi Y., Aizawa T., Fujii Y.,Ruangrungsi N., Murakoshi l., J. Chem. Soc. Perkin Trans. 1, 1995,391-393.
  5. Lavie D., Glotter E., lsrael R., “Progress in the Chemistry of Organic Natural Products,” ed. By Zechmeeister L. et al., Springer-Verlag, NewYork, 1971,29, pp. 307-362.
  6. Sekine T., lnagaki M., lkegami F., Fujii Y., Ruangrungsi N., Phytochemistry, 52, 87-94 (1999).
  7. Miro M., Phytotherapy Res., 9, 159-168 (1995).